ภาษีไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวอีกต่อไป ความยากอยู่ในช่วงแรกของการศึกษาทำความเข้าใจ สำหรับเจ้าของกิจการมือใหม่ควรค่อยๆเรียนรู้ควบคู่ไปกับการมุ่งมั่นทำธุรกิจ

ในฐานะของผู้ประกอบการต่างมุ่งเน้นในเรื่องของการทำอย่างไรให้ธุรกิจอยู่รอดและมีโอกาสเติบโตได้อย่างต่อเนื่องมั่นคง จนอาจลืมไปว่ายังมีเรื่องของภาษีที่ควรทราบ แน่นอนว่ามีหลายท่านกำลังส่ายหน้าเมื่อพูดถึงคำว่าภาษีเงินได้นิติบุคคล อันที่จริงสามารถจ้างผู้อื่นเพื่อช่วยจัดการแทนได้ แต่จะดีกว่าหรือไม่หากผู้ประกอบการเองมีความรู้ความเข้าใจเรื่องของภาษีในส่วนที่จำเป็นต่อธุรกิจ เพราะจะทำให้การพูดคุยกับนักบัญชีในการช่วยวางแผนภาษีเป็นเรื่องที่สนุกขึ้น และสามารถนำมาใช้ในการวางแผนบางส่วนของกิจการได้อีกด้วย ลองมาดูกันว่าสิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคล มีอะไรบ้าง

ทำความรู้จักกับภาษีเงินได้นิติบุคคล

ภาษีที่เราเสียกันอยู่ทุกวันนี้ไม่ว่าจะเป็นส่วนบุคคลหรือธุรกิจในรูปแบบใดก็ตามแบ่งได้ 2 ประเภทคือ

  • ภาษีทางตรง : ภาษีที่เรียกเก็บโดยตรง หมายถึงภาษีเงินได้นั่นเอง จะต้องเสียให้กรมสรรพากร เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล
  • ภาษีทางอ้อม : เป็นภาษีที่สามารถผลักภาระความรับผิดชอบไปให้ผู้บริโภคได้ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์

เจ้าของกิจการที่จดทะเบียนในรูปแบบของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน จะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร หลักการและที่มาของภาษีเงินได้นิติบุคคล มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่คิดแบบอัตราก้าวหน้า นั่นคือ เมื่อมีรายได้มากยิ่งเสียมาก ในขณะที่นิติบุคคลคิดแบบอัตราคงที่

ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นที่เจ้าของกิจการควรรู้เกี่ยวกับงบกำไรขาดทุน หลายคนอาจจะมองว่ายากตรงไหนก็แค่นำรายได้มาลบต้นทุนก็เท่ากับกำไร ในความเป็นจริงแล้วไม่ง่ายขนาดนั้น ถ้าเป็นธุรกิจขนาดเล็กอาจมองได้ง่าย แต่ไม่ใช่สำหรับธุรกิจที่มีความซับซ้อน รวมถึงรายละเอียดปลีกย่อยค่อนข้างเยอะ

มาทำความรู้จักงบกำไรขาดทุนกันสักนิด งบการเงินที่แสดงผลการดำเนินงานของกิจการในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง แต่ต้องไม่เกิน 1 ปี อาจจะเป็น 3 เดือน หรือ 6 เดือน สำหรับมือใหม่ต้องระวังตรงส่วนของกำไรที่ได้ อันเนื่องมาจากความเข้าใจที่ผิด นั่นอาจไม่ใช่กำไรที่แท้จริง ซึ่งธุรกิจจะไปรอดหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าของกิจการมีความเข้าใจตรงนี้มากน้อยแค่ไหน

ขาดทุนต้องเสียภาษีไหม หากไม่เข้าใจขาดทุนทั้งกำไร ขาดทุนทั้งภาษี

ทำธุรกิจให้อยู่รอดปลอดภัยจนเห็นผลกำไรก็ว่ายากแล้ว แต่ขาดทุนจนปวดหัวแล้วยังต้องมาเสียภาษีอีก แบบนี้ก็มีด้วยหรือ ก่อนที่จะสับสนไปมากกว่านี้ มาทำความเข้าใจกับคำว่า “ขาดทุน” ในที่นี้ก่อนว่า หมายถึงอะไร

ตามที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าการคำนวณภาษีคิดจากกำไรของธุรกิจ ในเมื่อกิจการขาดทุน แล้วทำไมต้องเสียภาษี เหตุผลคือ ในกรณีที่เป็นธุรกิจบริการจะถูกลูกค้าหักภาษี ณ ที่จ่าย พอถึงปลายปี หากไม่มีการทำเรื่องขอคืนภาษี แบบนี้ก็เท่ากับว่าเป็นการเสียภาษีไปโดยปริยาย และอีกอย่างหนึ่งก็คือ การที่ธุรกิจมีการขาดทุนทางบัญชี ไม่ได้หมายความว่าธุรกิจนั้นไม่ต้องเสียภาษี เพราะกำไรสุทธิทางภาษี (กำไรขาดทุนที่ใช้ในการคำนวณภาษี) ไม่ใช่ กำไรสุทธิทางบัญชี แต่ถ้าธุรกิจมีการขาดทุนทางภาษีถึงจะแปลว่า ไม่ต้องเสียภาษีนั่นเอง

อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับ SMEs จะมีความพิเศษที่แตกต่างจากกรณีทั่วไปที่ไม่ใช่ SMEs  ซึ่งจะเสียภาษีในอัตราคงที่ 20% ของกำไรสุทธิตั้งแต่บาทแรก

อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลปี 2561
ช่วงกำไรสุทธิSMEsนิติบุคคล
ไม่เกิน 300,000 บาทยกเว้น20%
300,001 – 3,000,000 บาท15%20%
ตั้งแต่ 3,000,000 บาทขึ้นไป20%20%

ค้าขายดีมีกำไร หากเข้าใจก็ไม่ต้องเสียภาษีมาก

ในกรณีเช่นนี้จะพบได้ในธุรกิจประเภท SMEs ไม่มีการเสียภาษีหากมีกำไรไม่เกิน 3 แสนบาท ส่วนต่างที่เหลือค่อยนำมาคิดกันทีหลัง ดังนั้นการบริหารงานควรคำนึงในแง่ของการทำให้ธุรกิจมีกำไร แล้วค่อยวางแผนเรื่องของภาษีอีกที ซึ่งความหมายของธุรกิจ SMEs ภายใต้คำจัดความของกรมสรรพากร คือ

  • มีทุนจดทะเบียนและเรียกชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท คำว่าเรียกชำระ ตัวอย่างเช่น ทุนจดทะเบียน 5 ล้าน แต่มีการทยอยจ่าย รอบแรกอาจจะ 2 ล้าน รอบถัดไปอาจจะ 1 ล้าน
  • มีรายได้ตลอดทั้งปีไม่เกิน 30 ล้านบาท

จำเป็นต้องเข้าทั้งสองเงื่อนไข หากปีใดมีรายได้เกินกว่านี้ นั่นหมายถึงธุรกิจได้เติบโตแล้ว ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดอีกต่อไป และไม่ถือว่าเป็น SMEs  หากทำธุรกิจหลายอย่าง เมื่อนำมารวมเข้าด้วยกันอาจมีรายได้เกินกว่ากำหนด เจ้าของกิจการบางรายจึงทำการแยกบริษัท เพื่อรักษารูปแบบให้เป็น SMEs นี่จึงเป็นอีกเหตุผลที่ว่า ทำไมเจ้าของกิจการควรรู้เกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคล ทั้งนี้ก็เพื่อการวางแผนภาษีได้อย่างถูกต้อง

ภาษีไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวอีกต่อไป ความยากอยู่ในช่วงแรกของการศึกษาทำความเข้าใจ สำหรับเจ้าของกิจการมือใหม่ควรค่อยๆเรียนรู้ควบคู่ไปกับการมุ่งมั่นทำธุรกิจ มีข้อมูลให้อ่านมากมายทางอินเตอร์เน็ต หรือลงคอร์สเรียนที่จัดเตรียมไว้โดยเฉพาะ ถ้าอยากประหยัดภาษีต้องเข้าใจภาษี ควรเริ่มต้นทำอย่างจริงจังและทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย คงไม่มีใครอยากเสียเงินไปกับสิ่งที่ไม่ควรจะต้องเสีย และต้องเสียเวลาจัดการกับธุระที่อาจสร้างปัญหาตามมาอีกมากมาย เพราะนั่นหมายถึงความน่าเชื่อถือทางธุรกิจ เมื่อพลาดแล้วอาจไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาได้อีกเลย

บทความเกี่ยวกับบัญชี ภาษี