ด้วยพระราชวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลและน้ำพระหฤทัยอันเปี่ยมล้นอย่างหาที่เปรียบมิได้ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งพระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นความทุกข์ยากลำบากของเหล่าราษฎร โดยเฉพาะทางภาคเหนือที่มีปัญหาเรื่องการปลูกฝิ่น ซึ่งนับเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติโดยตรง พระองค์จึงทรงแก้ปัญหาด้วยการทำโครงการส่งเสริมให้ปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน เพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวไทยภูเขา ซึ่งในปี พ.ศ.2515 พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้มีการจัดตั้งสหกรณ์ชาวเขา และโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปเป็นแห่งแรก เพื่อช่วยเหลือในเรื่องของการรับซื้อผลผลิตที่เป็นพืชผักผลไม้โดยมีราคาเป็นธรรม แล้วนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในเครื่องหมายการค้าที่ชื่อ “ดอยคำ” จึงถือเป็นจุดกำเนิดของผลิตภัณฑ์นับจากนั้นเป็นต้นมา
มูลนิธิโครงการหลวง ถือเป็นโครงการส่วนพระองค์ในการดำเนินการพัฒนาการเกษตรเพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ และการบุกเบิกในการพัฒนาสิ่งใหม่ เพื่อชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวเขา เป็นการเปิดประตูสู่ความสำเร็จบนพื้นฐานเศรษฐกิจพอเพียง ในปี พ.ศ. 2537 ได้มีพระบรมราโชวาทให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ทำการจัดตั้งนิติบุคคลชื่อ “บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด” (Doi Kham Food Products Co.,Ltd.) เพื่อรองรับผลผลิตของมูลนิธิโครงการหลวงและเกษตรกรในพื้นที่โดยรอบของโรงงานหลวง โดยเป็นโรงงานอาหารสำเร็จรูป เพื่อผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ภายใต้เครื่องหมายของ “ดอยคำ”
เดินตามรอยเท้าพ่อ :15 แนวคิดธุรกิจ ที่ได้จากโครงการหลวง ผลิตภัณฑ์ดอยคำ
1.การหาสิ่งใหม่มาทดแทนต้องดีกว่าเดิม
พระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ ๙ คือ หากต้องการให้ชาวเขาเลิกปลูกฝิ่นก็ต้องหาพืชชนิดอื่นที่ขายได้ราคาดีกว่าฝิ่น และต้องเป็นพืชที่เหมาะสมจะปลูกในที่สูง มาให้ชาวเขาปลูกทดแทน นับเป็นน้ำพระทัยจากในหลวงที่ต้องการให้ราษฎรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและประกอบสัมมาอาชีพ สิ่งที่เราควรน้อมนำมาปรับใช้กับธุรกิจคือ พยายามที่จะพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ อยู่เสมอ
2.การมองการณ์ไกลเพื่อประโยชน์ร่วมกัน
พระองค์ทรงมองเห็นถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต คือโครงการหลวงดอยคำ จะช่วยลดการปลูกฝิ่นของชาวเขา และให้ชาวเขาเรียนรู้จากประสบการณ์ปลูกพืชผัก เพื่อให้สอด คล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ดอยคำส่งผลให้เกิดเป็นรายได้ ทำให้ผลิตภัณฑ์ดอยคำ เป็นที่รู้จักแพร่หลาย หากเราทำธุรกิจก็ต้องมองไปข้างหน้าและทำปัจจุบันให้เอื้อประโยชน์ทั้งสองฝ่าย โดยไม่เอาเปรียบซึ่งกันและกัน เรียกว่าวินวินทั้งคู่ ตัวอย่างที่พระองค์ทรงทำให้เราเห็นคือ เราต้องมี “วิสัยทัศน์” มองเห็นประโยชน์และโทษของสิ่งที่เป็นอยู่และสิ่งที่เราจะทำในอนาคต ทำธุรกิจต้องมองภาพกว้าง ภาพลึกให้ออก พยากรณ์เบื้องต้นได้ว่า อนาคต 1 ปี 3 ปี 5 ปี ธุรกิจเราจะเป็นแบบไหน และจะมีวิธีการไปถึงยังจุดนั้นได้อย่างไร
3.คิดช่วยเหลือผู้อื่นให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้น
กิจกรรมของโครงการหลวงส่วนพระองค์ ดอยคำ มีจุดเริ่มต้นจากทรงมีพระเมตาเพื่อช่วยเหลือราษฎรในถิ่นทุรกันดาร ให้มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ชาวเขามีเงินรายได้เกิดขึ้นและยังสามารถต่อยอดผลิตภัณฑ์ ทำให้กลุ่มอาชีพมีรายได้เพิ่มขึ้น จากการสนับสนุนโครงการหลวง และได้เรียนรู้การใช้ชีวิตแบบพอเพียง หากนักธุรกิจคอยมองหาที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตผู้อื่นอยู่เสมอ โดยมีตัวกลางคือสินค้าที่ดีมีคุณภาพมีประโยชน์ ธุรกิจนั้นย่อมยั่งยืน การหยิบยื่นโอกาสเท่ากับการช่วยเหลือชีวิตคน ๆ หนึ่งให้ดีขึ้น และไม่ได้ดีขึ้นแค่เพียงคนๆ เดียวอาจจะหมายรวมคนในครอบครัวเขาด้วย ทำธุรกิจต้องคิดถึงจุดนี้ด้วย การไม่เอาเปรียบสังคม แต่ต้องช่วยเหลือสังคมคือสิ่งที่เราต้องน้อมนำมาปรับใช้กัน
4.สร้างแบรนด์ให้โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์
โครงการหลวง ดอยคำ ทำให้เราคิดถึง บรรยากาศภาคเหนือ คิดถึงดอยที่มีหมอก มีชาวเขาที่เก็บเกี่ยวผลผลผลิตต่าง ๆ ที่เป็นกลุ่มผักผลไม้เมืองหนาว ความเป็นแบรนด์ของ “ดอยคำ” ถูกถ่ายทอดผ่านเรื่องราวจากสินค้าคุณภาพ กลับมาสู่ต้นกำเนิดของสินค้า สิ่งเหล่านี้คนทำธุรกิจควรที่จะเรียนรู้และพัฒนาแบรนด์ของสินค้าตัวเอง ใช่เพียงแค่ชื่อ โลโก้ แล้วจะเป็นแบรนด์เท่านี้ยังไม่พอ เพราะแบรนด์มันคือ “ความทรงจำที่ดี” จะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคมีความทรงจำที่ดี นั่นก็คือการผลิตสินค้าที่ดีมีคุณภาพ ใส่ใจลงไปในสินค้า และบอกแหล่งที่มาของวัตถุดิบเพื่อให้เกิด “คุณค่า” ทางจิตใจ
5.อย่ายึดติดกับเทรนด์
ผัก ผลไม้ ปลอดสารพิษ ใส่ใจการผลิตทุกขั้นตอน เป็นสินค้าพื้นฐานที่ดูเหมือนว่าหลายคนมองเป็นสินค้าที่เป็นเทรนด์ แต่แท้จริงแล้วนี่เป็น “ปัจจัยพื้นฐาน” ที่เราควรได้รับ เพียงแต่ว่าเราโดนโลกชี้นำไปให้เราใช้สารเคมีเร่งการผลิต ใช้ยาปราบศรัตรูพืช สุดท้ายสิ่งเหล่านั้นก็ย้อนกลับมาทำร้ายพวกเราเอง ทำให้เกิดสารเคมีสะสมในร่างกาย ก่อนเกิดโรคร้ายมากมากย
ดอยคำ จึงเป็นสินค้าพื้นฐานที่ไม่ได้อยู่นอกหรือในเทรนด์แต่เป็นเรื่อง “จำเป็น” หลักการนี้ สำหรับคนทำธุรกิจเราควรที่จะน้อมนำกลับไปดูพื้นฐาน “Back to basic” ของธุรกิจ รากเหง้าของปัญหา แทนที่จะโฟกัสแค่เพียงเรื่องเทรนด์ หรือ ค่านิยมใหม่ ๆ การแก้ปัญหาพื้นฐานได้ ก็ทำให้ธุรกิจเราอยู่ได้อย่างมั่นคงยั่งยืน
6.ลูกค้าจะซื้อที่ “คุณค่า” มากกว่าแค่เรื่องของ “ราคา”
เพราะคนเห็นถึง “คุณค่า” ที่เขาได้รับเขาจึงยินดีที่จะจับจ่ายใช้สอย สินค้าดอยคำไม่ได้ส่งมอบแค่สินค้าที่ผลิตแล้วขายแล้วจบ ๆ กันไปแต่ได้ใส่ใจในเรื่องของ “คุณค่า” ลงไป ผู้บริโภคได้รับสินค้าที่สะอาด ปลอดภัย ผู้ผลิตชาวเขาชาวดอยก็ได้มีอาชีพ คนที่ซื้อเขาไม่ได้คิดแค่เพียงว่าเขาซื้อน้ำผลไม้ 1 กล่องแต่เขามองว่าเขาได้ช่วย “ชาวเขา” ให้มีอาชีพ นี่คือเรื่องของคุณค่าที่ไม่สามารถนำเรื่องของ “ราคา” มาเปรียบเทียบได้ ทำธุรกิจบ่อยครั้งที่เราแข่งขันกันเรื่องราคา จนทำให้ตลาดวุ่นวาย ตายกันไปหมด หากเราคิดสักนิด แล้วนำหลักการข้อนี้นำมาปรับใช้ โฟกัสที่ “คุณค่า” รับรองครับการแข่งขันด้านราคาจะลดลง แต่จะมุ่งเน้นตลาดคุณภาพ สินค้าคุณภาพ และทุกคนก็อยู่ร่วมกันได้ถ่อยทีถ่อยอาศัย พึ่งพาซึ่งกันและกันเพราะต่างก็รู้ถึง “คุณค่า”
7.รากฐานความคิดที่ยั่งยืนต้องยึดไว้ให้มั่น
ความถูกต้อง คือ รากฐานของทั้งหมดในชีวิตคนเรา จากโครงการหลวงที่ทรงริเริ่มให้ชาวเขาค่อย ๆ หยุดการปลูกฝิ่น หันมาทำอาชีพปลูกผัก ผลไม้เมืองหนาว จนท้ายที่สุดทุกวันนี้ไม่มีใครปลูกฝิ่นอีกต่อไปแล้วเพราะรู้ว่าสิ่งที่ทำนั้นมัน “ผิด”
การจะเปลี่ยนผิดให้เป็นถูกนั้นต้อง อาศัยการยืนหยัด ดังพระราชดำรัสเรื่องการทำความดีที่ว่า
“การทำดีนั้นทำยากและเห็นผลช้า แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพราะหาไม่ความชั่วซึ่งทำได้ง่าย จะเข้ามาแทนที่และจะพอกพูนขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันรู้สึกตัว แต่ละคนจึงต้องตั้งใจและเพียรพยายามให้สุดกำลัง ในการสร้างเสริมและสะสมความดี”
(พระบรมราโชวาทพระราชทาน แก่ผู้สำเร็จการศึกษา ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ สวนอัมพร 14 สิงหาคม 2525)
ทำธุรกิจต้องยึดถือ “ความถูกต้อง” เป็นที่ตั้งเช่นกันไม่อย่างนั้นแล้วก็จะเกิดการโกง การฉ้อฉล เอาเปรียบซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำได้ง่ายมาก หากเราไม่หนักแน่น ขาดรากฐานทางความคิดในข้อนี้ธุรกิจเราที่ทำอยู่มันก็เหมือนการ “ปลูกฝิ่น” นั่นหละครับ
8.ทุกคนมีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์
การรับผิดชอบต่อสังคมคือการหยิบยื่นมือเข้าไปช่วยทำให้ชุมชนหรือคนในพื้นที่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เมื่อแบรนด์ประสบความสำเร็จ สิ่งที่ตามมาก็คือ คนในชุมชนจะเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในตัวสินค้า เกิดความรู้สึกมีส่วนร่วมในแบรนด์นั้น ทำให้การบริหารจัดการง่ายขึ้น ทั้งผู้ผลิต พ่อค้าคนกลาง ผู้ซื้อ ผู้บริโภค ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์และมีความภาคภูมิใจในแบรนด์
นี่คือความท้าทายอย่างมากในการทำธุรกิจ การที่จะทำให้ทุกคนภูมิใจที่จะได้ใช้ ได้ซื้อ ได้มีส่วนร่วมในความสำเร็จของธุรกิจนั้น ยากแต่ก็ต้องทำครับ เพราะความยั่งยืนของธุรกิจก็อยู่ที่ “ลูกค้าประจำ” ,“พนักงานประจำ” และ “ผู้ผลิตประจำ” การที่จะทำให้เขาอยู่กับเรา “ประจำ” ได้นั้นเขาต้องรักเรา เขาต้องภูมิใจที่ได้อยู่ได้ทำกับเรา ได้มีส่วนช่วยส่วนส่งเสริมให้เราอยู่ได้ สิ่งเหล่านี้ต้องใช้ “เวลา” บวกกับความ “จริงใจ” อยู่บนพื้นฐานของ “ความเพียร” ดังพระราชบรมราโชวาทตอนหนึ่งที่ว่า
“ การสร้างสรรค์ตนเอง การสร้างบ้านเมืองก็ตาม มิใช่ว่าสร้างในวันเดียว ต้องใช้เวลา ต้องใช้ ความเพียร ต้องใช้ความอดทน เสียสละ แต่สำคัญที่สุดคือความอดทนคือไม่ย่อท้อ ไม่ย่อท้อในสิ่งที่ดีงาม สิ่งที่ดีงามนั้นทำมันน่าเบื่อ บางทีเหมือนว่าไม่ได้ผล ไม่ดัง คือดูมันครึทำดีนี่ แต่ขอรับรองว่าการทำให้ดีไม่ครึต้องมีความอดทน เวลาข้างหน้าจะเห็นผลแน่นอนในความอดทนของตนเอง”
พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่นักเรียน นักศึกษา ครู และอาจารย์ในโอกาสเข้าเฝ้าฯวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๑๖
9.เน้นสินค้าที่อนุรักษ์ความเป็นไทย
ผลิตภัณฑ์ดอยคำ มีการขยายตัวมากขึ้น มีการคิดค้น พัฒนา และวิจัยเข้ามาสนับสนุนในการผลิตสินค้าต่างๆ บางผลิตภัณฑ์เป็นลักษณะของงานแฮนด์เมด ซึ่งเป็นจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ไทยที่น่าคงไว้ และเป็นสินค้าที่สามารถอนุรักษ์ความเป็นไทยในสายตาชาวต่างชาติได้ดี
ทำธุรกิจเราต้อง “ขายเอกลักษณ์” และดำรงไว้ซึ่ง “เอกลักษณ์” เหล่านั้นด้วย ความเป็นไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม มีวัฒนธรรม ประเพณีมากมาย สิ่งเหล่านี้เราสามารถนำมาถ่ายทอด บอกเล่าเรื่องราวความเป็นไทย ผ่านทางสินค้าบริการของเราได้ นำสิ่งดี ๆ ถ่ายทอดออกไป ตัวอย่างสินค้าดอยคำแสดงให้เห็นถึงการดำรงและอนุรักษ์ความเป็นไทย ประสานกับเทคโนโลยีสากล ทำให้ธุรกิจยังคงดำเนินการได้อย่างยั่งยืน
กลับมาดูตัวเราเองครับอะไรคือ “จุดเด่น” หรือ “เอกลัษณ์” ของสินค้าเรา บริการของเรา หาให้ได้ครับไม่อย่างนั้นแล้วธุรกิจมันก็เหมือนทั่วๆ ไปเกร่อไปหมด จุดท้ายก็ไปไม่รอด
10.ผลลัพธ์ต้องทำควบคู่ไปกับภาพลักษณ์
เป็นที่ประจักษ์ในผลลัพธ์ของผลิตภัณฑ์ดอยคำว่ามีคุณภาพ ช่วยให้ชาวเขามีอาชีพ มีรายได้ ผู้บริโภคก็ได้รับสินค้าที่มีคุณภาพ เช่นเดียวด้านชื่อเสียงและภาพลักษณ์ นับว่ามีความโดดเด่นที่สุดของแบรนด์ ดอยคำ ในฐานะ Royal Brand เพราะอยู่ในโครงการหลวง ส่วนนี้เราได้เรียนรู้อะไร การทำธุรกิจหลายคนมุ่งเน้นผิดจุดผิดกระบวนการแทนที่จะโฟกัสเรื่องของผลลัพธ์ของธุรกิจ ประสิทธิภาพของสินค้า กลับให้น้ำหนักกับเรื่องของการ “สร้างภาพ” ให้ตัวเองดูดี ให้สินค้าดูดี แต่กลับไม่ได้รับการตอบรับจากลูกค้าทำให้ “ผลลัพธ์” ออกมาไม่สวย
ทำธุรกิจอย่าติดกับ “ภาพลักษณ์” มากจนเกินไป บางธุรกิจภาพลักษณ์อาจไม่ได้ดูดีใส่เสื้อผูกไทด์นั่งห้องแอร์เย็น ๆ แต่ต้องทำธุรกิจแบบอาบเหงื่อต่างน้ำนะครับเพื่อให้ธุรกิจนั้นเดินต่อไปได้
หลายคนหลงผิดติดอยู่กับ “ภาพลักษณ์” จนกลายเป็นว่าโดนหลอก โกงเงินโกงทองมากมายเพราะเชื่อ “นักธุรกิจในคราบโจร” แต่งตัวดีมาหลอกลงทุน หลอกเอาเงิน มีให้เห็นอยู่มากมายครับ
เราทำธุรกิจต้องเน้น “ผลลัพธ์” นะครับ แต่ใช่ว่าจะทิ้งภาพลักษณ์ไปเสียทีเดียว ทำคู่ขนานกันไปเพียงแต่ว่าต้องให้น้ำหนักของ “ผลลัพธ์” เป็นสำคัญ
11.ความเรียบง่ายคือความสำเร็จของธุรกิจ
แบรนด์ดอยคำ มีการขยายโอกาสสู่แบรนด์แห่งวิถีชีวิต และยังอยู่ในเชิงของไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคโดยผ่านสายธุรกิจการ เกษตร สายธุรกิจอาหาร สายธุรกิจของใช้ตกแต่งบ้าน กลุ่มสินค้าหัตถกรรม ฯลฯ ส่วน Café’ DoiTung อยู่ในกลุ่มสินค้ากาแฟ ซึ่งสอดรับกับพฤติกรรมของคนยุคนี้ที่ชอบดื่มกาแฟจนกลายเป็นเครื่องดื่มที่สุดฮิตควบคู่ไปกับแมคคาดีเมีย หากคุณทำธุรกิจให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของผู้คน โอกาสที่จะประสบความสำเร็จก็มีมากเพราะเข้าใจความต้องการของลูกค้า
คำว่า “ไลฟ์สไตล์” คืออะไรในการทำธุรกิจ ผมเชื่ออย่างหนึ่งครับว่า ผู้คนต้องการความเรียบง่าย เพราะทุกวันนี้อะไรมันก็วุ่นวายกันมากพอแล้ว ดังนั้นทำธุรกิจต้อง “เดาใจ” ลูกค้าให้ออกว่าเขาต้องการอะไร
สิ่งหนึ่งที่ทุกคนต้องการคือ “ความเรียบง่าย” และนี่ก็คือนิยามของคำว่า “ไลฟ์สไตล์” และทั้งหมดก็อยู่บนพื้นฐานของคำว่า “พอเพียง” นั่นเอง
เราลองนำแนวคิดการขยายธุรกิจของโครงการดอยคำนำมาปรับใช้กับธุรกิจเราดูสิครับ ค้นหา “ไลฟ์สไตล์” ของธุรกิจเราให้เจอ
12.คุณภาพพรีเมี่ยม ราคา มีเดี่ยม
โครงการดอยคำอยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ประเภทผักและผลไม้ที่ปลอดสารพิษ ซึ่งมีจุดเด่นด้านออแกนนิก เพราะมีห้องแล็ป สำหรับตรวจสอบสารพิษ มีกระบวนการนำไปสู่ผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ โดยมีภาพลักษณ์ของความเป็นสินค้าพรีเมี่ยม แต่ราคามีเดี่ยม เอาแบบง่าย ๆ คือ “ของดีมีคุณภาพ แต่ราคาเอื้อถึง” นี่คือ Key Success ในการทำธุรกิจครับ
การให้บริการ ส่งมอบสินค้าที่เกินความคาดหมาย (พรีเมี่ยม) กับราคาที่ลูกค้าจ่ายนั้น จะทำให้ลูกค้ารู้สึกว่า “คุ้มค่า” ทำธุรกิจเราต้องออกแบบสินค้า บริการให้เกิน “ราคา” ครับ ขายของดี ราคาเหมาะสม อย่าขายแพงแต่ของคุณภาพต่ำท้ายที่สุดหากทำอย่างนี้เราเองก็จะอยู่ไม่ได้
แต่หากคนได้ของดีราคาเหมาะสม ยังไงเขาก็กลับมาซื้อ แถมยังบอกต่อสินค้าบริการของเราให้อีกด้วย
13.ต่อยอดพัฒนาสินค้าให้มีความหลากหลาย
ผลผลิตอย่าง พืช ผัก ผลไม้ ฯลฯ ที่ได้มาจากโครงการหลวง ผู้บริโภคสามารถหาซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้จากสินค้าที่ผลิตออกมาภายใต้แบรนด์ “ดอยคำ” นอกจากของจะสดแล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์จากโครงการหลวงต่างๆ มาแปรรูปเป็นสินค้าแบบต่อยอด และจัดจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคได้สัมผัสกับสินค้าของโครงการหลวงที่มีคุณภาพมีความหลากหลาย ทำจากเล็กไปใหญ่ ค่อย ๆ เพิ่มความหลากหลายในตัวสินค้า และ บริการให้กับลูกค้า แต่อย่าออกสินค้ามาแบบตูมเดียวเป็นร้อยเป็นพันรายการ อย่างนี้ “เจ๊ง” ครับ ค่อย ๆ ขยาย ค่อยเพิ่มความหลากหลายตามความต้องการของลูกค้า
แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าต้องเพิ่มอะไร ขยายอะไร คำตอบง่าย ๆ คือ เราทำธุรกิจไปสักระยะ ลูกค้าเขาก็จะถามเองครับว่า สินค้านี้มีไหม บริการนี้มีไหม นี่หละครับคือความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าที่ได้มาโดยไม่ต้องจ้างใครทำวิจัยด้านการตลาดเลย
14.สินค้าประเภทอาหารต้องเน้นคุณภาพ รสชาติและความสะอาด
ผลิตภัณฑ์ของดอยคำจะเน้นการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพด้านรสชาติ มีความปลอดภัยต่อสุขภาพ และคุณค่าทางโภชนาการ โดย เฉพาะผลิตภัณฑ์แปรรูปที่มีหลายชนิดให้เลือก ไม่ว่าจะเป็น น้ำผลไม้พร้อมดื่ม อย่างน้ำเสาวรส น้ำสตรอเบอร์รี่ ฯลฯ โดยนำผลไม้สด 100% มาแปรรูปเป็นน้ำผลไม้รสเข้มข้นมีเนื้อผลไม้ผสม ให้ความหอมหวานอร่อย เราต้องรู้ว่าสินค้าของเราเป็นประเภทไหนและต้องเน้นด้านใดเป็นพิเศษ เพื่อไม่หลงทางในการทำการตลาด
15.ทำตัวให้สดเหมือนสินค้าดอยคำ ทำตนให้อดทนพยายามเหมือนเดินขึ้นดอย
ชีวิตเราต้องสดใส พร้อมเริ่มสิ่งใหม่อยู่ตลอดเวลา ทำตัวให้สดชื่นเหมือนผักสด ผลไม้สด ทำทุกวันให้มีความสุขตลอดเวลา ผมเชื่อว่านี่คือปรัชญาที่พ่อหลวงทรงถ่ายทอดบอกกล่าวผ่านมายังพวกเราผ่านผัก ผลไม้ โครงการหลวงดอยคำ เราควรน้อมนำคำสอนที่พ่อไม่ได้บอก แต่พ่อทำให้เห็นนี้มาปฏิบัตินำมาใช้ในชีวิตประจำวัน
อดทนให้เหมือนขึ้นดอย จะขึ้นดอยมันต้องใช้ความอดทนในการเดินก้าวขึ้นไปทีละก้าว หากประมาทพลาดพลั้งชะล่าใจตกเลยมาก็เจ็บหนัก การใช้ความอดทน พยายามในการทำสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตถูกส่งผ่านชื่อ “ดอยคำ” ทำอะไรก็ทำไปทีละ “คำ” ทำไปทีละนิด อย่าประมาทรีบร้อนจนเสียการเสียงาน ไม่อย่างนั้นแล้วที่ทำมาก็สูญเปล่า
นับว่าเป็นอีกหนึ่งโครงการหลวงที่ทรงมอบไว้ให้เป็นมรดกของตัวอย่างในการทำธุรกิจอย่างครบวงจร ที่หากพวกเราแกะรหัสการดำเนินการภายใต้แบรนด์ ดอยคำ ของพระองค์ท่านและตามรอยพระองค์ท่านไปในแต่ละจุดเราก็จะพบเคล็ดลับในการทำธุรกิจที่สามารถยืนหยัดด้วยตนเองได้อย่างยั่งยืน
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ
ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมส่งเสด็จพระองค์เสด็จสู่สวรรคาลัย
ข้าพระพุทธเจ้า ทีมงาน Taokaemai.com
ขอบคุณที่มาจาก royalprojectthailand.com ,doicum-is.blogspot.com ,www.manager.co.th/
บริการอบรม ให้คำปรึกษาการทำธุรกิจออนไลน์ ฝึกอบรมภายในบริษัท แบบตัวต่อตัว การทำ Content Marketing,การโฆษณา Facebook,การโฆษณา Tiktok,การตลาด Line OA และการทำสินค้าให้คนหาเจอบน Google
บริการดูแลระบบการตลาดออนไลน์ให้ทั้งระบบ
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสารความรู้การทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ Add Line id :@taokaemai
รับชมคลิป VDO ความรู้ด้านการตลาด กรณีศึกษาธุรกิจ แหล่งเงินทุนน่าสนใจ ติดตามได้ที่ช่อง Youtube : Taokaemai เพื่อนคู่คิดธุรกิจ SME