มีโครงการพระราชดำริ มากมายที่ ร.๙ ได้ทรงพระราชทานให้กับปวงชนชาวไทย ในรัชสมัยที่พระองค์ยังทรงครองราชย์ วันนี้ผมขอน้อมนำพระราชดำริเรื่อง เกษตรทฤษฏีใหม่ “ไร่นาสวนผสม” นำมาประยุกต์ใช้กับการทำธุรกิจ

ผมประยุกต์ใช้พระดำรินี้ มาร่วม 10 ปีในการทำงานเอง ทำธุรกิจเอง แม้เราไม่ได้ทำเกษตร แต่ทฤษฏีนี้ก็สามารถนำมาใช้กับเราได้อย่างแน่นอน

มาดูหลักการเบื้องต้นของทฤษฏีใหม่ “ไร่นาสวนผสม” คือ ให้เราจัดสรรปันส่วน พื้นที่ในการทำเกษตรเท่าที่เรามีโดยแบ่งเป็น 3 ส่วนดังนี้

  • ส่วนที่หนึ่ง พื้นที่ร้อยละ 30 ให้ขุดเป็นสระกักเก็บน้ำประจำไร่นา เพื่อไว้กักเก็บน้ำในฤดูฝนไว้ใช้ทำนา รวมทั้งไว้อุปโภคบริโภคและทำการเกษตรผสมผสานได้พอเพียงตลอดปี
  • ส่วนที่สอง พื้นที่ร้อยละ 60 ให้เป็นพื้นที่ทำการเกษตร โดยการทำไร่นาสวนผสม ด้วยการปลูกข้าวร้อยละ 30 ที่เหลือปลูกพืชสวน ไม้ผล ตามความเหมาะสมของสภาพแวดล้อมและตลาดท้องถิ่น
  • ส่วนที่สาม พื้นที่ร้อยละ 10 เป็นบริเวณที่อยู่อาศัย โรงเรือน คอกสัตว์ ทำกองปุ๋ย กองฟาง ลานตาก-นวดพืชผล ฯลฯ

เมื่อเราพิจารณาหลักพื้นฐานที่พระองค์ทรงพระราชทานมาให้นั้นคือเรื่องของการ “จัดสรรทรัพยากรให้เหมาะสม” และ ทำให้ทรัพยากรนั้นก่อให้เกิดประโยชน์ที่เกื้อกูลซึ่งกันและกันได้อย่างเหมาะสม  ไม่มากไปหรือน้อยไป ท้ายสุดคือการพึ่งตัวเองให้ได้มากที่สุด

คำว่า “ไร่นาสวนผสม” ในความเข้าใจผมคือ “อย่าทำอะไรเพียงอย่างเดียว” แต่ให้ทำหลายอย่างผสมกันรวมกัน เราจะนำหลักทฤษฏีใหม่ ไร่นาสวนผสมมาใช้กับธุรกิจได้ดังนี้

๑.กระจายความเสี่ยงในการลงทุน

ในการทำธุรกิจหรือการลงทุน สามารถประยุกต์ใช้ ปรัชญา เกษตทฤษฏีใหม่มาใช้ได้ โดยการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน หรือ ทำธุรกิจ อย่าลงทุนเพียงแค่อย่างเดียว หรือ ทำอะไรจนสุดโต่ง

๒.อย่าเพิ่งพิงกับรายได้เพียงช่องทางเดียว

นี่คือหลักสำคัญ เหมือนดั่งที่พระองค์ทรงให้ ปลูกผัก เลี้ยงปลา ปลูกข้าว ผลไม้ ฯ ในที่แปลงเดียวที่มีอยู่ ในการทำธุรกิจก็ต้องพิจารณาช่องทางสร้างรายได้ ให้มีมากกว่าเพียงแค่ช่องทางเดียว การที่เราพึ่งรายได้เพียงช่องทางเดียวมันเหมือนหลอดไฟสปอร์ตไลน์ เพียงดวงเดียว ที่พอมันดับ ความมืดก็จะเกิดขึ้นทันที แต่การสร้างหลายได้หลากช่องทางแม้จะเป็นเหมือนการจุดเทียนหลาย ๆ ดวง ที่ให้แสงไม่มากนัก แต่หากเทียนดับไปเล่มเดียว ก็ยังมีอีกหลายเล่มที่ให้แสงส่องทางส่องชีวิตให้เราไปต่อได้

๓.สร้างรายได้แบบ รายวัน รายเดือน รายปี

คราวนี้เรามาจัดเตรียมรูปแบบรายได้ตามหลักเกษตทฤษฏีใหม่ ตัวอย่างการ ปลูกผัก ปลูกข้าว ผลไม้ เป็นแนวคิดสำคัญในการสร้างรายได้ให้เราสามารถเลี้ยงตัวเองได้ 3 รูปแบบคือ

1.รายได้แบบรายวัน เก็บผักขาย

2.รายได้รายเดือน ขายข้าวในยุ้งเก็บ

3.รายได้รายปี ขายผลไม้ที่ออกตามฤดูกาล

ลองย้อนกลับมามองดูการลงทุน หรือ ธุรกิจเราครับ ตอนนี้รายได้ แบบรายวันมีไหม รายเดือนมีหรือยัง และรายปีได้เตรียมการไว้หรือเปล่า ถ้ายังไม่มีก็ลองน้อมนำหลักการนี้ไปประยุกต์ใช้

๔.เตรียมการรองรับในอนาคต ด้วยการเก็บออม

พระองค์ทรงโปรดให้ขุดสระเพื่อเก็บกักน้ำฝน เพื่อใช้ทำนา ทำสวน อุปโภคบริโภคให้ได้ตลอดทั้งปี นี่คือหลักในการ “เก็บออม” ทรัพย์สินที่หามาได้เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ได้ในเวลาที่ขัดสน การเก็บกักน้ำฝนไว้นั้นเป็นการเตรียมการรับภัยแล้งในฤดูร้อน แล้วเราหละครับ ได้เตรียมการอะไรเพื่ออนาคตที่เรารู้แน่ ๆ ว่าภัยนั้นมีอย่างแน่นอนแล้วหรือยัง

๕.กินสิ่งที่ปลูก ปลูกสิ่งที่กิน เหลือแจกจ่าย ขายเลี้ยงชีพ เริ่มจากสิ่งใกล้ตัว

หลักทฤษฏีใหม่ หัวใจสำคัญอีกประเด็นคือ การที่เราเริ่มจากสิ่งใกล้ตัว ที่เรามี ที่เราสามารถสร้างมันได้ ดั่งเช่นการทำธุรกิจ หลายคนมองแต่ว่าใครเขาทำอะไรกัน แต่ไม่ได้ดูว่าที่เรามีควรทำอะไร ลองดูสิ่งใกล้ตัวเราครับ ชอบอะไร ถนัดอะไร ก็เริ่มทำธุรรกิจจากสิ่งนั้น

๖.ทำธุรกิจดูความเหมาะสมของสภาพแวดล้อม และ ตลาดท้องถิ่น

นอกจากดูสิ่งใกล้ตัวเราแล้ว สิ่งที่ต้องดูต่อคือ สภาวะแวดล้อม ตลาด ความต้องการ โอกาสอุปสรรค ในการทำธุรกิจของเราเป็นอย่างไร

ดั่งที่พระองค์ได้ทรงแนะนำ ว่าจะปลูกผักผลไม้อะไรก็ต้องดูว่า สภาพแวดล้อมเหมาะสมไหม จะผลไม้เมืองหนาวมาปลูกภาคใต้มันจะได้หรือเปล่า นั่นมันก็ไม่เหมาะ

ทำธุรกิจก็ต้องดูลมฟ้า ในภาษาการศึกษาเขาเรียกว่าการทำ SWOT แต่หลักทฤษฏีใหม่ เกษตรผสมผสาน สามารถแปลงมาให้ชาวนาชาวไร่ได้เข้าใจได้ง่าย ๆ

เราทำธุรกิจก็อย่าเพิ่งแห่ไปตามใครเขาจนลืมที่จะ ดูความเหมาะสม ดูตลาดด้วยนะครับ

๗.ธุรกิจต้องเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน เป็นโครงข่าย

การทำไร่นาสวนผสม โดยหลักการคือ ทุกสิ่งที่ทำมันต้องเกื้อกูลกัน เลี้ยงสัตว์ นำมูลสัตว์ไปเป็นปุ๋ยให้กับผัก ไปเป็นอาหารให้กับปลา ,ปลูกไม้ผล ได้เป็นร่มเงา ทุกอย่างเป็นโครงข่ายที่สมดุล

ทำธุรกิจก็ควรมองพิจารณาเรื่องโครงข่าย การเกื้อหนุนกันของธุรกิจ เครื่อข่ายธุรกิจของเราเอง และรวมเป็นเครือข่ายธุรกิจ สร้างเป็นกลุ่มสร้างเป็นชุมชนธุรกิจ ช่วยกันผลักดันให้ธุรกิจเติบโตไปด้วยกัน

๘.ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่ามากที่สุด เหมาะสมที่สุด

เงินแต่ละสตางค์มีคุณค่าของมันเอง จอบ พร้า เสียม มูลสัตว์ หญ้า ฯ ทุกอย่างพระองค์ได้ทรงแนะนำให้นำมาใช้ประโยชน์ให้ได้ทั้งหมด หญ้าถ้ามีมากก็นำไปทำเป็นปุ๋ยหมัก มูลสัตว์นำไปทำเป็นอาหารปลา ทุกอย่างใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ามากที่สุด

เราเองควรพิจารณาค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เราจ่ายออกไปมันคุ้มค่าที่สุดแล้วหรือยัง สิ่งที่เรามีนั้นเราใช้ประโยชน์ได้สูงสุดแล้วหรือยัง เราทำกันแบบเหลือทิ้งเหลือขว้างหรือเปล่า

อย่าปล่อยให้ “ของเสีย” การเป็นสิ่งที่ “เสียของ” ลองนำมาให้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

๙.โจทย์ไม่ใช่เงินทอง หรือ ความโลภ แต่อยู่ที่ทำอย่างไรให้พออยู่พอกิน พึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุด

หลักใหญ่ใจความของ เกษตรไร่นาสวนผสม คือการพึ่งพาตัวเองให้มากที่สุด ทำกิน ทำใช้ เหลือ เผื่อแบ่งปัน และขายมาเลี้ยงชีพ

หลักพึ่งพาตัวเอง ในการทำธุรกิจเป็นสิ่งที่ต้องตระหนัก หลายคนทำธุรกิจมองแต่หวังพึ่งคนอื่นมากจนเกินไป รอความช่วยเหลือจากคนอื่นมากเกินไป ไม่ได้เริ่มจากรู้จักที่จะช่วยตัวเอง พึ่งพิงตัวเอง

สิ่งที่เกิดขึ้นจากการขาดการพึ่งพาตัวเอง จะทำให้ธุรกิจเกิดการ “ล้มแบบโดมิโน่” คือ หากธุรกิจหนึ่งธุรกิจในสายการพึ่งพากันเกิดสะดุด มันก็จะทำให้ธุรกิจที่เหลือสะดุดไปด้วยเช่นกัน

แต่ถ้าเราพึ่งพาตัวเองมากกว่าพึ่งคนอื่น แม้คนอื่นจะสะดุด ตัวเราเองก็แค่เซไปบ้างแต่ไม่ถึงกับล้มไปด้วยกัน

แนวทางปฏิบัตินี้เป็นสิ่งที่ผมยึดถือมาตั้งแต่จบมหาลัยใหม่ ๆ เริ่มทำงาน และมีโอกาสได้เรียนรู้หลักทฤษฏีนี้ เลยนำมาประยุกต์ใช้กับการทำงาน เราไม่จำเป็นต้องรู้เพียงด้านเดียว แต่เราสามารถที่จะเรียนรู้หลายอย่างได้ เราไม่จำเป็นทำงานเป็นแค่อย่างเดียวแต่สามารถทำงานหลายอย่างได้

หลักการเบื้องต้นนี้ทำให้ผมมีโอกาสมีและสร้างธุรกิจขึ้นมาได้แม้ไม่ได้ใหญ่โตมากมายนัก แม้ต้องพึ่งคนอื่นบ้าง แต่ก็พึ่งตัวเองเป็นส่วนใหญ่ สร้างมันขึ้นมาด้วยลำแข้ง แรงกายของตัวเ อง

เพื่อน ๆ ลองนำแนวคิดแนวทางดังกล่าวไปลองปรับใช้ในการใช้ชีวิต วิธีการในการบริหารธุรกิจนะครับ ได้ผลอย่างไร หรือ มีโอกาสนำพระราชดำรัสของ ร.๙ ข้อไหนมาใช้ในชีวิตนำมาแลกเปลี่ยนบอกเล่ากันได้นะครับ เพื่อเป็นการระลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ไปด้วยกัน