ตั้งแต่เกิดโควิด-19 เทรนด์การบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง สารอาหารครบ ก็มาแรงแซงหน้าเทรนด์อื่นๆ ข้อมูลจากงานสัมมนา “แนวโน้มตลาดอาหารสุขภาพและโภชนาการตามช่วงวัย” ของสถาบันอาหารซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาระบุว่า คนทุกเจนเนอเรชั่นกำลังตื่นตัวกับเทรนด์นี้ โดยเฉพาะคนเจน Y  มีการคีย์คำว่า “สารอาหาร” มากที่สุดใน Google และตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา พบว่าทุกเจนเนอเรชั่นสืบค้นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโภชนาการเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จากเทรนด์นี้เองที่ทำให้อาหารกลุ่มหนึ่งที่มักถูกมองว่าเป็นอาหารคนป่วย หรือ อาหารคนแก่ กลับมียอดขายพุ่งสวนทาง ซึ่งก็คืออาหารทางการแพทย์นั่นเอง

จากการที่คนต้องการเสริมภูมิคุ้มกัน อาหารทางการแพทย์จึงเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจ เนื่องจากมีทั้งโปรตีน แร่ธาตุ คาร์โบไฮเดรต ไขมัน และวิตามินอย่างครบถ้วน จึงเกิดกระแสการหาซื้ออาหารทางการแพทย์แม้ไม่ได้เจ็บป่วยก็ตาม โดยที่นิยมรับประทาน มีลักษณะคล้ายนมผงในรูปแบบกระป๋อง สามารถชงกับน้ำร้อนหรือน้ำเย็นก็ได้

ทราบหรือไม่ว่าประเทศไทยเรามีโรงงานเพียงแห่งเดียวที่สามารถผลิตอาหารทางการแพทย์ได้  โดยส่วนใหญ่เป็นการนำเข้ามาจากต่างประเทศ เรามารู้จักโรงงานนี้กันเลยค่ะ คือ บริษัทไทย-โอซูกะ

ประวัติ กลุ่มบริษัทโอซูกะ..ผู้ผลิตสารเคมี สู่อาหารทางการแพทย์

ปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ 4 ราย ได้แก่ บริษัทไทยโอซูกะ (Thai Otsuka) บริษัทเนสท์เล่ (Nestle) บริษัทแอ๊บบอต (Abbott) และบริษัทเฟรเซนีอุส คาบี (Fresenius Kabi) โดยบริษัทไทยโอซูกะสามารถผลิตได้ทั้ง “อาหารทางการแพทย์สูตรทั่วไป” และ “อาหารทางการแพทย์สูตรเฉพาะโรค” เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคตับ

บริษัทไทย-โอซูกะเป็นบริษัทในเครือกลุ่มธุรกิจบริษัทโอซูกะที่ก่อตั้งขึ้นที่เมืองนารูโตะ ประเทศญี่ปุ่น ในปี 2464 หรือเกือบ 100 ปีมาแล้ว โดยเริ่มแรกนั้นบริษัทนี้ผลิตสารเคมี ก่อนจะแตกไลน์ขยายสายผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นมาทางยารักษาโรค อย่างเช่น สารละลายผ่านทางหลอดเลือดดำ (Intravenous Solution) และเคมีอินทรีย์ต่างๆ จนกระทั่งปี 2506 บริษัทฯ ได้วิจัยและพัฒนาสินค้าในกลุ่มยาและเวชภัณฑ์อย่างจริงจัง

ในอดีตนั้นประเทศไทยเรานำเข้าน้ำเกลือแบบขวดแก้วจากยุโรป ต่อมาเมื่อญี่ปุ่นสามารถผลิตน้ำเกลือแบบขวดพลาสติก เราจึงได้เปลี่ยนมานำเข้าจากญี่ปุ่นแทน ทางญี่ปุ่นเห็นโอกาสนี้จึงได้ตัดสินใจตั้งบริษัทร่วมทุนไทย-โอซูกะนี้ในประเทศไทยเมื่อปี 2516 ซึ่งถือเป็นการร่วมทุนนอกประเทศครั้งแรกของกลุ่มบริษัทโอซูกะ ในขณะนั้นลักษณะการดำเนินธุรกิจยังเป็นการนำเข้าและผลิตน้ำเกลือเป็นหลัก ต่อมาในปี 2530 ได้เริ่มวิจัยและพัฒนา “อาหารทางการแพทย์” ร่วมกับทีมแพทย์และนักกำหนดอาหารไทย จึงนับเป็นบริษัทผู้ผลิตอาหารทางการแพทย์แห่งแรกของประเทศไทย ด้วยสโลแกนคือ “Otsuka-people creating new products for better health worldwide”

ปี 2541 เครื่องดื่ม โพคารี่สเวท หรืออีกชื่อคือ “น้ำเกลือที่ดื่มได้” ของกลุ่มบริษัทฯเริ่มเข้ามาลองตลาดเมืองไทยในฐานะผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการในการแข่งขันกีฬาเอเซียนเกมส์ ครั้งที่ 13 เครื่องดื่มนี้มีชื่อเสียงมากในประเทศญี่ปุ่น เพราะเป็นน้ำดื่มอณูไอออนที่มีแร่ธาตุต่างๆ ในสภาพสมดุลใกล้เคียงกับของเหลวในร่างกายที่ดูดซึมได้ทันที เป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน โดยคนญี่ปุ่นนิยมดื่มในทุกช่วงเวลาโดยเฉพาะช่วงที่เป็นหวัด และที่สุดเมื่อสองปีที่ผ่านมา โพคารี่สเวท ได้เปิดตัวเข้าสู่ตลาดเมืองไทยอย่างเต็มตัว

แนวทางการขยายตลาดและกลยุทธ์การตลาดอนาคต

ตลาดอาหารทางการแพทย์ในประเทศมีมูลค่าสูงราว 3,000 ล้านบาท เติบโตต่อเนื่องเฉลี่ย 20.0% ต่อปี เปรียบเทียบกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือ GDP ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาที่เติบโตเฉลี่ยเพียงปีละ 3.1% ยอดขายอาหารทางการแพทย์ของบริษัทฯ เติบโตไปตามภาพรวมของตลาดและเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงโควิด โดยแบ่งเป็นยอดขายในประเทศ 85% และส่งออก 15% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศใกล้เคียงในกลุ่มเอเชีย เช่น มาเลเซีย ไต้หวัน เมียนมาร์ สปป.ลาว กัมพูชา อินโดนีเซีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์

จุดเด่นของอาหารทางการแพทย์ภายใต้แบรนด์ไทยโอซูกะที่แตกต่างจากแบรนด์อื่นคือ สามารถระบุข้อบ่งใช้ทางการรักษากับโรคบนฉลากได้ ซึ่งแตกต่างจากเจ้าอื่นที่เป็นเพียง“ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” จึงไม่สามารถระบุได้ว่ามีผลทางการรักษา และเมื่อไม่นานมานี้ บริษัทฯ เพิ่งออกแบรนด์ใหม่มาคือ“วันซ์ คอมพลีท” (ONCE COMPLETE) เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่เร่งรีบ โดยได้ทำการตลาดในรูปแบบใหม่ มีนักโภชนาการและเชพเป็นพรีเซนเตอร์ เน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นคนทั่วไปที่รับสารอาหารไม่เพียงพอจากการที่ละเลยมื้อเช้า รับประทานมื้อเที่ยงแบบด่วนๆ และรับประทานสแน็กที่ไม่มีประโยชน์แทนอาหารบางมื้อ

นอกจากนี้บริษัทฯ ยังพัฒนาสินค้าเฉพาะสำหรับคนสูงวัยที่ไม่ได้เป็นโรค คือ “กลุ่มผู้สูงวัยที่มีสุขภาพแข็งแรงแต่มีสภาพเสื่อม” เช่น มีปัญหาฟันและการเคี้ยว การได้กลิ่น หรือรับรสได้น้อยลง ทำให้ไม่อยากอาหาร และ “กลุ่มผู้สูงวัยที่เป็นโรค” เช่น ผู้สูงวัยที่มีปัญหาเกี่ยวกับไต

แต่เดิมบริษัทฯ จัดจำหน่ายผ่านช่องทางหลักอย่างโรงพยาบาล (หน่วยโภชนบำบัด บุคลากรทางการแพทย์) และ ร้านขายยา Chain store ปัจจุบันได้ปรับลุค ยกระดับ กระจายสินค้าผ่านช่องทางสมัยใหม่เพิ่มขึ้น เพื่อให้หาซื้อได้ง่าย เช่น  Shopee และ Lazada รวมถึงโปรโมทกลยุทธ์ขับเคลื่อนการตลาดอนาคตแบบผสมผสาน “Future of O to O to O หรือ Off-line to Online to On ground”  โดยตั้งเป้าขยายตลาดส่งออกเพิ่มขึ้น 15% โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV

ที่มา

www.thai-otsuka.com/th/

marketeeronline.co/archives/76004

healthathome.in.th/blog/เปรียบเทียบอาหารเสริม

www.bot.or.th

www.foodpackthailand.com/

www.bangkokbiznews.com/news/detail/896099

 

ผลงาน ผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรเขียนบทความสร้างรายได้รุ่นสู้โควิด 2020

กางเกงมวยไทย

คุณ Jinalyst


บริการอบรม ให้คำปรึกษาการทำธุรกิจออนไลน์  ฝึกอบรมภายในบริษัท แบบตัวต่อตัว การทำ  Content  Marketing,การโฆษณา  Facebook,การโฆษณา  Tiktok,การตลาด  Line  OA และการทำสินค้าให้คนหาเจอบน Google

บริการดูแลระบบการตลาดออนไลน์ให้ทั้งระบบ 
คอร์สเรียนออนไลน์ผ่าน Facebook Group