หน้าที่ของชาวไทยทุกคนผู้มีรายได้คือการเสียภาษีเมื่อรายได้นั้นถึงเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษีตามที่รัฐกำหนดครับ เพราะภาษีคือรายได้หลักอีกแหล่งหนึ่งที่รัฐจะสามารถนำไปบริหารประเทศและพัฒนาความเจริญสู่ประเทศได้ แต่แม้ว่าการเสียภาษีจะเป็นหน้าที่ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้กระนั้นรัฐก็ยังไม่ใจร้ายที่จะเก็บภาษีในอัตราที่สูงเกินกว่าที่ประชาชนจะจ่ายไหว เพราะมาตรการภาษีหลาย ๆอย่างก็เอื้อให้ผู้ที่ต้องเสียภาษีสามารถหักลดภาษีได้และสามารถนำเงินส่วนต่างที่ลดหย่อนจากภาษีนั้นไปทำอย่างอื่นได้ครับ ดังนั้นการวางแผนภาษีจึงมีความจำเป็นและมีความสำคัญต่อผู้ที่ต้องเสียภาษีเป็นอย่างมาก ซึ่งหากคุณวางแผนภาษีดี ๆคุณสามารถประหยัดภาษีไปได้มากและยังสามารถนำเงินส่วนต่างนี้ไปลงทุนเพื่อเพิ่มความมั่งคั่งและความมั่นคงให้กับคุณได้ครับ การวางแผนภาษีเงินได้ส่วนบุคคลจะสามารถวางแผนอย่างไรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด บทความนี้มีคำตอบครับ

ก่อนจะวางแผน ภาษีเงินได้ส่วนบุคคล ต้องประเมินรายได้ของคุณให้ได้เสียก่อน

การวางแผนจัดการภาษีที่ดีคุณจำเป็นต้องวางแผนเสียแต่เนิ่น ๆ โดยเฉพาะหากคุณมีรายได้ประจำที่แน่นอนจะทำให้คุณสามารถประเมินรายได้ของคุณตลอดทั้งปีได้คร่าว ๆ การประเมินรายได้ก่อนการวางแผนภาษีจึงมีความสำคัญมากเพราะจะทำให้คุณสามารถจัดการวางแผนในเรื่องของการหักลดหย่อนในขั้นต่อ ๆไปได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ ซึ่งจะช่วยลดภาระในเรื่องของภาษีของคุณไปไม่น้อยทีเดียว

ศึกษาว่ารายได้พึงประเมินของคุณอยู่ในมาตราใดของการจัดเก็บภาษี

หากคุณมีรายได้จากงานประจำเพียงอย่างเดียวในข้อนี้อาจจะไม่มีความจำเป็นสำหรับคุณ แต่หากคุณมีรายได้ที่นอกเหนือจากงานประจำเช่นค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ ค่าลิขสิทธิ์ต่าง ๆคุณอาจจำเป็นต้องศึกษาว่ารายได้ส่วนอื่น ๆของคุณนั้นถูกจัดอยู่ในมาตราใดในกระบวนการเก็บภาษี เหตุที่คุณจำเป็นต้องศึกษาเรื่องนี้ก็เพราะว่ารายได้พึงประเมินในแต่ละมาตรามีอัตราการหักลดหย่อนที่ไม่เท่ากัน ซึ่งอาจทำให้คุณสับสนและลงข้อมูลผิดอันอาจจะนำไปสู่การชำระภาษีในอัตราที่มากกว่าที่กำหนด

แยกหน่วยของภาษีออกจากกันให้ชัดเจน

หน่วยของภาษีในที่นี้ก็คือรูปแบบของผู้เสียภาษีเช่นบุคคลธรรมดา บริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือคณะบุคคล เป็นต้น เช่นเดิมครับหากคุณเป็นพนักงานประจำเพียงอย่างเดียวคุณจะต้องเสียภาษีในรูปแบบของบุคคลธรรมดา แต่หากคุณมีทั้งงานประจำและมีร้านค้าคุณอาจจะต้องแยกหน่วยภาษีออกจากกันให้ชัดเจนระหว่างบุคคลธรรมดาและคณะบุคคลครับ เพราะหน่วยภาษีในแต่ละแบบมีขั้นการเสียภาษี การหักลดหย่อนที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งประโยชน์ของการแยกหน่วยภาษีออกจากกันก็เพื่อให้คุณเสียภาษีน้อยลง เพราะหากคุณไม่แยกหน่วยภาษีออกจากกันให้ชัดเจนโดยนำรายได้จากร้านค้าไปรวมกับรายได้จากงานประจำ คุณอาจต้องเสียภาษีบุคคลธรรมดาในเรตที่สูงกว่าความเป็นจริง

ศึกษาข้อมูลเรื่องการหักลดหย่อนให้เข้าใจ

อย่างที่กล่าวมาแล้วครับว่าแม้หน้าที่การเสียภาษีจะเป็นหน้าที่ที่ผู้มีรายได้ทุกคนไม่อาจหลีกเลี่ยง แต่กระนั้นรัฐก็ยังได้กำหนดวิธีการลดหย่อนภาษีให้แก่ผู้มีรายได้ที่เข้าเกณฑ์ต้องชำระภาษีเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระการเสียภาษีไม่ให้ประชาชนรู้สึกว่าต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงเกินไป สำหรับค่าใช้จ่ายที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ในขั้นต้นมีดังต่อไปนี้

– ค่าลดหย่อนส่วนตัวและคู่สมรส(ถ้ามี)คนละ 60,000 บาท

– ค่าคลอดบุตร 60,000 บาท

– ค่าเลี้ยงดูบุตรคนละ 30,000 บาท

– ค่าเลี้ยงดูบิดา-มารดา คนละ 30,000 บาท

– ค่าชำระดอกเบี้ยเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยไม่เกิน 100,000 บาท

– เงินบริจาคโดยมีทั้งที่สามารถหักลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินบริจาคและตามที่บริจาคจริงซึ่งกำหนดให้ไม่เกิน 10 % ของรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย- ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่รัฐกำหนดให้นำมาลดหย่อนภาษีได้ซึ่ง จำนวนที่ใช้ลดหย่อนให้เป็นไปตามที่กำหนด

ค่าใช้จ่ายเพื่อสร้างความมั่งคั่งและความมั่นคงที่สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้

นอกจากค่าใช้จ่ายที่สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีตามที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว รัฐยังสนับสนุนให้คนไทยออมเงินและสร้างความมั่งคั่ง ความมั่นคงให้กับตัวเองด้วยการลงทุนครับ เพราะเมื่อประชาชนมีความมั่นคงในชีวิตแล้วเท่ากับว่ารัฐเองก็ไม่จำเป็นต้องแบกรับภาระในส่วนนี้ในท้ายที่สุด สำหรับมาตรการที่รัฐส่งเสริมให้ประชาชนนำเงินลงทุนเพื่อมาหักลดหย่อนภาษีนั้นมีดังต่อไปนี้

กลุ่มของประกันชีวิต

– ประกันสังคมไม่เกิน 9,000 บาท

– เบี้ยประกันชีวิตโดยไม่เกิน 100,000 บาทและเบี้ยประกันสุขภาพต้องไม่เกิน 15,000 บาทแต่เมื่อ

รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท
– เบี้ยประกันสุขภาพพ่อแม่ต้องไม่เกิน 15,000 บาท
– เบี้ยประกันชีวิตคู่สมรสต้องไม่เกิน 10,000 บาท

กลุ่มเงินออมและเงินลงทุน

เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่เกิน 10,000 บาท
เงินสะสมกองทุน กบข. และกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชนไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีหรือไม่เกิน 500,000 บาท

– เงินสะสมจากกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ไม่เกิน 13,200 บาท

– เบี้ยประกันชีวิตบำนาญต้องไม่เกิน 15% ของเงินได้หรือไม่เกิน 200,000 บาท
– กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)ไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี(อัตราใหม่ที่ประกาศใช้ในปี 2563เป็นต้นไป)โดยมีเงื่อนไขคือต้องลงทุนต่อเนื่องไปจนถึงอายุ 55 ปี

สำหรับการหักลดหย่อนตามหัวข้อข้างต้นมีเงื่อนไขคือเมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน และ RMF แล้วจะนำไปหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 500,000 บาท

– กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) โดยต้องไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และไม่เกิน 500,000 บาทโดยต้องถือครองไว้อย่างน้อย 7 ปีปฏิทินจึงจะทำการขายคืนได้ แต่สำหรับ LTF นั้นรัฐกำหนดให้สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ถึงปี 2562 เท่านั้น

– กองทุน SSF (Super Saving Funds) หรือกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาวเป็นกองทุนในรูปแบบใหม่ที่รัฐกำหนดให้ใช้แทนกองทุน LTF โดยลงทุนได้ไม่เกิน 30 % ของรายได้หรือไม่เกิน 200,000 บาทและต้องถือครองไม่น้อยกว่า 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ ซึ่งกองทุนนี้จะนำมาใช้ครั้งแรกตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป

วางแผนการลงทุนเพื่อลดหย่อนให้ดีคุณจะได้ประโยชน์ถึง 2 ต่อ

สำหรับรายการลดหย่อนภาษีประเภทค่าใช้จ่ายทั่ว ๆไปนั้นไม่ค่อยมีปัญหาสำหรับการลดหย่อนสักเท่าใดครับ แต่สำหรับรายการลดหย่อนจากทั้งการออมและการลงทุนยังคงมีความเข้าใจผิดอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว สิ่งที่เราอยากแนะนำก็คือคุณต้องคำนวณสิทธิ์สูงสุดที่สามารถนำไปใช้ในการลดหย่อนให้ดี เพราะหากคุณจ่ายเงินไปมากกว่าสิทธิ์สูงสุด ท้ายที่สุดค่าลดหย่อนที่คุณนำไปใช้ได้ก็ได้เพียงตามที่กำหนดเท่านั้น ส่วนเกินนอกจากนั้นคุณจะไม่ได้สิทธิ์ในการลดหย่อนใด ๆเลย

อีกหนึ่งเรื่องที่น่ากังวลใจก็คือการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อลดหย่อนภาษีซึ่งคุณจำเป็นต้องหาข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนของกองทุนนั้น ๆ และการดำเนินงานของกองทุนมาประกอบการตัดสินใจในการลงทุนครับ อย่าคิดแต่เพียงว่าคุณซื้อกองทุนเพื่อนำไปหักลดหย่อนภาษีเพียงอย่างเดียว แต่คุณควรติดตามผลการลงทุนนั้น ๆด้วยเพื่อให้เงินลงทุนของคุณเติบโต เพราะคงไม่ดีแน่หากคุณจะได้สิทธิประโยชน์ในด้านภาษีเพียงอย่างเดียวแต่เงินลงทุนที่คุณลงทุนไปไม่เติบโตเท่าที่ควรหรือถึงกับต้องขาดทุน ถ้าเป็นเช่นนั้นการซื้อกองทุนเพื่อลดหย่อนภาษีของคุณเท่ากับไม่เกิดประโยชน์ใด ๆเลย

การวางแผนภาษีส่วนบุคคลไม่ใช่เรื่องยากครับหากคุณเข้าใจรายละเอียดทุกข้อเป็นอย่างดี หากคุณมีการวางแผนที่ดี มีระเบียบแบบแผนเป็นขั้นเป็นตอนแล้วนอกจากภาษีที่คุณต้องจ่ายจะน้อยลง คุณยังสามารถสร้างความมั่นคงเพื่อเป็นหลักประกันให้กับชีวิตหลังเกษียณได้เช่นกันจากเงินลงทุนที่คุณนำมาลดหย่อนภาษีนั่นเอง ซึ่งก็ไม่ต่างจากการยิงปืนนัดเดียวได้นกถึงสองตัว

บริการอบรม ให้คำปรึกษา Digital Marketing & Brand Storytelling ทั้งแบบรูปแบบองค์กร กลุ่ม และ ตัวต่อตัวภาษีเงินได้ส่วนบุคคล