สำหรับ sme ที่เริ่มธุรกิจใหม่ เงินทุนเป็นสิ่งสำคัญ ยิ่งเป็น sme ขนาดเล็กยิ่งเป็นปัญหา เพราะแทบจะไม่มีเงินทุนเลย การกู้สินเชื่อจากธนาคารจึงเป็นทางออกที่ sme นึกถึงเป็นลำดับต้น

แต่การขอสินเชื่อ ไม่ใช่ว่า sme จะกู้ผ่านตลอด มันก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของธนาคาร แต่ถ้าเราเตรียมตัวให้พร้อม การขอสินเชื่อรายใหม่ ก็สามารถอนุมัติได้ง่ายๆเช่นกันครับ

วันนี้มีวิธีขอสินเชื่อสำหรับ sme รายใหม่ ขอยังไงให้ผ่านฉลุย

1 วางแผนล่วงหน้าด้วยการเดินบัญชีให้เงินเข้าสม่ำเสมอ

ถ้า sme ต้องการขยายกิจการในอนาคต ต้องการสร้างธุรกิจให้เติบโต จำเป็นต้องมีการวางแผนล่วงหน้า เพื่อให้กู้สินเชื่อธนาคารได้ง่าย เพราะว่าการขอสินเชื่อจากธนาคาร จำเป็นต้องสร้างความน่าเชื่อถือ เพื่อให้ธนาคารเห็นว่า มีรายได้เข้าบัญชีตลอดทุกเดือนที่ผ่านมา

แนะนำให้ sme รวมเงินเป็นก้อนแล้วฝากเข้าในช่วงเดิมเหมือนกันทุกเดือน เช่น รวบเงินที่ขายของได้ ฝากธนาคารทุกวันที่ 1-5 ของทุกเดือน และไม่จำเป็นจริงๆอย่าถอนจนหมดบัญชี ให้มีเหลือติดบัญชีอย่างน้อยก็พอกับยอดที่ผ่อนสินเชื่อรายเดือนได้  เพื่อให้ธนาคารมองเห็นว่า เราสามารถผ่อนชำระกับธนาคารได้

การวางแผนเดินบัญชีให้มีเงินเข้าสม่ำเสมอจะทำให้การขอสินชื่อจากธนาคารทำได้ง่ายขึ้น เพราะธนาคารจะมองว่า ถึงแม้เราจะเป็น sme รายใหม่ แต่มีระบบการเดินบัญชีดี ต่อเนื่อง น่าเชื่อถือ เพราะมันหมายถึงความเข้มแข็งของธุรกิจ ที่สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องและมีทิศทางที่ดีขึ้น แล้วธนาคารที่ไหนจะไม่อยากปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจที่มั่นคงล่ะใช่ไหมครับ

2 เตรียมหลักฐานที่แสดงรายได้ให้ครบถ้วนที่สุด

เช่น บัญชีเงินฝาก สมุดบันทึกรายรับ –รายจ่ายของกิจการ หลักฐานการเสียภาษี ภาพถ่ายหน้าร้าน  ยิ่งมีเอกสารไปแสดงต่อธนาคารได้ครบถ้วนเท่าไหร่ ก็จะทำให้ธนาคารพิจารณาอนุมัติได้ง่ายขึ้น  เพราะธนาคารจะนำเอกสารเหล่านี้ไปคิดคำนวณ ยิ่งธนาคารทำงานง่าย ก็อนุมัติให้สินเชื่อให้กับเราเร็วขึ้นด้วย

การขอสินเชื่อกับธนาคาร เราต้องคิดเสมอว่า เขาจะอนุมัติเงินให้กับเราก็ต่อเมื่อ เขามั่นใจในรายได้ และความมั่นคงธุรกิจของเรา ว่าสามารถผ่อนชำระเงินคืนธนาคารได้ตามเงื่อนไข เพราะฉะนั้น ถ้าเราอยากได้รับการอนุมัติ เราก็จำเป็นต้องทำตามเงื่อนไขของธนาคาร  ถ้าผิดเงื่อนไขธนาคารถึงแม้คุณจะสนิทกับเจ้าหน้าที่แค่ไหน ธนาคารก็ไม่สามารถอนุมัติสินเชื่อให้อยู่แล้วครับ

สิ่งที่ sme ควรทำถ้าอยากขอสินเชื่อมาขยายกิจการ ต้องมีเงินเดินในบัญชีของร้านอย่างต่อเนื่องและทำสมุดรายรับ รายจ่าย เสียภาษีอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ธนาคารอนุมัติง่าย  ดีไม่ดี มีสิทธิพิเศษต่างๆให้ เช่น ลดดอดเบี้ย  เพิ่มวงเงินกู้ ให้เข้าร่วมโครงการเพื่ออบรมความรู้กับผู้ประกอบการที่ทางธนาคารจัดขึ้นอีกต่างหาก ฯลฯ

3 สร้างเครดิตให้ตัวผู้ประกอบการเอง

การที่ sme จะกู้เงินเพื่อขอสินเชื่อ ไม่มีข้อห้ามว่า จะต้องไม่มีหนี้ที่อื่น ผู้ประกอบการสามารถมีหนี้ที่อื่นได้ แต่ต้องมีให้น้อยที่สุด และมีการผ่อนชำระที่ดีต่อเนื่อง ประวัติไม่เสีย ไม่ติดแบล็คลิส  ยิ่งประวัติการผ่อนชำระดีมีวินัย จะยิ่งทำให้ธนาคารเห็นถึงความสามารถและวินัยในการผ่อนชำระของคุณ และการที่คุณได้รับการอนุมัติจากบัตรเครดิตก็เป็นการยืนยันเครดิตให้กับคุณ ว่า เคยผ่านอนุมัติการยื่นกู้มาแล้ว และยิ่งประวัติการผ่อนชำระดี ยิ่งมีผลที่ทางธนาคารจะนำมาประกอบการพิจารณา

แต่ธนาคารก็จะดูเงินคงเหลืออื่นๆ และค่าใช้จ่ายอื่นร่วมด้วย เช่นกัน แต่อย่างน้อยๆ เครดิตของคุณก็สร้างความน่าเชื่อถือให้กับตัวคุณ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ดี และทำให้ธนาคารพิจารณาง่ายขึ้นด้วยครับ

4  มีบัญชีเงินฝากอื่นๆ เพื่อเป็นหลักค้ำประกัน

การที่ผู้ประกอบการ sme มีเงินฝากประจำ  มีเงินก้อนอยู่ในบัญชีธนาคาร หรือแม้แต่เงินฝากในรูปแบบอื่นๆ อย่างสลากออมสิน สลาก ธกส.  ก็จะทำให้ธนาคารมองเห็นถึงความมีวินัยทางการเงิน และมีสภาพคล่องจนสามารถมีเงินฝากประจำ และมีเงินที่นำมาฝากโดยแทบจะไม่มีประวัติการถอนเงินก้อนนั้นเลย  หากผู้ประกอบการ sme ต้องการกู้เงินจำนวนมาก ก็สามารถนำเงินฝากเหล่านี้มาเป็นหลักทรัพย์ในการค้ำประกันร่วมด้วยได้

แนะนำให้ผู้ประกอบการ sme ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ ควรนำเงินฝากประจำ หรือซื้อสลากธนาคารไว้ เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับตัวเองและเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือและเป็นหลักทรัพย์ในการค้ำประกันเงินกู้ในอนาคต เมื่อเราต้องการจะกู้เงินมาขยายกิจการได้ ซึ่งจะทำให้ธนาคารอนุมัติง่ายขึ้นด้วย

ซึ่งการฝาก จะฝากมากฝากน้อย หรือฝากจำนวนเท่าไหร่ ต้องดูที่สภาพคล่องของกิจการด้วย เงินฝากต้องไม่มีผลกระทบต่อสภาพคล่องของการดำเนินกิจการ แต่ก็จำเป็นต้องสร้างวินัยในการฝากประจำทุกเดือน แล้ววินัยและยอดเงินฝากนี่ล่ะครับที่จะทำให้สามารถนำไปเป็นหลักค้ำประกันในอนาคตได้

5 มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

ผู้ประกอบการหลายคน ที่เป็น sme รายใหม่ ต้องการที่จะขยายกิจการ แต่กู้ไม่ผ่าน ทั้งที่ทำตามข้อ 1-4 มาทั้งหมด ซึ่งเราต้องมาดูว่าวงเงินที่ผู้ประกอบการขอกู้มากน้อยแค่ไหน ถ้าวงเงินกู้สูง แต่เงินฝากที่นำเป็นหลักทรัพย์น้อย ก็เป็นธรรมดาที่ธนาคารจะไม่ให้ผ่าน เพราะยอดเงินที่ต้องผ่อนชำระมันสูงกว่าเครดิตที่เราเคยสร้างมา ทำให้ธนาคารเกิดความไม่มั่นใจในความสามารถในการผ่อนชำระของคุณ การมีหลักทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็น ที่ดิน สิ่งก่อสร้าง บ้าน จะทำให้ธนาคารพิจารณาง่ายขึ้น

หากผู้ประกอบการเป็นกังวลไม่อยากนำบ้าน หรือที่ดินมาเป็นหลักทรัพย์ ก็จำเป็นจะต้องปรับแผนในการขยายกิจการ เพื่อให้เหมาะกับสภาพทางการเงิน ที่สามารถกู้จากธนาคารได้ ก็จะทำให้ลดความเสี่ยงและความไม่สบายใจได้

ธนาคารทุกแห่ง มีเงื่อนไขในการปล่อยสินเชื่อให้กับ sme อยู่แล้ว การวางแผนล่วงหน้า และการเตรียมตัวให้พร้อม ให้เข้ากับเงื่อนไขของธนาคาร เมื่อถึงเวลาจำเป็นที่จะต้องขยายกิจการ ก็จะทำให้เราสามารถยื่นกู้และมีโอกาสที่จะผ่านการอนุมัติได้ง่ายขึ้นด้วย