ระบบเฟรนไชส์นั้น เป็นระบบที่เป็นทางเลือกหนึ่งในการขยายธุรกิจโดยที่ไม่ต้องลงทุนเยอะ เพียงแต่ต้องเข้มแข็งในเชิงธุรกิจ หากไม่แน่พอก็เป็นระบบที่สามารถล้มเหลวได้ง่ายเช่นเดียวกัน เพราะถ้าเราไม่สามารถควบคุมสาขาได้ทั้งหมด ความเละเทะระส่ำระสายก็จะเกิดขึ้น เพราะแต่ละคนก็มีความคิดเป็นของตัวเอง

การทำธุรกิจในยุคนี้นั้นไม่ง่าย โดยเฉพาะธุรกิจที่จะต้องลงทุนเยอะๆ มีหน้าร้าน จ้างพนักงาน ต้องมีการบริหารจัดการทั้งระบบ เพราะความเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจที่ก้าวกระโดด สิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นก็เกิด อาชีพที่ไม่เคยมีใครคิดมาก่อนว่าจะสร้างเงินได้ แต่กลายเป็นคนทำร่ำรวย อายุน้อยร้อยล้านเกิดขึ้นมากมาย แต่มียักษ์ใหญ่ล้มไม่เป็นท่าก็เกลื่อนโลก

เพราะฉะนั้น การจะทำอะไรสักอย่างเราจึงต้องรอบคอบ ศึกษาข้อมูลให้ละเอียด หาทางป้องกันไว้ก่อนดีกว่าแก้ และธุรกิจนั้นต้องตอบโจทย์ผู้บริโภคในปัจจุบันและอนาคต

ธุรกิจเฟรนไชส์ ก็เป็นอีกสาขาธุรกิจหนึ่งที่เกิดขึ้นมากมาย แต่จะมีกี่รายที่อยู่รอดและเติบโต สิ่งที่คนทำธุรกิจจะต้องเรียนรู้คือ เค้าทำยังไงถึงรอดและทำอย่างไรจึงเจ๊ง!!

ในที่นี้เราจะมาพูดถึงข้อพึงระวังในการเปิดธุรกิจเฟรนไชส์ เปิดมากก็เจ๊งมาก หากอยากให้ธุรกิจรอดก็จะมีหลายปัจจัยที่จะต้องวิเคราะห์อย่างดี

1.การคัดเลือกเฟรนไชซี

การทำเฟรนไชส์คือการเสนอขายระบบ ขายลิขสิทธิ์ ขายองค์ความรู้และผลิตภัณฑ์ที่บริษัทมีอยู่ เพราะฉะนั้นการจะขยายหรือขายให้ใครนำไปใช้จึงต้องมีการทำสัญญากันอย่างรัดกุม เพื่อจะได้ทำการค้ากันอย่างโปร่งใส ยุติธรรม จะต้องทำให้คู่ค้า หรือเฟรนไชส์ซีที่จะมาลงทุนกับเราเข้าใจว่า เรามีอะไรให้เข้าบ้าง และการเก็บค่าลิขสิทธิ์เหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญ หากไม่มีการทำความเข้าใจกัน คู่ค้าอาจจะคิดว่าเราเอาเปรียบเค้า ทำไมจะต้องมาจ่ายกันทุกเดือนทุกปี การเก็บค่าลิขสิทธิ์เป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะเป็นเงินทุนหมุนเวียนที่จะมาหล่อเลี้ยงกิจการและพัฒนาต่อยอดให้ธุรกิจดำเนินไปได้ยาวนาน

2.การจัดการตลาด

จะต้องจัดทำกลยุทธ์การตลาดแฟรนไชส์เป็นอย่างดี มีแผนธุรกิจชัดเจน รู้ว่าคู่แข่งเป็นใคร เราจะเข้าไปอยู่ส่วนไหนของตลาด จะต้องสร้างจุดเด่นเป็นของตัวเองที่ไม่มีใครสามารถเลียนแบบได้ มีกลุ่มเป้าหมายชัดเจนโดยต้องรู้ว่าจะขายใคร เพราะการตลาดในยุคปัจจุบันมุ่งเน้นการให้บริการหรือสินค้าเฉพาะบุคคลเป็นหลัก (Personalized) การวิเคราะห์ 5 Force ซึ่งก็มีการแข่งขันภายในอุตสาหกรรมเดียวกัน คู่แข่งของเราเป็นใคร เราจะไปแข่งกับเจ้าใหญ่ในตลาด หรือเดิมทีมีเล็กๆอยู่แล้วเรานำมาทำให้แตกต่างและใหญ่กว่าเขา อำนาจต่อรองของ Supplier ผู้ผลิตวัตถุดิบส่งให้เรามีความพร้อมแค่ไหน จะใช้เพียงเจ้าเดียวหรือหลายเจ้า ซึ่งไม่ว่าจะเป็นกี่เจ้าเราก็ต้องควบคุมคุณภาพให้ได้มาตรฐาน ลูกค้ามีทางเลือกแค่ไหนในการใช้บริการร้านค้าของเรา มีอะไรมาทดแทนได้บ้าง และผู้แข่งขันรายใหม่ที่จะเข้ามาทีหลังเรา

3.การควบคุมสาขาไม่ดีพอ

ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับระบบการบริหารงานที่จัดทำมาตั้งแต่แรก ถ้าระบบไม่ดี การบริหารงานไม่เป็นหนึ่งเดียวก็จะเกิดการเข้าใจผิด เกิดข้อผิดพลาดมากมาย ทางที่ดีคือจะต้องทดสอบระบบก่อนจะเปิดสาขาเยอะๆ เพราะถ้าสาขาเยอะแล้วจะควบคุมได้ยาก และต้องมีการติดต่อสื่อสารให้ข้อมูลกันตลอดระหว่างเฟรนไชส์เซอร์และเฟรนส์ไชส์ซี เพื่อประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย เพื่อการพัฒนาธุรกิจไปในทิศทางเดียวกัน

4.แนวความคิดธุรกิจ

จะต้องมองให้ออกว่าเราจะขายอะไร วาง Concept ชัดเจนว่าจะขายอะไร ขายอาหารหรือขายความอบอุ่นในครอบครัว หรือขายความสนุกสนานของเพื่อนฝูงโดยมีเราเป็นสื่อกลาง จะขายน้ำหรือขายความสดชื่น หรือจะขายสุขภาพ ซึ่งก็จะต้องวางไปตามแต่ละประเภทของสินค้า

5.เฟรนไชส์ที่ไม่เป็นระบบ

หากต้องการให้ธุรกิจเฟรนไชส์เติบโตมั่นคง จะต้องมีการจัดการระบบที่ดี มีความชัดเจน จัดทำเป็นลายลักษณ์อักษร ไม่ว่าจะเป็นสัญญาต่างๆ วิธีการบริหารจัดการ การฝึกอบรม สูตรอาหาร รูปแบบร้าน เฟรนไชส์ทุกสาขาจะต้องมีรูปแบบเดียวกันทั้งหมด เพื่อป้องกันความสับสนของลูกค้า และเพื่อความชัดเจนของคู่ค้าด้วยกัน มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน อะลุ่มอล่วยในการบริหารแต่หลักการชัดเจน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะต้องคิดวิเคราะห์ จัดทำอย่างรอบคอบก่อนจะขยายกิจการ

6.ปัญหาด้านกฎหมายและกฎระเบียบ

เนื่องจากการทำธุรกิจเฟรนไชส์เกี่ยวเนื่องกับความเป็นลิขสิทธ์ของเจ้าของร้านเดิมผู้ก่อตั้ง จึงต้องมีการทำสัญญาทางกฎหมายกันอย่างชัดเจนเพื่อการดำเนินงานที่ราบรื่น ไม่มาฟ้องร้องกันในภายหลัง ตั้งแต่กฏเกณฑ์การเป็นเฟรนไชส์ซี การเก็บค่าลิขสิทธ์ การบริหาร ไปจนถึงการเลิกกิจการ

ระบบเฟรนไชส์นั้น เป็นระบบที่เป็นทางเลือกหนึ่งในการขยายธุรกิจโดยที่ไม่ต้องลงทุนเยอะ เพียงแต่ต้องเข้มแข็งในเชิงธุรกิจ หากไม่แน่พอก็เป็นระบบที่สามารถล้มเหลวได้ง่ายเช่นเดียวกัน เพราะถ้าเราไม่สามารถควบคุมสาขาได้ทั้งหมด ความเละเทะระส่ำระสายก็จะเกิดขึ้น เพราะแต่ละคนก็มีความคิดเป็นของตัวเอง

และนี่ก็เป็นข้อพึงประเมินเบื้องต้นถ้าอยากทำธุรกิจเฟรนไชส์ไม่ให้เจ๊ง เพราะเราไม่เพียงต้องรับผิดชอบต่อตัวเองเท่านั้น แต่ยังต้องรับผิดชอบไปถึงเฟรนไชซีที่มาลงทุนกับเรา ให้ความมั่นใจกับเค้าว่าเราเป็นมืออาชีพ มาลงทุนแล้วจะไม่ขาดทุนแน่นอน มีระบบที่ดีรองรับ

เมื่อทำการวิเคราะห์ ประมวลผลจนแน่ใจแล้ว ก็เริ่มลงมือทำอย่างระมัดระวัง ที่สำคัญต้องใจรัก ทุ่มเทแรงกายแรงใจ ไม่ว่าอะไรก็ตามถ้าเราทำด้วยใจ ถึงแม้จะหนักหนาสาหัสแค่ไหน แต่วันหนึ่งต้องเข้าถึงเส้นชัยแน่นอน…