หลายคนเบื่อความวุ่นวายในสังคมเมือง อย่างหลีกหนีไปใช้ชีวิตเรียบง่ายในต่างจังหวัด เกษตรกรเป็นหนึ่งในอาชีพที่หลายคนเลือกเพราะคิดว่าน่าจะตอบโจทย์ชีวิต แต่การทำเกษตรเชิงพาณิชย์ให้ประสบความสำเร็จนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่หลายคนคิด ในเชิงของการทำธุรกิจต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลผลิตและการตลาด ตลอดจนการวางแผนอย่างถูกต้องก่อนลงมือทำ ทางเรามีความยินดีอย่างยิ่งที่ทางคุณสันติภาพ สุวรรณกิจไพศาล เกษตรหรรษา จากไร่สีทอง จังหวัดลำปาง ได้มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ แนวคิดเกษตรยุคใหม่ในเชิงพานิชย์ และการประยุกต์ใช้ความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์กับการทำธุรกิจทางการเกษตร

จากอดีตวิศวกรสู่การทำเกษตรเชิงวิศวกรรม ทําเกษตรยังไงให้รวย

ก่อนที่จะผันตัวมาเป็นเกษตรกร คุณสันติภาพทำงานเป็นวิศวกรเคมีที่จังหวัดระยอง จนมาถึงจุดหนึ่งที่คิดว่างานวิศวกรไม่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตอีกต่อไป เพราะทำงานจนแทบไม่เหลือเวลาส่วนตัวเลย จึงตัดสินใจเก็บเงินจำนวนหนึ่งแล้วลาออกไปทำธุรกิจส่วนตัว เปิดร้านขายอาหารทะเลแห้งที่จังหวัดลำปาง ในตอนนั้นกระแสตอบรับจากลูกค้าดีมาก ช่องทางการขายมีทั้งทางหน้าร้านและไลฟ์สดบนแพลตฟอร์มออนไลน์

จนมาถึงจุดที่คุณสันติภาพได้ถามตัวเองว่าจะทำอาชีพนี้ไปตลอดหรือไม่ คำตอบที่ได้มาจากความฝันในวัยเด็กที่อยากเป็นเกษตรกร ชีวิตวัยเด็กที่เติบโตในสังคมเมือง จึงโหยหาความเป็นธรรมชาติ อยากทำเกษตร จนในที่สุดคุณสันติภาพจึงตัดสินใจทำตามความฝันของตัวเอง โดยมีเงื่อนไขที่ว่าอาชีพเกษตรกรรมที่ทำจะต้องสร้างรายได้มากกว่าธุรกิจที่เคยทำก่อนหน้า จะต้องร่ำรวยจากการทำเกษตร แตกต่างจากที่คนอื่นทำ และต้องทำได้จริง ไม่ใช่แค่ขายฝัน! แม้ไม่มีประสบการณ์การทำเกษตรเลยแม้แต่น้อย คุณสันติภาพเชื่อว่าประสบการณ์ไม่ได้มาจากการลงมือทำเพียงอย่างเดียว หรือต้องอาศัยประสบการณ์เป็นเวลานานจึงจะลงมือทำได้ แต่ถ้าเรามีความรู้ที่มากพอก็สามารถทำได้เช่นกัน

นอกจากคิดวิเคราะห์ว่าจะทำเกษตรรูปแบบใด ควบคู่กับการหาความรู้เพิ่มเติม ก็ได้นำเอาความรู้จากการทำงานวิศวกรมาประยุกต์ใช้เช่นกัน ศึกษาธุรกิจให้แตกฉานก่อนที่จะลงมือทำอย่างจริงจัง กับโจทย์ที่ท้าทายตัวเอง จะสร้างเงินล้านได้อย่างไร? ในเวลา 1 ปีกับพื้นที่ 10 ไร่ แนวคิดของคุณสันติภาพในการทำเกษตรช่วงแรก คือ เลือกศึกษาพืชแต่ละชนิดเป็นอย่างๆ ไป มะละกอฮอลแลนด์ คือ พืชชนิดแรกที่คุณสันติภาพเลือกปลูก หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมไม่เลือกปลูกพืชที่เป็นที่นิยมของผู้บริโภค เช่น ทุเรียน  คุณสันติภาพได้ให้เหตุผลว่าทุเรียนใช้ระยะเวลาประมาณ 5 – 7 ปีกว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งไม่ตอบโจทย์เป้าหมายที่วางไว้ ส่วนมะละกอที่เลือกทำนั้นใช้เวลาประมาณ 8 เดือนก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้

ทําเกษตรยังไงให้รวย 5 หลักสำคัญก่อนเริ่มต้นทำธุรกิจเกษตร

1.วางแผนการตลาด

หนึ่งในความยากของการทำเกษตรกรรมเชิงพาณิชย์ที่ไม่ประสบความสำเร็จ คือ การไม่เข้าใจตลาด ก่อนจะเลือกปลูกอะไร ต้องรู้ว่าจะขายที่ไหน หากต้องการทำธุรกิจเกษตร อย่าปลูกพืชตามกระแส ควรปลูกพืชตามตลาด เพราะเป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินค้าของเราแก่ผู้บริโภค ไม่ใช่ว่าปลูกไปก่อนแล้วค่อยหาลูกค้า จากประสบการณ์การขายอาหารทะเลแห้งมาก่อนที่จะหันมาทำธุรกิจทางการเกษตร ทำให้คุณสันติภาพรู้ว่าการตลาดมีความสำคัญมากต่อการทำธุรกิจ แม้แต่การทำเกษตรก็ต้องคำนึงถึงการตลาดเช่นกัน คุณสันติภาพได้เช็คว่ามะละกอที่ต้องการจะปลูกนั้น สามารถส่งไปขายที่ไหนได้บ้าง เมื่อทำการสำรวจตามตลาดขนาดใหญ่ เช่น ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดไอยรา พบว่ามีมะละกอวางขายเต็มไปหมด เป็นการการันตีว่ามีตลาดรับซื้อแน่นอน ถ้ายังหาตลาดไม่เจอ อย่าเพิ่งปลูก!

2.ปริมาณขั้นต่ำที่ผลิตได้

ไม่ว่าจะปลูกพืชอะไรก็ตาม จำนวนผลผลิตที่ได้จะเป็นตัวกำหนดขนาดตลาดของเรา การทำเกษตรเพื่อสร้างรายได้ ต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นไปได้ ต้องคำนึงถึงปริมาณขั้นต่ำในการปลูก ซึ่งเป็นเรื่องที่เกษตรกรหลายท่านพลาดไป ต้องรู้จุดที่พอดีระหว่างเรากับผู้รับซื้อหรือตลาด เช่น เรารอคอยผลผลิตมาทั้งปีจากการปลูกมะละกอแค่ 1 ไร่ จะทำเงินให้เราสักกี่บาท ซึ่ง 1 ไร่นั้นคงไม่มีใครขับรถไปไกลเพื่อรับซื้อมะละกอปริมาณแค่นั้น แม้เราขายเองก็ยังไม่ตอบโจทย์เป้าหมายธุรกิจ หรือปลูกมะละกอบนพื้นที่ 5 ไร่ จำนวนนี้มากเกินกว่าที่เราจะขายเองไหว แต่ก็ยังน้อยเกินไปสำหรับขายส่งตลาด ขนาดของพื้นที่เพาะปลูกจึงมีความสำคัญ เพื่อให้ได้ปริมาณผลผลิตเพียงพอต่อความต้องการของตลาด

3.กระบวนการผลิต

จะปลูกอย่างไร ระยะเวลาเท่าไหร่ ใช้ระบบน้ำแบบไหน แหล่งน้ำที่ใช้ วิธีการปลูกแบบใด ส่วนนี้ต้องศึกษาให้แตกฉาน อาศัยแหล่งข้อมูลจากหนังสือ สื่อโซเชียลมีเดีย อย่างใน Youtube ก็มีช่องที่สอนทำเกษตรมากมาย ดึงเอาข้อดีของแต่ละคนแล้วมาประยุกต์ใช้กับตัวเอง พยายามตั้งคำถามว่า “ทำไม” ให้มากเข้าไว้ และต้องค้นหาคำตอบสำหรับคำถามนั้นให้ได้ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่จำเป็นสำหรับกระบวนการเพาะปลูก คุณสันติภาพเล่าว่าส่วนตัวมีพื้นฐานจากการทำงานวิศวกรเคมี จึงสามารถเข้าใจระบบการจัดการน้ำ ปุ๋ย  สารเคมีต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

4.ต้นทุนการผลิต

อะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับตัวเลข เช่น ต้นทุน ยอดขาย กำไร ขาดทุน  ต้องทำความเข้าใจอย่างละเอียด ตัวเลขเหล่านี้จะเป็นตัวชี้วัดว่าธุรกิจทางการเกษตรของเราจะไปรอดหรือไม่ เช่น ราคาขายผลผลิต x บาท ต้องขายปริมาณเท่าไหร่จึงจะมีกำไร ไม่ขาดทุน ซึ่งไปสอดคล้องกับการวางแผนตั้งแต่แรกว่า จะปลูกอะไร ใช้พื้นที่เท่าไหร่ ปริมาณขั้นต่ำที่ผลิตได้ ทุกอย่างต้องถูกคำนวณออกมาเป็นตัวเลขอย่างชัดเจน เพื่อดูว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ใกล้เคียงตามแผนการที่วางไว้หรือไม่ ในส่วนของต้นทุนต้องคำนวณทุกอย่าง ตั้งแต่การเตรียมแปลงปลูก ปริมาณปุ๋ย ฮอร์โมน ยา ที่ต้องใช้ ค่าแรง ค่าอุปกรณ์ เป็นต้น จากนั้นประเมินว่าจะขายผลผลิตได้เท่าไหร่ โดยลดลงมาเหลือแค่ 75% จากที่คาดการณ์ ถ้ายอดขายมากกว่าต้นทุน แสดงว่ามาถูกทางแล้ว กรณีที่ต้นทุนการผลิตแพง การคำนวณล่วงหน้าช่วยให้จัดการส่วนนี้ได้ง่ายขึ้น อาจลดต้นทุนการผลิต เช่น วัสดุอุปกรณ์ แต่ต้องอยู่ในจุดที่รับได้เมื่อแลกกับต้นทุนที่ลดลง โดยที่ไม่ส่งผลต่อคุณภาพของผลผลิต

5.การวิเคราะห์ความเสี่ยง

เป็นเรื่องสำคัญที่แทบจะไม่มีใครทำ เมื่อเคาะตัวเลขออกมาแล้ว ขั้นสุดท้ายต้องดูว่าปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ธุรกิจการเกษตรไปไม่ถึงฝัน อย่างมะละกอที่คุณสันติภาพเลือกปลูก ต้องระวังในเรื่องของน้ำท่วมขัง จากนั้นดูว่าจะเตรียมรับมืออย่างไร เพราะแหล่งน้ำคือสิ่งสำคัญในการทำเกษตร จึงต้องเตรียมแหล่งน้ำสำรองไว้ โรคระบาดที่ทำให้ผลผลิตเสียหายทั้งแปลง จะมีวิธีการป้องกันอย่างไร รวมไปถึงความเสียหายของอุปกรณ์ระหว่างใช้งาน ก็ต้องคิดล่วงหน้าและเตรียมแนวทางแก้ไขไว้ทั้งหมด

สร้างตัวตนบนโลกออนไลน์

เมื่อทุกอย่างมีความเป็นไปได้ ที่เหลือก็แค่ลงมือทำ นี่จึงเป็นที่มาของคำว่า “เกษตรสร้างรายได้บนพื้นฐานของความเป็นไปได้” ตามแนวคิดของคุณสันติภาพ การทำธุรกิจแน่นอนว่าต้นทุนเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งทุนทรัพย์และต้นทุนชีวิต แต่สิ่งที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จ คือ การวางแผนที่ดี พาตัวเองเข้าไปเรียนรู้ให้มากก่อนลงมือทำ คิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ ศึกษาให้มากเพื่อลดโอกาสผิดพลาด หรือหากเกิดปัญหาจะได้รับมือแก้ไขได้ทัน การทำธุรกิจทางการเกษตร นอกจากผลผลิตดีมีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาดแล้ว ช่องทางออนไลน์ก็สำคัญเช่นกัน เป็นการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก สามารถใช้เป็นช่องทางในการเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น และเป็นการสร้างโอกาสต่างๆ ที่อาจตามมาได้ในอนาคต