วิกฤตของชีวิตคงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ทว่าความแน่นอนก็คือความไม่แน่นอน จากคนที่ทำงานประจำมีเงินเดือนทุกเดือน แล้วจู่ๆก็มีคำสั่งลงมาให้มีการ lay off พนักงาน

จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม เราซึ่งเป็นพนักงานคงไม่สามารถทำอะไรได้ นอกจากการเตรียมตัวเตรียมใจตกงาน

สำหรับคนที่อยากมีกิจการส่วนตัวหรืออยากทำในสิ่งที่ได้เคยฝันไว้ถึงเวลาแล้วที่จะต้องลงมือทำอย่างจริงจังเสียที แล้วเราจะต้องเตรียมตัวอย่างไร เพื่อไม่ให้ชีวิตต้องสะดุด  เราลองมาดูกัน

1.วางแผนการเงิน

เมื่อไม่ได้ทำงานแล้วรายรับที่เคยได้รับทุกเดือนจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป แต่รายจ่ายยังคงมีอยู่ จึงจำเป็นต้องหันมาจัดการด้านภาระหนี้สิน ยังมีค่าใช้จ่ายใดบ้าง และค่าใช้จ่ายอะไรที่สามารถลดได้ เช็คดูว่าพอมีรายรับทางอื่นอีกหรือไม่ อย่างแรกที่คุณต้องเริ่มทำก่อนเลยคือ การทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ซึ่งในชีวิตการทำงานอาจไม่เคยทำมาก่อนถึงเวลาต้องตรวจเช็คสุขภาพการเงินแล้วหละเมื่อคุณได้ทราบสถานะทางการเงินแล้ว จึงมาปรับเปลี่ยนพฤติการการใช้เงิน ตรวจสอบดูว่าสิ่งใดที่ต้องลดก่อนเพื่อให้ทราบว่าค่าใช้จ่ายใดสูงหรือ ไม่จำเป็น ซึ่งค่าใช้จ่ายแบ่งออกเป็นดังนี้

ค่าใช้จ่ายด้านการผ่อนชำระหรือค่าใช้จ่ายคงที่ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ถือเป็นค่าใช้จ่ายหลัก
ค่าใช้จ่ายด้านการออมเพื่อการลงทุนหากในช่วงที่ยังทำงานประจำอยู่นั้น เคยออมเงินโดยการซื้อกองทุน ลองพิจารณาว่าสามารถลดจำนวนเงินออมได้หรือไม่

เมื่อกลับมามีรายได้แล้วจึงค่อยเพิ่มการออมเงิน

ค่าใช้จ่ายด้านสันทนาการหรื่อค่าใช้จ่ายผันแปรจำเป็นหรือไม่ต้องใช้โทรศัพท์แบบเหมาจ่ายที่มีราคาสูง ลองปรับโปรโมชั่นให้ถูกลงช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ หรือ ยกเลิกการเป็นสมาชิก Fitness หากไม่ค่อยได้ไป

2.จัดสรรเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

เงินกองทุนแบ่งเป็น 4 ส่วนได้แก่ เงินสะสม(ส่วนของพนักงาน) เงินสบทบ (ส่วนของนายจ้าง)ผลประโยชน์เงินสะสม และผลประโยชน์เงินสมทบ (สิ่งที่ได้จากการลงทุน)

เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ยังมีทางเลือกให้กับพนักงาน คือ รับเป็นเงินก้อน หรือ ยังคงไว้กับกองทุนเพื่อรอการโอนย้ายกองทุน คุณควรจัดสรรเงินกองทุน และศึกษาเงื่อนไขของการนำเงินกองทุนออกมาใช้จ่าย โดยมีทางเลือกดังนี้

2.1. ลูกจ้างสามารถคงเงินไว้กับกองทุนรอจนอายุครบ 55 ปี

2.2 โอนย้ายไป RMF for PVD

2.3.โอนเงินไปอยู่กับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกับนายจ้างใหม่

2.4.รับเงินกองทุนจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

สำหรับผู้ที่เลือก เงินสะสม + เงินสมทบ + ผลประโยชน์เงินสะสม  จะไม่มีภาระด้านการเสียภาษี แต่

สำหรับผู้ที่เลือก เงินสมทบ + ผลประโยชน์เงินสะสม + ประโยชน์เงินสมทบ จะต้องแสดงรายการเพื่อชำระภาษีแยกได้เป็น 2 กรณี คือ อายุงานไม่น้อยกว่า 5 ปี สามารถแยกยื่นภาษีตามมาตรา 45(5) เช่นเดียวกับเงินชดเชยตามกฏหมาย และหากอายุงานน้อยกว่า 5 ปี ยื่นรวมคำนวณภาษีตามปกติ

3.ประกันสังคมเรื่องต้องรู้

เมื่อคุณต้องออกจากงาน ควรรู้เงื่อนไขประกันสังคมเพื่อรักษาสิทธิของตนเอง โดยเรื่องที่ต้องดำเนินการได้แก่ เงินช่วยเหลือกรณีว่างงาน และการรักษาสิทธิความคุ้มครองจากประกันสังคม โดย

  • ลูกจ้างที่จ่ายเงินสบทบเข้ากองทุนประกันสังคมมาแล้วไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน

ก่อนว่างงาน จะได้รับสิทธิความช่วยเหลือ สำหรับผู้ถูกเลิกจ้างได้รับประโยชน์ทดแทนอัตรา 15%ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 180 วัน สำหรับผู้ลาออกจากงาน ได้รับอัตรา 30%ของค่าจ้างครั้งละไม่เกิน 90 วัน โดยผู้ประกันตนจะต้องไปขึ้นทะเบียนที่สำนักงานจัดหางานของรัฐภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ว่างงาน

  • ลูกจ้างที่ออกจากงาน จะได้รับความคุ้มครองจากสำนักงานประกันสังคมต่อไปอีก 6 เดือน นับจากวันที่ลาออกจากงานโดยได้รับความคุ้มครอง 4 กรณี คือ เจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพและเสียชิวิตตามเงื่อนไขประกันสังคม ฯลฯ

นอกจากนี้เงินประกันสังคมที่จ่ายไปทุกเดือนส่วนหนึ่งสะสมเป็นเงินออมชราภาพ สามารถเช็คยอดเงินได้ที่แอพริเคชันประกันสังคม และสามารถขอคืนได้ตอนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ จะได้รับเป็นบำเหน็จหรือบำนาญขึ้นอยู่กับระยะเวลาส่งเงินเข้าประกันสังคม

4.ศึกษา หาความรู้เพิ่มเติม พัฒนาตนเอง

ในช่วงเวลาที่ยังอยู่ในงานประจำ ควรที่จะพัฒนาตนเอง ไม่ปล่อยเวลาให้สูญเปล่า โดยเฉพาะทักษะด้านภาษาต่างประเทศ ความสามารถด้านคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นความสามารถเฉพาะตนและเป็นที่ต้องการสำหรับทุกๆการทำงาน นอกจากนี้ควรพยายามเพิ่มศักยภาพด้านวิชาชีพตามที่ตนเองถนัดหรือตามสายงานที่ทำมา ซึ่งโอกาสต่างๆในการศึกษาหาความรู้ สามารถหาได้จากหน่วยงานต่างๆทั้งที่มีค่าใช้จ่ายและเรียนฟรี

5. วางแผนหางานเสริมที่ตนเองสนใจ

ลองใช้เวลาที่พอมีอยู่มองหาสิ่งที่อยากทำ เลือกจากความถนัดและความชอบของตนเอง และพัฒนาฝีมือให้ชำนาญ หรือจะมองที่เป้าหมายใหญ่ขึ้นโดยการเริ่มทำกิจการส่วนตัว ซึ่งต้องศึกษาด้านการทำธุรกิจเพิ่มเติม ได้แก่ การศึกษาการเขียนแผนธุรกิจ การศึกษาตลาดกลุ่มเป้าหมาย

ไม่แน่นะคุณอาจจะเป็นผู้ที่ตามหาความฝันนั้นเจอแล้วเปลี่ยนจากงานเสริมเป็นกิจการส่วนตัวโดยไม่ต้องกลับไปง้องานประจำอีกก็เป็นได้

6.ใช้ประโยชน์จากงานประจำเพื่อให้มีเครดิตในการขอสินเชื่อในการทำธุรกิจ

มองหาแหล่งเงินทุนที่เป็นไปได้ ได้แก่

สินเชื่อส่วนบุคคล สำหรับคนที่ต้องการเงินด่วน อนุมัติเร็ว ข้อควรระวัง:เปรียบเทียบเรื่องของดอกเบี้ยของแต่ละธนาคารตลอดการเลือกแผนการผ่อนชำระให้เหมาะสมกับความสามารถของคุณเอง หรือ

สินเชื่อเพื่อธุรกิจ SME โดยสินเชื่อลักษณะนี้ผู้ขอสินเชื่อต้องศึกษาการเขียนแผนธุรกิจ ซึ่งประกอบด้วย วิเคราะห์การตลาด ศึกษากลุ่มเป้าหมาย/ลูกค้า และงบการเงินของธุรกิจที่ขอสินเชื่อ เป็นต้น โดยผู้ประกอบการต้องนำแผนธุรกิจนี้ยื่นขอสินเชื่อกับธนาคารเพื่อประกอบการพิจารณาการปล่อยกู้ จากขั้นตอนดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ถ้าคุณไม่เคยมีความรู้มาก่อนเลย อาจจำเป็นต้องพื่ง Outsource ในการจัดทำแผนธุรกิจ ซึ่งอาจจะมีค่าใช้จ่าย

7.เริ่มต้นมองหางานใหม่

ย้อนกลับมาทบทวนความสามารถจากงานปัจจุบันที่ทำอยู่ว่ามีจุดเด่นอย่างไรบ้างที่สามารถนำไปใช้กับการสมัครงานที่ใหม่ และเริ่มต้นวางเป้าหมายใหม่อีกครั้ง ปรับความคิดมองโลกในแง่ดี ซึ่งอาจเป็นโอกาสที่จะได้พบกับสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่าที่เดิมก็ได้

ไม่ว่าเหตุการณ์เลวร้ายใดๆจะเกิดขึ้นในชีวิตก็ตาม หากคุณได้เตรียมพร้อมไว้แล้ว คุณจะสามารถก้าวผ่านอุปสรรคต่างๆไปได้ สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างราบรื่น พบกับโอกาสใหม่เพียงคุณเปิดโอกาสให้กับตนเองเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสด้วยการผันตัวเองไปเป็นผู้ประกอบการจากอาชีพเสริมที่ได้เตรียมไว้ นั้นเป็น เพราะว่าทุกๆความสำเร็จเกิดขึ้นจากความพยายามเล็กๆและไม่ยอมแพ้ แต่อย่างไรก็ตาม จงอย่าลืมที่จะเอาใจใส่ตัวเองทั้งด้านร่างกาย จิตใจ รวมถึงคนรอบข้างที่ต้องดูแลด้วย

บทความโดย ผู้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตร “เขียนบทความสร้างรายได้ รุ่น 2”

คุณ กาญจนาภรณ์ บุญเกิด (คุณ นก)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ปริญญาโท คณะบริหารธุรกิจ
ปัจจุบันเป็นพนักงานบริษัท

บทความเกี่ยวกับการทำงาน มนุยษ์เงินเดือน