เปิดถัง “ไผ่ทอง” จากพนักงานขายไอศกรีมเร่  สู่เจ้าของแบรนด์รถขายไอศกรีมเร่ที่คุ้นเคยกันทั้งประเทศ สร้างยอดขายรวมหลายร้อยล้าน

ท่ามกลางอากาศอันร้อนระอุของเมืองไทยทำให้นึกถึงไอศกรีมเนื้อเนียนนุ่มหอมหวาน  หลากรส  เพิ่มรสชาติความอร่อยด้วย ท๊อปปิ้งหลากหลายชนิด  ซึ่งก็จะมีรถเข็นบ้าง ซาเล้งบ้าง  ที่ขยันมาเสิร์ฟความอร่อยให้กับเราได้ถึงหน้าบ้านโดยที่ไม่ต้องออกไปหาให้เสียเวลา  ได้ความสะดวก อร่อยแถมยังสบายกระเป๋าด้วยราคาที่ถูกใจอีกด้วย  ในบรรดาไอศกรีมเร่เหล่านี้เราจะสังเกตเห็นว่ามีไอศกรีมถังสีเขียวโดดเด่นเย็นสบายตามาคู่กับร่มสีเหลืองอร่ามมองเห็นในระยะห้าร้อยเมตร ที่อยู่คู่คนไทยมายาวนาน

จุดเริ่มต้นจากพนักงานขายไอศกรีมธรรมดาสู่เจ้าของแบรนด์ดัง

เรื่องราวของ ไผ่ทอง เริ่มต้นจาก นาย กิมเซ้ง  แซ่ซี  ชายจากจีนแผ่นดินใหญ่  เขาเป็นพนักงานขายไอศกรีมของโรงงานไอศกรีมแห่งหนึ่ง  ด้วยรสชาติที่ไม่คงเส้นคงวาจึงทำให้ได้รับคำติเตียนจากลูกค้าอยู่เป็นประจำแต่ก็อดทนขายเรื่อยมาทั้งๆที่รายได้ก็ไม่คงเส้นคงวาเช่นเดียวกับรสชาติของไอศกรีมนั่นแหละ

เมื่อความอดทนถึงที่สุดเขาจะไม่ทนอีกต่อไปจึงได้นำคำติเตียนเหล่านั้นไปบอกกับเจ้าของโรงงานและขอให้เจ้าของโรงงานปรับปรุง  ฝ่ายเจ้าของโรงงานแทนที่จะรับฟัง กลับแสดงความไม่พอใจอย่างเห็นได้ชัดแถมยังพูดออกมาอย่างไม่แยแสว่า “ถ้าคิดว่าทำได้ตามที่พูดก็ให้ไปทำเอง” นั่นถือเป็นคำพูดที่พลิกชะตาชีวิตของเขาเลยทีเดียว

จากนั้นจึงตัดสินใจลาออกมาทำไอศกรีมด้วยตัวเอง ภายใต้ชื่อ “ไอศกรีมหมีบินเกาะต้นมะพร้าว” เมื่อปี 2490 ปรากฏว่าขายดิบขายดี จนต้องสั่งซื้อเครื่องจักรที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้นมาใช้ในการผลิต พร้อมปรับปรุงสูตรให้ถูกปากคนไทยมากขึ้น และต่อมาได้พบว่าว่าคำว่าหมีบินมีชื่อคล้ายกับนมตราหมี อาจทำให้ลูกค้าสับสนได้

ไอศกรีมหมีบินจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ไผ่ทอง” ที่มาจากคำว่า กิมเต็ก แปลว่า คนที่มีคุณธรรมดั่งทอง และไผ่เป็นไม้มงคลของคนจีน และใช้ชื่อไผ่ทองทำตลาดไอศกรีมตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ศึกสายเลือด “ไผ่ทอง”

เป็นที่ทราบกันดีว่า “ไผ่ทอง” เป็นชื่อไอศกรีม 2 ยี่ห้อ ซึ่งทั้ง 2 แบรนด์นี้เจ้าของต่างก็เป็นคนจากตระกูล “ชัยผาติกุล” แต่ทั้ง 2 แบรนด์ก็สามารถทำธุรกิจให้เติบโตยอดขายรวมหลายร้อยล้านเลยทีเดียว

โดยกลุ่มแรก คือ กลุ่ม “ไผ่ทองไอศกรีม”

จดทะเบียนเมื่อ  วันที่ 1 กันยายน 2541  รายชื่อหุ้นส่วนคือ  นางน้ายเฮียง  แซ่ซี, นายบุรวิทย์  ชัยผาติกุล, นายเกษมสันต์  ชัยผาติกุล, นางสาวภัณฑิรา  ชัยผาติกุล,  นางสาวสิริณัฐ  ชัยผาติกุล  และนางเบญจนุช  ชัยผาติกุล

รายได้ไผ่ทองไอสครีม ของบุรวิทย์ ชัยผาติกุล ลูกชายคนโต

2556       45,087,526.51

2557       49,106,677.32

2558       65,928,927.52

2559       66,266,557.15

2560       75,586,712.31

ที่มา : กระทรวงพาณิชย์ รายได้จาก หจก.ไผ่ทองซีกิมเช็ง

ความแตกต่าง ข้อมูลชี้แจงเกี่ยวกับแบรนด์

  1. “ส” เป็นตัวสะกดที่แบรนด์ตั้งขึ้นมาจากกิมมิก
  2. เดิมใช้รูปต้นไผ่แต่เมื่อจดทะเบียนลิขสิทธิ์ไปคล้ายเครื่องปรุงรสตราไผ่ทอง เลยปรับตราสินค้าเป็นสัญลักษณ์สระ “ไ”
  3. ปัจจุบันตนยังดูแลมารดาที่เป็นต้นตระกูลอยู่ซึ่งกล่าวว่ายังไม่ได้แบ่งมรดกโรงงานแต่อย่างใด

กลุ่มที่สอง คือ กลุ่ม “ไผ่ทองไอศกรีม”

เป็นของบริษัท ไผ่ทองไอศกรีม จำกัด  บริษัทจดทะเบียนเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2546  มีนายบุญชัย  ชัยผาติกุล  ลูกชายคนที่ 6  เป็นผู้บริหารงาน   ส่วนนางสาวภคธร   ชัยผาติกุล  และนายปาลวัฒน์  พัฒนวิจิตร  เป็นคณะกรรมการ

รายได้ไผ่ทองไอศครีม ของบุญชัย ชัยผาติกุล ลูกชายคนเล็ก

2556       20,680,139.91

2557       27,868,426.63

2558       29,554,095.13

2559       38,563,867.69

2560       36,778,303.80

ที่มา: กระทรวงพาณิชย์ จากบริษัท ไผ่ทองไอศครีม จำกัด

ความแตกต่าง ข้อมูลชี้แจงเกี่ยวกับแบรนด์

  1. สะกดด้วย “ศ”
  2. ตัวเองทำธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2527 และเคยออกรายการ “เพื่อนคู่คิด” ทางโทรทัศน์สามารถใช้เป็นหลักฐานได้
  3. โรงงานปัจจุบันเป็นแหล่งผลิตดั้งเดิมจากปี 2526 โดยใช้เป็นที่อยู่จดทะเบียนในนามบริษัท ไผ่ทองไอศกรีม จำกัด

ละครว่าดราม่าแล้ว แต่ชีวิตจริงยิ่งกว่าละคร “ไผ่ทอง”  เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่ดุเดือดเลือดข้นไม่แพ้ละครหลังข่าวเลยทีเดียว ถือว่าเป็น “ไอศกรีมร้อน” ที่มีสถานการณ์ร้อนระอุไม่แพ้อากาศในเมืองไทยเลยล่ะค่ะ  รายละเอียดความขัดแย้งปล่อยให้เป็นเรื่องภายในครอบครัว “ชัยผาติกุล” ได้จัดการทำความเข้าใจกันเอง ส่วนพวกเรามาเรียนรู้ปัญหา แนวทางแก้ไข รวมทั้งแนวทางการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จดั่ง “ไผ่ทอง” กันดีกว่า

เคล็ดลับไผ่ทอง ตำนาน 70 กว่าปี !! อยู่มาได้ถึงวันนี้ได้อย่างไร ?

  1. การรักษาคุณภาพและมาตรฐานของสินค้า ถือเป็นสิ่งสำคัญในการทำธุรกิจ
  2. การให้ความสำคัญกับคำพูดและความรู้สึกของลูกค้า ถือเป็นหัวใจของการทำธุรกิจอย่าลืมว่าเงินอยู่ในกระเป๋าของลูกค้าเขาพร้อมจะจ่ายเราอยู่แล้วขึ้นอยู่กับว่าเราใส่ใจในคุณค่าของเขามากแค่ไหน
  3. การทำธุรกิจแบบกองทัพมด เราจะสังเกตเห็นว่าลูกค้าที่แท้จริงของไผ่ทองไม่ใช่ลูกค้าที่ซื้อไปเพื่อบริโภคเอง  แต่จะเป็นลูกค้าที่ซื้อไปเพื่อขายต่อซึ่งเราจะเห็นรถเข็นไอศกรีมไผทองกระจายอยู่ทั่วทุกที่ของเมืองไทย  และการดำเนินธุรกิจของไผ่ทองอาจดูคล้ายๆ แฟรนไชส์  แต่ก็ไม่ใช่ซะทีเดียวเพราะไผ่ทองจะไม่เก็บค่าแฟรนไชส์  เพียงแต่มีเงื่อนไขว่าเมื่อขายของไผ่ทองก็จะต้องซื้อของจากไผ่ทองเท่านั้น
  4. การปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์และความต้องการของลูกค้า อย่างเช่นการใช้สื่อโซเชียลเข้ามาช่วยในการโฆษณาและสื่อสารกับลูกค้า การเพิ่มรสชาติไอศกรีมจากเดิมที่มีเฉพาะรสกะทิ ก็มีการเพิ่มรสช็อกโกแลตชิพ วนิลาชิพ กาแฟ เผือก มะนาว สตรอว์เบอร์รี่เรนโบว์ และสตรอว์เบอร์รี่  พร้อมท็อปปิ้งสไตล์ไทยๆ เช่น ลูกชิด ข้าวเหนียว ข้าวโพด และอื่นๆ มีถ้วยที่ติดโลโก้ของไผ่ทองเอง และโคนที่ดูหลากไซส์  รวมทั้งมีขนมปังผ่าครึ่งด้วย

จาก “ไผ่ทอง” สู่ SME

  1. คิดจะยิ่งใหญ่ต้องเปิดใจรับฟังคนรอบข้าง ไม่ว่าคนคนนั้นจะเป็นแค่พนักงานตัวเล็กๆ ก็ตามเพราะเขาเหล่านั้นสามารถเป็นกำลังสำคัญในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ  ที่เป็นประโยชน์ให้กับเราได้  และพร้อมกันนั้นเขาก็สามารถเป็นคู่แข่งของคุณได้เช่นกัน ดังเช่นเจ้าของโรงงานไอศกรีมกับกิมเซ็ง แซ่ซี
  2. เริ่มต้นจากสิ่งที่คุ้นเคย การที่เราจะเริ่มต้นอะไรซักอย่างถ้าเราเริ่มจากสิ่งใกล้ตัวย่อมได้เปรียบเสมอ  อย่างเช่น “ไผ่ทอง”ซึ่งเริ่มจากการเป็นพนักงานขายไอศกรีมมาก่อนย่อมมีความเข้าใจในความต้องการของลูกค้า  เมื่อมาทำแบรนด์ของตัวเองก็ย่อมสามารผลิตสินค้าออกมาได้ตรงกับความต้องการของลูกค้า
  3. อย่าดูแคลน สินค้าข้างทาง รถเขนข้างถนน หลายคนมักวาดฝันธุรกิจต้องมีรูปลักษณ์ที่ดูดีใหญ่โต แต่กลับมองข้ามหรือไม่ใส่ใจพื้นฐาน สินค้าข้างทาง ตลาดรากหญ้า สร้างคนรวยร้อยล้านพันล้านมานักต่อนักแล้ว ไม่ว่าจะเป็น “ไผ่ทอง” หรือ “ชายสี่หมี่เกี๊ยว” อย่าติดในรูปลักษณ์ธุรกิจ แต่ให้คิดเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป็นสำคัญ
  4. ไม่หยุดพัฒนา ถ้าคุณคิดจะคงอยู่อย่างยั่งยืนถึงแม้แบรนด์ของเราจะติดตลาดแล้ว  แต่การพัฒนาสินค้าก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องทำอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่น ไผ่ทอง ซึ่งสามารถอยู่มาได้ยาวนานถึงเจ็ดทศวรรษ ปัจจัยสำคัญก็คือการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์และความต้องการของลูกค้า

ถึงแม้ไผ่ทองจะมีการวางแผนธุรกิจมาเป็นอย่างดีแต่ก็ยังมีจุดอ่อนอยู่ที่ การทำธุรกิจแบบกงสีซึ่งเป็นระบบที่ได้รับความนิยมของคนไทยสมัยก่อนโดยเฉพาะคนไทยเชื้อสายจีนซึ่งการทำธุรกิจแบบนี้เสี่ยงต่อการกระทบกระทั่งกันระหว่างพี่น้อง และปัญหาการทำธุรกิจทับเส้นกันเพราะต่างก็เติบโตมาจากธุรกิจแบบเดียวกันเชี่ยวชาญเหมือนๆ กัน  เมื่อมีการแยกครอบครัวออกไปจึงต้องออกไปทำธุรกิจที่คล้ายๆ กับครอบครัวตัวเองเคยทำมาจนอาจทำให้เกิดปัญหาบานปลายใหญ่โตได้

เงินทองไม่เข้าใครออกใคร แม้แต่คนจากสายเลือดเดียวกัน !!!

ขอบคุณข้อมูลจาก

  • https://www.sanook.com/money/595643/
  • https://www.unlockmen.com/how-to-deal-with-communication-crisis
  • https://marketeeronline.co/archives/4086
  • https://mgronline.com/onlinesection/detail/9610000095292

บทความโดย ผู้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตร “เขียนสร้างรายได้ออนไลน์ รุ่น 3”

คุณ กัญญาภัค  พุฒพวง
แม่บ้าน