มีงานวิเคราะห์ธุรกิจชิ้นหนึ่งที่สร้างกำลังใจให้อย่างมากในฐานะนักเขียนมือใหม่ นั่นก็คือกรณีศึกษาร้านกาแฟแบรนด์ดังในปั๊มน้ำมัน ซึ่งกลายเป็นงานชิ้นที่มีคนเข้ามาดูมากที่สุดตั้งแต่เริ่มต้นเขียนมาและนี่ก็คือจุดเริ่มต้นของเส้นทางนักเขียนของผม

การเขียนไม่ใช่แต่เพียงการจับปากกาขึ้นมาขีด ๆ เขียน ๆ ตัวอักษรลงบนกระดาษเท่านั้น แต่การเขียนเป็นศาสตร์และศิลป์ ในแง่ของศาสตร์ก็คือ การเขียนต้องใช้หลักการ ใช้ภาษา ความสวยงามของวลี ความถูกต้องของไวยากรณ์เพื่อเรียบเรียงให้บทความที่เขียนมีความถูกต้องสมบูรณ์ แต่ในขณะเดียวกันการเขียนเป็นงานศิลปะแขนงหนึ่งที่นักเขียนจะต้องใช้ความสามารถที่มีในการร้อยเรียงบอกเล่าเรื่องราวที่ต้องการถ่ายทอดและเรียบเรียงออกมาผ่านตัวอักษร แต่สิ่งสำคัญคือนักเขียนจะต้องคำนึงถึงเสมอว่า “จะทำอย่างไรที่งานเขียนของตนจึงจะสะกดให้คนอ่านและผูกรัดให้นักอ่านประทับใจและตราตรึงในผลงาน” นี่จึงเป็นเสน่ห์ของการเขียนและความท้าทายของนักเขียนนั่นเอง

นับตั้งแต่เด็กจำได้ว่าเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือมาก ทุกครั้งที่คุณพ่อคุณแม่พาไปห้างสรรพสินค้ามุมโปรดมุมหนึ่งก็คือร้านหนังสือ นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้ชอบและซึมซับเสน่ห์ของตัวอักษรในมุมของนักอ่านมาโดยตลอดแต่ไม่เคยคิดว่าวันหนึ่งจะสามารถเขียนหรือเล่าเรื่องราวผ่านตัวอักษรออกมาได้ ในวัยเด็กสิ่งที่มักจะทำออกมาได้ดีเสมอมาก็คือ “การเขียนเรียงความ” หลาย ๆ ครั้งอาจารย์มักชมเชยว่าใช้สำนวนเก่ง แต่ทุกอย่างก็จบลงแค่นั้นและทักษะนี้ก็ไม่เคยได้รับการพัฒนาต่อ

พอเข้ามหาวิทยาลัยในสาขาที่เรียนก็ยิ่งห่างไกลจากการเขียนเข้าไปอีกเพราะเลือกเรียนสายสุขภาพ ในระหว่างนี้มีกิจกรรมที่ต้องร่วมกันทำหนังสือรุ่นขึ้นมา และได้รับมอบหมายให้เขียนบทความลงหนังสือ 2 เรื่อง นั่นเองจึงทำให้รู้ว่าตนเองชอบบอกเล่าเรื่องผ่านตัวหนังสือ

หลังเรียนจบออกมาทำงานความชอบนี้ก็ถูกพับเก็บลงหีบอีกครั้งเนื่องด้วยไม่มีเวลาประกอบกับไม่รู้ว่างานนี้จะเป็นอาชีพได้จริง เพราะคิดว่าการเขียนจะต้องเป็นรูปเล่มเท่านั้น ไม่คิดว่าบทความสั้น ๆ ก็มีและมีคนติดตามอ่านเหมือนกัน และอีกส่วนหนึ่งคือไม่มั่นใจว่าสิ่งที่เราเขียนจะมีคนสนใจอ่านไหม

แต่แรงบันดาลใจอันหนึ่งเกิดขึ้นเนื่องด้วยความเป็นคนชอบเล่าเรื่องราวและชอบที่จะเล่าเรื่องลงในเฟซบุ๊กของตนเอง จนวันหนึ่งมีเพื่อนเข้ามาคอมเมนต์ว่าติดตามสิ่งที่เราโพสต์ สิ่งที่เราเล่าในเฟซบุ๊ก เขาชอบสำนวนและการเขียนของเราและยังแซวว่าไม่อยากเป็นนักเขียนเหรอ นี่คือจุดเริ่มต้นที่ช่วยจุดประกายให้ตนเองลองค้นคว้าหาข้อมูลงานด้านการเขียนอีกครั้ง

แต่จุดเปลี่ยนสำคัญก็คือได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งที่พูดถึงงานที่ 2 และในหนังสือเล่มนี้เองที่ทำให้รู้ว่าอาชีพนักเขียนมีหลายด้านและการเขียนบทความก็เป็นอาชีพได้จริงและมีคนประสบความสำเร็จมาแล้ว เมื่อเจอข้อมูลสำคัญจึงลองเสิร์ชหากลุ่มคนที่รักในการเขียน ปรากฏว่าในเฟซบุ๊กมีกลุ่มเหล่านี้อยู่เต็มไปหมดเหมือนฟ้าเปิดไม่มีผิดเพราะแต่ก่อนลืมนึกถึงกลุ่มแบบนี้ไปเสียสนิท

และแล้วโอกาสครั้งสำคัญก็มาถึงเมื่อไปพบคอร์สเรียนเรื่องการเขียนทันทีที่เห็นก็ตัดสินใจสมัครในวันนั้นเลย จนถึงวันนี้จึงได้รู้ว่าตัดสินใจไม่ผิดเลยที่เลือกที่จะเข้าคลาสเรียนในวันนั้นและทำให้ได้รู้จัก อาจารย์เกียรติรัตน์ ผู้ซึ่งเป็นครูคนแรกในวิชาการเขียนของผม

ต้องขอบพระคุณอาจารย์เกียรติรัตน์ที่ออกแบบ workshop ดี ๆ ให้ได้พัฒนาทักษะในการเขียน จากแรก ๆ ต้องยอมรับว่ามีท้อและไม่มั่นใจเช่นกัน เพราะโจทย์ที่ถูกตั้งขึ้นมามันดูจะไกลตัวเหลือเกิน แต่ในเมื่อชอบเส้นทางนี้แล้วก็ลองพยายามจนถึงที่สุดและแล้วก็สามารถฝ่าด่านทดสอบมาได้ทั้งหมด ในบรรดาโจทย์ทดสอบการบ้าน มีงานวิเคราะห์ธุรกิจชิ้นหนึ่งที่สร้างกำลังใจให้อย่างมากในฐานะนักเขียนมือใหม่ นั่นก็คือกรณีศึกษาร้านกาแฟแบรนด์ดังในปั๊มน้ำมัน ซึ่งกลายเป็นงานชิ้นที่มีคนเข้ามาดูมากที่สุดตั้งแต่เริ่มต้นเขียนมาและนี่ก็คือจุดเริ่มต้นของเส้นทางนักเขียนของผม

เขียนเป็นสร้างโอกาสมากกว่ารายได้

แม้ว่าเส้นทางการเป็นนักเขียนจะเริ่มต้นได้ไม่นานและประสบการณ์ยังถือว่าน้อยยังคงต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอด แต่จากการเข้ามาในแวดวงนี้กลับพบว่าสิ่งที่ได้รับนอกจากตัวเงินค่าตอบแทน เรายังได้สิ่งดี ๆ อย่างอื่นกลับมาไม่ว่าจะเป็น

  1. ความพิถีพิถันในการกลั่นกรองข้อมูลและย่อยข้อมูลที่ได้รับ

สิ่งแรกที่จะได้รับในฐานะนักเขียนคือความพิถีพิถันในการอ่านและหาข้อมูล ใครจะรู้ว่าข้อมูลที่เราอ่าน ๆ กันในทุกวันนี้เบื้องหลังบทความเหล่านั้นคือการหาข้อมูลมากมายหลายแหล่งของนักเขียนและนำข้อมูลทุกชิ้นมาย่อยจนเหลือข้อมูลดี ๆ ปรากฏแก่สายตาผู้อ่าน นับแต่เริ่มต้นการเขียนทุกวันนี้หากอ่านข่าวสารหรือข้อมูลใด ๆ ก็จะพยายามหาแก่นและตีความข้อมูลเหล่านั้นอยู่เสมอ และกลายเป็นว่าการทำความเข้าใจข้อมูลต่าง ๆ ทำได้ง่ายกว่าแต่ก่อน 

  1. รู้จักการวางแผน การเล่าเรื่อง การใช้สำนวน

เสน่ห์อย่างหนึ่งของการเขียนอยู่ที่การเล่าเรื่อง เราจะเล่าเรื่องอย่างไรที่จะทำให้บทความของเราไม่น่าเบื่อ นักเขียนเก่ง ๆ เขาไม่ได้เพียงแค่หยิบกระดาษและปากกาขึ้นมาแล้วพรั่งพรูสิ่งที่ตนคิดลงไปในกระดาษเท่านั้น ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีการวางแผนมาก่อนทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้แต่การเขียนเช่นกัน เชื่อเถิดว่ากว่าจะมีบทความดี ๆ มาให้อ่านสักชิ้น ต้องผ่านการเกลามาแล้วทั้งนั้นมากบ้างน้อยบ้างตามประสบการณ์ของคนเขียน

เช่นเดียวกับการใช้สำนวนภาษา บทความที่น่าอ่านมักจะปรากฏสำนวนภาษาที่บาดลึก กินใจหรือน่าติดตาม การใช้ภาษาที่สละสลวยเป็นทั้งเสน่ห์และความสามารถของนักเขียนที่จะใช้สำนวนแบบไหนถึงจะดึงดูดคนอ่าน และที่สำคัญสำนวนที่ใช้ต้องไม่เฝือจนเกินงาม เพราะการใช้สำบัดสำนวนมากเกินไปจะทำลายความน่าอ่านของบทความนั้นลง 

  1. ได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ มากมาย

ยิ่งผ่านงานเขียนมากเท่าไหร่สิ่งที่ได้รับคือความรู้ในเรื่องต่าง ๆ มากขึ้นเท่านั้น เพราะกว่าจะเขียนอะไรขึ้นมาสักชิ้นคนเขียนจำเป็นต้องทำความเข้าใจกับเนื้อหาที่ตนหามาก่อนจะลงมือเขียนทั้งสิ้น บทความที่ดีและมีคุณค่าไม่ได้อยู่ที่จะถ่ายทอดมันออกมาในลักษณะใดเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญกลับอยู่ที่คนเขียนบทความนั้นเข้าใจในสิ่งที่ตนจะเขียนดีพอหรือเปล่า หากคนเขียนไม่เข้าใจแม้จะใช้ภาษาที่สวยหรูเพียงใด บทความนั้นก็แทบไม่มีประโยชน์อะไรเลย อาชีพนี้จึงช่วยเพิ่มพูนความรู้ให้กับนักเขียนอยู่เสมอ อะไรที่ไม่เคยคิดว่าจะต้องมารู้ลองเปลี่ยนมาเป็นหัวข้องานเขียนก็จะต้องพยายามเรียนรู้และทำความเข้าใจไปโดยปริยาย 

  1. ลองทำสิ่งใหม่ ๆ ที่ท้าทายความสามารถของตนเอง

เชื่อว่าทุกคนย่อมมีเรื่องที่ตนถนัด นักเขียนก็เช่นกันที่จะมีแนวทางที่ตนถนัดแต่เมื่อใดที่ได้รับโจทย์ที่ไม่ใช่แนวทางของตน นี่คือสิ่งใหม่ ๆ ที่ท้าทายความสามรถ ตัวผมเองก็เช่นกัน เมื่อเริ่มต้นทำ workshop และได้ข้อหัวเป็นบทความวิเคราะห์ในด้านธุรกิจ นี่คือสิ่งที่ห่างไกลจากคนที่จบด้านสุขภาพมาอย่างมาก ถึงกับต้องตั้งหลักว่าจะเอาอย่างไรดี ต้องไปค้นคว้าอยู่พอสมควรว่าการถ่ายทอดเนื้อหาด้านธุรกิจเขาทำกันอย่างไร แต่สุดท้ายเมื่อได้ลองทำดูก็พบว่าไม่ได้ยากอย่างที่คิดและท้าทายความสามารถให้ตนเองพัฒนาต่อไปอีกด้วย ยิ่งพอผลงานสำเร็จและผ่านเกณฑ์ยิ่งเสริมสร้างความมั่นใจให้มากขึ้นไม่ว่าจะเจอบททดสอบใด เราทำได้แน่ ๆ 

  1. ได้แรงบันดาลใจ

ส่วนตัวของผู้เขียนเชื่อว่า “การอ่านเป็นสิ่งที่เปลี่ยนโลกและหนังสือหรือบทความดี ๆก็คือสื่อกลางนั้น” เพราะนอกจากจะได้ความรู้จากการอ่านแล้ว ข้อคิดและปรัชญาดี ๆ ก็ล้วนได้มาจากการอ่านทั้งสิ้น ในฐานะคนทำงานด้านการเขียนก็ยิ่งต้องอ่านให้มากกว่าเดิม และหลายครั้งที่หาข้อมูลเพื่อที่จะทำงานเขียนนั้นเอง สิ่งที่ได้นอกจากข้อมูลคือแรงบันดาลใจดี ๆ ที่อยู่ในข้อมูลเหล่านั้นเสมอไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือซุกซ่อนผ่านการต้องตีความก็ตาม แรงบันดาลใจเหล่านี้จึงทำหน้าที่เสมือนไฟที่คอยกระตุ้นให้เกิดความรักในการเขียน การเล่าเรื่องราวผ่านตัวอักษรมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม 

  1. ได้มิตรภาพ

วงการเขียนจะว่ากว้างก็กว้าง จะว่าเล็กก็เล็ก นับตั้งแต่ที่ก้าวเข้ามาสู่ถนนเส้นนี้คำว่ามิตรภาพถูกพบได้เสมอจากคนที่มีใจรักและความชอบเหมือน ๆ กัน เทคนิคและกำลังใจดี ๆ เป็นสิ่งที่หาได้ในแวดวงนักเขียน ทั้ง ๆ ที่บางคนเราไม่เคยเห็นหน้าค่าตากันเลยด้วยซ้ำ คำแนะนำดี ๆ ที่ส่งต่อให้แก่กันด้วยความจริงใจ เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ผู้เขียนได้รับเสมอมานับแต่เริ่มทำการเขียนครับ

จริง ๆ แล้วสิ่งที่มีค่ามากที่สุดถ้าคุณเป็นนักเขียนไม่ได้อยู่ที่ค่าตอบแทนเพราะนี่คือสิ่งที่คุณจะได้รับมันอยู่แล้ว

แต่การเขียนที่ดีหรือที่เรียกกันว่า “เขียนเป็น” สิ่งที่มีค่ากลับอยู่ที่โอกาสที่คุณจะได้รับมากกว่า

เพราะโอกาสคือสิ่งที่จะต่อยอดนำคุณไปสู่ความสำเร็จในอนาคต ยิ่งเขียนมากยิ่งมีประสบการณ์มากและประสบการณ์นี่เองที่จะช่วยสร้างสรรค์โอกาสให้แก่คุณตามมา อย่าตีค่าการเขียนเป็นแค่หนทางที่จะมีรายได้เพิ่มเพราะสิ่งที่คุณจะได้รับแท้จริงมัน “ใหญ่” กว่านั้นมาก และใหญ่อย่างที่คุณคาดไม่ถึงเลยทีเดียว

นรินทร์พล  ตรีรัตน์สกุล

จบการศึกษาปริญญาตรีวิทยาศาสตร์บัณฑิต (กายภาพบำบัด) คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล

ปัจจุบันเป็นนักกายภาพบำบัดประจำคลินิกเอกชนและเป็นนักเขียนอิสระ

 


หลักสูตร สำหรับท่านที่ต้องการพัฒนาทักษะทางด้านงานเขียน