ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ธุรกิจร้านอาหารสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ จึงเป็นอีก 1 โอกาสทางธุรกิจที่ใครกระโดดเข้ามาทำก่อนย่อมมีโอกาสรวยก่อนได้อย่างไม่ยากเย็นนัก

ในขณะนี้ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีประมาณการณ์กันว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เราจะอยู่ในภาวะสังคมผู้สูงอายุเต็มตัว (คือมีอัตราส่วนประชากรผู้สูงอายุร้อยละ20หรือมากกว่า เมื่อเทียบกับประชากรในช่วงอายุอื่น) และด้วยความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์ทำให้อัตราการเสียชีวิตลดลงส่งผลให้ประชากรกลุ่มนี้ยิ่งมีอายุที่ยืนยาวมากขึ้นกว่าเดิม

ปัจจุบันเราเริ่มเห็นธุรกิจที่เกิดขึ้นมาเพื่อรองรับประชากรกลุ่มนี้มากขึ้น แต่ยังมีอีกธุรกิจที่น่าสนใจ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุ นั่นก็คือ”ร้านอาหารสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ” แต่ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจลักษณะอาหารที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุกันเสียก่อน เพื่อจะได้รู้ว่าหากคิดจะเปิดร้านขึ้นมาจริง ๆ เราจะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง มาดูกันครับ

เน้นอาหารที่มีประโยชน์แต่พลังงานต่ำ

อ้วนลงพุงคือสิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่ายกับคุณตาคุณยายทั้งหลาย เพราะการดูดซึมไม่ได้ดีดังเก่า กินอะไรนิดก็อ้วน ทานอะไรหน่อยก็เผละคงไม่ดีแน่ ๆ ถ้าจะคอยมานั่งกังวลว่าฉันจะกินอะไรดีถึงจะไม่อ้วนมาก ถ้าเป็นแบบนั้นคงไม่อร่อยแน่ ๆกินไปเครียดไป อย่ากินดีกว่า55 ลองเปลี่ยนไปใช้อาหารที่มีประโยชน์แต่พลังงานต่ำดูสิครับ ไม่ว่าจะเป็นธัญพืชหรือถั่วต่าง ๆ พวกนี้อร่อย คุณค่าสูงแถมพลังงานต่ำอีกต่างหาก

ต้องเคี้ยวง่าย ไม่เหนียวหรือแข็ง

 “หลานเอ้ย ยายเคี้ยวไม่ออก ยายเคี้ยวจนกรามบวมแล้วหลาน”

มันจะมีประโยชน์อะไร ถ้าได้แต่มองแล้วกลืนน้ำลายเอื้อก ๆแต่กินไม่ได้ อาหารเหนียวแถมแข็งคือความเศร้าของผู้สูงอายุ ลองเปลี่ยนวัตถุดิบที่นิ่ม หรือเลือกกรรมวิธีการปรุงที่ทำให้อาหารนิ่มลงดูครับ อาหารมื้อนั้นจะเป็นดั่งสวรรค์ของเขาเลย และต้องไม่ลืมว่าอาหารที่นิ่ม มันก็ย่อยง่ายนะ นอกจากเคี้ยวได้ ทานอร่อย ยังมีประโยชน์ต่อท้องไส้อีก โอ้วววว ฟิน

คำนึงถึง “น้ำ”

ไม่น่าเชื่อว่าผู้สูงอายุจะมีปัญหาขาดน้ำมากที่สุด ส่วนหนึ่งก็เพราะละเลยไม่ดื่มน้ำ อีกส่วนก็คือกลัวการดื่มน้ำยิ่งกว่ากลัวผีเสียอีก แปลกแต่จริงครับ เชื่อไหม บางคนน้ำ 1 แก้วกว่าจะป้อนหมดใช้เวลาเป็นชั่วโมง เหนื่อยทั้งคนดื่ม ลำบากทั้งคนป้อน ลองปรับดูครับในมื้ออาหาร ลองเพิ่มเมนูที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบเข้าไปดูเช่นซุป เพราะช่วยทดแทนน้ำในแต่ละวันได้ อีกข้อเสนอที่น่าสนใจคือ ใช้ผักหรือผลไม้ที่น้ำตาลน้อยมาปั่นทำเป็นเครื่องดื่ม แต่อย่าแยกกากนะ ให้คงความรู้สึกของการได้เคี้ยวเป็นกึ่งเหลวกึ่งข้นบ้าง จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ดีครับ

ต้องมีใยอาหาร ยิ่งสูง ยิ่งดี

คนหนุ่มสาวยังท้องผูก แล้วนับประสาอะไรกับผู้สูงอายุ จะใช้ยาถ่ายหรือยาสวนบ่อย ๆก็คงไม่ดี ลองเปลี่ยนเมนูที่มีปริมาณของใยอาหารมาก ๆดูครับ มันดีต่อท้องไส้นักแล และยิ่งถ้าอร่อยด้วย โอ้โห คุณยายขอ 2 ดีต่อใจจริง ๆ แต่ถ้าคนไหนขยับเขยื้อนน้อย ลองใส่ใยอาหารเสริมครับ เพราะคงไม่มีอะไรที่จะดีไปกว่า

“ทานง่าย ถ่ายสะดวก”

อีกแล้ว

ลดความหวาน

บางครั้งชีวิตขาดความหวานบ้างก็ดีเหมือนกันนะ เคยได้ยินคำว่า “หวานก่อโรค”ไหมครับ โรคหลายๆโรคเป็นพันธมิตรที่สนิทแนบแน่นกับความหวาน ทั้งเบาหวาน หัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง พวกนี้คือคู่หูผีเน่ากับโลงผุอย่างแท้จริง ๆ ลองเปลี่ยนมาใช้วัตถุดิบที่ให้ความหวานตามธรรมชาติ ลดการใช้น้ำตาลลง สุขภาพจะดีขึ้นตามมาครับ

ลดโซเดียม

เข้าใจง่ายๆคืออย่ากินเค็ม เพราะโซเดียมคือสาเหตุของความดันสูง อันตรายครับ แต่บางครั้งอาหารบางชนิดก็มีโซเดียมสูงปรี้ดโดยที่ไม่เค็มก็มี หาข้อมูลเกี่ยวกับโภชนาการมาก ๆ ครับ โรคที่น่ากลัวอีกโรคก็ความดันสูงนี่แหละ ถ้าควบคุมไม่ดีโดยเฉพาะจากอาหาร ความดันสูงทำคนพิการมามากมายทีเดียว แต่ถ้าความดันทุรังสูงนี่ ตัวใครตัวมันครับ

ระมัดระวังความสะอาด

สิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลย เพราะผู้สูงอายุมีระบบภูมิต้านทานที่ลดลงจึงเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย วัตถุดิบที่ใช้ต้องสะอาด สด และใหม่ กรรมวิธีการปรุงต้องมีความร้อน “ถึง”เกณฑ์เท่านั้น คงไม่มีประโยชน์ถ้าอาหารอร่อยแต่ “สกปรก” แทนที่จะช่วยเสริมสร้างสุขภาพ กลับทำให้ป่วยซะนี่

เพิ่มการใช้เครื่องเทศที่มีประโยชน์

อาการเบื่ออาหารก็เป็นปัญหายอดฮิตสำหรับผู้สูงวัย เพราะความเสื่อมถอยของอวัยวะรับรส รับกลิ่น แม่สามีกับลูกสะใภ้ทะเลาะกันบ่อยก็เพราะรสชาติอาหารนี่แหละ คุณแม่บอกรสชาติอ่อนเค็มทั้ง ๆที่มันเค็มจนไตจะพังแล้ว สะใภ้จะเถียงก็ไม่ได้ต้องกล้ำกลืนกินเค็มกันไป แต่ปัญหาจะหมดไปแค่ลองใช้เครื่องเทศลงในมื้ออาหารครับ เพราะกลิ่นที่เฉพาะตัวจะช่วยเพิ่มความอยากอาหารให้มากขึ้น และเครื่องเทศบางชนิดยังมีสรรพคุณที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายอีกด้วย

ใช้ของทดแทน

วัตถุดิบหลักบางประเภท ไม่เหมาะสมต่อสุขภาพของผู้สูงอายุเอาเสียเลย แต่ถ้าไม่มีก็จะทำอาหารไม่ได้อีก ลองประยุกต์ดูว่ามีสิ่งใดที่สามารถทดแทนวัตถุดิบเหล่านั้นได้บ้างเช่น กะทิ อาจใช้นมพร่องมันเนยมาแทนหรือใช้นมถั่วเหลืองมาแทนในรายที่แพ้นม ก็จะทำให้ผู้สูงอายุสามารถทานอาหารนั้นได้อย่างเอร็ดอร่อยและดีต่อสุขภาพ

นี่คือสิ่งที่ผู้สนใจอยากเปิดร้านอาหารสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุควรจะทำความเข้าใจเสียก่อน แต่เหนือสิ่งอื่นใด ความตั้งใจ ความใส่ใจคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในการจะทำร้านอาหาร และพึงระลึกไว้อยู่เสมอว่า

สิ่งใดที่เราอยากให้คนที่เรารักได้รับ คนอื่นก็อยากได้เช่นกัน ถ้าเราทำอะไรด้วยใจ ทำอะไรเสมือนกับทำให้คนที่เรารัก สิ่งนั้น ๆจะมีคุณค่า และเราจะทำมันออกมาได้ดีครับ

บทความโดย

ผู้ผ่านรับการฝึกอบรม “ใช้เวลาว่างเขียนบทความสร้างรายได้”

คุณ  นรินทร์พล ตรีรัตน์สกุล

นักกายภาพบำบัด