การทำเกษตรรูปแบบเดิม ผ่านมุมมองเดิม ย่อมได้ผลลัพธ์แบบเดิม หากต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงจำเป็นจะต้องคิดต่าง ปริมาณผลผลิตที่มากขึ้นอาจไม่ใช่คำตอบ แต่เป็นการสร้างมูลค่าผลผลิตที่มีอยู่โดยการใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือ เช่นเดียวกับที่เกษตรรุ่นใหม่ท่านนี้ทำให้เห็นแล้วว่า พืชท้องถิ่นที่คนในชุมชนมองว่าคงนำไปทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าใช้ในครัวเรือน ตอนนี้ได้กลายมาเป็นวัตถุดิบหลักในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ขอแนะนำให้ทุกท่านรู้จักกับเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มาร่วมแชร์ประสบการณ์ทำเกษตรแบบคิดต่าง สร้างมูลค่าผลผลิต คุณวรพชร วงษ์เจริสวนมะปี๊ด ผลไม้ ผักเกษตรอินทรีย์ แรบบิทจันท์ จันทบุรี

เกษตรยุคใหม่ จากมนุษย์สาวไอทีสู่เกษตรกรรุ่นใหม่

ชีวิตวัยเด็กของคุณวรพชรคลุกคลีกับการทำสวนอยู่แล้ว เรียกได้ว่าเป็นลูกหลานเกษตรกร  หลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาตรีทางด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ และด้านเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา ปริญญาโทวิศวกรรมซอฟต์แวร์ ในตอนนั้นคุณวรพชรคิดว่าชีวิตการทำงานน่าจะมุ่งไปทางด้านไอทีอย่างแน่นอน แม้หน้าที่การงานกำลังไปได้ดี มีความสุขกับงานที่ทำ แต่ระยะเวลา 15 ปีของการทำงานกลับส่งผลให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพตามมา มีอาการออฟฟิศซินโดรม แม้จะรักษาแทบทุกวิถีทางแต่อาการก็ไม่ดีขึ้น

คุณวรพชรคิดว่าในเมื่อครอบครัวทำธุรกิจเกี่ยวกับสวนเกษตรอินทรีย์อยู่แล้ว ก็น่าจะกลับไปทำงานกับที่บ้านจึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำ คุณวรพชรได้เข้าฝึกอบรมที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติโป่งแรดซึ่งมีคุณพ่อเป็นผู้ก่อตั้ง เพื่อช่วยงานและเรียนรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์

นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของอาชีพเกษตรยุคใหม่ สิ่งที่ได้เรียนรู้จากศูนย์กสิกรรมธรรมชาติโป่งแรด มีทั้งปัจจัยการผลิตทางด้านอินทรีย์ น้ำหมัก 7 รส จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง ฮอร์โมนไข่ ปลูกผัก ตลอดจนบัญชีครัวเรือน โดยยึดหลัก “ปลูกเอง กินเอง เหลือให้แบ่งปัน จากนั้นจึงขาย”

นอกจากนี้ยังมีในเรื่องทำเองใช้เอง เช่น สอนทำสบู่ แชมพู สินค้าอุปโภคที่ใช้ในครัวเรือนเพื่อลดค่าใช้จ่าย และยังมีในส่วนของการต่อยอดการผลิตเครื่องสำอางที่ถูกต้องตามมาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อให้เห็นว่าแม้สินค้าเกิดจากชุมชนก็สามารถทำให้ถูกต้องตามมาตรฐานได้ อย่างผลิตภัณฑ์ของคุณวรพชรภายใต้แบรนด์แรบบิทจันท์ (Rabbit Chan) จุดเริ่มต้นก็มาจากศูนย์การเรียนรู้นั่นเอง

เกษตรยุคใหม่ สร้างนวัตกรรมต่อยอดผลผลิตเกษตร เครื่องดื่มน้ำส้มมะปี๊ดสู่เครื่องสำอางค์แบรนด์ Rabbit Chan

ส่วนตัวคุณวรพชรคิดว่า การทำสวนของชาวจันทบุรีที่นิยมปลูกทุเรียนและมังคุดเป็นหลัก เก็บเกี่ยวผลผลิตครั้งเดียวแต่ใช้เงินทั้งปี แม้รายได้จะแตะหลักล้านก็ตาม จึงคิดว่าหากหมดฤดูเก็บเกี่ยวแล้วจะหารายได้จากไหนต่อ รายได้ควรมีเข้ามาทุกวัน ตรงนี้เป็นจุดที่ทำให้คุณวรพชรคิดว่า “ส้มมะปี๊ด” – พืชท้องถิ่นของจันทบุรี มีกลิ่นหอมและรสชาติเป็นเอกลักษณ์ –  น่าจะเป็นทางออกสำหรับโจทย์นี้ ซึ่งน้ำมะปี๊ดผสมน้ำผึ้งเป็นเครื่องดื่มที่จำหน่ายในร้านกาแฟของครอบครัวอยู่แล้ว เมื่อลูกค้าติดใจต้องการซื้อกลับบ้าน จึงพัฒนาบรรจุขวดแก้วด้วยวิธีสเตอริไลส์ที่ช่วยยืดอายุการเก็บได้นานถึง 12 เดือน มีวางจำหน่ายในร้านค้าทางเลือกเพื่อสุขภาพและร้านค้าชั้นนำทั่วประเทศ

จากนั้นจึงคิดว่ามะปี๊ดน่าจะนำไปต่อยอดเป็นสินค้าอื่นได้นอกจากนำมารับประทานกันในครัวเรือน จนเกิดเป็นแบรนด์ Rabbit Chan  ที่ผลิตสินค้าที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากมะปี๊ด เช่น สบู่ โลชั่น สกินแคร์ แชมพู สเปรย์ดับกลิ่นเท้า หาความรู้เพิ่มเติมทางด้านวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง ต่อยอดงานวิจัยเป็นผลิตภัณฑ์ความงามที่ได้รับรางวัลระดับประเทศ โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางเป็นที่ปรึกษา หากเรามีวัตถุดิบที่ดี บวกกับไอเดียที่ดี แม้ไม่ได้เชี่ยวชาญด้านการคิดค้นผลิตภัณฑ์ โครงการตามหน่วยงานของภาครัฐและเอกชนเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการSMEรายย่อย คุณวรพชรเชื่อว่า “การทำอะไรด้วยตัวคนเดียวจะไปได้ช้า หากมีผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ คอยช่วยเหลือจะช่วยให้ธุรกิจไปได้เร็วขึ้น” เมื่อมีความตั้งใจในการขยับขยายธุรกิจจึงต้องขยายการรับซื้อมะปี๊ดมากขึ้น เกิดเป็นเครือข่ายสวนมะปี๊ดที่สร้างรายได้เสริมให้เกษตรกรท้องถิ่นมีรายได้หมุนเวียนตลอดปี

เกษตรยุคใหม่ แนะนำเทคนิคการทำการตลาดบนโลกออนไลน์

เกษตรยุคใหม่

สำหรับเกษตรกรท่านใดที่ยังไม่พาสินค้าของท่านเข้าสู่โลกออนไลน์ อาจเริ่มจากแพลตฟอร์มที่หลายคนคุ้นเคยอย่าง Facebook ก่อนก็ได้ แต่ต้องรู้ว่ากลุ่มลูกค้าของเราคือใคร อย่างแบรนด์แรบบิทจันท์ กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย คือ คนเมืองที่รักสุขภาพ อายุประมาณ 35 – 55 ปี  ถ้าทำเกษตรโดยไม่คำนึงถึงกลุ่มเป้าหมาย ก็ไม่ต่างกับการหว่านแห ส่งผลให้ทำการตลาดได้ค่อนข้างยากและไม่เห็นผล พอทำไปสักพักก็จะเริ่มสังเกตได้ชัดเจนขึ้นว่ากลุ่มเป้าหมายของเราคือใคร มีความชื่นชอบเรื่องอะไร เช่น รักสุขภาพ ชอบสินค้าเกษตรอินทรีย์ ก็สามารถเล่าเรื่องราวให้ลูกค้าเข้าใจและเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น

1.การสร้างคอนเทนต์

เกษตรกรหลายท่านมีความรู้ความเชี่ยวชาญในสายงาน น่าเสียดายที่ข้อมูลเหล่านั้นไม่ถูกถ่ายทอดออกมา การสร้างคอนเทนต์จึงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับเกษตรยุคใหม่ ยิ่งบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับสินค้ามากเท่าไหร่ ลูกค้าที่เข้ามาอ่านคอนเทนต์บ่อยๆ ก็จะเกิดความเข้าใจมากขึ้น ช่วยให้ตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น บอกสิ่งที่ลูกค้าอย่างรู้ ไม่ใช่สิ่งที่เราอยากเล่า สามารถตอบคำถามของปัญหาที่ลูกค้าพบเจอและต้องการแก้ไขได้อยู่หมัด

2.การทำ SEO

กระบวนการที่ทำให้สินค้าหรือบริการของเราถูกค้นหาเจอบน Google  ซึ่งต้องรู้ว่ากลุ่มเป้าหมายของเราจะค้นหาคำว่าอะไร อย่างที่คุณวรพชรเลือกใช้คำว่า “ส้มมะปี๊ด มะปี๊ด เกษตรกรยุคใหม่จันทบุรี” ในการเขียนคอนเทนต์ ทำให้รายการต่างๆ ที่ต้องการติดต่อขอสัมภาษณ์เกษตรกรรุ่นใหม่หาสินค้าของเธอเจอ ลองสร้างคีย์เวิร์ดที่ทำให้สินค้าหรือบริการของเราถูกค้นเจอบนหน้าแรกของ Google

4.การทำ Storytelling

การทำ Storytelling ช่วยเพิ่มโอกาสในการติดตามของกลุ่มเป้าหมายและสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์สำหรับภาคเกษตรแน่นอนว่าต้องรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับสิ่งที่ทำตั้งแต่กระบวนการแรกจนเก็บเกี่ยวผลผลิต บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับแบรนด์ให้ลูกค้ารู้ว่า คุณภาพสินค้าเป็นแบบไหน รสชาติเป็นยังไง สินค้ามีความปลอดภัยแค่ไหน สำคัญคือ การสื่อสารต้องอยู่บนพื้นฐานของความซื่อสัตย์ ต้องทำให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่าเราคือตัวจริงในเรื่องที่ทำ หรือให้รูปถ่ายบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับสินค้าก็เป็นการสื่อสารที่น่าสนใจเช่นกัน

5.การปรับตัวของภาคการเกษตรเพื่อให้อยู่รอดในยุคโควิด

คุณวรพชร เล่าว่า การทำเกษตรอินทรีย์ เริ่มต้นจากการมีทรัพยากรที่ดี ก็ให้เน้นเรื่องคุณภาพ ปัจจัยการผลิต จะส่งมอบสินค้าไปสู่ผู้บริโภคอย่างไรให้ปลอดภัย การขนส่งในช่วงวิกฤตมีปัญหาแน่นอน ควรเลือกขนส่งที่มีการรับประกันสินค้า เพราะถือเป็นต้นทุนการผลิตส่วนหนึ่ง หมั่นเช็คเทรนด์ของลูกค้าว่าต้องการอะไร คนที่ทำสวนอยู่แล้วอาจหาพืชพันธุ์อื่นมาปลูกเสริม พยายามพูดคุยกับเครือข่ายที่ปลูกสินค้าชนิดเดียวกัน นอกจากได้อัพเดตข้อมูลเพิ่มเติม บางครั้งหากมีออเดอร์ล็อตใหญ่ ก็สามารถรวบรวมผลผลิตจากหลายแหล่งได้ แถมยังเพิ่มอำนาจในการต่อรองอีกด้วย แนะนำให้ติดตามข่าวสารของโครงการหรืองานอีเว้นท์ต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นการสร้างโอกาสในการเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น

ส่วนจิ๊กซอว์ชิ้นไหนที่เราขาดอยู่ ก็หาให้เจอ เพราะคนเราไม่ได้เก่งทุกอย่าง ควรขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านนั้น โลกออนไลน์ไม่ใช่ทางเลือกแต่เป็นทางรอด! เตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอ หมั่นหาความรู้ เมื่อเจอโอกาสจะได้ลงมือทันทีโดยไม่พลาดโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย

สร้างตัวตนบนโลกออนไลน์

สินค้าภาคการเกษตรแต่ละชนิดมีข้อควรระวังต่างกัน หากเราไม่รู้อาจส่งผลเสียต่อคุณภาพของผลผลิต การทำเกษตรจึงต้องเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและจากประสบการณ์จริงควบคู่กันไป เมื่อถึงจุดที่ต้องการต่อยอดสินค้าสร้างมูลค่าผลผลิต การเพิ่มองค์ความรู้ใหม่ๆ ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างและมีมาตรฐาน ช่วยให้ธุรกิจก้าวได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างมั่นคง ต้องรักษาสินค้าให้อยู่ในตลาดอย่างยั่งยืน