ธุรกิคาร์แคร์แม้ไม่ใช่ธุรกิจใหม่ แต่หนทางสู่ความสำเร็จยังมีอยู่ ถ้าอยากให้ธุรกิจอยู่รอดต้องปรับตัวเข้าหาสภาพแวดล้อม อย่าหยุดคิดหรือหยุดพัฒนา
รถยนต์เป็นยานพาหนะที่ช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิต การจะมีรถยนต์เป็นของตัวเองไม่ใช่เรื่องยาก แต่การดูแลรักษาเป็นสิ่งที่ควรคำนึง ทั้งการซ่อมบำรุงไปจนถึงการดูแลขั้นพื้นฐานอย่างเช่นการทำความสะอาด ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับบางคนและใช้เวลาค่อนข้างนานหากต้องลงมือทำเอง ธุรกิจดูแลรถยนต์ ล้างรถ คาร์แคร์ จึงถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อปัญหาเหล่านี้ ไม่เพียงแต่ผู้ใช้บริการเท่านั้นที่พึงพอใจ หลายคนมีความสนใจที่จะเป็นผู้ประกอบการในธุรกิจนี้ มุมมองที่ได้ยินบ่อยสุดคือ น้อยคนนักที่จะประสบความสำเร็จ ความท้าทายในธุรกิจนี้คืออะไร และต้องทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เจ๊ง
1.ทำไมทำธุรกิจคาร์แคร์ถึงเจ๊ง
“เปิดคาร์แคร์ปัญหาเยอะ เจ๊งกันไปหลายคน” หากยังไม่คิดถึงคำถามนี้ เชื่อว่าต้องได้ยินคำเตือนมาจากคนรอบตัวก่อนตัดสินใจอย่างแน่นอน จริงๆแล้วทุกธุรกิจมีความเสี่ยงด้วยกันทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับว่ามีการเตรียมพร้อมและหาวิธีรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร ปัจจัยหลักที่ทำให้ธุรกิจคาร์แคร์ไปไม่รอดส่วนใหญ่มาจาก
- พนักงานสำคัญ หมายถึงแรงงานนั่นเอง แค่หาพนักงานก็ถือว่ายากแล้ว แต่การที่จะให้พนักงานทำงานด้วยกันไปได้นานๆโดยไม่ใช้วิชานินจาชิงหายตัวไปซะก่อนถือว่ายากยิ่งกว่า เมื่อมีงานเยอะบ่อยครั้งที่อยู่กันไม่ทน แต่ถ้างานน้อยก็เสี่ยงที่จะเจ๊ง ตรงนี้ต้องไตร่ตรองให้รอบคอบโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กที่ไม่มีพื้นฐานการทำธุรกิจ
- ขาดการวางแผน โดยเฉพาะมือใหม่ที่แม้จะมีการหาข้อมูลมาพอสมควร แต่เมื่อถึงเวลาดำเนินการจริงยังมีอีกหลายตัวแปรที่คาดไม่ถึงทำให้ธุรกิจสะดุดระหว่างทาง การวางแผนรับมือที่ดีมาจากการตั้งคำถามโดยอิงจากสภาพแวดล้อมที่เป็นจริงและความเป็นไปได้ในอนาคต แผนการที่ดีช่วยให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น
เตรียมความพร้อมก่อนเปิดคาร์แคร์อย่างไรไม่ให้เจ๊ง
คาร์แคร์เป็นธุรกิจที่มีรายละเอียดปลีกย่อยเยอะ ต้องมีความรอบคอบในการเตรียมความพร้อมเพื่อช่วยประเมินสถานการณ์ก่อนตัดสินใจทำธุรกิจ
- เตรียมใจและเตรียมตัว : อย่างแรกเลยต้องมีความชื่นชอบในธุรกิจนี้ และมีความรู้พื้นฐานพอสมควร อย่างน้อยๆต้องรู้ว่าล้างรถหนึ่งคันมีขั้นตอนอะไรบ้าง
- กลุ่มลูกค้า : ลูกค้าของเราคือใคร สำหรับคนที่ไม่มีประสบการณ์ ควรเน้นกลุ่มลูกค้าระดับล่างไปจนถึงกลางก่อน
- ทำเล : ยุทธศาสตร์สำคัญสำหรับธุรกิจนี้ จำนวนคนต้องพลุกพล่าน เส้นทางสัญจรทั้งทางหลักทางรองมีผลต่อการใช้บริการ เนื้อที่ใช้สอยในการสร้างคาร์แคร์เพียงพอต่อการให้บริการหรือไม่ และดูในเรื่องสัญญาเช่าให้ดี
- เงินลงทุน : ต้นทุนไม่ใช่แค่ค่าปลูกสร้างอาคาร ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นอีกเช่น ค่าเครื่องมือ, ค่าเช่า, ค่าน้ำค่าไฟ, ค่าแรง, ค่าการตลาด, ค่าวัสดุสิ้นเปลือง และเงินทุนสำรอง
- สำรวจคู่แข่ง : ภายในรัศมีใกล้เคียงมีร้านคาร์แคร์หรือไม่ มีจำนวนเท่าไร ขนาดธุรกิจเล็กหรือใหญ่ โอกาสในการแข่งขันมีมากน้อยแค่ไหน
- การตลาด : ทำธุรกิจต้องทำการตลาด สินค้าหรือบริการต่อให้ดีแค่ไหนยังไงก็ต้องการการขาย การตลาดในช่วงเริ่มต้นเป็นสิ่งที่จะมองข้ามไปไม่ได้ ควรทำทั้งรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ รวมถึงการจัดโปรโมชั่น
- การบริหารจัดการส่วนอื่นๆ
- พนักงาน : เตรียมพร้อมกันตั้งแต่การรับสมัคร ฝึกงานไปจนถึงแผนสำรองในกรณีพนักงานไม่เพียงพอ ไม่ว่าจะหายไปเฉยๆ หรือจังหวะที่ลูกค้าเยอะเจ้าของเองก็ต้องช่วยอีกแรง
- เครื่องมือและอุปกรณ์ : การเลือกซื้ออุปกรณ์เช่น เครื่องปั๊มน้ำแรงดันสูงควรเลือกที่มีคุณภาพดี แม้ราคาสูงแต่คุ้มค่าการใช้งาน รวมไปถึงการดูแลรักษาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าซ่อมแซม
- ช่วงเวลาเปิด–ปิด : ต้องสอดคล้องกับช่วงเวลาที่สะดวกของลูกค้า บางทีเช้าเกินไปก็ไม่มีใครมาล้างรถ ส่งผลให้เหลือชั่วโมงในการทำงานน้อยลง ซึ่งเกี่ยวข้องกับต้นทุนค่าแรงเมื่อเทียบกับค่าล้างรถ เพราะธุรกิจลักษณะนี้ “เวลา” ถือเป็นกำไร
เมื่อตัดสินใจจะลงสนามแข่งนี้แล้วให้นึกเสมอว่าหัวใจหลักของธุรกิจคือ ผลงานออกมาดี ราคาเด่น บริการรวดเร็วโดนใจ ทำให้ลูกค้าเกิดความเชื่อมั่นอยากล้างรถเมื่อไหร่จะได้นึกถึงร้านเราทันที
เปิดร้านเองหรือซื้อแฟรนไชส์คาร์แคร์ อย่างไหนดีกว่ากัน
คราวนี้มาถึงอีกหนึ่งขั้นตอนสำคัญในการทำธุรกิจนั่นคือ เลือกที่จะเปิดร้านเองหรือซื้อแฟรนไชส์ ทั้งสองแบบนี้มีข้อแตกต่างกันไป มาดูว่าแบบไหนดีกว่ากัน
เปิดร้านเอง
- ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมรายปี มีอิสระในการตัดสินใจได้มากกว่าในบางเรื่อง
- ต้องดูแลระบบเองทั้งหมด ตั้งแต่การสั่งซื้อสินค้าไปจนถึงระบบจัดการภายในเช่น บัญชี สต็อกสินค้า จัดทำค่าแรงพนักงงาน ส่วนนี้สามารถเข้าคอร์สอบรมเกี่ยวกับธุรกิจเพื่อเพิ่มทักษะการบริหารได้
- มีการลองผิดลองถูกเยอะเช่น ผลิตภัณฑ์ที่นำมาใช้จะรู้ได้อย่างไรว่ายี่ห้อไหนดี ต้องลองใช้เองก่อนที่จะนำไปใช้กับรถลูกค้า และอาจจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นของอุปกรณ์ต่างๆ เช่น จังหวะที่มีลูกค้าเยอะแต่อุปกรณ์เกิดปัญหาขึ้น กว่าจะไปตามช่างมาซ่อมต้องรอนานอาจเสียลูกค้าได้
รูปแบบแฟรนไชส์
- มีเรื่องของเงื่อนไขสัญญา และข้อตกลงที่ต้องปฏิบัติตาม
- ไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ เป็นทางเลือกที่ดีช่วยประหยัดเวลาในการเรียนรู้และวางระบบเองที่มีความยุ่งยากตั้งแต่การบริหารจัดการไปจนถึงการเสาะหาเครื่องมือต่างๆ เหมาะสำหรับมือใหม่ที่ใจพร้อม
- มีการจัดอบรมพนักงาน
- เลือกสรรได้ตามงบประมาณที่ตั้งไว้มีตั้งแต่หลักแสนไปจนถึงหลักล้าน
- เทคโนโลยีที่นำมาใช้ช่วยลดต้นทุนในเรื่องของแรงงาน และเพิ่มความรวดเร็วในการให้บริการ
ไม่ว่าจะเปิดร้านเองหรือซื้อแฟรนไชส์ มีความจำเป็นที่จะต้องเข้ามาบริหารจัดการเองในช่วงแรกอย่างน้อย 1 ปี ไม่เช่นนั้นธุรกิจอาจเจ๊งได้ ไม่ควรปล่อยให้พนักงานทำกันเอง เรื่องคุณภาพและบริการเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องใส่ใจเป็นพิเศษ เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือที่มีต่อร้านมากขึ้น
ธุรกิจ Car Care แม้ไม่ใช่ธุรกิจใหม่ แต่หนทางสู่ความสำเร็จยังมีอยู่ ถ้าอยากให้ธุรกิจอยู่รอดต้องปรับตัวเข้าหาสภาพแวดล้อม อย่าหยุดคิดหรือหยุดพัฒนา เรียนรู้จากคนอื่นและนำมาปรับใช้ให้เกิดความแตกต่างในแบบของตนเอง สำคัญคือการบริหารคน เวลา และค่าใช้จ่าย หากมีความเข้าใจไม่ว่าทำธุรกิจใดก็สามารถประสบความสำเร็จได้
บริการอบรม ให้คำปรึกษาการทำธุรกิจออนไลน์ ฝึกอบรมภายในบริษัท แบบตัวต่อตัว การทำ Content Marketing,การโฆษณา Facebook,การโฆษณา Tiktok,การตลาด Line OA และการทำสินค้าให้คนหาเจอบน Google
บริการดูแลระบบการตลาดออนไลน์ให้ทั้งระบบ
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสารความรู้การทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ Add Line id :@taokaemai
รับชมคลิป VDO ความรู้ด้านการตลาด กรณีศึกษาธุรกิจ แหล่งเงินทุนน่าสนใจ ติดตามได้ที่ช่อง Youtube : Taokaemai เพื่อนคู่คิดธุรกิจ SME