การใช้บัตรเครดิต หากถึงวันที่ครบกำหนดการชำระแล้ว เราจ่ายเพียงยอดชำระขั้นต่ำหรือจ่ายไม่เต็มจำนวน เราจะเจอการคิดดอกเบี้ยแบบ 2 เด้ง 2 ระยะ เพราะบัตรเครดิตจะไม่คิดดอกเบี้ยจากยอดเงินต้นที่ค้างเท่านั้น เป็นเรื่องที่ผู้ใช้บัตรเครดิตควรรู้ถึงวิธีการคิดดอกเบี้ยของบัตรพลาสติกนี้

ดอกเบี้ยบัตรเครดิตคิดยังไง

ธนาคารหรือสถาบันทางการเงินผู้ออกบัตรเครดิต จะคิดดอกเบี้ยกับเราตั้งแต่วันแรกที่มีการรูดบัตรใช้จ่ายซื้อสินค้าหรือบริการ ในจำนวนยอดเงินเต็ม เมื่อถึงรอบครบกำหนดการจ่าย แล้วเราจ่ายเพียงยอดขั้นต่ำหรือจ่ายไม่เต็มจำนวนทั้งหมดที่รูดใช้ไป ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจะคิด 2 เด้ง 2 ระยะ ถูกนำไปทบคิดดอกเบี้ยซ้ำใหม่ในทันที

ตัวอย่างเช่น

ถ้าเรามียอดการรูดบัตรเครดิตใช้จ่ายเต็มจำนวนอยู่ที่ 40,000 บาท เมื่อวันที่ 27 มีนาคม

                การนับจำนวนวันที่เกิดดอกเบี้ย

ดอกเบี้ยระยะแรก : วันที่ 20 เมษายน เป็นวันสรุปยอดจากยอดเต็ม 40,000 บาท ในระยะแรก 25 วัน (นับตั้งแต่วันแรกที่รูดคือ จากวันที่ 27 มีนาคม ถึงวันที่ 20 เมษายน)

ดอกเบี้ยระยะที่สอง : วันที่ 10 พฤษภาคม เป็นวันชำระหนี้ เราเลือกที่จะจ่ายขั้นต่ำ 10% อยู่ที่จำนวน 4,000 บาท ในระยะที่ 2 เท่ากับ 19 วัน (นับจากวันสรุปยอดครั้งแรกคือ วันที่ 21 เมษายน ถึงวันที่ 9 พฤษภาคม)

                การคิดอัตราดอกเบี้ย

ดอกเบี้ยเด้งที่ 1 : ยอดการรูดใช้จ่ายบัตรเครดิตเต็มจำนวน 40,000 บาท คูณด้วยอัตราดอกเบี้ย 20% ต่อปี และนำไปคูณกับจำนวนวันระยะแรกกับระยะที่สองรวมกัน เมื่อได้จำนวนวัน ให้นำไปคิดค่าเฉลี่ยของอัตราดอกเบี้ยรายปี โดยนำ 365 วันมาหาร ดังนี้

(ยอดเงินเต็มจำนวน 40,000 บาท x ดอกเบี้ย 20%) x (จำนวนวันระยะแรก 25 วัน + จำนวนวันระยะที่สอง 19 วัน) / 365 วัน = 964.38 บาท

ดังนั้น ดอกเบี้ยเด้งที่ 1 จึงเท่ากับ 964.38 บาท

ดอกเบี้ยเด้งที่  2 : ยอดการใช้จ่ายคงค้าง (หลังจากที่เราจ่ายขั้นต่ำงวดแรก) 36,000 บาท คูณด้วยอัตราดอกเบี้ย 20% ต่อปี คูณด้วยจำนวนวันที่จ่ายถึงวันสรุปยอดงวดถัดไป คือนับจากวันที่ 10 พฤษภาคม ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม รวมได้ 10 วัน แล้วนำมาคิดค่าเฉลี่ยของอัตราดอกเบี้ยรายปี โดยหารจำนวน 365 วัน ดังนี้

(ยอดเงินต้นคงค้าง 36,000 บาท x ดอกเบี้ย 20%) x จำนวนวัน 10 วัน / 365 วัน = 197.26 บาท

ดังนั้น ดอกเบี้ยเด้งที่ 2 จึงเท่ากับ 197.26 บาท

เพราะฉะนั้น การสรุปยอดในงวดถัดไปในวันที่ 20 พฤษภาคม จะมีดอกเบี้ย 1,161.64 บาท เมื่อนำมารวมกับยอดคงค้าง 36,000 บาท + ดอกเบี้ย 1,164.64 บาท จะเท่ากับ 37,161.64 บาท

และเมื่อรอบถัดไป เรายังคงเลือกจ่ายขั้นต่ำเพียง 10% อีก จากตัวอย่างคือยอดคงค้างรวมดอกเบี้ยแล้วคงเหลืออยู่ที่ 37,161.64 บาท ขั้นต่ำเท่ากับ 3,716.16 บาท งวดถัดไปเขาก็จะนำยอดเงินต้นที่คงค้างรวมกับดอกเบี้ยที่คิดไปแล้ว มาคำนวณคิดดอกเบี้ยแบบ 2 เด้งอีก แทนที่จะนำแค่เงินต้นที่เหลือ 36,000 บาท มาคิดดอกเบี้ยใหม่เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นการคิดดอกเบี้ยแบบทบต้นให้กลายมาเป็นเงินต้นใหม่ในงวดถัดไป หลายงวดถัดไปหากเรายังชำระไม่ครบจำนวนทั้งหมดทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เขาจะคิดดอกเบี้ยทบซ้ำแบบไม่รู้จบ

ยิ่งจ่ายขั้นต่ำ ทั้งต้นทั้งดอกเบี้ยยิ่งพอกพูน

ดอกเบี้ยบัตรเครดิตคิดยังไง ในข้อเท็จจริงตามหลักกฎหมายไม่ว่าจะเป็นกฎหมายแพ่งและกฎหมายพาณิชย์ ระบุห้ามคิดดอกเบี้ยทบเงินต้น แต่บัตรพลาสติกไม่ทำตามแบบนั้น ธนาคารหรือสถาบันการเงินจะคิดดอกเบี้ยทบต้น แล้วคิดดอกเบี้ยซ้ำ เปรียบเสมือนปรากฏการณ์ก้อนหิมะ ในจุดยอดเขาเอเวอร์เรสต์ที่เริ่มต้นบนยอดจากหิมะก้อนเล็ก ๆ แล้วเมื่อก้อนหิมะก้อนเล็กนั้น กลิ้งลงจากยอดลงมาเรื่อย ๆ จนถึงตีนเขา ก้อนหิมะเล็กจะกลายเป็นหิมะลูกใหญ่มหึมาที่จะสามารถสร้างความสูญเสีย พังทลายทั้งหมู่บ้านให้ยับเยินได้ ส่งผลให้ผู้คนตายเป็นร้อยพัน นี่คือการเปรียบเทียบให้เห็นภาพความเสียหายจากผลของดอกเบี้ยบัตรพลาสติก