เรื่องสำคัญที่หลายคนกังวลครับ ในการที่จะก้าวออกมาทำกิจการตัวเอง ทำแล้วมันจะคุ้มไหม ? แล้วมันจะทำให้มีรายได้เท่าไหร่ ? เมื่อไหร่จะคืนทุนกันนะ ?

เมื่อเริ่มคิดลงมือทำ คำถามเหล่านี้ผุดขึ้นมาก หาคำตอบไม่ได้ธุรกิจมันก็เลยไม่เกิด เรียกได้ว่า “เจ๊ง” กันตั้งแต่ความคิดเลยหละครับ

บทนี้เราจะมาหาคำตอบ วิธีคิดง่าย ๆ ว่าหากจะลงทุนทำกิจการส่วนตัว เป็นนายตัวเอง มันจะคุ้มค่าที่จะเสี่ยงทำกิจการไหม มาดูกันครับ

1.ขายได้มีกำไรหรือไหม

2.จำนวนชิ้นของสินค้า ที่ขายแล้ว เสมอตัว หรือ เขาเรียกกันว่า “หน่วยขายที่คุ้มทุน”

3.จำนวนเงินที่ขายสินค้า แล้วเสมอตัว หรือที่เขาเรียกว่า “ยอดขายที่คุ้มทุน”

4.เวลาที่ใช้ในการทำกิจการ กี่เดือน กี่ปี ที่จะได้เงินทุนที่ลงทุนไปกลับมาหมดพอดี หรือ “ระยะเวลาคืนทุน”

วิธีพิจารณาความคุ้มค่าในการลงทุนธุรกิจ

1.ขายได้มีกำไรไหม : เอากับแบบง่ายที่สุดเลยครับ ยกตัวอย่างง่าย ๆ ครับ ขายกาแฟสดยอดนิยม เช่าพื้นที่วางคีออส ข้าง ๆ บริษัท 12,000 ต่อเดือน จ้างลูกน้อง 8,500 ต่อเดือน ขายได้วันละ 60 แก้วเฉลี่ยแก้วละ 35 บาท ขายได้เดือนละ 20 วัน ต้องจ่ายค่าน้ำแข็งต่อเดือนประมาณ 6,000 ค่าแก้วใบละ 5 บาท ค่าเมล็ดกาแฟ 3,000 บาทต่อเดือน ค่านมข้นหวาน 2000 ค่าน้ำตาล 1,000  ค่าน้ำ ค่าไฟ 3,000 บาท

คำถามก็คือว่า ร้านกาแฟนี้ขายแล้วมีกำไรไหม ?

วิธีคิด กำไร = ยอดขาย – (ต้นทุนคงที่ + ต้นทุนผันแปร)

ยอดขายร้านกาแฟ = 60x35x20 = 42,000

                ต้นทุนคงที่ คือ ต้นทุนที่มันไม่เปลี่ยนแปลง  ไม่ว่ายอดขายเราจะเพิ่มขึ้น ลดลง หรือเท่าเดิม เช่น ค่าเช่าที่ ค่าเงินเดือนตัวเราเอง  ในที่นี้ ต้นทุนคงที่ประกอบด้วย

ค่าเช่าที่ 12,000 + ค่าจ้างลูกน้อง 8,500 รวมเป็น 20,500 บาท

                ต้นทุนผันแปร คือ ต้นทุนที่ขึ้นอยู่กับจำนวนยอดขาย เช่น จำนวนแก้วที่ใช้ น้ำแข็ง น้ำตาล ครีม นม หลอด เป็นต้น

ร้านกาแฟสดมีต้นทุนแปรผันคือ

ค่าน้ำแข็ง + ค่าแก้วใบ + ค่าเมล็ดกาแฟ + ค่านมข้นหวาน+ ค่าน้ำตาล + ค่าน้ำ ค่าไฟ

6,000 + (5x60x20)+ 3,000+ 2000+ 1,000 + 3,000

รวมได้  21,000

กำไร = 42000 -(20,500+21,000)

= 500 บาท

สรุปทำมาทั้งเดือนกำไร 500 บาทครับ จะไปต่อกันไหม ควรปรับควรแก้อะไร กันดี

Note : คุณเห็นความผิดปกติอะไรในเรื่องต้นทุนของ ร้านกาแฟนี้ไหม ?

ยอดขายในแต่ละวันไม่มาก ความจำเป็นที่จะต้อง จ้างพนักงานหรือลูกน้อง มีมากน้อยขนาดไหน ?

หากไม่จ้างลูกน้อง กำไรในแต่ละเดือนจะเพิ่มขึ้นทันที 8500 เท่ากับว่าเรามีกำไร 9000 บาทต่อเดือน

2.หน่วยขายที่คุ้มทุน หรือ จำนวนขายที่คุ้มทุน : ขายได้กี่แก้วจึงจะคุ้ม ไม่ขาดทุน

 

วิธีคิดเขาคิดกันอย่างนี้ครับ

จุดคุ้มทุน (หน่วยขายที่คุ้มทุน)          =                              ต้นทุนคงที่        

ราคาขายต่อหน่วย-ต้นทุนผันแปรต่อหน่วย

โดยที่

ต้นทุนแปรผันต่อหน่วย = ต้นทุนแปรผันทั้งหมด / จำนวนยอดขายเป็นแก้ว

= 21,000/(60×20)

= 17.5

ดังนั้น จำนวนหน่วยขายที่คุ้มทุน ต่อเดือน = 20,500 /(35-17.5)

= 1171.42 แก้วต่อเดือน

หรือประมาณ                                          = 1172/20 = 58 แก้วต่อวัน

เรียกได้ว่า ต้องจะยังไงก็แล้วแต่ในแต่ละวันต้องขายให้ได้อย่างน้อยต้อง 58 แก้วไม่อย่างนั้นแล้ว “ขาดทุน” ครับ

Note : กรณีไม่มีลูกจ้างจำนวนขายที่คุ้มทุน =12,000/(35-17.5)

= 686 ต่อเดือน

= 686/20 = 35 แก้วต่อวัน

จะเห็นได้ว่า หากเรายอมเหนื่อยทำเองก่อนในช่วงแรกแล้วค่อย ๆ หาทางขยับขยายโอกาสที่ธุรกิจนี้จะไปต่อได้มีสูงมาก ดังนั้นเถ้าแก่ใหม่ครับช่วงแรกเราควรจะทำเองก่อน เอาให้มั่นใจว่าธุรกิจสร้างกำไรหรือ “คืนทุน” ก่อนจึงจะค่อย ๆ มองหา “ลูกน้อง” มาช่วยงาน แล้วค่อยขยับขยายธุรกิจต่อไป

3.ยอดขายที่คุ้มทุน  ก็คือเงินที่ขายได้อย่างน้อยวันหนึ่งเท่าไหร่จึงจะไม่ขาดทุน

= หน่วยขายที่คุ้มทุน x ราคาขายต่อหน่วย

                                = 58×35

= 2,030 บาทต่อวัน

Note : กรณีไม่มีลูกจ้างยอดขายที่คุ้มทุน = 35×35

= 1,225

4.ระยะเวลาคืนทุน  : คือจำนวนวัน เดือน ปี ที่เงินที่เราลงทุนไปนั้น ก่อให้เกิดผลกำไร เป็นเงินกลับมาได้เท่ากับเงินที่เราลงไปตอนแรกนั่นหละครับ ง่าย ๆ ครับ อย่างร้านกาแฟนี้ การลงทุนตอนแรก เป็นแบบซื้อเฟรนไชต์ ได้ทั้งเครื่องชง คีออส ป้ายร้านต่าง ๆ ลงทุนเป็นเงิน 45,000 บาทครับ คำถามก็คือว่าแล้วเมื่อไหร่จะได้เงินก้อนนี้คืน

วิธีคิดแบบง่าย ๆ

เงินลงทุนทั้งหมด / กำไรแต่ละเดือน

 

เงินลงทุนทั้งหมด = 45,000

กำไรในแต่ละเดือน = 500

ระยะเวลาคืนทุน  = 45,000/500

= 90 เดือน หรือ 7 ปีกับอีก 6 เดือน  (คิดดูละกันว่ามันคุ้มกันไหมที่จะลงทุน ?)

Note : กรณีที่ไม่จ้างลูกจ้าง ระยะเวลาคืนทุน = 45,000/9,000

= 5 เดือน

ผมว่านะ พี่ทำเองเหอะไม่ต้องจ้างลูกจ้าง มันคุ้มกว่าเยอะเลย

แค่เพียง 4 ตัวเลขที่เถ้าแก่ใหม่ต้องรู้ ก็เพียงพอที่จะทำให้เราตัดสินใจเบื้องต้นได้แล้วครับว่า เราควรที่จะลงทุนในกิจการนั้น ๆ หรือไม่ แม้ในหลักการทางด้านการเงิน จะนำเรื่องของ ค่าเงินในอนาคต อัตราเงินเฟ้อ ดอกเบี้ยโน่นนี่นั้น เข้ามาเกี่ยวข้อง นั่นอาจจะทำให้เรามองถึงผลตอบแทนได้ลึก และกว้างมากยิ่งขึ้น

แต่สำหรับผมแค่นี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับ เถ้าแก่เล็กๆ หากมากไปกว่านี้มีหวัง ไม่ต้องได้เริ่มทำธุรกิจกันเลยทีเดียวเพราะขยาดกับตัวเลข ขยาดกับการมานั่งคำนวณครับ

เด็กชายอายุ 6 ขวบในรัฐ โอมาฮา สหรัฐอเมริกา เริ่มทำธุรกิจ เขานำเงิน 25 เซนต์ซื้อโค๊กจำนวน 6 แพ็ค และนำมาขาย ในราคา กระป๋องละ  1 เหรียญ กำไรเห็น ๆ  และเมื่ออายุ 11 ขวบ เขาเริ่มลงทุนในหุ้น เขาน้ำเศษเงินจากการเก็บหอมรอมรับ ซื้อได้แค่ 3 หุ้นในราคาหุ้นละ 38 เหรียญ เมื่อซื้อแล้วราคาได้ตกมา 27 เหรียญ แต่เมื่อหุ้นกลับขึ้นมาอีกที เขาก็ขายไปที่ 40 เหรียญ นั่นเป็นการทำกำไรครั้งแรกในชีวิต

ด้วยความที่มีหัวธุรกิจ ใจอยากค้าขาย เขายังทำงานพิเศษอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย ไม่ว่าจะเป็น การเร่ขายของเคาะประตูตามบ้าน ส่งหนังสือพิมพ์ จนเมื่อเขาอายุได้ 14 ปี เขานำเงินสะสมจากธุรกิจต่าง ๆกว่า  1200 เหรียญ ไปซื้อที่ดินราว ๆ 100 ไร่ เพื่อให้คนเช่าทำการเกษตร เรียกว่าเป็นการนำเงินไปต่อเงินอีก

ปัจจุบันเด็กหนุ่มคนนั้น ที่เริ่มลงทุน ธุรกิจน้อยใหญ่ตั้งแต่เล็ก กลายเป็นมหาเศรษฐีระดับต้น ๆ ของโลก มีบริษัทน้อยใหญ่มากมายทั่วโลกที่เขาถือหุ้นอยู่ เขาได้รับฉายาว่า “เทพพยากรณ์แห่งโอมาฮา” บุรุษที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ทรงอิทธิพลคนหนึ่งของโลกในปัจจุบัน นามขอเขาคือ “วอร์เร็น เอ็ดเวิร์ด บัฟเฟตต์” หรือที่พวกเราเรียกเขาว่า “วอร์เร็น บัฟเฟต์”

แนวคิดการลงทุนจาก บัฟเฟต์ อ้างอิงบางส่วนจาก Settrade Blog  คำกล่าวที่หนึ่ง  ก็คือ  “สำหรับเรื่องของการลงทุนแล้ว

กฎข้อที่หนึ่งก็คือ  อย่าขาดทุน  และกฎข้อที่สองก็คือ  ให้กลับไปดูกฎข้อที่หนึ่ง”  นั่นก็คือ  สำหรับบัฟเฟตต์แล้ว

สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการลงทุนก็คือ  คุณต้องพยายามอย่าให้ขาดทุน

เป็นแนวคิดพื้นฐาน แม้ไม่เป็น บัฟเฟต์ ก็ต้องคิดอย่างนี้ครับ ทว่าสิ่งสำคัญคือ จะรู้ได้อย่างไรว่าจะลงทุนแล้ว “ไม่ขาดทุน”

คำตอบ 4 ตัวเลขที่ผมแนะนำ เป็นตัวเลขพื้นฐานที่เถ้าแก่ทุกท่าน ต้องทำความเข้าใจและลองใส่ลงไปในโมเดลธุรกิจของเรานะครับ ว่ามันคุ้มค่า ที่จะลงทุนไหม ทำแล้วคุ้มเหนื่อย คุ้มเวลาหรือไม่ ?

สุดท้ายเรื่อง การลงทุน …แม้มีตัวเลขที่คำนวณใกล้เคียงความเป็นจริงในการลงทุน แต่มีไม่น้อยทีเดียวครับที่เถ้าแก่ใหม่ สร้างธุรกิจให้เติบโตเพราะใช้ Sense หรือ ความรู้สึกว่ามันน่าจะไปได้ดี

แต่สำหรับเถ้าแก่ใหม่ประสบการณ์น้อย อย่าเสี่ยงกับ “ความรู้สึก” ครับ เพราะ แท้จริงแล้ว Sense เกิดจาก “ประสบการณ์” ที่สั่งสมมามากพอสมควรครับ เอาตัวเลขที่ได้จากการวิเคราะห์นี่แหละครับเป็น “แบบ” และ “เงื่อนไข” ในการตัดสินใจครับ