ในโลกแห่งธุรกิจผมเชื่อว่าถ้าเลือกได้ ใคร ๆ ก็คงอยากเป็นเจ้าของธุรกิจคนเดียวเพราะไม่ต้องแบ่งผลประโยชน์กับใคร ไม่ต้องปวดหัวกับเรื่องความคิดเห็นไม่ตรงกัน หลาย ๆ คนกังวลกลัวว่าจะทะเลาะกันกับหุ้นส่วน หลายคนกลัวเสียเพื่อน กลัวโดนโกง เลยพาลถอยไม่กล้าลงมือทำธุรกิจตามความใฝ่ฝัน

แต่ในโลกของความเป็นจริง ก็ยังมีอีกหลาย ๆ คนที่อยากทำธุรกิจร่วมกันกับเพื่อนหรือคนที่มีเป้าหมายเดียวกัน การมีหุ้นส่วนในธุรกิจไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไรครับ

 

แล้วจะป้องกันปัญหาเรื่องหุ้นส่วนทะเลาะกันได้อย่างไร???

 

ง่ายมากครับ “ชัดเจน” คำเดียวเลยครับ แหม่มันก็ฟังดูง่ายไป เอาอย่างนี้ครับจะขยายความให้คุณทราบ

ต้องเริ่มตั้งแต่เริ่มแรกว่า “เรา” คือคุณและหุ้นส่วนมีเป้าหมายในธุรกิจอย่างไร ถ้าเห็นพ้องสอดคล้องในเป้าหมายที่ชัดเจน ด้วยกันทั้งหมด ค่อยเริ่มลงขันทำธุรกิจร่วมกันครับ เช่น คุณและเพื่อนอยากมีร้านอาหารเน้นบรรยากาศอบอุ่นแบบญาติมิตร ราคาย่อมเยา แต่ถ้ามีใครคนใดคนหนึ่งไม่เห็นด้วย ดันอยากทำร้านอาหารแบบหรู ๆ กลุ่มเป้าหมายคือลูกค้าที่มีรายได้สูง จะได้รวยเร็ว ๆ อันนี้ถือว่าแนวทางในการทำธุรกิจต่างกันแล้วครับ คงไปกันยากสักหน่อย

จำนวนหุ้นส่วนชัดเจน

คุยกันตั้งแต่แรกไปเลยครับ ธุรกิจของคุณจะมีหุ้นส่วนเต็มที่ได้กี่คน ใครบ้าง เพราะการกำหนดจำนวนคนที่ชัดเจน จะทำให้เห็นทิศทางธุรกิจที่ชัดเจนครับ การที่คุณกับเพื่อร่วมหุ้นลงขันลงเงินลงแรงกัน นั่นหมายความว่าคุณมองเห็นแล้วว่า ใครถนัดอะไร มีดีอะไรที่จะช่วยสนับสนุนธุรกิจของพวกคุณ

ตะกี้พูดถึงเรื่องลงทุนลงแรง ก็ต้องตกลงกันให้ชัดเจนด้วยนะครับว่า หุ้นที่ลงนั้น เป็นทรัพย์สินประเภทไหนได้บ้าง เป็นเงินอย่างเดียว หรือเป็นแรงงาน

ยกตัวอย่างเช่น หุ้นส่วน 3 คน คนที่หนึ่งขอออกแต่เงิน เพราะไม่มีเวลา ไม่มีทักษะ คนที่สองไม่มีเงินแต่มีทักษะ มีเวลางั้นขอออกแรงก็แล้วกัน ส่วนคนที่สาม ทักษะพอมี เงินน้อยหน่อย แต่มีสถานที่เอาไว้เปิดร้านแบบไม่ต้องเช่า ถ้าตกลงกันได้แบบนี้ก็สมประโยชน์กันทุกฝ่าย

 

หน้าที่ความรับผิดชอบชัดเจน

คุณและหุ้นส่วนต้องตกลงกันตั้งแต่แรกว่า ใครมีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องอะไร อย่างไร เวลาไหน และเขียนข้อตกลงเหล่านั้นเป็นลายลักษณ์อักษรลงนามกันทุกคน

 

เอกสารหลักฐานชัดเจน

ทำการค้าไม่พ้นเรื่องทรัพย์สินเงินทองครับ ดังนั้นการทำรายงานทรัพย์สิน การทำระบบบัญชีที่ชัดเจน มีเอกสารรายรับรายจ่ายถูกต้องโปร่งใส มีการนำเสนอเพื่อให้หุ้นส่วนตรวจสอบเป็นระยะ ตัดปัญหาความเคลือบแคลงไม่ไว้ใจกันระหว่างหุ้นส่วนไปได้เลยครับ

 

และที่สำคัญที่สุดครับ

ผลตอบแทนชัดเจน

คุณและหุ้นส่วนต้องตกลงเรื่องผลประโยชน์ให้ชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้นครับ เพราะที่หุ้นส่วนทะเลาะกัน ก็เรื่องผลประโยชน์นี่ล่ะครับ ผมขอแยกเป็น 2 ประเด็นดังนี้ครับ

ผลตอบแทนจากการบริหารงาน หรือการทำงานให้กับกิจการครับ ต้องมีการตั้งเงินค่าตอบแทน หรืออาจต้องตั้งเงินเดือนไปเลยครับสำหรับคนที่ทำงานให้กับกิจการ พูดง่าย ๆ ใครทำงานมากก็ต้องได้เงินมาก

ผลตอบแทนจากกำไรของกิจการ นี่คือเป้าหมายที่หุ้นส่วนทุกคนต้องการครับ นั่นหมายความว่า เมื่อหักค่าใช้จ่ายทุกอย่างแล้ว หุ้นส่วนทุกคนจะได้ผลตอบแทนส่วนนี้เท่า ๆ กันครับ

 

การดำเนินธุรกิจถ้าทุกอย่างชัดเจนโปร่งใส ปัญหาย่อมลดลงครับ สำหรับผมเรื่องผลประโยชน์นี่ล่ะครับที่ทำให้หุ้นส่วนทะเลาะกันมากที่สุด ถ้าผลประโยชน์ลงตัวผลตอบแทนน่าพอใจ เรื่องผิดใจกันบ้างในการทำงานเป็นเรื่องปกติครับ