หากพูดถึง “เทพผดุงพรมะพร้าว” หลายคนอาจจะออกอาการฉงน ว่าคือบริษัทอะไร แต่หากเอ่ยถึง “กะทิชาวเกาะ” แล้วละก็น้อยคนนักที่จะไม่รู้จักแบรนด์นี้ครับ

จากการลงทุนทำธุรกิจที่ขาดทุนเพราะสินค้าที่ผลิตออกมาไม่สามารถขายได้  มีแต่หนี้สิน  ก้าวขึ้นมาสู่ธุรกิจที่มีรายได้เกือบหมื่นล้าน  มียอดขายกะทิเป็นอันดับหนึ่งของโลก ทั้งยังมีสินค้าภายใต้การผลิตทั้งหมดกว่า 200 ชนิด นี่คือผลงานของอดีตพ่อค้าแม่ค้าขายมะพร้าวลูกที่จบการศึกษาเพียงชั้น ป.4 พวกเขาทำได้อย่างไร

เปิดกะลา “เทพผดุงพรมะพร้าว” จุดเริ่มต้นจากคนขายมะพร้าวลูก

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 60 ปีที่ผ่านมา สองสามีภรรยาคู่หนึ่งนามว่า อำพล และจรีพร  เทพผดุงพร  ยึดอาชีพขายมะพร้าวลูกทั้งปลีกและส่ง  โดยมีหน้าร้านเป็นห้องแถวสองคูหาที่สี่แยกมหานาค ริมคลองผดุงกรุงเกษม ต่อมาช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดและการขนส่งที่รวดเร็วซึ่งสมัยนั้นใช้เรือเป็นพาหนะในการขนส่งทั้งสองจึงได้ตัดสินใจย้ายจากร้านค้าเดิมมายังย่านท่าเตียน ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยใช้ชื่อว่า “ห้างหุ้นส่วนจำกัดอุดมมะพร้าว” กิจการเติบโตขึ้นมากมียอดขายมะพร้าววันละหลายแสนลูกจนไม่มีเวลานับเงินกันเลยทีเดียว   จนสามารถส่งลูกๆ ไปเรียนต่างประเทศได้อย่างสบาย

จากมะพร้าวเป็นลูกๆ สู่ “กะทิชาวเกาะ” สู่ยอดขายกะทิอันดับ 1  ของโลก

เมื่อกลไกตลาดเปลี่ยนธุรกิจซื้อขายมะพร้าวก็ต้องปรับตัว การเป็นตัวกลางซื้อมาขายไปมะพร้าว ทำให้ธุรกิจขายมะพร้าวลูกของ “ห้างหุ้นส่วนจำกัดอุดมมะพร้าว”  มีรายได้ที่ลดลงมาก   เกรียงศักดิ์  เทพผดุงพร  บุตรชายคนที่ 4  ของครอบครัว  มีความคิดที่จะตั้งธุรกิจใหม่ขึ้นมาเพื่อทดแทนธุรกิจเก่า  ด้วยความผูกพันธุ์กับมะพร้าวมาตั้งแต่เด็กประกอบกับการได้เห็นวิถีชีวิตของคนไทยเวลามีการจัดงานทีก็ต้องเตรียมขูดมะพร้าวคั้นกะทิกันให้วุ่นวาย  เขาจึงจุดประกายความคิดว่าจะทำกะทิสำเร็จรูปออกมาขาย  ทางฝั่งคุณจรีพรและคุณอำพลเองก็ยินยอมสนับสนุนให้ลูกทำเพราะความเชื่อมั่นในตัวลูกทั้งที่ยังไม่รู้ว่าจะขายได้หรือป่าว  จึงได้ก่อเกิด “บริษัท เทพผดุงพรมะพร้าว จำกัด”  ขึ้นในปี 2519  บนพื้นที่ 28 ไร่ ริมถนนพุทธมณฑลสาย 4 อ. สามพราน จ. นครปฐม ภายใต้การสนับสนุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแห่งชาติ (BOI)   และได้รับการสนับสนุนในด้านงานวิจัยผลิตภัณฑ์ และสร้างเครื่องจักรที่ทันสมัย  จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  กรมวิทยาศาสตร์  และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ

ไม่ง่ายเลยกับการที่จะไปปรับเปลี่ยนวิถีอาหารการกินและความเชื่อของคนไทย

การนำกะทิสำเร็จรูปออกสู่ตลาดผู้บริโภคของไทยไม่ใช่เรื่องง่ายเลย  เพราะคนไทยจะคุ้นชินกับการทานกะทิที่คั้นสดใหม่  พอมาเจอกะทิสำเร็จรูปเขาไม่เชื่อว่าจะใช้ทำอาหารได้อร่อยเหมือนกะทิคั้นเอง  ครอบครัวเทพผดุงพรต้องทำการตลาดอย่างหนักสารพัดวิธี  ที่จะทำให้ขายได้งัดมาใช้หมด เช่น เอากะทิใส่ถังไปอ้อนวอนให้แม่ค้าตามตลาดสดต่างๆ รับไว้ขายโดยที่ไม่ต้องลงทุนซื้อ แต่ก็ไม่มีแม่ค้ารายใดอยากจะรับไว้เพราะพวกเขาเชื่อว่าขายไม่ได้ ไปออกบูทตามสถานที่ต่างๆ  เพื่อทำอาหารจากกะทิสำเร็จรูปให้ลูกค้าชิมบ้าง  ใช้กลยุทธ์การตลาดให้ทดลองฟรีบ้าง   แต่ก็ยังไม่สามารถขายได้สินค้าที่ผลิตออกมาต้องทิ้งไปเป็นจำนวนมากทำให้ขาดทุนและเกิดหนี้สินจำนวนมาก  แต่พวกเขาไม่ยอมถอยยังคงอดทนเดินหน้าทำธุรกิจต่อไป

        เทพผดุงพรมะพร้าวใช้กลยุททดลองฟรีทำการตลาดอยู่ประมาณ 3 ปี ก็ประสบความสำเร็จ ทั้งในไทยและต่างประเทศ

ปัจจุบันมีสินค้าภายใต้การผลิตทั้งหมดกว่า 200 ชนิด มีตลาดส่งออกถึง  36 ประเทศทั่วโลก  อาทิ สหรัฐอเมริกา แคนาดา โอเชียเนีย และหมู่เกาะต่างๆ ตลาดจีน ญี่ปุ่น และยุโรป ซึ่งตลาดส่งออกถือเป็นตลาดใหญ่สำคัญเพราะรายได้กว่า 80% มาจากส่งออก

อะไรทำให้ “เทพผดุงพรมะพร้าว” ฝ่าวิกฤติมาได้และยืนหยัดอยู่ได้ท่ามกลางคู่แข่งที่ผุดขึ้นมามากมาย

สิ่งที่ทำให้เทพผดุงพรมะพร้าวประสบความสำเร็จจากวันนั้นมาจนถึงวันนี้ มีด้วยกัน 3 ด้าน คือ.

  1. คุณภาพสินค้าที่ได้มาตรฐาน ก่อนที่จะเริ่มทำการผลิต สินค้าแต่ละชนิดออกสู่ตลาด “เทพผดุงพรมะพร้าว” จะต้องมีงานวิจัยเข้ามาเป็นส่วนสำคัญเสมอ  นั่นหมายถึงสินค้าทุกตัวจะต้องได้รับการยอมรับในกระบวนการวิทยาศาสตร์ และมีมาตรฐานที่เชื่อถือได้
  2. ราคาขายสินค้ายุติธรรม ธุรกิจของเทพผดุงพรมะพร้าว เป็นธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าเกษตรที่มีความผกผันของราคาสินค้าตามฤดูกาลและการส่งออกก็จะมีความผกผันของค่าเงิน ช่วงใดที่มีต้นทุนต่ำทางเทพผดุงพรมะพร้าวจะลดราคาสินค้าให้กับลูกค้าโดยที่ลูกค้าไม่ต้องต่อรอง
  3. การสร้างความสัมพันธ์กับคู่ค้า อย่างยาวนานตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบันเทพผดุงพรมะพร้าวจะออกเยี่ยมลูกค้าทั้งในและต่างประเทศไม่ขาด อะไรที่ลูกค้าขอมาไม่ว่าจะเป็นการลดราคาหรือของแถมถ้าสามารถทำได้จะให้ทันที จึงทำให้ลูกค้าช่วยเป็นกระบอกเสียงบอกต่อกันไป

ถึงแม้ธุรกิจของ “เทผดุงพรมะพร้าว”  ในปัจจุบันจะก้าวขึ้นมาเป็นธุรกิจระดับโลก  ซึ่งมียอดขายสินค้าประเภทกะทิเป็นอันดับหนึ่งของโลกแล้ว  แต่อย่างไรก็ดีการทำธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าเกษตรก็มักจะเจอปัญหาอยู่เสมอ คือราคาสินค้าผกผันตามฤดูกาล ซึ่งเทพผดุงพรมะพร้าวก็สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที  นอกจากนี้รายได้ธุรกิจของบริษัทฯ ส่วนใหญ่มาจากการส่งออกถึง 80% บริษัทฯ ก็สามารถบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศได้เป็นอย่างดี  ด้วยประสบการณ์และการวางแผนบริหารจัดการมาเป็นอย่างดี

บทเรียนจากเทพผดุงพรสู่ SME

  1. พุ่งตรงไปที่จุดหมายอย่าสนใจอุปสรรคข้างทาง พึงระลึกเสมอว่าทุกการเดินทางย่อมมีอุปสรรค  เมื่อก้าวผ่านปัญหาเหล่านั้นไปได้ความสำเร็จที่งดงามและยิ่งใหญ่รอเราอยู่ที่ปลายทางเสมอ
  2. จงวิ่งเข้าหาความรู้ ธุรกิจบางอย่างที่ลงมือทำเราอาจยังไม่มีความรู้มากพอ  แต่ก็ยังมีหลายๆ แห่งที่เราจะสามารถเก็บเกี่ยวความรู้จากสถานที่หรือบุคคลเหล่านั้นได้  จงอย่าเสียดายเวลา อย่าเสียดายเงินเล็กน้อยเพื่อความรู้  เพราะสิ่งที่ได้รับกลับมามันยิ่งใหญ่กว่าสิ่งที่เราเสียไป  อย่างเช่นเทพผดุงพร ที่เน้นงานวิจัยเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ
  3. ไม่ลอกเลียนแบบ หรือถ้าจำเป็นต้องทำจะต้องทำด้วยความแตกต่าง เหมือนกับกะทิชาวเกาะที่เริ่มทำกะทิสำเร็จรูปเป็นเจ้าแรกๆ  ซึ่งคนรอบข้างบางคนเห็นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ที่จะมาทดแทนกะทิสดได้ เมื่อเวลาผ่านไป กระแสจากผู้บริโภคบอกว่ากะทิชาวเกาะเหมาะกับการทำอาหาร แต่กะทิของอีกแบรนด์ เหมาะกับการทำขนม  ชาวเกาะจึงได้พัฒนากะทิสำหรับทำขนมขึ้นมาแต่สร้างความแตกต่างโดยการทำกะทิอบควันเทียน ซึ่งนี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของการสร้างความแตกต่างให้กับแบรนด์นะคะ

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

https://www.posttoday.com/politic/report/389632

http://www.tcc-chaokoh.com/news_event/news/view/47

http://www.tcc-chaokoh.com/abouts/company_profile

https://www.tnews.co.th/contents/384188

http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/666733

บทความโดย ผู้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตร “เขียนสร้างรายได้ออนไลน์ รุ่น 3”

คุณ กัญญาภัค  พุฒพวง
แม่บ้าน