ท่านผู้ประกอบการธุรกิจ อาจได้ข่าวเกี่ยวกับมาตรการของรัฐบาล ที่เกี่ยวกับระบบการรับชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) กันมาบ้างแล้ว ก่อนที่จะศึกษาผลกระทบและการเตรียมความพร้อมทางธุรกิจจากมาตรการนี้ ควรเข้าใจวัตถุประสงค์และแผนงานของมาตรการดังกล่าวนี้ก่อน

National e-Payment มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาระบบการชำระเงิน รับชำระเงินของประเทศไทย ให่สามารถรองรับธุรกิจการเงิน และกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) แบบครบวงจร ซึ่งประกอบด้วย 5 แผนงานดังนี้

  1. ระบบการชำระเงินแบบ Any ID หรือที่รู้จักกันว่า Prompt pay เป็นระบบที่รองรับการโอนเงินระหว่างสถาบันการเงิน โดยรองรับการรับเงิน โดยสำหรับผู้ที่ลงทะเบียน ที่มีการผูกเลขบัญชีธนาคาร กับหมายเลขโทรศัพท์มือถือ หรือเลขบัตรประชาชน โดยตั้งแต่  1 มกราคม  2560 กรมสรรพากร จะคืนเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาผ่านระบบ  Any ID เท่านั้น
  2. การขยายปริมาณการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ โดยส่งเสริมให้มีการใช้บัตรแทนเงินสด ผ่านจุดรับชำระที่มีอุปกรณ์รับชำระอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เครื่องรูดบัตร EDC, มือถือ MPOS, Mobile Application โดยภาครัฐจะใช้เป็นช่องทางในการส่งข้อมูลการซื้อขายและข้อมูลภาษีไปยังกรมสรรพากร
  3. โครงการระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ประกอบการจะต้องจัดทำและนำส่งข้อมูลใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax invoice) และใบเสร็จรับเงิน (e-Receipt) ให้กับทางสรรพากร โดยผู้ประกอบการจะต้องเริ่มเข้าระบบ e-Tax invoice ตามขนาดรายได้ โดยแบ่งเป็น ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็กและขนาดไมโคร ดังนี้
ขนาดผู้ประกอบการรายได้เริ่มเข้าระบบ e-Tax invoice
ใหญ่> 500 ล้านบาทภายใน 31/12/2560
กลางมากกว่า 30 ล้านบาท แต่ไม่เกิน   500 ล้านบาทภายใน 31/12/2560
เล็กมากกว่า 1.8 ล้านบาท แต่ไม่เกิน  30 ล้านบาทภายใน 31/12/2562
ไมโคร< 1.8 ล้านบาทภายใน 31/12/2564

โดยระบบนี้จะช่วยลดขั้นตอนในการจัดทำและนำส่งรายงานไปยังกรมสรรพากร และลดต้นทุนในการนำส่งภาษีอากร

  1. e-Payment ของภาครัฐ จะช่วยให้รัฐบาลจ่ายเงินช่วยเหลือ สวัสดิการให้ประชาชนถูกกลุ่มเป้าหมาย และเพิ่มช่องทางการรับชำระค่าบริการของหน่วยงานราชการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
  2. การให้ความรู้และส่งเสริมการใช้ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยจะมีมาตรการจูงใจให้มีการใช้ e-Payment แทนเงินสดและเช็ค เช่นการชิงโชคใบกำกับภาษี เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า มาตรการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อผุ้ประกอบการธุรกิจในหลายๆด้าน เช่น ความโปร่งใสของธุรกิจ และการเสียภาษีอากร ซึ่งผู้ประกอบการธุรกิจควรพิจารณาประเด็นต่างๆ และวางแผนภาษีอากร เช่น

  • รูปแบบการประกอบธุรกิจ

ควรพิจารณารูปแบบที่เหมาะสมกับธุรกิจของตนเองเ เช่น บุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคล โดยจัดทำประมาณการเปรียบเทียบต้นทุนภาษีอากร กรณีประกอบการรูปบุคคลธรรมดา เทียบกับกรณีรูปแบบนิติบุคคล

เนื่องจากรูปแบบการประกอบการ มีความแตกต่างกันทั้งในด้านฐานภาษี  อัตราภาษี การหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา หรือหักตามจริง รวมถึงสิทธิประโยชน์ทางภาษี ต่างๆ เช่น รายจ่ายที่สามารถหักได้เพิ่มขึ้น สำหรับรายจ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รายจ่ายเพื่อการลงทุนในทรัพย์สิน เป็นต้น

และมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่เข้าเงื่อนไข (โดยจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา  5  รอบบัญชี)

นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่า รัฐบาลต้องการส่งเสริมให้บุคคลธรรมดา ประกอบธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคลมากขึ้น ผ่านมาตรการต่างๆ เช่น

  • การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์สำหรับ กรณีโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์และทรัพย์สินให้นิติบุคคล เพื่อใช้เป็นทุนในการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล
  • กรณีการให้หักค่าใช้จ่ายค่าทำบัญชี ค่าสอบบัญชี ได้เป็น 2 เท่าเป็นเวลา 5 รอบบัญชี
  • การปรับปรุงการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา สำหรับเงินได้ประเภท 40(7) และ 40(8) ให้เหลือร้อยละ 60 สำหรับเงินได้ที่ได้รับตั้งแต่ 1 ม.ค. 2560
  • ต้นทุนในการประกอบการ

กรณีเลือกประกอบกิจการในรูปแบบนิติบุคคล ผุ้ประกอบการจะต้องคำนึงถึงหน้าที่ที่จะตามมาด้วย รวมถึงต้นทุนที่เกี่ยวข้องกรณีการปฏิบัติตามหน้าที่ดังกล่าว เช่น

  • การจัดทำบัญชี ปิดบัญชี จัดทำงบการเงิน จัดให้มีผู้ทำบัญชี ผู้สอบบัญชี
  • การนำส่งงบการเงินต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าทางอิเล็กทรอนิกส์
  • หน้าที่เกี่ยวกับการเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม และการนำส่งภาษีต่อสรรพากร
  • การจัดเก็บเอกสารทางบัญชี และภาษี ไม่น้อยกว่า 5 ปี เป็นต้น

www.facebook.com/Taxandbusinessacademy

แหล่งข้อมูล : บางส่วนจากเวปไซต์ของกรมสรรพากร