[ad_1]











“กฟผ.”รับลูกมติกพช.เร่งเครื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่



       
กฟผ. ขานรับมติเห็นชอบจาก กพช. ปลดล็อคโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เพื่อสร้างความมั่นคงระบบไฟฟ้าภาคใต้ตามแผน PDP2015 พร้อมทำตามข้อสรุปไตรภาคี ส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน และขยายเขตพื้นที่กองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้า เพื่อดูแลคุณภาพชีวิตชุมชนให้อยู่ดีมีสุข

       

       นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และโฆษก กฟผ. เปิดเผยภายหลังที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 มีมติเห็นชอบให้ กฟผ. ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2558-2579 (PDP 2015) เพื่อเพิ่มความมั่นคงให้ระบบไฟฟ้าภาคใต้ โดยกล่าวว่า กฟผ. เป็นหน่วยงานผู้รับสนองนโยบายของรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติ ดังนั้น จากนี้ กฟผ. จะได้ขับเคลื่อนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ขนาด 800 เมกะวัตต์ ตามข้อสั่งการของ กพช. ด้วยการบริหารจัดการพื้นที่โครงการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ดำเนินการให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อสร้างความเข้าใจและการยอมรับก่อนเริ่มดำเนินโครงการ รวมถึงนำข้อเสนอของไตรภาคีมาประกอบการพัฒนาโครงการฯ

       

       ทั้งนี้ ในส่วนของ กฟผ. จะดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ให้เป็นไปตามแผน PDP 2015 และขั้นตอนทางกฎหมายตามมติ กพช. โดยขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) จากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) หากผ่านความเห็นชอบจะได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติโครงการต่อไป

       

       ด้านการดำเนินงานตามข้อสรุปของคณะกรรมการไตรภาคีนั้น กฟผ. จะดำเนินการให้ครอบคลุมข้อสรุปของคณะกรรมการไตรภาคีฯ โดยเฉพาะการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในพื้นที่ภาคใต้ รวมถึงขยายเขตพื้นที่กองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้าให้เกินกว่ารัศมี 5 กิโลเมตร กล่าวคือ จากเดิมครอบคลุมพื้นที่ 2 ตำบล คือ ตำบลปกาสัยและคลองขนาน เพิ่มเป็นให้ครอบคลุมพื้นที่ตลอดเส้นทางขนส่งถ่านหิน ในตำบลเกาะศรีบอยาและตลิ่งชัน โดยคาดว่าจะทำให้ประชาชนในพื้นที่อีกประมาณ 3,320 ครัวเรือน ได้รับประโยชน์จากกองทุนฯ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านการศึกษา สาธารณสุข และอาชีพต่อไป

       

       สำหรับสถานการณ์พลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ ปัจจุบันกำลังผลิตอยู่ที่ 3,089.5 เมกะวัตต์ ขณะที่ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดในระบบของ กฟผ. อยู่ที่ 2,713 เมกะวัตต์ และหากเกิดกรณีวิกฤติหรือเหตุสุดวิสัยที่ทำให้โรงไฟฟ้าหลักในพื้นที่หยุดกะทันหัน จะส่งผลให้ภาคใต้มีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองไม่เพียงพอ ดังนั้น เพื่อเพิ่มความมั่นคงให้ระบบไฟฟ้าของภาคใต้ PDP 2015 จึงได้บรรจุโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ กำลังผลิตไฟฟ้า 800 เมกะวัตต์ มีกำหนดการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในปี 2562 และโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา กำลังผลิตไฟฟ้า 2,000 เมกะวัตต์ มีกำหนดการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ตั้งแต่ปี 2564 เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ ปัจจุบันโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่มีความล่าช้ากว่าแผนไปประมาณ 2 ปี

       

       ต่อประเด็นที่บริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (EGATi) ได้เข้าไปลงทุนในกิจการเหมืองถ่านหินของประเทศอินโดนีเซียนั้น โฆษก กฟผ. เปิดเผยว่า เป็นการลงทุนเพื่อรองรับการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในต่างประเทศของ EGATi เอง การส่งถ่านหินมาใช้กับโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่จะต้องมีขั้นตอนการประกวดราคาในระดับนานาชาติ เพื่อสรรหาบริษัทผู้จัดหาเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้า ซึ่ง กฟผ. จะเปิดให้มีแข่งขันทั้งด้านเทคนิคและราคาอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม

       

       “กฟผ. ยืนยันว่า จะดูแลให้โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และดูแลคุณภาพชีวิตของชุมชนรอบโรงไฟฟ้าอย่างมีส่วนร่วม เพื่อให้โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่เป็นโรงไฟฟ้าของชุมชนอย่างแท้จริง ด้วยความเชื่อมั่นว่าโรงไฟฟ้าอยู่ที่ใด สังคมอยู่ดีมีสุข” โฆษก กฟผ. กล่าว

[ad_2]

ขอบคุณที่มา manager.co.th