เคยเป็นมั๊ย? ขายของมาตั้งนาน แต่ยอดขายไม่ขยับซักที พยายามเท่าไหร่กลับไม่เห็นผล นานวันก็ยิ่งท้อใจ จริงๆแล้วประเด็นอาจไม่ได้อยู่ตรงนั้น แต่อยู่ที่ว่าเรารู้สาเหตุที่แท้จริงของปัญหาหรือไม่ แล้วแก้ไขถูกจุดหรือเปล่า  ถ้าอยากรู้ว่าทำอย่างไรจึงจะเพิ่มยอดขายออนไลน์มากถึง 3 เท่า!!! บทความนี้มีคำตอบ

อยากเพิ่มยอดขายต้องทำยังไง…?

4 ขั้นตอนเพิ่มยอดขายออนไลน์

1.สร้างการซื้อซ้ำของลูกค้าเก่า 10% ต่อเดือน

โดยส่วนใหญ่ เมื่อทำธุรกิจมาจนถึงจุดหนึ่ง ผู้ประกอบการมักจะประสบกับปัญหาที่ว่า ทำไมยอดขายไม่ขยับเพิ่มขึ้น อย่างแรกที่ต้องทำคือ ให้ย้อนกลับมาดูว่า ยอดขายทุกวันนี้ได้มาจากกลุ่มลูกค้าเก่าหรือลูกค้าใหม่ รูปแบบการขายของในยุคปัจจุบัน ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่การขายสินค้าให้แก่กลุ่มลูกค้าใหม่เพียงอย่างเดียว ซึ่งไม่ต่างจากการทำธุรกิจแบบนักล่า จริงๆแล้วหนึ่งในตัวแปรสำคัญของการเพิ่มยอดขายนั้นมาจากกลุ่มลูกค้าเก่า ประเด็นที่ต้องโฟกัสคือ ทำอย่างไรก็ได้ให้ในแต่ละเดือนมีจำนวนลูกค้าเก่ากลับมาซื้อซ้ำ ขอแค่ 10% จากจำนวนลูกค้าทั้งหมด เท่านี้ยอดขายก็จะเพิ่มขึ้น ถ้าสินค้าเราดีจริง ย่อมมีโอกาสที่จะกลับมาซื้อซ้ำในครั้งต่อๆไป ถ้าเป็นกลุ่มสินค้าตามกระแสส่วนใหญ่จะประมาณ  3-6 ครั้ง ในบางกลุ่มสินค้าอาจจะกลับมาซื้อซ้ำนานเป็นปีเลยก็มี บางแบรนด์ไม่ได้จำหน่ายสินค้าแค่ตัวเดียว หากเรามีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มลูกค้าเก่าอยู่เรื่อยๆ บางครั้งแทบจะไม่ต้องพึ่งการยิงโฆษณาเลยด้วยซ้ำ แค่ Broadcast บนไลน์ไปยังกลุ่มลูกค้า เมื่อเขาเห็น แล้วเกิดความสนใจในตัวสินค้า โอกาสที่จะขายสินค้าตัวใหม่ ก็จะง่ายขึ้นนั่นเอง

2.ทำ Database ของลูกค้าให้ดี

หากจะเพิ่มยอดขายขึ้นไปอีกสเต็ป ส่วนที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ฐานข้อมูลที่มีอยู่นั้น เราสามารถใช้ประโยชน์ได้จริงมากน้อยแค่ไหน สินค้าที่ขายออกไป เป็นสินค้าอะไร เซ็ทอะไร ที่เกิดยอดขาย บางสินค้าขายดีมาก บางสินค้าขายแทบไม่ได้เลย เมื่อดำเนินธุรกิจผ่านไปประมาณ 6 เดือน จำเป็นที่จะต้องนำข้อมูลออกมาดูแล้วว่า สินค้าแต่ละตัวมีการเคลื่อนไหวอย่างไร แน่นอนว่าเมื่อเห็นอย่างนี้แล้ว โปรโมชั่นคือสิ่งแรกที่ผู้ประกอบส่วนใหญ่นึกถึง แต่โปรโมชั่นแบบไหนหล่ะ? ที่ทำกำไรให้เรา บางโปรโมชั่น ลูกค้าซื้อเยอะก็จริง แต่กลับขาดทุน บางโปรโมชั่นก็ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทำกำไร ยกตัวอย่างเช่น จะจัดเซ็ทสินค้าสองตัว ซึ่งเราเองก็รู้ว่าการทำแบบนี้ได้กำไรน้อย เลยตัดสินใจทำสินค้าใหม่เพิ่มขึ้นมาอีกตัว แล้วมุ่งโปรโมทสินค้าตัวใหม่นี้ให้ดัง…แต่!!!ไม่ขาย ? เงื่อนไขคือ ถ้าอยากซื้อสินค้าตัวนี้ ต้องซื้อสองตัวที่จัดเซ็ทก่อน แล้วจึงจะแลกซื้อสินค้านี้ได้ สมมติว่าสินค้าใหม่ตั้งราคาขายอยู่ที่ 500 บาทแต่ถ้าเป็นลูกค้าเก่าซื้อเซ็ทที่จับคู่กัน จากราคา 500 ลดเหลือ 150 บาทเท่านั้น อาจจะจำกัดว่าในหนึ่งบิลซื้อได้ 4 ชิ้นเท่านั้น ซึ่งการโปรโมทก่อนหน้านี้ เป็นการกระตุ้นการอยากซื้อ หากเป็นลูกค้าเก่าด้วยแล้ว ยิ่งได้ส่วนลดมากขึ้นไปอีก ตัวสินค้าที่ขาย 150 บาทจะถูกเซ็ทมาแล้วว่ากำไรต้องเยอะ ดังนั้นจึงมาครอบคลุมในส่วนของกำไรที่น้อย กลยุทธ์ในการตั้งราคาแบบนี้ จะทำให้กำไรโดยรวมกลับมีมากขึ้น ถ้าหากไม่มีข้อมูลพวกนี้ ก็ยากที่จะทำแบบนี้ได้ เราเห็นแค่ว่าสินค้าขายดี แต่ที่ขายอยู่นั้นอาจไม่มีกำไรก็เป็นไปได้

3.กระชับกระบวนการทำงานให้สั้น เพิ่ม Capacity ในการรับลูกค้า

ความรวดเร็วของการทำงาน เป็นอีกปัจจัยที่มีผลต่อการเพิ่มยอดขาย บางครั้งที่ธุรกิจกำลังไปได้สวย ลูกค้าเริ่มหลั่งไหลเข้ามาจนตั้งรับแทบไม่ทัน กลายเป็นปัญหาคอขวดซะอย่างนั้น เท่ากับเสียโอกาสในการขายไปอย่างน่าเสียดาย ลองนึกดูว่าการขายของออนไลน์ ที่เริ่มตั้งแต่การคุยกับลูกค้า การโน้มน้าวให้เกิดความอยากซื้อสินค้า การชำระเงิน ไปจนถึงขั้นตอนการจัดส่ง คิดว่ากระบวนการทั้งหมดนี้ใช้เวลาเท่าไหร่ และเมื่อเทียบกับชั่วโมงการทำงานภายในหนึ่งวัน จะขายได้กี่ชิ้น การที่ให้พนักงานหนึ่งคนรับผิดชอบตั้งแต่ขั้นตอนแรกไปจนสินค้าถูกจัดส่งถึงมือลูกค้านั้น หากเพิ่มจำนวนพนักงานมากขึ้น คิดว่าวิธีนี้จะทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นตามได้หรือไม่ ในอีกกรณีถ้าเราจัดสรรหน้าที่การทำงาน โดยให้แต่ละคนรับผิดชอบกันคนละส่วน พบว่าวิธีนี้กลับเป็นการช่วยลดเวลาในการทำงาน ทำให้เหลือเวลามากขึ้น นี่จึงเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานเพื่อรองรับจำนวนลูกค้าได้มากขึ้นนั่นเอง ผู้ประกอบการเองก็กล้าที่จะทุ่มเงินไปกับค่าการตลาด วิธีนี้เป็นการเพิ่มยอดขาย โดยที่จำนวนพนักงานยังคงเท่าเดิม แค่ปรับมุมมองนิดหน่อย บางทีกลับได้ผลลัพธ์ที่เกินคาด

4.หาเครื่องมือเข้ามาช่วยบริหารจัดการ

การที่จะเพิ่มยอดขายในธุรกิจจำเป็นจะต้องมีผู้ช่วยดีๆอย่างซอฟท์แวร์ที่ช่วยในการอำนวยความสะดวกในการทำงาน เครื่องมือที่นำมาใช้ต้องมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะตอบสนองต่อการเติบโตในอนาคตของธุรกิจ ก่อนที่จะมองหาซอฟท์แวร์ จะต้องดูว่ากระบวนการในการทำธุรกิจของเรามีองค์ประกอบใดบ้าง จากนั้นจึงจัดสรรบุคลากรลงไปปฏิบัติงานในแต่ละขั้นตอนให้เหมาะสม พอถึงตอนนี้เราก็จะเห็นภาพรวมทั้งหมดชัดขึ้น ที่เหลือก็เป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการ ในการเลือกใช้ซอฟท์แวร์ที่ช่วยในการจัดการให้กระบวนการทำงานในแต่ละขั้นตอนรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

หลายคนอยากจะเข้ามาสู่โลกของธุรกิจออนไลน์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าเห็นภาพของคนที่เข้ามาทำแล้วขายดีถล่มทลาย ได้เงินจำนวนมากมายมหาศาล บางคนมองว่าการทำออนไลน์เป็นอะไรที่ “ง่าย” มีช่องทางสาธารณะในการสร้างพื้นที่ของตนเองได้ฟรี! นี่จึงเป็นเหมือนภาพลวงตาที่ทำให้ผู้ประกอบการตกม้าตายระหว่างทางมานักต่อนักแล้ว เมื่อมองว่าอะไรๆก็ง่ายไปหมด สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ ความมักง่ายในการทำธุรกิจ จะมีสักกี่คนที่อยู่รอดในธุรกิจออนไลน์ อย่างการทำธุรกิจออฟไลน์ที่ลงทุนไปหลักล้าน แน่นอนว่าผู้ประกอบการต้องทุ่มสุดตัวในการที่จะให้ธุรกิจอยู่รอดและไปต่อได้

ครั้นพอมาเป็นธุรกิจออนไลน์ หลายคนกลับเลือกที่จะไม่ทำ เพราะคิดว่าเดี๋ยวธุรกิจก็เติบโตได้เอง แม้แต่บางคนก็ยังไม่กล้าที่จะบอกคนอื่นว่ากำลังขายของออนไลน์อยู่ การตัดสินใจเข้ามาสู่ธุรกิจออนไลน์ บอกเลยว่าต้องอาศัยความมุ่งมั่นตั้งใจ และใช้เวลาไม่ต่างจากธุรกิจออฟไลน์ ไม่ว่าจะอยู่บนเส้นทางไหน หากเราทุ่มเทมากพอ เรียนรู้สม่ำเสมอ และปรับตัวอยู่ตลอด หนทางสู่ความสำเร็จก็ไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินเอื้อมอีกต่อไป

บริการอบรม ให้คำปรึกษา Digital Marketing & Brand Storytelling ทั้งแบบรูปแบบองค์กร กลุ่ม และ ตัวต่อตัวเริ่มต้นธุรกิจออนไลน์