เมื่อคนทำธุรกิจหลายคนกระโดดเข้ามาในโลกออนไลน์กันมากขึ้น การขายสินค้าบนโลกออนไลน์จึงกลายเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง ส่งผลให้แต่ละแพลตฟอร์มมีค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นตามไปด้วย ในขณะที่หลายคนกำลังแข่งขันบนตลาดออนไลน์ ก็ยังมีอีกช่องทางหนึ่งที่น่าสนใจคือ TV Home Shopping  ที่ตลาดเติบโตในช่วง Work From Home ซึ่งคนส่วนใหญ่มองว่าทีวีเป็นสื่อที่มีความน่าเชื่อถือมากสุด แม้จะมีผู้เล่นเยอะ แต่ก็มีไม่กี่รายที่สามารถเข้าไปทำตลาดในช่องทางนี้ได้สำเร็จ สำหรับผู้ประกอบการที่มีสินค้าอยากนำเสนอขายบน TV Shopping  มีอะไรบ้างที่ควรรู้ และต้องทำอย่างไร

วิธีนำสินค้าขายใน TV Shopping

1.รู้ว่าอะไรคือ จุดขายของสินค้า

ก่อนที่จะเลือกว่าจะไปขายช่องไหนดี ต้องรู้จักสินค้าของตัวเองให้ดีเสียก่อน วิเคราะห์จุดเด่นของสินค้าให้ได้ อันที่จริงเรื่องนี้เป็นพื้นฐานที่ผู้ประกอบการต้องรู้ก่อนที่จะตัดสินใจผลิตสินค้า เราต้องมีการพัฒนาสินค้าให้โดดเด่นและแตกต่างจากคู่แข่งหรือที่เรียกว่า Unique Selling Point (USP) เพื่อเพิ่มโอกาสในการดึงดูดความสนใจจากกลุ่มเป้าหมายหรือกระตุ้นให้เกิดการซื้อสินค้าของเรา เพราะเราต้องแข่งขันกับสินค้าอื่น ลองดูว่ามีสินค้าตัวไหนบ้างที่ตอบโจทย์คล้ายกับของเรา ราคาขายเท่าไหร่  มีโปรโมชั่นน่าสนใจยังไง ของเราเด่นกว่าตรงไหน

2.เลือก TV Home Shopping ช่องไหน

ถ้าไม่รู้จะเริ่มยังไง แนะนำให้โทรไปสอบถามที่ช่องนั้นๆ มีทั้งทีวีดิจิทัลและทีวีดาวเทียม ถ้าติดต่อผ่านคนกลางจะต้องแบ่งเปอร์เซ็นต์ ลองดูว่าเราชอบ Home Shopping ช่องไหน เพราะแต่ละช่องจะมีกลุ่มเป้าหมายค่อนข้างชัดเจน และแตกต่างกัน ให้ติดต่อเข้าไปเลยว่าเรามีสินค้าที่อยากนำเสนอ ทางช่องที่เราติดต่อไปก็ทำการซักถามข้อมูลเกี่ยวกับสินค้า เอกสาร มาตรฐานการผลิต และรายละเอียดอื่นๆ ที่จำเป็น

3.ต้องรับให้ได้กับ GP และค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น

การนำสินค้าไปขายทางทีวี หลักๆ มีการคิดค่าใช้จ่าย 2 แบบ

  • แบบแรก แบ่งกำไรขั้นต้น หรือ Gross Profit (GP) เป็นการนำสินค้าเข้าไปเสนอ เพื่อให้ทางสถานีผลิตรายการออกมา เมื่อขายได้แล้วจะต้องแบ่ง GP กับทางสถานี และมีค่าโปรดักชั่นที่ทางสถานีจะเรียกเก็บอยู่ที่หลักหมื่น ส่วน GP ที่ต้องแบ่งกันก็ตั้งแต่ 40-65% ตามชนิดสินค้า
  • แบบที่สอง ซื้อรายการ ซึ่งก็คือ ซื้อเวลาของรายการ ค่าใช้จ่ายอยู่ที่หลักแสน ส่วนใหญ่หลายๆ รายการต้องการให้ดารา นักแสดงเป็นคนนำเสนอสินค้า ซึ่งทางแบรนด์ต้องเป็นผู้ว่าจ้างดาราเอง ข้อดีของวิธีนี้คือ สามารถเอาเทปไปรีรันในช่องทางออนไลน์ของเราได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข ข้อตกลงของทางรายการและดารา วิธีนี้ไม่ต้องแบ่ง GP แต่มีค่า Call Center ที่ต้องจ่าย ถ้าทางรายการมีคอลเซ็นเตอร์อยู่แล้วก็ใช้ของทางรายการได้ แต่ถ้าไม่มีก็ต้องไปจ้างคอลเซ็นเตอร์เอง

ทั้งสองแบบมีข้อดีข้อเสียต่างกันไป แต่สำหรับแบรนด์ที่เพิ่งเริ่มต้น ยังไม่เคยนำเสนอสินค้าผ่านช่องทางนี้ และต้องการที่จะโปรโมทแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก แนะนำว่าให้เลือกแบบแรก เพราะค่าใช้จ่ายถูกกว่าแบบที่สอง และมี Call Center ให้พร้อม ลดขั้นตอนยุ่งยากบางอย่างลงไปได้

4.รู้จักวิธีการนำเสนอสินค้าให้เป็น

แค่รู้ว่าอะไรคือจุดเด่นของสินค้าอาจยังไม่พอ เราต้องพรีเซ็นต์ให้เป็นเช่นกัน อย่าลืมว่าทางทีมงานมีประสบการณ์ฟังการนำเสนอสินค้ามาเป็นจำนวนมาก ทำอย่างไรที่เราจะสามารถนำเสนอได้อย่างน่าสนใจ จนทำให้ทีมงานเกิดความรู้สึกว่าอยากซื้อสินค้า บางกรณีที่สินค้าของเราเฉพาะเจาะจงสำหรับกลุ่มเป้าหมายบางกลุ่ม ซึ่งอาจเป็นสินค้าที่ทางทีมงานที่เราต้องทำการนำเสนอนั้นไม่รู้จัก จำเป็นจะต้องอธิบายถึงคุณสมบัติ สรรพคุณ เพื่อให้เข้าใจในตัวสินค้า จนเกิดความเชื่อถือและอยากที่จะสั่งซื้อ ดังนั้น คนกลุ่มแรกที่เราจะต้องขายให้ได้ก็คือ ทีมงานที่ทำการคัดเลือกสินค้านั่นเอง

คลายข้อสงสัยเกี่ยวกับการนำสินค้าขายใน TV Shopping

1.โปรโมชั่นลดกระหน่ำ ผู้ขายจะได้อะไร

อย่างที่เรามักจะเห็นกันบ่อยๆ เกี่ยวกับการขายสินค้าผ่านทาง TV Shopping  คือ โปรโมชั่นที่ลดแหลก ซื้อ 1 แถมไม่อั้น แน่นอนว่ากำไรที่ได้อาจน้อยมาก แต่มีข้อดีตรงที่สามารถขายสินค้าได้ในปริมาณมากขึ้น แต่ถ้าสินค้าดี อยู่ถูกที่ถูกทาง จะจัดโปรโมชั่นบ่อยๆ ก็ย่อมได้

2.เมื่อลูกค้าชื่นชอบสินค้า แล้วอยากสั่งซื้อซ้ำ แล้วส่วนใหญ่จะสั่งซื้อผ่านช่องทางไหน

ลูกค้าส่วนใหญ่จะสั่งซื้อผ่านทางช่อง โดยจะโทรไปกลับยังเบอร์เดิมที่เคยซื้อสินค้าก่อนหน้านี้ สำหรับบางแบรนด์อาจจะขายผ่านช่องทางออนไลน์ด้วย บางแบรนด์ที่เจ้าของไม่ถนัดขายผ่านช่องทางออนไลน์ จะใช้วิธีการให้ลูกค้าโทรสั่งซื้อสินค้าผ่าน Call Center  ของทางช่องที่เคยไปออกรายการ เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นก็คือ เจ้าของแบรนด์มีหน้าที่ผลิตสินค้า ส่วนการตลาด ช่องทางการจัดจำหน่าย ก็ยกให้เป็นหน้าที่ของทาง TV Shopping ไปเลย เมื่อมียอดสั่งซื้อ ทางช่องจะแจ้งยอด ทางเราก็ทำการจัดส่งไปให้ช่องเพื่อจัดเก็บเข้าคลังสินค้า ทางช่องก็จะทำการจัดส่งสินค้าให้ลูกค้าเอง

3.คนที่ขายดีอยู่แล้วทางออนไลน์ แต่อยากนำสินค้าขายใน TV Shopping

สิ่งที่ทางช่องจะร้องขอคือ ราคาที่ถูกกว่าขายออนไลน์ บางแบรนด์ที่มีตัวแทนจำหน่ายจำนวนมาก ก็ต้องคุยกับตัวแทนว่าการที่ไปขายผ่านทางทีวี เป็นการเพิ่มโอกาสให้สินค้าเป็นที่รู้จักมากขึ้น ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกันให้ดี บางแบรนด์ที่ซื้อรายการ เมื่อได้สื่อมาก็ทำการตลาดเพิ่ม เอาคลิปไปโพสต์ เพื่อช่วยให้ตัวแทนขายได้

4.ขั้นตอนการจ่ายเงิน

เมื่อสินค้าขายได้แล้ว ต้องรอเป็นเวลา 45-60 วัน ถึงจะได้เงิน อาจมีความเสี่ยงตรงที่ ถ้าผลิตโชว์แล้ว นำไปออกอากาศ ปรากฏว่าไม่ปังขึ้นมาภายใน 3-7 ครั้ง ก็จะถูกถอดออก เท่ากับว่าค่าใช้จ่ายที่ลงทุนไปก็สูญเปล่าซึ่งระยะเวลาของสินค้าที่จัดจำหน่ายทางทีวีจะอยู่ที่ 1-2 ปี

TV Home Shopping เป็นอีกช่องทางที่น่าสนใจในการขายสินค้า หลายคนมองว่าเข้ายาก แต่ทุกตลาดย่อมมีวิธีในการจัดการเสมอ อยู่ที่ว่ามองเห็นโอกาสหรือไม่ สำคัญคือ ต้องรู้จักพาสินค้าไปอยู่ให้ถูกที่ ไม่แน่ว่าตลาดทีวีโฮมช้อปปิ้งอาจสร้างรายได้ให้กับธุรกิจของคุณอย่างคาดไม่ถึงก็เป็นได้

บริการอบรม ให้คำปรึกษา การทำให้สินค้าค้นหาเจอบน Google การทำ Digital Marketing & Brand Storytelling ทั้งแบบรูปแบบองค์กร กลุ่ม และ ตัวต่อตัววิธีทำธุรกิจไม่ให้เจ๊ง