เมื่อเข้าโครงการฟื้นฟู ทางรัฐบาลได้เชิญคุณ Inomori ผู้ที่มีประสบการณ์โชกโชน และเป็นมือเก๋าด้านการบริหารมาบริหารสายการบิน Japan Airline โดยเริ่มต้นจากปรับวัฒนธรรมองค์กรด้วยการพูดคุยกับผู้บริหารระดับสูงจนถึงพนักงานระดับล่างเพื่อให้มีปรัชญาการทำงานเดียวกัน
หากใครเคยบินไปญี่ปุ่นคงเคยได้ใช้บริการสายการบินสัญชาติญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อในด้านความเป๊ะในการบริการ แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่ามีสายการบินแห่งหนึ่งของญี่ปุ่นที่เคยรุ่งเรืองแล้วล้มละลาย แต่กลับพลิกฟื้นธุรกิจจนสามารถมีกำไรหมื่นล้านได้ วันนี้จะพาไปศึกษาสายการบินนี้ว่ามีปัญหาอะไรถึงทำให้ขาดทุนจนถึงขั้นล้มละลาย และอะไรเป็นสิ่งที่ทำให้กลับมาได้พร้อมความสำเร็จที่ใครๆ ก็อยากได้
ต้นดี ปลายร้าย ล้มละลายธุรกิจ
จุดเริ่มต้นสายการบินนี้เป็นสายการบินแห่งชาติของญี่ปุ่นก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1951 โดยให้บริการเฉพาะการบินในประเทศญี่ปุ่นจนกระทั่งกุมภาพันธ์ปี 1954 ได้ให้บริการการบินระหว่างประเทศเป็นครั้งแรก โดยมีเส้นทางจากโตเกียวไปซานฟรานซิสโก ต่อมาขยายธุรกิจไปสู่เส้นทางบินไปยุโรป รวมทั้งหลายเส้นทางทั่วโลก และยังได้รับรางวัลอันดับหนึ่งห้าปีซ้อนในด้านการขนส่งผู้โดยสารและคาร์โก้จาก International Air Transport Association (IATA) และเข้าสู่ตลาดหุ้นอย่างสง่างามซึ่งเป็นการการันตีถึงความรุ่งเรืองของสายการบิน ณ ขณะนั้นเป็นอย่างดี
แต่แล้วความสำเร็จของสายการบินที่ยิ่งใหญ่ ก็ไม่ยั่งยืนเพราะสายการบินแห่งชาติเริ่มส่อเค้าลางแห่งปัญหาเพราะค่าใช้จ่ายที่มากเกินจะจัดการได้ อาทิ ภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาเครื่องบินขนาดใหญ่, การทำงานของพนักงานที่ไม่เป็นเอกภาพ, การทำการบินในเส้นทางที่ขาดทุนเพราะมีแนวคิดว่า ถ้ามีเส้นทางการบินที่หลากหลาย จะเป็นตัวดึงดูดลูกค้า อีกทั้งจำนวนพนักงานที่มากเกินความจำเป็น จนทำให้รัฐบาลต้องอัดฉีดเงินอยู่หลายครั้งด้วยจำนวนเงินมหาศาลจนกระทั่งสุดท้ายรัฐบาลประกาศไม่อุ้มสายการบินแห่งชาติอีกต่อไป จนทำให้มีปัญหาเรื่องการชำระหนี้และต้องขอยื่นล้มละลายในปี 2010 รวมทั้งออกจากตลาดหลักทรัพย์และเข้าโครงการฟื้นฟูกิจการ
เริ่มต้นใหม่ด้วยกลยุทธ์เด็ด พลิกบริษัทสู่กำไรหมื่นล้าน
เมื่อเข้าโครงการฟื้นฟู ทางรัฐบาลได้เชิญคุณ Inomori ผู้ที่มีประสบการณ์โชกโชน และเป็นมือเก๋าด้านการบริหารมาบริหารสายการบินแห่งชาติ โดยเริ่มต้นจากปรับวัฒนธรรมองค์กรด้วยการพูดคุยกับผู้บริหารระดับสูงจนถึงพนักงานระดับล่างเพื่อให้มีปรัชญาการทำงานเดียวกันคือ ทำให้พนักงานทุกคนมีความสุข และการเพิ่มยอดขายให้ได้กำไรสูงสุด ลดค่าใช้จ่ายให้ต่ำที่สุด
โดยระดับผู้บริหารต้องเข้าอบรมการเป็นผู้นำ รวมทั้งต้องมีความรู้ทางการเงิน และต้องทุ่มเทเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย อีกทั้งต้องเข้าไปพูดคุยกับพนักงานที่หน้างานเพื่อให้รับรู้ถึงปัญหาและความกังวลที่เกิดขึ้น รวมทั้งช่วยแก้ไขปัญหาและถ่ายทอดวิสัยทัศน์ของบริษัทให้แก่พนักงาน เพราะองค์กรเชื่อว่า หัวใจของธุรกิจคือพนักงานและทัศนคติของพนักงานต่องาน ลูกค้าและบริษัท
เมื่อผนวกกับการเพิ่มยอดขายให้ได้สูงสุด และการลดค่าใช้จ่ายให้ต่ำที่สุด โดยแบ่งหน่วยงานภายในให้เป็นกลุ่มย่อยๆ และให้แต่ละกลุ่มจัดทำบัญชีของหน่วยงานตนเอง ซึ่งทำให้สามารถบริหารรายได้รายจ่ายของกลุ่มย่อยได้อย่างชัดเจน และสร้างจิตสำนึกเรื่องการประหยัดให้แก่ทุกคนในองค์กรผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การติดป้ายราคาของสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ เพื่อให้พนักงานรับรู้และตระหนักถึงต้นทุนในส่วนต่างๆ รวมทั้งปรับลดค่าใช้จ่ายด้วยการลดพนักงานให้เหลือจำนวนที่เหมาะสม อีกทั้งลดจำนวนเครื่องบินขนาดใหญ่ด้วยการขาย และตัดเส้นทางการบินที่ไม่คุ้มทุนทิ้งไป บวกกับยุทธศาสตร์ทางการตลาดแบบร่วมมือกับพาร์ทเนอร์อย่างแควนตัส สร้างสายการบินต้นทุนต่ำเพื่อแข่งขันกับสายการบินต้นทุนต่ำของ ANA และสร้างความร่วมมือทางการตลาดกับสายการบินทั่วโลกที่เรียกว่า one world จนทำให้ในวันนี้ Japan Airline กลับมาผงาดอีกครั้งด้วยกำไรหมื่นล้าน พร้อมคุณภาพที่ดีจนต้องบอกต่อ
3 บทเรียนที่ต้องตระหนัก
1.คิดไม่ถึง เลยต้องแบก
การเลือกซื้อทรัพยากรต่างๆ ของบริษัท ต้องคำนึงถึงความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่ง และต้นทุนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย อย่างในกรณีนี้สายการบินเลือกใช้เครื่องบินขนาดใหญ่ ซึ่งไม่เหมาะสมกับหลายเส้นทางการบินทำให้เกิดปัญหาเมื่อเศรษฐกิจถดถอยจนผู้ใช้บริการน้อยลง เครื่องบินลำใหญ่ทั้งหลายเลยกลายเป็นภาระแก่บริษัทเพราะต้นทุนคงที่ แต่ผู้ใช้บริการกลับลดลง จนรายรับหายไปอย่างน่าใจหาย
2.ไม่กำหนด เลยไม่ชัด
การไม่มีข้อกำหนดแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน ทำให้ไม่สามารถคงคุณภาพด้านการบริการที่ดีไว้ได้ จนส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของธุรกิจจนนำไปสู่การเลิกใช้บริการของลูกค้า
3.ไม่ตัดใจ เลยไม่คุ้ม
การทำการบินในเส้นทางที่ไม่คุ้มทุน ทำให้สายการบิน ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น จนนำไปสู่การขาดทุนที่มากขึ้น และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สายการบินต้องสะดุด
2 กลยุทธ์หลักพลิกธุรกิจจากขาดทุนสู่กำไร
1.เพราะเป็นหนึ่ง จึงสำเร็จ
การมีปรัชญาในการทำงานในองค์กร ผู้บริหาร หัวหน้างาน พนักงาน ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งองค์กร ทำให้ทุกคนมีแนวทางวิธีการปฏิบัติที่ไปในแนวทางเดียวกัน จึงทำให้บรรลุเป้าหมายของธุรกิจได้เร็วขึ้น
2.เพราะตัด จึงรอด
การลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น รวมทั้งการตัดสิ่งที่ทำแล้วไม่คุ้มค่าออกไปจากธุรกิจเป็นสิ่งสำคัญเพราะเป็นการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นของธุรกิจ
ทบทวนตัวเองจากกรณีศึกษา Japan Airline
แค่ลีนก็เพิ่มกำไร เปิดโอกาสที่ดีกว่าในการแข่งขัน ปัจจุบันการแข่งขันทางธุรกิจเห็นทีจะดุเดือดขึ้นทุกที คุณเคยเห็นของเหมือนๆกัน แต่ราคาขายต่างกันหรือไม่ อะไรเป็นตัวที่ทำให้เจ้าหนึ่งขายได้ในราคาที่ต่ำกว่าอีกเจ้าหนึ่ง นั่นก็คือต้นทุน ซึ่งการที่เราจะไปเพิ่มกำไรโดยการเพิ่มราคาขายไม่ใช่ว่าทำไม่ได้ แต่เมื่อเราทำแล้ว เราเองที่จะแข่งขันกับคนอื่นไม่ได้ เพราะถ้าของเหมือนกัน ใครๆก็ย่อมอยากได้ของถูก เว้นเสียแต่ว่าสินค้าและบริการของเราจะโดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ แบบไร้คู่แข่ง แต่ในโลกความเป็นจริงไม่มีอะไรที่ไร้คู่ต่อสู้
จงหันกลับมามองตัวเองให้ถี่ถ้วน ทบทวนว่าธุรกิจเรามีตรงไหนที่เป็นไขมันส่วนเกิน จงรีดส่วนเกินนั้นออกไปให้หมดสิ้น เพื่อความคล่องตัวทางธุรกิจและเป็นอีกวิธีหนึ่งที่เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ธุรกิจเรา
ที่มา
http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/645600
http://www.tpa.or.th/tpanews/upload/mag_content/68/ContentFile1296.pdf
http://www.jal.com/en/outline/history.html
http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/493917
https://www.thairath.co.th/content/483767
http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/642172
บทความโดย ผู้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตร “เขียนสร้างรายได้ออนไลน์ รุ่น 3”
บริการอบรม ให้คำปรึกษาการทำธุรกิจออนไลน์ ฝึกอบรมภายในบริษัท แบบตัวต่อตัว การทำ Content Marketing,การโฆษณา Facebook,การโฆษณา Tiktok,การตลาด Line OA และการทำสินค้าให้คนหาเจอบน Google
บริการดูแลระบบการตลาดออนไลน์ให้ทั้งระบบ
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสารความรู้การทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ Add Line id :@taokaemai
รับชมคลิป VDO ความรู้ด้านการตลาด กรณีศึกษาธุรกิจ แหล่งเงินทุนน่าสนใจ ติดตามได้ที่ช่อง Youtube : Taokaemai เพื่อนคู่คิดธุรกิจ SME