ในการทำร้านอาหารอีกหนึ่งเรื่องที่เจ้าของร้านมักคิดไม่ตกก็คือ “แล้วจะตั้งชื่อร้านอาหารอย่างไรให้ติดหูผู้คน” เพราะชื่อของร้านที่โดน ๆ มักจะดึงดูดความสนใจของคนมากกว่าร้านที่ดูธรรมดา ๆ ยิ่งในสมัยนี้หากมีชื่อของอะไรสักอย่างที่ฟังแล้วสะดุดหูนั่นคือ “โอกาส” ที่จะปิดยอดขายได้สำเร็จ
ยิ่งสร้างความประหลาดใจได้มากเท่าไรก็ยิ่งเป็นที่จดจำ เป็นกระแสให้คนพูดถึงและท้ายที่สุดคนที่ได้ยินก็จะเข้าม
าลองอะไรแปลกใหม่ในที่สุด ฉะนั้นหากคิดจะเปิดร้านอาหารก็ลองให้ความสำคัญกับการตั้งชื่อร้านให้ติดหูคนดูสักนิด แล้วคุณจะเห็นความแตกต่างครับ เพราะนี่คือจุดเริ่มต้นการทำการตลาดร้านอาหารที่ใช้ต้นทุนต่ำมากเลยทีเดียว
และหากคุณคิดไม่ออกว่าจะตั้งชื่อร้านอาหารอย่างไรให้ติดหูคนฟัง วันนี้เรามีคำแนะนำเล็ก ๆ น้อย ๆ มาฝากกันครับ
ธรรมดาโลกไม่จำ แต่ถ้าอยากให้คนจดจำคุณต้องกระตุกต่อมอยากรู้ของเขา
เดี๋ยวนี้วลีเด็ดโดนใจที่มักได้ยินได้ฟังกันบ่อย ๆ ก็คือวลีที่ว่า “ธรรมดาโลกไม่จำ” วลีนี้หมายความว่าถ้าคุณทำอะไรสักอย่างที่ดูพื้น ๆ และกลมกลืนไปกับชาวบ้านเขา ท้ายที่สุดสิ่งที่คุณกำลังทำจะไม่เป็นที่จดจำของผู้คน นั่นก็เพราะความธรรมดาเกินไปและไม่มีจุดเด่นอะไรเลยนั่นเอง และหากคุณยังจำได้ในอดีตเคยมีแบรนด์ของเบเกอรี่แบรนด์หนึ่งที่ใช้คำพูดที่อาจฟังดูไม่ค่อยสุภาพอย่างคำว่า “เว้ยเฮ้ย” มาเป็นส่วนหนึ่งของชื่อแบรนด์และสิ่งที่น่าประหลาดใจก็คือแทนที่ผลลัพธ์มันจะออกมาไม่ดีแต่กลับกลายเป็นว่าชื่อแบรนด์กลายเป็นคำพูดติดหูและกลายเป็นกระแสให้คนพูดถึง ซึ่งจุดประกายให้เราได้ยินชื่อแบรนด์แปลก ๆ ตามมาอีกมากมายครับ นี่ก็คือตัวอย่างของคำพูดที่ว่า “ธรรมดาโลกไม่จำ” และเราจะขอเสริมวลีต่อท้ายไปอีกหน่อยว่า “ถ้าอยากให้คนจดจำคุณก็ต้องไปกระตุกต่อมอยากรู้ของเขาให้ได้” จึงจะดึงดูดความสนใจคนฟังให้เกิดเป็นความประทับใจในที่สุด
8 วิธีตั้งชื่อร้านอาหารให้ปัง กระตุกต่อมคนฟังให้ติดหู
1. ใช้คำกระชับ กินใจ ไม่ยืดยาว
ชื่อร้านที่ยาวเป็นหางว่าวย่อมไม่ดึงดูดความสนใจของคนครับ เพราะกว่าลูกค้าจะจำได้หรือพูดชื่อร้านของคุณจบ เขาก็หมดความอยากพอดี ดังนั้นชื่อร้านที่ดีต้องกระชับไม่เวิ่นเว้อ แต่กินใจและเตะหูจึงจะมีโอกาสดึงดูดความสนใจของลูกค้าครับ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคำแนะนำข้อนี้ก็ไม่เป็นจริงเสมอไป ถ้าคุณมั่นใจว่าการตั้งชื่อร้านที่อาจจะยาวสักหน่อยแต่ถ้ามันฟังดูแล้ว “เจ๋ง” พอ ชื่อร้านยาว ๆ ที่คุณตั้งก็สามารถดึงดูดความสนใจของคนฟังได้เช่นกันครับ
ตัวอย่างการตั้งชื่อร้านแบบนี้เช่น
– ร้านสลัด โอ้กะจู๋
– ร้านกาแฟ ปัจจัตตัง
– ร้านอาหาร คุ้มกะตังค์
2. ต้องบ่งบอกคาแรกเตอร์ของร้านโดยอาจใช้คำที่ดูน่าค้นหา
เชื่อว่าก่อนที่คุณคิดจะทำร้านอาหารคุณต้องมีการวางคอนเซปท์ของร้านว่าอยากให้ร้านมีคาแรกเตอร์อย่างไรอยู่ก่อนแล้ว หากคุณไม่รู้ว่าจะตั้งชื่อร้านออกมาอย่างไรคุณก็เอาคอนเซปท์ของร้านนั่นแหละมาตั้งเป็นชื่อร้านโดยอาจเลือกใช้คำไม่กี่คำแต่มีความหมายสื่อถึงร้านและคอนเซปท์ที่วางไว้ก็ได้เช่นกัน
ตัวอย่างการตั้งชื่อร้านแบบนี้เช่น
– ร้านสหายหมื่นจอก มาพร้อมคอนเซปท์ประจำร้านที่ว่า “ร่ำสุรากับสหายที่รู้ใจ ความสัมพันธ์โยง ใยไปทั่วหล้า” เป็นร้านที่มีบรรยากาศสบาย ๆสามารถนั่งกิน นั่งดื่มกับเพื่อนที่รู้ใจได้นาน ๆ
– ร้านจะกินอย่าบ่น ที่มาพร้อมคอนเซปท์ร้านอาหารสไตร์ง่าย ๆในบรรยากาศสบาย ๆ
– ร้าน “sit-นี่” ที่เล่นคำพ้องเสียงแต่มีสไตร์เชิญชวนให้มานั่งกินและนั่งดื่มที่ร้านนี้
3. ใช้คำเด็ด ๆ มา ตั้งชื่อร้านอาหาร แต่ต้องไม่ออกไปในทางหยาบคายเกินไป
ในสมัยนี้หลาย ๆ ร้านมักจะเอาคำพูดที่ฟังดูแรง ๆ เด็ด ๆมาเป็นส่วนประกอบของชื่อร้าน ซึ่งอาจมีการใช้คำผวนที่ชวนให้ตลกขบขันและฟังดูขี้เล่น ในขณะที่ชื่อร้านหลายร้านก็ดูคล้ายกับการจิกกัดลูกค้า แต่เชื่อไหมว่าชื่อร้านประเภทนี้สร้างอารมณ์น่าจดจำได้มากกว่าชื่อร้านที่ดูเป็นทางการและสุภาพมากเกินไป คำที่ฟังแล้วเด็ด ๆ ที่มักได้ยินเป็นชื่อร้านบ่อย ๆ ก็เช่นคำว่า “ผัว” “เมีย” หรือคำผวนที่มีความหมาย 2 แง่ 2 ง่าม แต่ไม่ถึงกับลามก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคำเด็ด ๆ ที่คุณนำมาตั้งเป็นชื่อร้านต้องอยู่ในขอบข่ายที่พอดี ๆ ไม่ควรมีความหมายในเชิงลบ หยาบคาย หรือส่อไปในทางอนาจารเด็ดขาดเพราะจากที่คิดว่าจะรุ่งมันก็อาจจะร่วงเอาได้ง่าย ๆ
ตัวอย่างการตั้งชื่อร้านแบบนี้เช่น
– ร้านตำแปลก แซ่บลืมผัว
– ร้านปั่นลืมเมีย เดอ คันคลอง
– ร้านโนตม นมสด พหลโยธิน 52
4. บ่งบอกถึงจุดเด่นของเมนูและรสชาติอาหาร
ถ้าคุณมีเมนูอาหารที่เป็นจุดขายหรือมั่นใจว่ารสชาติอาหารของคุณไม่ว่าใครทานก็ต้องติดใจ คุณอาจจะตั้งชื่อร้านที่ชูจุดเด่นของเมนูหรือโอ้อวดรสชาติอาหารไปเสียเลยก็ได้ แต่คุณต้องมั่นใจว่ารสชาติต้อง “เอาอยู่” จริง ๆ นะ เพราะชื่อร้านลักษณะนี้ฟังดูเหมือนกับคุณกำลังท้าทายให้คนมาลองชิมอาหารและถ้ารสชาติไม่สมกับที่คุยไว้ ร้านของคุณก็มีโอกาสจบได้ง่าย ๆเช่นกัน โดยคุณอาจจะใช้คำพูดที่ดูโอเวอร์นิด ๆ เช่น “แซ่บทะลุไส้” หรือ “อร่อยปราบเซียน” มาเป็นส่วนหนึ่งของชื่อร้านก็ได้ครับ
ตัวอย่างการตั้งชื่อร้านแบบนี้เช่น
– ร้านยำมะม่วงแซ่บแสบตูด สาขาแม่
– ร้านหมูทำอะไรก็อร่อย ซึ่งในร้านมีแต่เมนูที่ทำจากเนื้อหมูแถมการันตีว่าเมนูหมูของเขาอร่อยทุก เมนู
– ร้านอร่อยแตกซิก เป็นร้านก๋วยเตี๋ยวที่รสชาติเผ็ดจัดจ้าน ทานแล้วถึงกับเหงื่อแตกซิกนั่นเอง
5. ตั้งชื่อร้านอาหารเล่นกับวลีโดน ๆ
มีวลีโดนใจอยู่มากมายทั้งที่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์ เพลง หรือหนังสือที่สามารถให้คุณหยิบมาดัดแปลงเป็นชื่อร้านได้ และวลีโดน ๆ เหล่านี้สามารถดึงดูดและสร้างความน่าสนใจให้แก่ร้านของคุณได้มาก หากคุณมีคอนเซปท์ของร้านอยู่แล้วลองหาวลีโดน ๆ มาดัดแปลงเป็นชื่อร้านดูครับแล้วร้านของคุณจะติดหูของคนที่ได้ยิน
ตัวอย่างการตั้งชื่อร้านแบบนี้เช่น
– ร้าน Lord of the Wings ซึ่งเมนูในร้านส่วนใหญ่เป็นปีกไก่
– ร้าน Fuckoffee เป็นร้านกาแฟแต่ตั้งชื่อร้านได้กวนมาก ๆกับคำสแลงเจ็บ ๆ
– ร้าน Frying Nemo fish and chips ชื่อร้านที่ละม้ายคล้ายชื่อการ์ตูนแต่นี่คือร้านขายปลาทอด
6. ใช้สำบัดสำนวนชวนติดหู
คนไทยมีพรสวรรค์ในเรื่องสำบัดสำนวนและภาษาไทยเองก็เอื้อให้ใช้สำนวนเป็นลูกเล่นได้ ลองตั้งชื่อร้านโดยใช้คำคล้องจองหรือคำพ้องเสียงที่สามารถสื่อไปถึงลักษณะของร้านที่คุณกำลังจะเปิดดูสิครับ เพราะหลายครั้งที่สำนวนที่คุณสร้างขึ้นหรือคำพ้องเสียงที่คุณคิดเป็นชื่อร้านก็สามารถติดหูคนฟังได้ดีกว่าชื่อร้านที่ใช้คำพูดธรรมดา ๆ ครับ
ตัวอย่างการตั้งชื่อร้านแบบนี้เช่น
– ร้านพ่อครัวเถื่อน ยอดนักตุ๋น ที่สื่อความหมายว่าร้านนั้นขึ้นชื่อในเรื่องอาหารประเภทตุ๋น
– ร้านเล่นไข่ ที่มีเมนูอาหารเป็นสารพัดข้าวไข่ข้นให้เลือกลอง
– ร้านหนึ่งคลอง สองทะเล ร้านที่มีที่ตั้งอยู่ติดริมทะเล กับบรรยากาศสบาย ๆ
7. ใช้ภาษาพื้นเมืองมาตั้งชื่อร้านอาหาร
หากคุณเป็นคนต่างจังหวัด คุณอาจใช้ภาษาพื้นเมืองของบ้านเกิดคุณที่ออกเสียงแล้วดูน่าสนใจมาตั้งเป็นชื่อร้านก็ได้เช่นกัน ภาษาพื้นเมืองหลาย ๆ คำก็ให้ความรู้สึกน่ารักและอบอุ่นเป็นกันเองและเชิญชวนให้คนที่ได้ยินตัดสินใจเข้าไปทานอาหาร และหากคำที่คุณเลือกใช้สอดคล้องไปในทางเดียวกันกับอาหารเช่นร้านที่คุณเปิดเป็นร้านที่ขายอาหารท้องถิ่นด้วยแล้วก็จะยิ่งกลายเป็นจุดที่ทำให้ผู้คนจดจำได้ดียิ่งขึ้นไปอีก
ตัวอย่างการตั้งชื่อร้านแบบนี้เช่น
– ร้านนมบ่ะเล่น โดยคำว่า บ่ะเล่นเป็นภาษาเหนือที่แปลว่าใหญ่มาก ร้านนี้ขายเมนูเฉพาะนมเพียง อย่างเดียว
– ร้านตูบน้อย ตูบนี่เป็นภาษาเหนือที่แปลว่ากระท่อมเล็ก ๆฟังดูอบอุ่นเป็นกันเอง
– ร้านสภากาแฟ SR แต่เตี๊ยม คำว่าแต่เตี๊ยมเป็นภาษาพื้นเมืองภูเก็ตที่แปลว่า ติ่มซำ ร้านนี้จึงมีเมนูเด็ด ที่ติ่มซำครับ
8. พ่วงสโลแกนโดน ๆ ยิ่งดึงดูดให้ดูน่าสนใจ
หลาย ๆร้านมักจะตั้งสโลแกนเด็ด ๆต่อท้ายชื่อร้านเพื่อเป็นการบรรยายสรรพคุณของทางร้านหรือเป็นการตอกย้ำให้ร้านดูน่าสนใจ บางร้านก็เลือกตั้งสโลแกนที่พอได้ยินก็รู้ในทันทีว่าร้านตั้งอยู่ตรงตำแหน่งไหน หรือบางสโลแกนก็ฟังแล้วสร้างอารมณ์ขบขันหยอกล้อกับคนที่ได้ยิน และก็มีร้านอีกจำนวนไม่น้อยครับที่ชื่อร้านไม่ได้ฟังแล้วติดหูแต่กลับกลายเป็นสโลแกนที่ตั้งขึ้นมีความน่าสนใจกว่าก็มี หากคุณไม่มั่นใจว่าชื่อร้านของคุณจะติดหูไหม ลองหาสโลแกนเจ๋ง ๆสักอันมาต่อท้ายดูครับ แล้วมันจะช่วยเสริมให้ร้านของคุณดูดีขึ้นมาทันที
ตัวอย่างการตั้งชื่อร้านอาหารแบบนี้เช่น
– ร้านกระหรี่หมี่เตี๋ยว ที่มาพร้อมสโลแกน “ปลุกความเป็นแกงกะหรี่ในตัวคุณ”
– ร้านกระทะร้อน อะไรก็ไม่รู้ ที่มาพร้อมสโลแกน “แพง! ไม่ขาย ขาย 189 โอเคนะ”
– ร้านหน้าสั่นโภชนา ที่มาพร้อมสโลแกน “ไม่อร่อย ตบหน้าสั่น”
ชื่อร้านที่โดน ๆ ก็เสมือนนางกวักที่ช่วยเรียกแขกให้เข้าร้าน และติดหูเป็นกระแสเป็นที่จดจำของคนที่ได้ยิน ทำให้ร้านอาหารเกิดการบอกต่อบนโลกออนไลน์ แต่จงอย่าลืมความจริงที่ว่าในการทำร้านอาหารคุณภาพและรสชาติเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ซึ่งถ้าคุณขาดทั้ง 2 สิ่งนี้ไป แม้ว่าชื่อร้านของคุณจะดีจะโดนแค่ไหนมันก็ช่วยอะไรคุณไม่ได้เลย
บริการอบรม ให้คำปรึกษาการทำธุรกิจออนไลน์ ฝึกอบรมภายในบริษัท แบบตัวต่อตัว การทำ Content Marketing,การโฆษณา Facebook,การโฆษณา Tiktok,การตลาด Line OA และการทำสินค้าให้คนหาเจอบน Google
บริการดูแลระบบการตลาดออนไลน์ให้ทั้งระบบ
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสารความรู้การทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ Add Line id :@taokaemai
รับชมคลิป VDO ความรู้ด้านการตลาด กรณีศึกษาธุรกิจ แหล่งเงินทุนน่าสนใจ ติดตามได้ที่ช่อง Youtube : Taokaemai เพื่อนคู่คิดธุรกิจ SME