การทำธุรกิจไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดต่างมีข้อดีข้อเสีย ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของขนาดและประเภทของธุรกิจ การทำธุรกิจในนามบุคคลธรรมดาอาจจะเหมาะกับผู้ที่เริ่มทดลอง หากคิดจะประกอบธุรกิจอย่างจริงจังหรือเล็งเห็นโอกาสของการเติบโตในอนาคต อาจจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลไปเลยก็ได้

การคิดจะทำธุรกิจเป็นของตนเอง นอกจากการเตรียมความพร้อมในเรื่องทั่วไปแล้ว สิ่งที่ต้องคำนึงถึงซึ่งมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากันคือ การจดทะเบียนธุรกิจ ไม่ว่ารูปแบบธุรกิจจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ แม้แต่การขายของออนไลน์ก็ควรต้องคำนึงถึงกฎหมายที่เกี่ยวกับธุรกิจ เพราะหมายถึงความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ และยังมีในเรื่องของการเสียภาษีไปจนถึงเป็นเอกสารประกอบการยื่นกู้จากสถาบันทางการเงินได้อีกด้วย ในฐานะมือใหม่จะรู้ได้อย่างไรว่าธุรกิจของเราควรจดในรูปแบบไหนดีระหว่างบุคคลธรรมดากับนิติบุคคล มาหาคำตอบกัน

เปรียบเทียบ ข้อดี-ข้อเสีย ทั้ง 2 แบบ

การจดทะเบียนการค้าต้องดูรูปแบบกิจการก่อนว่าสามารถจดได้หรือไม่ เช่น ธุรกิจประเภทบริการอย่างเดียว ไม่สามารถจดทะเบียนเป็นร้านค้าได้ หรืออย่างร้านค้าออนไลน์ที่ลูกค้ากับเจ้าของร้านไม่มีโอกาสพบหน้ากัน ผู้ประกอบการบางคนอาจไม่ทราบหรือไม่ตระหนักถึงความสำคัญ ทั้งที่เป็นเรื่องที่ต้องจัดการก่อนเริ่มต้นธุรกิจ นอกจากเป็นการป้องกันข้อผิดพลาด ซึ่งมารู้อีกทีตอนที่เจ้าหน้าที่สรรพากรติดต่อมา แต่เป็นการบอกให้ลูกค้ารับรู้ว่าร้านเรามีตัวตนอยู่จริง สามารถตรวจสอบที่มาที่ไปได้ รูปแบบการจดทะเบียนมี 2 ประเภทคือ

  • แบบบุคคลธรรมดา : กิจการเจ้าของคนเดียว ส่วนใหญ่เป็นกิจการขนาดเล็ก สิทธิการบริหารจัดการทุกอย่างกระทำโดยบุคคลเดียว เช่น ร้านค้าต่างๆ และห้างหุ้นส่วนสามัญ เป็นการตกลงร่วมกันเพื่อทำธุรกิจ แบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน มีสภาพเป็นบุคคลธรรมดา เช่น การทำธุรกิจของสามี-ภรรยา ซึ่งหุ้นส่วนทุกคนต้องเสียภาษีแบบบุคคลธรรมดา
  • แบบนิติบุคคล : กลุ่มบุคคลหรือองค์กรที่ตกลงทำกิจการร่วมกัน เช่น ห้างหุ้นส่วนสามัญแบบจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด
เปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสียระหว่างบุคคลธรรมดากับนิติบุคคล
บุคคลธรรมดานิติบุคคล
มีอิสระทางความคิด มีความคล่องตัวสูง ตัดสินใจได้ง่ายและรวดเร็วกว่ามีการระดมความคิด เกิดมุมมองที่หลากหลาย แต่อาจล้าช้าและเกิดความขัดแย้งได้
เงินลงทุนมีเพียงเท่าที่ลงไปมีการระดมเงินทุนจากผู้ที่เป็นหุ้นส่วน มีเงินทุนหมุนเวียน
รับผลกำไรขาดทุนแต่เพียงผู้เดียวผลกำไรแบ่งตามสัดส่วนการถือหุ้น
จัดตั้งง่าย ขั้นตอนการจัดตั้งไม่ยุ่งยากมีขั้นตอนการจัดตั้งที่ยุ่งยาก
อาจถูกมองว่าไม่มีความมั่นคง ธุรกิจอาจไม่ยั่งยืนได้รับความน่าเชื่อถือจากบุคคลภายนอกมากกว่า
การจัดหาเงินทุนทำได้ยากระดมทุนจากแหล่งอื่นได้ง่าย
เสียภาษีแบบเหมาจ่าย แม้ในปีนั้นขาดทุนก็ต้องเสียภาษีเสียภาษีโดยคิดจากกำไรของกิจการ

ในการเลือกรูปแบบธุรกิจ พิจารณาได้จากหลายปัจจัยเช่น ขนาดของธุรกิจ, ต้นทุน, ความรู้ความสามารถของผู้ประกอบการ, ความรับผิดชอบหนี้สิน, การบริหารควบคุมกิจการ, ภาษี และการขยายกิจการในอนาคต

ทำธุรกิจแบบไหนควรทำเป็นบุคคลธรรมดา

รูปแบบธุรกิจทั่วไปที่ไม่ซับซ้อน เช่น ซื้อมาขายไป ร้านค้าออนไลน์ แต่ลักษณะการเสียภาษีจะสูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคล เพราะคิดตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามลำดับขั้นบันได สูงสุดที่ 35%  ซึ่งหมายถึง ถ้ามีรายได้มาก  ก็จะเสียภาษีมากตามอัตราภาษีสูงสุดของกำไรหลังหักค่าใช้จ่ายนั่นเอง แต่มีข้อดีคือ ไม่ต้องจัดทำบัญชี และไม่มีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการด้านเอกสารต่างๆ ง่ายและสะดวกสำหรับคนที่ไม่มีเวลาหรือไม่ชอบความยุ่งยากในรูปแบบนิติบุคคล หรือผู้ประกอบการที่ไม่ติดขัดในเรื่องของเงินทุนหมุนเวียน

ลองพิจารณาดูว่ารายได้หลังหักค่าใช้จ่ายหรือกำไรที่ได้ เมื่อนำมาคำนวณภาษีแล้วระหว่างการทำกิจการในรูปแบบบุคคลธรรมดากับนิติบุคคล อย่างไหนสามารถประหยัดได้มากกว่ากัน หรืออาจลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นบางส่วนลงในการประหยัดต้นทุน

ทำธุรกิจแบบไหนควรทำเป็นนิติบุคคล

ธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคลอาจไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคน เพราะต้องปฏิบัติตามระเบียบต่างๆ เช่น  การจัดทำบัญชี การยื่นภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีหัก ณ ที่จ่าย เป็นต้น รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียเพิ่มเติมจากการทำธุรกิจในรูปแบบนี้ เช่น ค่าทำบัญชี และค่าสอบบัญชี แต่มีข้อได้เปรียบกว่าธุรกิจรูปแบบบุคคลธรรมดาหลายประการเช่น โอกาสในการขอสินเชื่อเพื่อธุรกิจ สำหรับนิติบุคคลจะได้ต้นทุนดอกเบี้ยต่ำกว่าการขอสินเชื่อส่วนบุคคล หรือจ่ายภาษีน้อยกว่าบุคคลธรรมดา เมื่อนำค่าใช้จ่ายมาหักลบภาษี โดยเสียภาษีนิติบุคคลเพียง 20% ในขณะที่ภาษีบุคคลธรรมดา 35%

ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายด้านภาษีสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) ให้เข้าสู่ระบบด้วยการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล (SMEs)  มีการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆตามที่จัดไว้ให้ เช่น สิทธิในการหักลดหย่อน ไม่ว่าจะมาจากค่าวิจัยและพัฒนา ค่าฝึกอบรมพนักงาน ค่าประกันภัยและค่าประกันชีวิตพนักงาน เป็นต้น โดยเฉพาะสิทธิลดอัตราภาษี แต่ต้องเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กที่มีเงื่อนไขตามที่สรรพากรกำหนดไว้เท่านั้น คือ มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาทและมีรายได้น้อยกว่า 30 ล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้การทำธุรกิจไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดต่างมีข้อดีข้อเสีย ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของขนาดและประเภทของธุรกิจ การทำธุรกิจในนามบุคคลธรรมดาอาจจะเหมาะกับผู้ที่เริ่มทดลอง หากคิดจะประกอบธุรกิจอย่างจริงจังหรือเล็งเห็นโอกาสของการเติบโตในอนาคต อาจจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลไปเลยก็ได้ ลองคาดการณ์ธุรกิจดูว่ามีรายได้เท่าไหร่ ต้องรู้กำไรที่แท้จริงจึงจะตอบได้ว่ารูปแบบไหนดีกว่า

ข้อควรระวังในเรื่องของต้นทุนในการประหยัดภาษี เพราะสิ่งที่ควรจะประหยัดคือค่าใช้จ่ายไม่ใช่ภาษี ในท้ายที่สุดแล้วเพื่อให้การดำเนินกิจการมีต้นทุนต่ำและได้กำไรสูงสุดนั่นเอง

บทความเกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจ