สรุปรีไฟแนนซ์บ้าน vs ลดดอกเบี้ยบ้าน แบบไหนคุ้มกว่ากัน?

เมื่อผ่อนบ้านมาได้สักระยะหรือเต็มที่ 3 ปี หลายคนก็คงคิดเรื่องของการ รีไฟแนนซ์บ้าน หรือ การขอลดดอกเบี้ยบ้านกัน เพราะเมื่อขึ้นปีที่ 4 หลายธนาคารมักจะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น

จากเดิม อัตราดอกเบี้ยอาจอยู่ราว 3% – 4% ของภาระหนี้สิน แต่เมื่อปรับขึ้นจะอยู่ราว 5% – 7% เมื่อคิดต่อปีแล้ว ทำให้ต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นถึงหลักแสนบาทต่อปี

หากคุณกำลังมีคำถามว่า จะเลือกรีไฟแนนซ์บ้าน หรือ ลดดอกเบี้ยบ้านดี? วิธีการไหนจะคุ้มค่ากว่ากัน วิธีการและขั้นตอน ความยาก-ง่ายของแต่ละวิธีจะเป็นอย่างไร มาหาคำตอบและเลือกวิธีประหยัดดอกเบี้ยบ้านที่เหมาะกับคุณกันเลย

รีไฟแนนซ์บ้าน vs ลดดอกเบี้ยบ้าน แบบไหนคุ้มกว่ากัน?

รีไฟแนนซ์บ้าน

รีไฟแนนซ์บ้าน คืออะไร? ได้อัตราดอกเบี้ยประมาณเท่าไร?

รีไฟแนนซ์บ้าน (Refinance) คือ การเปลี่ยนสินเชื่อจากธนาคารเดิมเป็นธนาคารใหม่ โดยมีการยื่นกู้ ยื่นเอกสารใหม่เหมือนเราขอสินเชื่อบ้านใหม่ทั้งหมด และมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้ใหม่เหมือนกับการยื่นกู้ 3 ปีแรก ผู้ที่ขอยื่นรีไฟแนนซ์บ้านกับธนาคารจึงมีโอกาสได้ดอกเบี้ยต่ำกว่าการขอลดอัตราดอกเบี้ยบ้านจากธนาคารเดิม

อัตราดอกเบี้ยจากวิธีรีไฟแนนซ์บ้าน

เหมือนการคิดอัตราดอกเบี้ย แรกขอสินเชื่อ อาจได้โปรโมชันต่างๆ ของธนาคาร โดยอาจจะเป็น Fixed Rate แบบที่เพิ่มเป็นขั้น ซึ่งเฉลี่ยตลอด 3 ปี อาจจะอยู่ที่ 3% – 4%

ขอลดดอกเบี้ยบ้าน คืออะไร? ได้อัตราดอกเบี้ยประมาณเท่าไร?

การขอลดดอกเบี้ยบ้าน หรือที่เรียกกว่า “รีเทนชัน” (Retention) คือ การขอลดอัตราดอกเบี้ยกับธนาคารเดิมที่เรากำลังผ่อน ว่าหลังจากปีที่ 4 ที่อัตราดอกเบี้ยลอยตัวขึ้นไป จะขอลดอัตราดอกเบี้ยที่จะชำระได้หรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว ธนาคารจะลดอัตราดอกเบี้ยให้กับลูกค้าชั้นดี (ไม่ผิดนัดชำระ ชำระไม่ขาด) อย่างไรก็ตาม วิธีขอลดอัตราดอกเบี้ยจากธนาคารเดิมจะลดอัตราดอกเบี้ยได้ไม่มากเท่ากับวิธีรีไฟแนนซ์บ้าน

อัตราดอกเบี้ยจากวิธีขอลดดอกเบี้ยหรือ Retention

จากปกติที่อัตราดอกเบี้ยหลัง 3 ปี แรก (เฉลี่ยราว 3%-4%) อัตราดอกเบี้ยจะลอยตัวขึ้น โดยส่วนใหญ่จะเหลือราว -0.5% หรือ -1% จาก MRR (Minimum Retail Rate) หรือก็คือ เหลือราว 5% – 7%

แล้วเลือกแบบไหนคุ้มกว่ากัน?

เมื่อเทียบกันว่า ระหว่าง รีไฟแนนซ์บ้าน vs ลดดอกเบี้ยบ้าน แบบไหนคุ้มกว่ากัน เฉพาะเรื่อง อัตราดอกเบี้ย ก็คือ วิธีรีไฟแนนซ์บ้านคุ้มกว่า

แล้วรีไฟแนนซ์บ้านคุ้มกว่าขอลดดอกเบี้ยบ้านแค่ไหน ดูตัวอย่างด้านล่างนี้

สมมติว่า ปัจจุบันเหลือภาระหนี้ 2,000,000 บาท ถ้วน หลังจากผ่อนมาแล้ว 3 ปี (ระยะเวลาผ่อนที่เหลือ 27 ปี) โดยอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ที่ 7% ต้องชำระสินเชื่อบ้าน 15,100 บาท ต่อเดือน (คำนวณสินเชื่อได้ที่นี่)

กรณีขอลดอัตราดอกเบี้ยจากธนาคารเดิม อย่างมากจะได้ลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 5% ต่อปี จะมีภาระผ่อนชำระหนี้ 12,500 บาท ต่อเดือน (ลดลง 2,600 บาท)
กรณีขอรีไฟแนนซ์บ้านกับธนาคารใหม่ สมมติว่าได้อัตราดอกเบี้ย 3 ปีแรกเฉลี่ย 3% จะมีภาระผ่อนชำระหนี้ในช่วง 3 ปีนั้น 10,200 บาท ต่อเดือน (ลดลง 4,900 บาท)
สรุปก็คือ หากเปรียบเทียบ รีไฟแนนซ์บ้าน vs ลดดอกเบี้ยบ้าน แบบไหนคุ้มกว่ากัน ภายในช่วง 3 ปีแรก ที่ขอรีไฟแนนซ์หรือปรับลดอัตราดอกเบี้ย

วิธีรีไฟแนนซ์ประหยัดจะประหยัดเงินได้ถึง 176,400 บาท [(15,100 x 36) – (10,200 x 36)]

ส่วนวิธีขอลดดอกเบี้ยจะประหยัดได้ 93,600 บาท [(15,100 x 36) – (12,500 x 36)]

ดังนั้น รีไฟแนนซ์คุ้มค่ากว่าถึง 82,800 บาท (หรือเกือบหนึ่งแสนบาท)

เปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสีย รีไฟแนนซ์บ้าน vs ขอลดดอกเบี้ยธนาคารเดิม

สินเชื่อบ้าน TISCO Refinance บ้านแลกเงิน

ข้อดีของการรีไฟแนนซ์บ้าน

ได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง การรีไฟแนนซ์กับธนาคารแห่งใหม่ จะนำเอายอดค้างชำระที่เหลือจากธนาคารเดิมมาคำนวณกับอัตราดอกเบี้ยใหม่ที่ถูกลง ช่วยให้จำนวนเงินผ่อนชำระถูกนำไปหักดอกเบี้ยลดลงและนำไปหักเงินต้นได้มากขึ้น
สามารถเปลี่ยนโครงสร้างหนี้ เช่น เปลี่ยนจากการกู้ร่วม เป็นกู้คนเดียวก็ได้ หรือจะเปลี่ยนฐานะผู้กู้ร่วม-ผู้กู้หลักก็ได้เหมือนกัน การปรับปรุงโครงสร้างหนี้จะช่วยให้วางแผนจัดการภาระหนี้สินและการเงินของเราได้คล่องตัวมากขึ้น
เลือกยืดระยะเวลาในการผ่อนได้ การขอรีไฟแนนซ์กับธนาคารใหม่ สามารถขอเพิ่มระยะเวลาในการผ่อนชำระเพิ่มได้ ซึ่งเมื่อจำนวนงวดเพิ่มขึ้น ก็จะช่วยให้ยอดผ่อนบ้านต่องวดถูกลงได้ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายต่อเดือนได้มากขึ้น
ข้อเสียของการรีไฟแนนซ์บ้าน
รีไฟแนนซ์แม้จะมีโอกาสได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ตำ่กว่า แต่ก็มีเรื่องของการดำเนินการ เรื่องการยื่นเอกสาร และตรวจสอบเครดิตทางการเงินใหม่เพิ่มเข้ามาด้วย ดังนั้น สำหรับคนที่เครดิตทางการเงินไม่ดีนัก เช่น ผู้ประกอบการ รายได้บางส่วนหายไป มีภาระหนี้สินอื่นๆ เพิ่ม ก็อาจยื่นขอรีไฟแนนซ์ไม่ผ่าน

นอกจากนี้ การรีไฟแนนซ์จะดำเนินการเหมือนตอนยื่นขอสินเชื่อบ้านครั้งแรก จึงมีค่าใช้จ่ายในการยื่นเอกสาร ได้แก่

ค่าประเมินราคาหลักทรัพย์ (3,000 – 5,000 บาท)
ค่าจดจำนอง ณ กรมที่ดิน 1% ของวงเงินกู้
ค่าอากรแสตมป์ 0.05% ของวงเงินกู้
ค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียมอื่นๆ เช่น ค่าประกันอัคคีภัย ฯลฯ (ตั้งแต่ 2,000 บาท ขึ้นไป)

ข้อดีของการขอลดอัตราดอกเบี้ยบ้าน (Retention)

สำหรับการขอลดดอกเบี้ยบ้าน หรือ Retention แม้จะได้ลดอัตราดอกเบี้ยไม่เท่ารีไฟแนนซ์ แต่สำหรับใครที่ไม่อยากยุ่งยากเรื่องการยื่นเอกสาร หรือมีเครดิตการเงินในปัจจุบันไม่ดีเหมือนตอนขอกู้รอบแรก เช่น มีภาระหนี้สินเพิ่ม รายได้ลดลง ฯลฯ ก็ยังมีโอกาสลดอัตราดอกเบี้ยได้ด้วยการขอ Retention

ข้อดีของการขอ Retention จากธนาคารเดิม

ไม่มีการยื่นเอกสารใหม่
ไม่ต้องตรวจสอบเครดิตบูโร (Credit Bureau)
ค่าธรรมเนียมถูก (ไม่เกิน 1% ของวงเงินกู้) หรือ ยกเว้นค่าธรรมเนียม
ข้อเสียของการขอลดอัตราดอกเบี้ยบ้าน (Retention)
ข้อเสียข้อสำคัญของการขอลดอัตราดอกเบี้ยบ้านกับธนาคารเดิม (Retention) เมื่อเทียบกับการขอรีไฟแนนซ์ คือ ขอลดอัตราดอกเบี้ยได้น้อย

แม้ว่าการขอรีไฟแนนซ์จะมีค่าธรรมเนียมการยื่นเอกสารมากมาย แต่เมื่อคำนวณกับอัตราดอกเบี้ยที่ได้ลดลงแล้ว เพียงไม่กี่เดือนรีไฟแนนซ์ก็คุ้มกว่าแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากยังเหลือยอดผ่อนชำระอยู่ค่อนข้างมาก ตั้งแต่ 1,000,000 บาท ขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการรีไฟแนนซ์บ้าน vs ลดดอกเบี้ยบ้าน ก็ถือว่าเป็นอีกกระบวนการหนึ่งของคนที่ซื้อบ้าน ผ่อนบ้าน ต้องทำเพื่อให้ภาระผ่อนชำระสินเชื่อบ้านลดลง

ขั้นตอนการขอรีไฟแนนซ์ และขั้นตอนการขอลดดอกเบี้ย

1. ขอรีไฟแนนซ์บ้าน (Refinance)

ขั้นตอนการขอรีไฟแนนซ์บ้านกับธนาคารใหม่ จะมีวิธีการเหมือนกับตอนที่ไปดำเนินการขอสินเชื่อบ้านครั้งแรก ซึ่งจะต้องเตรียมเอกสารและค่าใช้จ่ายๆ ต่างให้ครบถ้วน

ตรวจสอบสัญญากู้เดิม ตรวจสอบสินเชื่อดูก่อนว่าถึงเวลาที่สามารถยื่นรีไฟแนนซ์ได้หรือยัง ซึ่งโดยทั่วไปธนาคารจะอนุญาตให้รีไฟแนนซ์หรือไถ่ถอนสินเชื่อเดิมได้เมื่อผ่อนชำระครบ 3 ปี แล้ว แต่สามารถเร่ิมมองหาธนาคารที่จะรีไฟแนนซ์ก่อนถึงกำหนดชำระครบ 3 ปี ก่อนประมาณ 1-2 เดือน ได้ เพราะกระบวนการขอสินเชื่อรีไฟแนนซ์ต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ
เลือกธนาคารและโครงการสินเชื่อ เลือกดูโครงการสินเชื่อ โปรโมชัน จากธนาคารที่ให้อัตราดอกเบี้ยตำ่กว่า แนะนำว่า ให้คิดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี แรก หรือดูจากอัตราดอกเบี้ยตลอดอายุสัญญาว่าที่ไหนให้ได้คุ้มมากที่สุด
เตรียมเอกสารใหม่เหมือนยื่นกู้สินเชื่อ ได้แก่ เอกสารส่วนตัว เอกสารทางการเงิน และเอกสารหลักประกันต่างๆ (รวมเอกสารยื่นสินเชื่อที่ต้องใช้ << ดูที่นี่)
เตรียมค่าใช้จ่ายดำเนินการให้พร้อม ประมาณ 2% – 3% ของวงเงินกู้ ได้แก่
ค่าประเมินราคาหลักทรัพย์ (3,000 – 5,000 บาท)
ค่าจดจำนอง ณ กรมที่ดิน 1% ของวงเงินกู้
ค่าอากรแสตมป์ 0.05% ของวงเงินกู้
ค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียมอื่นๆ เช่น ค่าประกันอัคคีภัย ฯลฯ (ตั้งแต่ 2,000 บาท ขึ้นไป)
ยื่นขอรีไฟแนนซ์กับธนาคารใหม่ หลังจากเตรียมเอกสารและค่าใช้จ่ายต่างๆ พร้อมแล้ว ขั้นตอนที่เหลือก็คือ การยื่นรีไฟแนนซ์ ขั้นตอนโดยคร่าวๆ ได้แก่
ทราบผลการอนุมัติรีไฟแนนซ์จากธนาคารแห่งใหม่
ติดต่อธนาคารเดิมเพื่อขอไถ่ถอนที่ดินและปิดบัญชีสินเชื่อเดิม
นัดธนาคารเดิมและธนาคารแห่งใหม่มาทำนิติกรรม
จดจำนองสินทรัพย์
ทั้งนี้ หากกังวลเกี่ยวกับขั้นตอนการยื่น สามารถติดต่อและสอบถามธนาคารแห่งใหม่ได้ ธนาคารจะคอยช่วยอำนวยความสะดวกและบอกขั้นตอนต่างๆ กับคุณ

2. ขอลดดอกเบี้ยบ้าน (Retention)

ขั้นตอนในการขอลดดอกเบี้ยบ้าน จริงๆ แล้ว สามารถทำได้ง่ายๆ เพียงติดต่อทำเรื่องกับธนาคารเดิมโดยดูก่อนว่า ประวัติการชำระหนี้ของเราใกล้ครบ 3 ปี แล้วหรือยัง โดยธนาคารส่วนใหญ่จะอนุมัติการขอลดดอกเบี้ยให้เฉพาะลูกหนี้ชั้นดีเท่านั้น คือ ลูกหนี้ที่ชำระหนี้ตรงเวลา ไม่ผิดนัด อย่างน้อย 24 เดือน และต้องไม่อยู่ในระหว่างประนอมหนี้

ส่วนเอกสารที่อาจจะต้องเตรียม (บางธนาคารไม่ขอ) ได้แก่

สัญญาเงินกู้
สำเนาทะเบียนบ้าน
สำเนาบัตรประชาชน
ส่วนค่าใช้จ่ายที่ต้องเตรียมสำหรับดำเนินการ ไม่เกิน 1% ของวงเงินกู้

โดยระยะเวลาในการพิจารณาขอลดดอกเบี้ยจะอาจรวดเร็ว เพียง 7 วัน หรืออย่างช้าไม่เกิน 45 วัน เพราะธนาคารมีเอกสารและประวัติการชำระหนี้ของคุณอยู่ก่อนแล้ว และไม่ต้องดำเนินการประเมินสินทรัพย์ใหม่อีกรอบ ทำให้กระบวนการทั้งหมดทำได้อย่างรวดเร็ว

เลือกรีไฟแนนซ์บ้านหรือขอลดดอกเบี้ยธนาคารเดิมดี?

หากคุณกำลังผ่อนชำระหนี้บ้านได้เกือบครบหรือครบ 3 ปี แล้ว ถึงเวลาที่คุณจะเริ่มพิจารณาหาวิธีลดอัตราดอกเบี้ยบ้านที่ปรับตัวขึ้น ไม่ว่าจะเป็น วิธีรีไฟแนนซ์บ้านธนาคารใหม่ หรือ ขอลดดอกเบี้ยบ้านจากธนาคารเดิม ช่วยลดภาระชำระหนี้ ให้คุณผ่อนบ้านได้หมดไวขึ้น

ทั้งนี้ เรารู้แล้วว่า การรีไฟแนนซ์บ้านนั้นคุ้มค่ามากกว่า แต่จะเลือกวิธี รีไฟแนนซ์บ้าน vs ลดดอกเบี้ยบ้าน โดยสรุปแล้ว มี 2 ปัจจัยสิ่งที่ต้องพิจารณา

ตรวจสอบเครดิตทางการเงิน ตรวจดูว่า เรายังมีเครดิตทางการเงินดีหรือไม่ รายได้เท่าเดิมหรือดีกว่าเดิมหรือไม่ สัดส่วนภาระหนี้สินต่อรายได้เป็นอย่างไร ถ้าเครดิตการงานของเราปกติ การรีไฟแนนซ์ จะเหมาะกว่า แต่ถ้ามีหนี้อื่นๆ เข้ามา ควรเลือกวิธีขอลดดอกเบี้ย หรือ Retention จะได้ไม่ถูกเช็กประวัติเครดิตบูโร (Credit Bureau) และการขอรีไฟแนนซ์มีโอกาสสูงที่จะไม่ผ่านอนุมัติ
ตรวจสอบภาระค่าใช้จ่าย ตรวจดูว่า การรีไฟแนนซ์มีค่าใช้จ่ายอะไรอะไรบ้าง คำนวณทั้งหมดแล้วเป็นเงินจำนวนเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับการขอลดอัตราดอกเบี้ยแล้ว วิธีการใดช่วยประหยัดได้มากกว่า ทั้งนี้ ถ้าเหลือหนี้หรือภาระที่ต้องผ่อนชำระมากกว่า 1,000,000 บาท แม้คำนวณค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายแล้ว การรีไฟแนนซ์ก็ช่วยประหยัดได้มากกว่า

ขอบคุณแหล่งข้อมูลอ้างอิง https://blog.ghbank.co.th/home-refinance-vs-interest-reducing/

สินเชื่อรีไฟแนนซ์บ้าน