ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนประกันชีวิต หรือที่ปรึกษาด้านการเงินและการลงทุน เราก็สามารถ ซื้อประกันชีวิตในแบบต่าง ๆ ได้ ยกเว้นเราสนใจประกันชีวิตควบคู่การลงทุน Unit-Linked

ตัวแทนประกันชีวิต หรือที่ปรึกษาทางการเงิน  ชื่อที่เราคุ้นหูกันมานานหลายปี ว่าเป็นตัวแทนของบริษัทประกันชีวิตที่เข้ามาเสนอขายประกันชีวิตในรูปแบบต่าง ๆ  แบบประกันที่เราคุ้น ๆ กันอยู่ก็จะมี ประกันสุขภาพ  ประกันสะสมทรัพย์ ประกันอุบัติเหตุ  แต่ในยุคหลัง ๆ มานี้มีอีกชื่อเรียกหนึ่งที่มีความพิเศษมากกว่าตัวแทนประกันชีวิต หรือที่ปรึกษาด้านการเงินแบบเดิม ๆ เพราะจะมีออฟชั่นเสริมในเรื่องของการลงทุนเข้าไปด้วย คือ อาชีพที่ปรึกษาด้านการเงินและการลงทุน  แล้วระหว่างตัวแทนประกันชีวิต กับ ที่ปรึกษาด้านกาเงินและการลงทุน มีความแตกต่างกันอย่างไร

ตัวแทนประกันชีวิต

ตัวแทนประกันชีวิต หรืออีกชื่อหนึ่งคือ ‘ที่ปรึกษาทางการเงิน’  ที่นำมาใช้เรียกแทนคำว่าพนักงานขายประกัน ชีวิต เพราะในอดีต ตัวแทนประกันชีวิตหรือพนักงานขายประกันมีภาพลักษณ์ค่อนข้างติดลบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความรู้ความเข้าใจในผลิตภัณฑ์ หรือวัฒนธรรมองค์กร ที่มุ่งเน้นการขายแต่ไม่ได้สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับลูกค้าเท่าที่ควร  ตัวแทนประกันชีวิตยุคใหม่จึงมีการปรับบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบเพิ่มมากกว่าการขายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบเดิม ๆ แล้วตัวแทนประกันชีวิตทำอะไรได้บ้าง

  1. จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิต เท่านั้น จึงจะสามารถเป็นตัวแทนประกันชีวิตและเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตได้
  2. มีหน้าที่ชักชวนให้บุคคล หรือบริษัท ต่าง ๆ มาทำประกันชีวิตในรูปแบบของประกันส่วนบุคคลและประกันกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นประกันแบบสะสมทรัพย์ ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ ประกันชีวิตแบบำนาญ ตามข้อเสนอของบริษัทประกันชีวิตที่สังกัดอยู่
  3. สามารถเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตอื่น ๆ ในลักษณะสัญญาเพิ่มเติมได้ เช่น สัญญาเพิ่มเติมคุ้มครองสุขภาพ ประกันคุ้มครองโรคร้ายแรง ประกันอุบัติเหตุ  การคุ้มครองชีวิตผู้ชำระเบี้ยประกันชีวิต ฯลฯ
  4. มีหน้าที่ชี้แจงผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่ลูกค้าจะได้รับจากประกันชีวิตในแต่ละแบบโดยละเอียด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผลประโยชน์ตอบแทนเมื่อครบอายุสัญญา เงินปันผล  การคุ้มครองชีวิต ฯลฯ
  5. ตัวแทนประกันชีวิตจะต้องแจ้งข้อยกเว้นต่าง ๆ เช่น ข้อยกเว้นเรื่องสุขภาพให้กับลูกค้าในกรณีที่ซื้อสัญญาเพิ่มเติมด้านการคุ้มครองสุขภาพและโรคร้ายแรง ไม่แนะนำให้ลูกค้าปกปิดประวัติการเจ็บป่วยก่อนการทำประกันชีวิต
  6. แนะนำให้ความรู้ด้านการวางแผนภาษีให้กับลูกค้า ประกันแบบใดบ้างที่จะสามารถนำไปยกเว้นภาษีได้ทั้งหมด และประกันแบบไหนบ้างที่สามารนำไปยกเว้นภาษีได้แค่บางส่วน

ที่ปรึกษาด้านการเงินและการลงทุน

ที่ปรึกษาด้านการเงินและการลงทุน คือตัวแทนประกันชีวิตที่เป็นมากกว่าตัวแทนประกันชีวิตธรรมดา ๆ โดยพ่วงฐานะของที่ปรึกษาด้านการเงินและการลงทุน  สามารถนำเสนอแบบประกันชีวิตควบการลงทุนได้  ซึ่งความพิเศษในส่วนนี้ตัวแทนประกันชีวิตแบบธรรมดาจะไม่สามารถทำได้ โดยที่ปรึกษาด้านการเงินและการลงทุนจะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

  1. จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิต และได้รับการขึ้นทะเบียนนายหน้าประกันชีวิตเสนอขายกรมธรรม์ประกันชีวิตควบการลงทุน (Unit-Linked Life Policy) สามารถเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตในแบบต่าง ๆ และประกันชีวิตควบการลงทุน Unit-Linked ด้วย
  2. จะต้องผ่านการอบรมในหลักสูตรกรมธรรม์Unit Link ที่สํานักงาน คปภ. (คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย) จัดขึ้น
  3. มีหน้าที่ชักชวนให้บุคคล และนิติบุคคลทำประกันชีวิตในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งประกันชีวิตส่วนบุคคลและประกันกลุ่มเหมือนกับตัวแทนประกันชีวิตทุกอย่าง แต่จะเพิ่มเติมในส่วนของการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบ Unit-Linked ได้ด้วย
  4. สามารถเสนอขายสัญญาเพิ่มเติมอื่น ๆ เช่น สัญญาเพิ่มเติมคุ้มครองสุขภาพ คุ้มครองโรคร้ายแรง  ได้เหมือนกับตัวแทนประกันชีวิตทุกอย่าง
  5. มีหน้าที่ชี้แจงผลประโยชน์ตอบแทนของแบบประกันแต่ละแบบ ไม่ว่าจะเป็นเงินปันผล อัตราผลตอบแทนเมื่อครบอายุสัญญา การคุ้มครองชีวิตและการทุพพลภาพ
  6. จะต้องอธิบายความเสี่ยง และอธิบายข้อยกเว้นต่าง ๆ เช่น ข้อยกเว้นด้านสุขภาพ ให้กับลูกค้าทุกครั้ง และไม่แนะนำให้ลูกค้าปกปิดประวัติสุขภาพของตนเองก่อนทำประกันชีวิต
  7. สามารถอธิบายรูปแบบประกันควบการลงทุน Unit-Linked ได้อย่างชัดเจน เปรียบเทียบผลประโยชน์และความเสี่ยงต่าง ๆ ระหว่างประกันชีวิตแบบ Unit-Linked กับประกันชีวิตแบบอื่น ๆ ได้
  8. แนะนำด้านการวางแผนทางการเงินและการลงทุนในรูปแบบประกันควบการลงทุน Unit-Linked การวางแผนภาษีให้กับลูกค้า  ประกันชีวิตแบบไหนสามารถนำไปลดหย่อยภาษีได้ทั้งหมด ประกันชีวิตแบบไหนสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้บางส่วน และประกันชีวิตควบการลงทุน Unit-Linked สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้อย่างไรบ้าง

วิธีตรวจสอบตัวแทนประกันชีวิต / ที่ปรึกษาด้านการเงินและการลงทุน เบื้องต้นก่อนตัดสินใจซื้อประกัน

หลายคนมีความกังวลว่าตัวแทนประกันชีวิต หรือที่ปรึกษาด้านการเงินและการลงทุนที่เข้ามานำเสนอผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต ให้กับเรานั้น เป็นตัวแทนจริง ๆ หรือเปล่า มีความน่าไว้วางใจมากน้อยแค่ไหน  แล้วตัวแทนที่เข้ามาแนะนำตัวกับเรามีสิทธิ์ในการขายประกันแบบใดได้บ้าง จะซื้อประกันทั้งทีก็ต้องเลือกตัวแทนที่น่าไว้วางใจ จะได้ดูแลกันไปแบบยาว ๆ  วิธีการตรวจสอบสถานะตัวแทนว่าเป็นตัวแทนจริงหรือไม่นั้นเราสามารถตรวจสอบได้ไม่ยาก

  1. ตัวแทนประกันชีวิต หรือ ที่ปรึกษาด้านการเงินและการลงทุน จะต้องแสดงใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิตที่ออกให้โดย คปภ. ทุกครั้งที่เข้าพบลูกค้า  เราสามารถตรวจสอบชื่อ นามสกุล  บริษัทที่ตัวแทนสังกัดอยู่ และอย่าลืมดูวันหมดอายุด้วยทุกครั้ง เพื่อยืนยันสถานะ การเป็นตัวแทนได้รับอนุญาต
  2. ตรวจสอบรายชื่อตัวแทน / นายหน้า ที่ได้รับอนุญาตให้ขายประกันชีวิต ได้ที่ เว็ปไซต์ของ คปภ. (http://www.oic.or.th/th/home/index.php)  ซึ่งเราจะสามารถตรวจสอบได้ทันทีว่าตัวแทนประกันชีวิตหรือที่ปรึกษาด้านการเงินและการลงทุนคนนั้น อยู่ภายใต้สังกัดของบริษัทอะไร  ได้รับอนุญาตให้เสนอขายกรมธรรม์ประเภทใดได้บ้าง และใบอนุญาตยังมีผลบังคับใช้อยู่หรือไม่ เพื่อความอุ่นใจว่าจะไม่ถูกหลอกแน่นอน
  3. ตรวจสอบประวัติการทำงานของตัวแทนประกันชีวิต ยุคนี้อยากรู้อะไรก็สามารถคลิกหาได้จากโซเชียล ตัวแทนประกันชีวิตก็เช่นกัน เราสามารถดูได้จากช่องทางต่าง ๆ ทั้ง Facebook, IG, Line  ว่าตัวแทนที่เข้าพบเรามีประวัติในการทำงานด้านนี้มามากน้อยขนาดไหน  เพราะตัวแทนประกันชีวิตเองก็ใช้ช่องทางโซเชียลในการประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่าง ๆ ของตนเองเช่นกัน เช่น การนัดพบลูกค้า, การเข้ารับฝึกอบรม, การเคลมค่าสินไหมชดเชยให้กับลูกค้า, การเข้ามารีวิวและคอมเม้นท์จากลูกค้ารายอื่น ๆ เป็นต้น

ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนประกันชีวิต หรือที่ปรึกษาด้านการเงินและการลงทุน เราก็สามารถ ซื้อประกันชีวิตในแบบต่าง ๆ ได้ ยกเว้นเราสนใจประกันชีวิตควบคู่การลงทุน Unit-Linked หรืออาจจะยังลังเล อยากเปรียบเทียบกับประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ดูก่อน ก็สามารถสอบถามตัวแทนประกันชีวิตได้ว่าเขามีใบอนุญาตเสนอขายกรมธรรม์ประกันชีวิตควบการลงทุนหรือไม่  หรือจะเลือกช่องทางที่สะดวกที่สุดคือติดต่อผ่านเว็ปไซต์ของบริษัทประกันชีวิต โดยแจ้งความประสงค์ผ่านช่องทางติดต่อในเว็ปไซต์ ว่าเราสนใจแบบประกันตัวไหนอยู่ ทางบริษัทประกันชีวิตจะส่งตัวแทนประกันชีวิตหรือที่ปรึกษาด้านการเงินและการลงทุนที่อยู่ใกล้บ้านของเราเข้านัดหมายเพื่ออธิบายแบบประกันที่เราสนใจ หากเรายังไม่มีตัวแทนประกันชีวิตเจ้าประจำ การติดต่อผ่านเว็ปไซต์นับว่าเป็นทางเลือกที่รวดเร็ว ง่าย และปลอดภัยทีเดียว