หลายคนมีทักษะในการเล่าเรื่อง แต่ไม่สามารถเขียนหรือสร้างเป็น คอนเทนต์ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวออกมาเพื่อสื่อสารให้น่าสนใจได้ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบหนังสือหรือสื่อออนไลน์

บทความนี้นำบทสรุปจากสัมภาษณ์คุณ อภิรดี สนธิชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการเขียนคอนเทนต์ บรรณาธิการหนังสือขายดีหลายเล่ม มาแบ่งปันวิธีเริ่มอาชีพนักเขียน นักสร้างคอนเทนต์ให้ได้เงิน สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อการทำอาชีพเป็นนักเขียน หรือ นำไปต่อยอดเขียนคอนเทนต์ขายของออนไลน์ ได้แบบไม่ยาก

ทำไมเราถึงสร้างคอนเทนต์ไม่ได้สักที

ทุกวันนี้บนสื่อออนไลน์จะเห็นบทความหรือ คอนเทนต์ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการรีวิวอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว รวมไปถึงการไลฟ์สด ซึ่งก็ถือเป็นการสร้าง คอนเทนต์ อย่างหนึ่ง แต่ก็ยังมีคนอยู่จำนวนมากที่อยากจะทำ คอนเทนต์ แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร

ปัญหาของคนส่วนใหญ่คือไม่รู้ว่าตัวเองชอบหรือถนัดเรื่องอะไร ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องค้นหาจุดแข็งของตัวเองให้เจอก่อนแล้วจึงพัฒนาต่อยอดจากจุดแข็งของเราได้ แต่สิ่งที่เราชอบก็อาจจะไม่ใช่เรื่องที่เราจะทำได้ดีเสมอไป จึงควรค้นหาสิ่งที่ชอบอย่างน้อย 2 – 3 เรื่อง จากนั้นให้คนที่ใกล้ชิดช่วยให้ความเห็นเป็นการสะท้อนมุมมองจากคนอื่น โดยนำความเห็นมาพิจารณาดูว่าเราเป็นแบบนั้นจริงหรือไม่ แล้วคัดเรื่องที่เป็นตัวเรามากที่สุดที่จะนำมาตั้งเป้าหมายสร้าง คอนเทนต์ ในแบบที่เป็นตัวตนของเรา

เริ่มต้นเขียนคอนเทนต์ได้เงิน ทำได้อย่างไร

หากต้องการสร้างรายได้จากการทำ คอนเทนต์ จะต้องมี Branding หรือการสร้างภาพลักษณ์ของตัวเองเพื่อให้เป็นที่รู้จักและเกิดการจดจำ เช่น ถ้าเราเป็นคนมีลักษณะที่ entertain เก่ง ให้ดึงเอกลักษณ์นั้นออกมาแล้วนำเสนอเอกลักษณ์นั้นอย่างชัดเจนจะเสริมภาพลักษณ์ให้แกร่งมากขึ้น ไม่ต้องจำกัดตัวเองกับคำว่าจะถูกหรือผิด เพียงแต่ให้อยู่ในลิมิตมีขอบเขตของการที่จะไม่ทำร้ายหรือบูลลี่ใคร และหากลุ่มเป้าหมายของตัวเองให้เจอ

หลักคิดการสร้างคอนเทนต์ เขียนบทความ

  1. เขียนในสิ่งที่เชื่อ คนอ่านจะรู้สึกคล้อยตามกับสิ่งที่เราเขียนหรือไม่นั้น ส่วนสำคัญมาจากการถ่ายทอดงานเขียนด้วยความเชื่อของผู้เขียนเองที่จะรู้สึกและอินไปกับเนื้อหาที่สื่อออกมาเป็นตัวอักษร หากเราไม่มีความเชื่อในเรื่องนั้นคนอ่านจะรับรู้ได้ อารมณ์ของงานเขียนจะสื่อออกมาอย่างชัดเจน
  2. ภาษาที่ใช้ ในปัจจุบันนี้โดยเฉพาะในปี 2021 เนื้อหาของบทความที่จะดึงคนอ่านได้ต้องให้ความรู้สึกจรรโลงต่อผู้รับสาร ไม่ว่าเราจะใช้ภาษาอะไรก็ตาม เช่น บทความท่องเที่ยวที่มีเนื้อหาพาไปในสถานที่ท่องเที่ยวหรือพาไปกินตามร้านอาหารต่าง ๆ อ่านแล้วรู้สึกอยากไปเที่ยวหรืออยากไปกินตามที่แนะนำไหม หรือถ้าเขียนเรื่องการพัฒนาตนเอง อ่านแล้วรู้สึกมีกำลังใจไปต่อได้หรือไม่ หรือถ้าเป็นเรื่องความเชื่อ พออ่านแล้วต้องทำให้คนอ่านอยากไปเคารพบูชาในสถานที่นั้น ๆ ได้เลย จะเห็นได้ว่าภาษาที่ใช้นั้นมีความสำคัญ ว่าเขียนออกมาแล้วให้ความรู้สึกจรรโลงใจได้หรือไม่ สามารถกระชากใจนักอ่านกลุ่มเป้าหมายของเราได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงอย่างมาก

ช่องทางการสร้างรายได้จากคอนเทนต์

Facebook เป็นแพลตฟอร์มหนึ่งที่เราสามารถเปิดแฟนเพจแล้วสร้างคอนเทนต์ให้เกิดรายได้ ซึ่งอาจทำควบคู่กับการนำบทความไปลงในเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่เปิดรับตามหมวดหมู่ที่เราเขียนด้วยก็ได้ ในส่วนการใช้ Facebook นั้นไม่ควรสร้าง คอนเทนต์ บนหน้าส่วนตัว (Facebook Profile) ควรเปิดเป็นแฟนเพจ (Fanpage) เพราะมีข้อดีที่เมื่อถึงจุดหนึ่งมีผู้ติดตามมากขึ้น เราจะสามารถเปิดโฆษณาสร้างรายได้ได้ แต่ขึ้นอยู่กับประเภทของบทความที่เราเขียน หากเป็นบทความวิชาการ ยอดผู้ติดตามจะเติบโตช้ามาก ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับสไตล์การนำเสนอที่จะต้องมีความชัดเจนว่าเพจของเราเป็นเพจเรื่องเกี่ยวกับอะไร ทำเพื่ออะไร แล้วใครเป็นกลุ่มเป้าหมาย ถ้าหากเรายังไม่รู้ว่าจะต้องเปิดตัวเพจอย่างไร จะนำเสนอตัวตนในแบบไหน ควรได้รับคำแนะนำจากผู้รู้หรือโค้ช เพื่อช่วยในการสร้าง Personal Brand ขึ้นมา

หลักการเขียน คอนเทนต์ บนเพจเฟสบุ๊ค

  1. ตั้งเป้าหมาย กำหนดเป้าหมายการสร้างเพจให้ชัดเจน ว่าเราจะสร้างเพจเพื่ออะไร ต้องการอะไรจากการสร้างเพจนี้ มองไปยังจุดหมายที่ปลายทางให้เห็นก่อน เมื่อเรารู้เป้าหมายสุดท้ายที่เราต้องการแล้ว จึงเริ่มต้นนับ 1 ลงมือทำ เช่น ทำเพจในหมวดสินค้าขายของใช้ในบ้าน เราก็จะเริ่มสร้าง คอนเทนต์ ที่เกี่ยวกับบ้านให้ความรู้ให้ข้อมูล เริ่มทำ คอนเทนต์ รีวิวและขาย เป็นต้น
  2. ลืมหลักการเขียน คอนเทนต์ ไปซะ เมื่อต้องการจะสร้าง คอนเทนต์ ในเรื่องที่เรากำหนดตามเป้าหมายแล้ว ให้ทำความเข้าใจกับหลักการเขียน คอนเทนต์ ให้ได้รู้หลักแต่ไม่ต้องไปยึดติดกับหลักการนั้น เพราะจะทำให้ คอนเทนต์ ที่เขียนไม่มีความสนุก อาจออกมาเป็นลักษณะของแพทเทิร์นที่มีรูปแบบมากเกินไป

ส่วนประกอบที่สำคัญในการเขียนคอนเทนต์ได้เงิน

  1. พาดหัว ตั้งชื่อเรื่องให้ง่ายที่สุดให้เหมือนสไตล์การพาดหัวข่าว ยกตัวอย่าง การพาดหัวข่าวบันเทิง ที่พออ่านแล้วทำให้คนอยากรู้อยากเข้าไปติดตามอ่านต่อทันทีว่ามันเป็นเรื่องอะไร คืออยากเผือกนั่นเอง เพราะพลังของ คอนเทนต์ คือพลังการพาดหัวข่าว แต่ควรระวังอย่าให้การพาดหัวข่าวนั้นเป็นการหลอกลวง เมื่อผู้อ่านเข้าไปอ่านเนื้อหาแล้วไม่เป็นอย่างที่พาดหัวจะเป็นผลเสียกับเพจมากกว่า
  2. เกริ่นนำ ในส่วนนี้จะทำให้คนอ่านรู้ว่าเรากำลังจะบอกอะไรกับเขา เขาจะได้อะไรจาก คอนเทนต์ นี้ เขียนเกริ่นให้รู้ไม่ควรเกิน 3 บรรทัดแรก แล้วขมวดปมให้มีความน่าสนใจดึงเข้าไปอ่านเนื้อหาต่อ
  3. เนื้อหา การเขียน คอนเทนต์ ลงบนเพจเฟสบุ๊คจะไม่เหมือนการเขียนบทความ เพราะหากความยาวมีมากเกินไป จะทำให้ไม่น่าสนใจ เนื้อหาอาจอยู่ที่ประมาณ 5 บรรทัด แต่หากมีเนื้อหาที่มากกว่านี้ ควรมีการแบ่งย่อยเนื้อหาออกเป็นช่วง ๆ เพื่อทำให้คนอ่านไม่รู้สึกตาลายและรู้สึกไม่อยากอ่าน
  4. สรุป ยุคสมัยนี้คนอ่าน คอนเทนต์ ด้วยความเร็ว จึงต้องมีการสรุปใจความของเนื้อหา การสรุปจะทำให้เรารีเช็คตัวเองได้ว่าเราเข้าใจในสิ่งที่ตัวเองเขียนหรือไม่ และมั่นใจได้ว่าผู้อ่านจะได้ประโยชน์อะไรกลับไปเมื่ออ่านจบ
  5. Hook เป็นส่วนประกอบหนึ่งที่สำคัญจะอยู่ในช่วง 3 – 5 บรรทัดแรก ที่จะหยุดคนอ่านไว้กับ คอนเทนต์ ของเรา เป็นท่อนเนื้อหาที่จะดึงความสนใจได้ เช่น แจกฟรี คอนเทนต์ ขาย e-book วันนี้วันเดียวเท่านั้น เป็นต้น
  6. รูปภาพประกอบ ทำภาพให้สวยในแบบของเรา ภาพสวยจะเป็นตัวดึงดูดให้คนอ่านหยุดดูเนื้อหาได้ ในภาพอาจทำคำสรุปสั้น ๆ เกี่ยวกับ คอนเทนต์ ว่าเนื้อหาจะบอกอะไร อาจเป็นลักษณะคำคม คำที่ง่ายต่อการจดจำนำมาขมวดปมไว้อย่างน้อย 3 ข้อ ในรูปภาพประกอบ

การรับจ้างเขียน คอนเทนต์

  1. เขียน คอนเทนต์ ได้หลากหลาย การรับจ้างเขียน คอนเทนต์ ให้กับเว็บไซต์หรือเพจต่าง ๆ เราอาจเริ่มต้นหาเว็บไซต์หรือเพจที่มีความสนใจในรูปแบบการเขียน คอนเทนต์ ของเรา แต่ทั้งนี้เราควรต้องมีความสามารถเขียนบทความให้ได้หลายหมวดหลายประเภท ไม่จำเป็นต้องเป็นถึงผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ เพราะความรู้ที่จะเขียนได้มีหลายระดับ ถ้าเปรียบว่าเรารู้เรื่องนั้นในระดับอนุบาล แต่อนุบาลก็ต้องการครูสอน ในการเขียน คอนเทนต์ ก็เช่นกัน เราสามารถเขียน คอนเทนต์ ให้กับผู้ที่ต้องการในระดับความรู้ที่เรามีได้ ไม่ควรประเมินศักยภาพตัวเองต่ำเกินไป
  2. ปรับวิธีการเขียน เมื่อเรารับจ้างเขียน คอนเทนต์ ลงในเว็บไซต์หรือเป็นแอดมินเพจ เราควรต้องมีการปรับวิธีหรือสไตล์การเขียนให้ตรงตามความต้องการของเว็บไซต์หรือเพจนั้น หากกำหนดให้บทความดูมีสีสันน่าอ่าน ก็ต้องเขียนออกมาให้อ่านสนุก หรือบางเพจอาจเป็นแนววิชาการ ภาษารูปแบบที่ใช้ก็อาจต้องเป็นทางการ ซึ่งควรมีการเรียนรู้เพิ่มหรือมีคนคอยแนะนำให้ เป็นต้น

การละเมิดลิขสิทธิ์เรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

ถึงแม้ว่าการทำ คอนเทนต์ จะเป็นการสร้างจากเรื่องเดิมที่มีอยู่แล้ว คือในโลกนี้แทบจะไม่มีอะไรใหม่ที่เราเป็นคนสร้างขึ้นมาคนแรกเลยก็ตาม แต่การนำเรื่องเดิมของคนอื่นมาเผยแพร่โดยไม่ได้ปรับเปลี่ยนอะไรเลย เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเรื่องลิขสิทธิ์ ต้องพิจารณาดูว่าเขามีข้อกำหนดในการนำเนื้อหานั้นมาใช้หรือไม่ บางที่อาจกำหนดว่าหากนำไปใช้ต้องมีการได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรก่อน ก็ต้องดำเนินการตามเงื่อนไขนั้น โดยเฉพาะการนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ เป็นข้อที่ควรระวังอย่างมาก แต่ในกรณีที่บางที่ไม่ได้กำหนดไว้ เมื่อนำมาใช้ก็ควรให้เครดิตกับแหล่งที่มานั้นด้วย ในส่วนของการใช้รูปภาพในอินเตอร์เน็ต ควรใช้จากเว็บไซต์ที่มีรูปฟรีให้ดาวน์โหลดไปใช้ได้เท่านั้น

เป็นนักเขียนเขียนคอนเทนต์ได้เงินจริงหรือ ไส้แห้งไหม ?

การเขียนบทความหรือการเขียนหนังสือทำ E-book จะทำเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าเราจะจริงจังกับการลงมือทำอย่างต่อเนื่องได้แค่ไหน การเขียนหรือสร้าง คอนเทนต์ ในเพจ ไม่ใช่ทำเพียงครั้งเดียวแล้วจะมีรายได้ทันที ส่วนมากที่ทำแล้วรายได้ไม่เกิด เพราะเขียนแล้วหยุดหรือเปลี่ยน ไม่ทำให้ต่อเนื่อง ทั้ง ๆ ที่เป็นอาชีพที่ไม่ต้องลงทุนอะไรเลย ซึ่งหากเราทุ่มเทและจริงจัง โดยมองว่าการเขียนเป็นอาชีพหนึ่ง ก็จะสามารถสร้างรายได้ให้กับเราได้แน่นอน