ด้วยความที่แพลตฟอร์มบล็อกเชนกำลังเป็นอุตสาหกรรมที่เฟื่องฟูในปัจจุบัน นอกเหนือจากบิทคอยน์ดั้งเดิมและ Ethereum ที่เป็นแพลตฟอร์มเบอร์ 1 และ 2 ของโลกก็ยังมีอีกหลายแพลตฟอร์มที่ถูกสร้างและพัฒนาขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการแก้ไขปัญหาด้านการทำงานของแพลตฟอร์มดั้งเดิมให้มีความสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น จนมีคำกล่าวในช่วงหลัง ๆ ว่าหลายแพลตฟอร์มบล็อกเชนที่ได้รับการพัฒนาในภายหลังกำลังจะกลายเป็น Ethereum Killer ที่จะเข้ามาแทนที่ตัวของ Ethereum ในแง่ของระบบการทำงานสที่รวดเร็วกว่านั่นเอง ในบรรดาแพลตฟอร์ม Ethereum Killer ยังมีชื่อของแพลตฟอร์มหนึ่งที่น่าสนใจและกำลังได้รับความนิยมจนมีส่วนผลักดันให้ราคาเหรียญคริปโตของแพลตฟอร์มดังกล่าวมีมูลค่าสูงขึ้น เป็นอย่างมาก โดยแพลตฟอร์มดังกล่าวมีชื่อว่า NEAR Protocol และเหรียญ NEAR ที่ในบทความนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกันให้มากขึ้น

 เหรียญ NEAR คืออะไร

เหรียญ NEAR ดีไหม

ต้นกำเนิดของเหรียญ NEAR ก็คือ NEAR Protocol เกิดขึ้นจากนักพัฒนา 2 คนคือ Alex Skidanov และ Illia Polosukhin โดยที่ทั้งคู่ต่างก็เป็นนักพัฒนาโปรแกรมที่มีประสบการณ์และผลงานมากมาย ทั้ง 2 พบกันในขณะที่ Alex Skidanov ทำงานที่บริษัทสตาร์ทอัพที่ชื่อ Y Combinator ในอเมริกา และในปี 2018 ทั้งคู่จึงได้ร่วมกันก่อตั้งและพัฒนาโครงการที่เน้นไปที่การสนับสนุนให้นักพัฒนาโปรแกรมสามารถสร้างและพัฒนาโปรแกรมรวมถึงเผยแพร่ผลงานได้อย่างมีอิสระมากขึ้นและมีอุปสรรคในเรื่องของระบบปฏิบัติงานที่น้อยลง โครงการนี้คือจุดเริ่มต้นของ Near Protocol ในปัจจุบัน

NEAR Protocol ยังเป็นที่รู้จักกันในชื่อของ NEAR Platform ซี่งเป็นเครือข่ายบล็อกเชนที่ทำงานในรูปแบบที่เรียกว่า Proof-of-stake โดย NEAR Protocol ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นมิตรกับเหล่าโปรแกรมเมอร์ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อต้องการกระตุ้นให้เหล่านักพัฒนาโปรแกรมสามารถใช้แพลตฟอร์มนี้ในการเขียนแอพพลิเคชั่นแบบกระจายอำนาจหรือ Decentralized Application (dApps)

รูปแบบการทำงานของ NEAR Protocol จะทำหน้าที่เสมือนว่าตัวเองเป็น Cloud ที่นักพัฒนาโปรแกรมสามารถใช้แพลตฟอร์มนี้เป็นฐานสำหรับการเขียนแอพพลิเคชั่น dApps เพียงแต่ข้อดีที่ดึงดูดใจนักพัฒนาได้มากคือการที่แพลตฟอร์มนี้ไม่มีตัวกลางในรูปแบบขององค์กรใดองค์กรหนึ่งขึ้นมาทำหน้าที่ในการควบคุมการทำงานแต่เพียงผู้เดียว เพราะผู้ใช้งานแพลตฟอร์มนี้ทั่วโลกคือผู้ที่ทำหน้าที่เป็น Validator Node สำหรับแพลตฟอร์มนี้

อีกจุดหนึ่งที่มีความสำคัญที่ทำให้นักพัฒนาแอพพลิเคชั่นหันมาให้ความสนใจแพลตฟอร์มนี้กันมากขึ้นก็มาจากการที่ทางแพลตฟอร์มเองเลือกใช้ภาษา Rust และ Assembly Script ซึ่งเป็นภาษาที่นักพัฒนาส่วนมากใช้ในการสร้างแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ จึงยิ่งทำให้ NEAR Protocol เข้าถึงนักพัฒนาโปรแกรมได้ง่ายกว่าหลาย ๆ แพลตฟอร์มบล็อกเชนที่มีในปัจจุบัน

เหรียญ NEAR ดีไหม ? ใช้ทำอะไร ใช้ที่ไหนบ้าง

ด้วยความที่เป็นเหรียญที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ใน NEAR Protocol ดังนั้นเหรียญ NEAR จึงถูกจัดเป็น Token Utility ดั้งเดิมของ NEAR Protocol โดยผู้ที่ถือครองเหรียญ NEAR สามารถใช้งานเหรียญดังกล่าวได้ดังนี้

– ใช้เป็นค่าธรรมเนียมสำหรับการทำธุรกรรมต่าง ๆ รวมถึงการจัดเก็บข้อมูลลงบน NEAR Protocol

– ใช้เพื่อเรียกใช้ Node ในการตรวจสอบความถูกต้องบนเครือข่าย NEAR Protocol ด้วยการ staking เหรียญ NEAR

– ผู้ถือครองยังได้สิทธ์ในการโหวตตัดสินหรือช่วยกันกำกับดูแลนโยบายต่าง ๆเช่นการจัดสรรทรัพยากรของเครือข่ายและทิศทางในอนาคตของ NEAR Protocol ว่าต้องการจะให้เป็นไปในทิศทางใด

– และล่าสุดคือสามารถนำเหรียญ NEAR มาใช้เพื่อซื้องานศิลปะในรูปแบบ NFT บน Near Protocol ได้แล้ว

เหรียญ NEAR ดีไหม ? อนาคตจะเป็นอย่างไร

ถ้าจะมองว่าอนาคตเหรียญ NEAR เป็นอย่างไรอาจต้องพิจารณาถึงหลักสำคัญที่ NEAR Protocol ถูกสร้างขึ้นมานั่นเอง โดย NEAR Protocol เป็นอีกหนึ่งบล็อกเชนที่ถูกมองว่าจะกลายมาเป็น Ethereum Killer ที่โดดเด่นกว่าตัว Ethereum ตรงที่ Scalability หรือความสามารถในการรองรับการขยายตัวของธุรกรรมที่มากขึ้น เพราะบล็อกเชนรุ่นใหม่ ๆ ต่างนำเทคโนโลยีที่เรียกว่า Proof-of-stake มาใช้งานจึงทำให้ประสิทธิภาพในการตรวจสอบธุรกรรมต่อวินาทีของบล็อกเชนมีมากกว่าตัวของ Ethereum ที่ใช้ระบบ Proof-of-work ซึ่งกินทรัพยากรมากกว่าแต่ให้ผลลัพธ์ที่ด้อยกว่านั่นเอง

หากคิดว่าการเข้ามาของบล็อกเชนใหม่ ๆ ด้วยเทคโนโลยีใหม่อาทิเช่น NEAR Protocol จะสามารถเขย่าบัลลังก์ของ Ethereum ได้ นักลงทุนอาจต้องจับตาดูสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิดอีกสักหน่อย นั่นก็เพราะว่าทาง Ethereum เองก็มีการแก้เกมส์ด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์มของตนเองขึ้นมาใหม่ที่เรียกว่า Ethereum 2.0 ที่ใช้เทคโนโลยี Proof-of-stake ด้วยเช่นกัน ซึ่งทำให้ข้อได้เปรียบในเรื่องของระบบการทำงานของบล็อกเชนรุ่นใหม่ ๆ ที่เคยมีก็อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ได้เปรียบอีกต่อไป แต่ทาง Ethereum จะกลับมากุมความได้เปรียบอีกครั้งตรงที่มีฐานผู้ใช้งานเดิมที่มากกว่านั่นเอง

ดังนั้นจุดแข็งจริง ๆ ของ NEAR Protocol จะกลับมาอยู่ที่วัตถุประสงค์ดั้งเดิมที่ต้องการสร้างแพลตฟอร์มที่เป็นมิตรกับนักพัฒนาโปรแกรมที่ทำให้พวกเขาสามารถเข้าถึงบล็อกเชนได้ง่าย ซึ่งหากทางผู้บริหารของ NEAR Protocol สามารถดึงดูดความสนใจให้นักพัฒนาหันมาพัฒนาแอพพลิเคชั่นบนเครือข่ายบล็อกเชนของตนเองได้มากขึ้น สิ่งนี้จะส่งผลดีต่อเหรียญ NEAR ให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นและมีส่วนผลักดันให้ทั้ง NEAR Protocol และเหรียญ NEAR มีโอกาสเติบโตได้อย่างยั่งยืนมากกว่านั่นเอง

 

หากมองในแง่ของจุดแข็งของแพลตฟอร์มนั้นคงต้องบอกว่าเหรียญ NEAR ยังคงเป็นเหรียญที่น่าสนใจในการลงทุนไม่น้อย โดยจุดแข็งนั้นกลับไม่ใช่เรื่องของโอกาสที่จะเข้ามาแทนที่ Ethereum แต่กลับเป็นในเรื่องของการเข้าถึงนักพัฒนาโปรแกรมได้ง่ายกว่า ซึ่งนักลงทุนเองยังคงต้องพยายามหาข้อมูลในเรื่องนี้ให้มากขึ้นในอนาคตว่าถ้าหากทาง NEAR Protocol มีนโยบายที่น่าสนใจและดึงดูดใจนักพัฒนาและผลักดันให้เกิดการใช้งานบน NEAR Protocol ได้มากขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะยิ่งทำให้ทั้งตัวของ NEAR Protocol และเหรียญ NEAR มีโอกาสเติบโตได้อีกมากและอาจกลายเป้นอีกหนึ่งเหรียญคริปโตที่มีความสำคัญในอนาคตก็เป็นได้