ใครอยากเปลี่ยนจากแบรนด์พังเป็น สร้างแบรนด์สินค้า ให้ดัง ก็ลองกลับไปทบทวนอีกสักครั้งว่าแบรนด์เราป่วยที่ตรงไหนเพื่อที่จะได้รักษาแบรนด์เราอย่างตรงอาการ

เคยมั้ยพยายามปลุกปั้นสร้างแบรนด์เท่าไร แบรนด์เราก็ยังไม่สามารถไปนั่งในใจกลุ่มลูกค้าเป้าหมายสักที ยิงโฆษณาก็แล้ว พยายามทำอะไรที่คิดว่าใช่ก็แล้ว ทั้งเสียเงินลงคอร์สเรียนเพื่อสร้างแบรนด์ไปก็มากแต่ก็ยังไม่โดน ไม่รู้ว่าจะทำยังไงแล้ว วันนี้ลองย้อนกลับมาทบทวนตัวเองว่า ที่แบรนด์เรามันไม่ปัง บางทีอาจจะมาจากสาเหตุเหล่านี้ก็เป็นได้

1.สร้างแบรนด์ด้วยการสร้างภาพ

หลายคนคิดว่าการสร้างแบรนด์ต้องสร้างเรื่องราวให้มีดราม่า หรือทุกอย่างต้องดูดี แต่สุดท้ายแบรนด์กลับไม่ได้ดีจริงดังภาพที่สร้างจนทำให้บางทีลูกค้าก็รู้สึกว่าโดนหลอก จนเกิดกระแสตีกลับ กลายเป็นล้มเหลวในการสร้างแบรนด์ ซึ่งจริงๆแล้ว SME ควรดึงส่วนที่ดีจริงของแบรนด์มานำเสนอต่อลูกค้า และบอกเล่าส่งต่อความเป็นตัวตนของแบรนด์เราในแง่มุมที่น่าสนใจสู่ลูกค้าเพื่อให้ลูกค้าเกิดความประทับใจที่แท้จริง

2.สร้างแบรนด์แต่ไม่รู้เขาไม่รู้เรา

การที่เราไม่รู้ หรือรู้แต่ไม่เข้าใจ หรือเข้าใจแต่ไม่ถ่องแท้ เป็นเรื่องเสี่ยงที่ทำให้คนทำธุรกิจตัดสินใจผิดพลาดได้ ซึ่งนั่นอาจนำมาสู่ความหายนะของตัวแบรนด์ หรือแม้กระทั่งตัวธุรกิจเอง โดยการทำความเข้าใจให้ถ่องแท้นั้นก็ไม่ได้ยากจนคุณทำไม่ได้ ซึ่งคุณอาจจะเริ่มต้นจากรู้จักเข้าใจตัวเองจากนโยบาย วัตถุประสงค์ และอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น ทำไมต้องมีเรามีแบรนด์นี้ แบรนด์นี้ช่วยอะไร ให้อะไรลูกค้า เป็นต้น ซึ่งข้อมูลที่ใช้ควรเก็บมาจากคนในธุรกิจของเรานั่นเอง เพราะความเชื่อต่างๆและการใช้ชีวิตของคนที่เกี่ยวข้องมีผลต่อการสร้างแบรนด์ด้วย

ส่วนรู้เขาคือต้องรู้ทั้งลูกค้า คู่แข่ง คู่ค้า แม้กระทั่งผู้ผลิตเองก็สำคัญ เพราะหลายๆครั้งก็มีข่าวลบๆ เกี่ยวกับคุณภาพที่ผู้ผลิตที่ถูกจ้างผลิตหลายๆ ผลิตภัณฑ์ออกมาให้เราได้ยินอยู่เสมอ ซึ่งกรณีแบบนี้มันก็จะกระทบมาสู่ตัวสินค้าและตัวแบรนด์ของเราด้วย ดังนั้นจงศึกษาให้ดีให้เข้าใจอย่างถ่องแท้เพื่อป้องกันไม่ให้ชื่อเสียงกลายเป็นชื่อเสียได้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ยังช่วยให้เราวางกลยุทธ์ของแบรนด์และตำแหน่งของสินค้าได้อย่างชัดเจนอีกด้วย

3.สร้างแบรนด์แต่โลกเปลี่ยนก็ไม่สน

ในปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา กระแสความนิยมต่างๆ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอยู่เสมอ รวมทั้งเทคโนโลยีใหม่ก็เข้ามาจนบางทีเราก็ตามแทบไม่ทัน แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงคือเราจะประยุกต์ใช้ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ นั้นอย่างไรให้เข้ากับแบรนด์ของเราอย่างพอเหมาะพอดี

เช่น ปัจจุบันเป็นยุคแห่งโลกดิจิทัลและยิ่งถ้ากลุ่มลูกค้าของเราเป็นกลุ่มวัยรุ่นผู้ชื่นชอบการใช้ social media บน smart phone ถ้าเรามัวแต่ไปใช้สื่อพวก print media ก็คงจะไม่ได้ผลนักกับกลุ่มลูกค้าสมัยใหม่ที่รัก digital media

แม้กระทั่งหลายๆแบรนด์ใหญ่ๆ ยังมีการเปลี่ยนสโสแกนหรือแม้กระทั่งโลโก้ที่ใช้มานานเพื่อให้เข้ากับรูปแบบธุรกิจและโลกที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ใช่ว่าจะตามกระแสจนสูญเสียตัวตนของแบรนด์ไป แต่ถ้าโลกเปลี่ยนแล้วเราไม่ปรับ มันก็อาจทำให้เราก้าวไม่ทันคู่แข่งจนเราเองต้องออกจากตลาดไปแบบไม่มีตัวตน

4.สร้างแบรนด์สินค้าแต่ไม่คงคุณภาพ

คุณภาพของสินค้าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องคำนึงถึงเช่นกัน แต่หลายคนก็มองข้ามเรื่องนี้ไปจนทำให้ในบางครั้งเมื่อเริ่มต้นธุรกิจ ลูกค้ามีความประทับใจในสินค้าหรือบริการ และยังให้การตอบรับที่ดี แต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม คุณภาพของสินค้าหรือบริการลดลงจนทำให้ลูกค้าไม่ประทับอีกต่อไป ก็ส่งผลให้แบรนด์ที่สร้างขึ้นมานั้นเสียหายได้ ซึ่งทำให้แบรนด์สูญเสียความแข่งแกร่งด้านคุณภาพไป

เช่น บริษัท ก ขายรองเท้ายี่ห้อ ก ที่มีคุณสมบัติกันน้ำได้ เนื้อสัมผัสนุ่ม ไม่กัดเท้าของผู้สวมใส่ ซึ่งลูกค้าก็ซื้อและใช้จนรู้สึกได้ถึงคุณภาพของตัวผลิตภัณฑ์ว่าดีจริง ดังนั้นหน้าที่บริษัท ก คือการคงคุณภาพนั้นไว้ หรือทำให้ดียิ่งขึ้นเพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีจากตัวสินค้าอยู่เสมอ แต่ถ้าเมื่อไรที่บริษัทรองเท้านั้นไม่สามารถคงมาตรฐานไว้ได้ อย่างเช่นมีน้ำซึมเข้ารองเท้า ก็จะทำให้ประสบการณ์ที่ดีของลูกค้าต่อแบรนด์นั้นสั่นคลอนจนนำไปสู่ความเสียหายของตัวแบรนด์

5.สร้างแบรนด์แต่ไม่สร้างอารมณ์ร่วม

ในหลายๆครั้งการที่เรามีสินค้าคุณภาพดีก็อาจยังไม่เพียงพอต่อการสร้างแบรนด์ให้ดังได้ เพราะว่าหลายผลิตภัณฑ์คู่แข่งสามารถเลียนแบบจนตัวสินค้ามีคุณภาพที่เทียบเคียงกันได้ในเวลาอันสั้น แต่ถ้าเราสร้างแบรนด์โดยใส่อารมณ์ความรู้สึกเข้าไปในแบรนด์เราด้วย มันก็จะยิ่งทำให้ลูกค้าจดจำแบรนด์ได้ดีและทำให้ลูกค้านึกถึงแบรนด์เราได้ง่ายขึ้น

ดังเช่น ร้านกาแฟยี่ห้อดังอย่างสตาร์บัคส์ที่ทำให้ร้านกาแฟเป็นดังบ้านหรือที่ทำงาน ที่เมื่อมาก็สบายใจทุกครั้ง ดังนั้นอย่าลืมใส่ความรู้สึกลงไปในแบรนด์ของเราด้วย

ดังนั้นถ้าใครอยากเปลี่ยนจากแบรนด์พังเป็นแบรนด์ดัง ก็ลองกลับไปทบทวนอีกสักครั้งว่าแบรนด์เราป่วยที่ตรงไหนเพื่อที่จะได้รักษาแบรนด์เราอย่างตรงอาการ จะได้เปลี่ยนจากแบรนด์พัง ยอดขายไม่โต เป็นแบรนด์ปัง ยอดขายเปรี้ยงจนนับเงินกันไม่ทันเลยทีเดียว

บทความโดย ผู้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตร “เขียนสร้างรายได้ออนไลน์ รุ่น 3”

สร้างแบรนด์สินค้า

คุณ สุชาดา พิชิตปรีชา
พนักงานบริษัท
ฝ่ายจัดซื้อ และวิเคราะห์ข้อมูล