วันนี้เถ้าแก่ใหม่ขอนำเรื่องของน้อง ๆ นักศึกษาที่เพิ่งจบใหม่ กำลังที่วิจัยฝุ่น เดินหางานกันฝุ่นตลบ แม้หลายคนอยากเป็นเจ้าของกิจการใจแทบจะขาด แต่เส้นทางมันก็ไม่ได้ง่าย

ทำงานหาเงิน เป็นลูกจ้าง กินเงินเดือนไปก่อนดูจะเป็นทางออกที่สมเหตุสมผล ทว่า….งานก็ไม่ได้หาง่าย กว่าจะผ่านขั้นตอนสมัคร ผ่านการคัดเลือกเข้าสัมภาษณ์ ต่อฝ่าด่าน Resume เป็นร้อยเป็นพันฉบับเพื่อให้เขาเลือกเราไปสอบข้อเขียน หากผ่านก็ได้มีโอกาสนั่งพูดคุย สอบสัมภาษณ์กัน

ต้องเตรียมตัวอย่างไร สำหรับนักศึกษาจบใหม่ เพื่อให้ได้งาน… เถ้าแก่ใหม่ขอนำประสบการณ์มาบอกเล่าถึงความผิดพลาดในการที่เราจะเข้าไปสัมภาษณ์งานที่ไหนสักที่แล้วเราได้รับความผิดหวังกลับมานะครับ

10 ความผิดพลาดสัมภาษณ์งานไม่ผ่าน

1.หาจุดแข็งตัวเองไม่เจอ

ประเด็นแรกเป็นเรื่องสำคัญคือ “ไม่รู้ว่าตัวเองป็นใคร” หาจุดแข็งตัวเองไม่เจอ เรียนจบมาไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร ถนัดอะไร ที่เรียนจบมาก็จบมาแบบงง ๆ เดินไปสมัครงานก็เลยไปแบบงง ๆ มันก็เลยไม่ผ่านแบบงงๆ เช่นกัน

เป็นเยอะมาก “พ่อแม่จ้างมาเรียน” พอเรียนจบ พ่อแม่ไม่มีเงินจ้างหละ ต้องหาเงิน หางานตัวเอง ไปไม่เป็นเลยคราวนี้

ก่อนหาใบปริญญา “หาตัวเองให้เจอ”

ก่อนออกไปหางาน “หาตัวเอง” ให้พบก่อนครับ

แล้วโอกาสการมีงาน มีเงิน มีกิจการส่วนตัว มันจะง่ายขึ้น

2.ไม่เตรียมตัวทำข้อสอบ

แต่ละบริษัทมีเกณฑ์ในการคัดเลือกพนักงานเข้ามาทำงานไม่เหมือนกัน เราต้องทำการบ้านตรวจสอบก่อนว่าบริษัทนั้นเขาทำอะไร มีการสอบข้อเขียนอะไรก่อนที่จะสอบสัมภาษณ์ไหม เหล่านี้เป็นสิ่งที่เราต้องเตรียม และโดยส่วนใหญ่เราไม่ได้เตรียมตัวไปก่อน ทำให้พอไปเจอการสอบข้อเขียน ก็จอดตั้งแต่ยกแรกเลยทีเดียว

3.แต่งตัวไม่เหมาะสม

ต้องบอกว่ามันเป็นเรื่อง “กาละ” และ “เทศะ” หลายคนอาจจะบอกว่าความสามารถมันไม่เกี่ยวกับการแต่งตัว นั่นมันก็ใช่ครับ เป็นเรื่องความสามารถด้าน Hard Skill แต่การที่เราขาดเรื่อง “กาลเทศะ” เป็นเรื่องของ Soft Skill ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างมากในการที่เราจะอยู่ร่วมกันในสังคม

ถ้าเราเอาแต่ “อวดเก่ง” ว่าตัวเองดี ตัวเองสุดยอด จนหลงลืมเรื่องของ ความเหมาะสม มันก็จะทำให้การสัมภาษณ์ครั้งนั้นกลายเป็นเรื่องของเด็กอวดเก่ง คนหนึ่งที่ไม่สามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้มันก็แค่นั้นเอง

4.อีโก้สูงจนเกินไป

ประเภทจบมาสูงเกรดเกียรตินิยม หรือมหาลัยดัง ๆ ลูกท่าน หลานเธอ พ่อรวย แม่เป็นเศรษฐี อะไรก็ว่าไปครับ ประมาณว่าไม่ทำงานที่นี่ก็ได้ แต่ที่มาสัมภาษณ์เพราะอยากพิสูจน์ให้คนอื่นรู้ว่าตัวเองเก่งอะไรประมาณนี้

ตอบคำถามประเภทยกตนข่มท่าน มองว่าคนอื่นด้อยกว่า ต่ำกว่า …..คนประเภทนี้หากสัมภาษณ์ผ่านเข้าไปก็รังแต่จะทำให้บริษัทเกิดความขัดแจ้ง เก่งก็จริงแต่อยู่ร่วมกับสังคมไม่ได้ อย่างนี้ยากที่จะได้ 3 ผ่านครับ คงไม่ผ่านกันทั้ง 3 แต้ม 5 แต้มเลยทีเดียว

5.ขาดความมั่นใจในตัวเอง

ตรงข้ามกับพวกอีโก้สูง กลุ่มนี้จะประเภทแขนห่อเหี่ยว หน้าตาขาดความน่าเชื่อถือ ใครว่าไรก็ว่านั้น ตอบคำถามก็กุก ๆ กักๆ เป็นประเภทพวกติดอ่าง ไม่กล้าตอบ ไม่กล้าคุย แต่อยากได้งาน

ประเภทนี้ก็ยากที่จะผ่านการสอบสัมภาษณ์ครับ ความมั่นใจที่น้อยเกินไปก็ไม่ทำให้เกิดประโยชน์กับบริษัท เพราะจะกลายเป็นว่าเรากลายเป็น “ตัวถ่วง” เพื่อนๆ ร่วมงาน อย่างนี้แล้วเราเองก็ต้องสร้างความมั่นใจในตัวเองให้มากยิ่งขึ้น ก่อนออกไปสอบสัมภาษณ์

วิธีการง่าย ๆ เพิ่มความมั่นใจ เข้าไปในห้องน้ำแล้วแหกปากตะโกนในใจ ให้ดังก้องไปเลย….

6.พาออกนอกเรื่อง ตอบไม่ตรงคำถาม

ต้องเรียกว่าลูกเล่นแพรวพราว เป็นพวกศรีธนชัย หัวไวเกิ๊น !! คุยเก่ง เรียกว่าฝ่ายสัมภาษณ์มีโอกาสได้นั่งฟังเราโม้ได้เป็นวัน ๆ แต่ ๆๆๆๆ…… ที่เขาถามไปเราไม่ได้ตอบหนะสิ ตอบแต่สิ่งที่เราอยากตอบ บอกในสิ่งที่เราอยากบอก มันเหมือนเวลาเราเห็นข้อสอบแล้วทำไม่ได้ ก็เลยเขียนคำตอบอีกอย่าง เล่าเรื่องราวต่าง ๆ เพื่อหวังว่าจะได้คะแนนความเห็นใจ ทว่าสุดท้ายก็ได้ศูนย์ครับ…

คำถามไหนหากตอบไม่ได้แนะนำให้ตอบไปอย่างตรงไปตรงมา และลองถามกลับไปยังผู้ถามว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้ที่ถามมามันเป็นอย่างไร เราจะได้นำไปปรับใช้ หรือเป็นความรุ้ในอนาคต อย่างนี้มีโอกาสที่จะได้งานมากกว่าการที่แถไปเรื่อยนะครับ

7.ขาดไหวพริบในการแก้ไขปัญหา

บางครั้งเราต้องเจอคำถามเพื่อทดสอบไหวพริบ วิธีการแก้ไขปัญหาของเราว่าจะทำอย่างไรเมื่อเจอเหตุการณ์ไม่ปกติ

สิ่งที่ควรทำคือ ทวนคำถาม หรือ โจทย์ที่ทางผู้สัมภาษณ์ให้มา เพื่อเป็นการเตือนสติตัวเอง และหาคำตอบไปในตัว

เพราะบางครั้งการแก้ไขปัญหามันไม่ใช่เรื่องของ “วิธีการแก้ไขปัญหา” เหล่านั้น แต่อยู่ที่ “ต้นเหตุ” ของปัญหาต่างหาก

การทวนคำถามก็เหมือนกับการหาเหตุของปัญหานั่นแหละ บางทีคำถามของการแก้ไขมันก็ถูกซ่อนไว้ในคำถามเหล่านั้นแล้ว แต่ถ้าเราไม่มีสติ คิดเพียงแต่ว่าจะทำอย่างไร จะทำอย่างไร จะทำให้เราหลุดออกจากกรอบของปัญหานั้น ๆ

โดยส่วนใหญ่แล้วคำถามเหล่านี้ไม่ได้ต้องการคำตอบที่แท้จริง เพียงแค่อยากรู้ว่าขั้นตอนในการแก้ไขปัญหาเราทำอย่างไรต่างหาก อารมณ์เราเป็นอย่างไรต่างหากเมื่อเผชิญกับปัญหา และหลายคนก็พลาดโดนปัญหาเล่นงาน ตอบไม่ได้ไปไม่เป็น จนต้องเดินออกจากการสอบสัมภาษณ์แบบรู้ตัวว่า “กรูสอบสัมภาษณ์ไม่ผ่าน”

8.ขุดคุ้ยเรื่องปัญหาที่ทำงานเก่า หรือ เหตุผลแย่ ๆ ในการหางานใหม่ เพื่อทำให้ตัวเองดูดี

หลายคนใช้วิธีบอกว่าหางานใหม่เพราะ ที่ทำงานเก่าเป็นอย่างโน้น ไม่ดีอย่างนี้…ประเภทเผาบ้านเก่าตัวเอง อย่างนี้ก็ไม่มีที่ไหนเขารับเข้าไปทำงานหรอกครับ

เหตุผลสำหรับการหางานใหม่ สำหรับคนที่ทำงานอยู่แล้ว มันควรเป็นเรื่องความก้าวหน้าที่มากขึ้น และไม่ควรที่จะหันกลับไปถล่มที่ทำงานเก่า มันเป็นไปได้ครับที่ตำแหน่งงานที่เราต้องการในบริษัทเก่ามีเจ้าของอยู่แล้ว ยังไม่ถึงเวลาของเรา หากเขาไม่ออกเราก็ไม่ได้ แน่นอนครับหลายคนเลือกใช้วิธีลาออกเพื่อไปทำบริษัทใหม่ครับ

อย่าเหยียบใครเพื่อให้ตัวเองดูดีครับ…. เพราะไม่มีที่ไหนเขาต้องการให้เราเข้าไปเหยียบหรอกครับ

9.ความสามารถ และ คุณสมบัติ ไม่ตรงกับตำแหน่ง

สิ่งหนึ่งที่เราต้องยอมรับนะครับ บริษัทเขาจะรับคนที่มีคุณบัติดีที่สุดตรงกับตำแหน่งงานที่เราสมัครเข้าไปนั้น อาจจะมีคนที่เหมาะสมกว่าเรา ท้ายสุดหากไม่ได้ก็เดินหน้าหาต่อไป หรือ ปรับเปลี่ยนวิธีการหางาน การนำเสนอตัวเอง มากกว่าการส่ง resume เราอาจจะทำคลิปเพื่อนำเสนอตัวเอง (ยังกะ The Voice) แต่เชื่อผมเถอะวิธีแบบนี้มันสร้างจุดสนใจและเราได้คะแนนพิเศษนำมาตั้งแต่รอบแรกก่อนสอบสัมภาษณ์แล้ว

หากเราไม่ได้งานไม่ใช่เราไม่เก่ง เราไม่มีความสามารถ แต่มีคนเหมาะสมกว่าเรามันก็เท่านั้นเอง

10.บริษัทมีคนอยู่แล้ว ต้องการแค่ให้เรามาเป็นตัวเปรียบเทียบ

ข้อนี้จริงๆ แล้วไม่ค่อยอยากเขียน แต่มันคือเรื่องจริงที่อดใจไม่ได้ที่ต้องบอกว่า “บริษัทมีคนอยู่แล้ว” เขาเพียงแค่ต้องการให้เราเข้าไปสัมภาษณ์เป็พิธีเท่านั้น คนที่เขาเลือกให้ทำงานมีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลเรื่อง Connection หรือ เรื่องอื่นๆ

หากเรารู้ว่าเหตุการณ์เป็นอย่างนี้ถามว่าจะไปเป็นตัวเลือกให้เขาไหม ผมแนะนำให้ไปครับ เพราะอย่างน้อยเราก็ได้ไปแสดงความสามารถ วันหนึ่งหากเด็กฝากตกกระป๋อง เราอาจจะเป็นตัวเลือกใหม่สำหรับบริษัทนี้ก็ได้ครับ

สรุป

ไม่ว่าเพิ่งจบใหม่ หรือ จบมานานแล้วต้องการเปลี่ยนงาน สิ่งแรกที่เราต้องทำในการหางานคือ “เตรียมตัว” หาข้อมูลบริษัท และดูว่าตำแหน่งนั้นเขาต้องทำอะไร คุณบัติอะไร แล้วเราเข้าไปช่วยงานอะไรเขาได้มากน้อยแค่ไหน เราเข้าไปช่วยเขา “แก้ปัญหา” หรือจะไปเป็นตัว “เพิ่มปัญหา”

บริษัทต้องการคนเข้าไปช่วย “แก้ปัญหา” ดังนั้นเราก็เตรียมวิธีการไปช่วยเขาแก้ปัญหาได้เลยครับ