“ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน” ประโยคที่ฟังดูย้อนแย้ง แต่คือความจริงที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะเหตุการณ์ไม่คาดคิดอย่าง “ถูกเลิกจ้างกระทันหัน” “มีเหตุสุดวิสัยที่ต้องลาออกจากงาน” จากมนุษย์เงินเดือนที่มีงานทำ ต้องตกอยู่ในสถานะ “คนว่างงาน” ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ เมื่อขาดรายได้ย่อมส่งผลต่อการดำรงชีวิตอย่างแน่นอน รู้หรือไม่ว่า ?  หากเป็นผู้ประกันตนของกองทุนประกันสังคม สามารถขอรับเงินชดเชยกรณีว่างงานจากประกันสังคมได้ มีเงื่อนไขอะไรบ้าง และต้องทำอย่างไร บทความนี้มีคำตอบ

หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการเกิดสิทธิ

  • จ่ายเงินสมทบมาแล้ว 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนการว่างงานกับนายจ้างรายสุดท้าย หรือกรณีผู้ประกันตนว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย
  • มีระยะเวลาการว่างงานตั้งแต่ 8 วันขึ้นไป
  • สามารถขอเงินชดเชยประกันสังคมได้หากถูกเลิกจ้าง ลาออก หรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลา โดยไม่มีความผิดตามกฎหมาย
  • ต้องรายงานตัวตามกำหนดนัดผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (เว็บไซต์ https://empui.doe.go.th) ของสำนักงานจัดหางานเดือนละ 1 ครั้ง
  • มีความสามารถในการทำงาน พร้อมที่จะทำงานที่เหมาะสมตามที่จัดหาให้ และต้องไม่ปฏิเสธการฝึกงาน

รู้หรือไม่ว่า ? กรณีที่บริษัทเปิดโครงการให้ลูกจ้างลาออกโดยสมัครใจ นอกจากจะได้รับเงินชดเชยจากนายจ้างแล้ว ยังมีสิทธิได้รับเงินชดเชยกรณีว่างงานจากสำนักงานประกันสังคมอีกด้วย

สิทธิประกันสังคม กรณีว่างงาน ไม่สามารถขอรับสิทธิประโยชน์ ด้วยเหตุผลต่อไปนี้

  • ทุจริตต่อหน้าที่ กระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
  • จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
  • ฝ่าฝืนข้อบังคับ หรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายในกรณีร้ายแรง
  • ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 7 วันทำงานติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุอันควร
  • ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
  • ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษา
  • ต้องมิใช่ผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ
  • ไม่เป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจตามมาตรา 39

สิทธิประกันสังคม กรณีว่างงาน ได้รับประโยชน์ทดแทนจากประกันสังคมดังนี้

  • กรณีถูกเลิกจ้าง

ผู้ประกันตนจะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย เป็นระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650  บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท เช่น ผู้ประกันตนเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเดือนละ 5,000 บาท

  • กรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลา

ผู้ประกันตนจะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ย เป็นระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650  บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท เช่น ผู้ประกันตนเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเดือนละ 3,000 บาท

นอกจากนี้เมื่อผู้ประกันตนสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน ยังคงได้รับการคุ้มครองจากประกันสังคมต่ออีก 6 เดือน โดยไม่ต้องจ่ายเงินสมทบ ใน 4 กรณี คือ เจ็บป่วยหรือประสบอันตราย คลอดบุตร ทุพพลภาพ และเสียชีวิต

ขั้นตอนขอเงินชดเชยประกันสังคมกรณีลาออก

1.ขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานและรายงานตัวผ่านระบบอินเตอร์เน็ต

การยื่นเอกสารไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอีกต่อไป เพราะเดี๋ยวนี้สามารถลงทะเบียนว่างงานผ่านทางออนไลน์ได้แล้ว โดยการยื่นแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (แบบฟอร์มสปส. 2-01/7) ได้ที่ www.empui.doe.go.th ของสำนักงานจัดหางานของรัฐภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ถูกเลิกจ้างหรือลาออก หรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง และต้องรายงานตัวตามกำหนดนัด เพื่อมิให้เสียสิทธิในการรับเงินทดแทน

2.ยื่นเอกสารขอรับสิทธิ์ประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน

ยื่นเอกสารได้ที่สำนักงานประกันสังคม กรุงเทพมหานครพื้นที่/สำนักงานประกันสังคมจังหวัด และทุกสาขาทั่วประเทศ

3.เอกสารที่ต้องใช้เพื่อขอรับประโยชน์ทดแทนจากประกันสังคม กรณีว่างงาน

  • แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส. 2-01/7)
  • บัตรประจำตัวประชาชน พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
  • รูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว 1 รูป (ถ่ายไม่เกิน 6 เดือน)
  • หนังสือรับรองการออกจากงาน หรือสำเนาแบบแจ้งการลาออกจากงานของผู้ประกันตน (สปส.6-09) กรณีที่ไม่มีสำเนา สปส.6-09 ก็สามารถไปขึ้นทะเบียนกรณีว่างงานได้
  • หนังสือหรือคำสั่งของนายจ้างให้ออกจากงาน (ถ้ามี)
  • สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร ประเภทออมทรัพย์ของผู้ประกันตน ผ่าน 9 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารทหารไทย, ธนาคารธนชาต, ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย

ขั้นตอนการรายงานตัวคนว่างงานผ่านช่องทางออนไลน์

ต้องขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานที่สำนักงานจัดหางานของรัฐภายใน 30 วันนับแต่วันที่ว่างงาน โดยไม่ต้องรอหนังสือรับรองการออกจากงาน เพื่อเป็นการแสดงสิทธิ์ในเบื้องต้น หากยื่นสิทธิเกินกว่า 30 วัน จะไม่ได้รับสิทธิย้อนหลัง

  • สามารถรายงานตัวผ่านอินเทอร์เน็ตได้ทางเว็บไซต์กรมการจัดหางาน (www.empui.doe.go.th) ลงชื่อเข้าใช้งานโดยกรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชน ตามด้วยรหัสผ่านของเรา
  • สามารถรายงานตัวก่อนกำหนด 7 วัน หรือหลังกำหนด 7 วัน รวมวันหยุดเสาร์อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์

เมื่อขั้นตอนการขึ้นทะเบียน ยื่นเอกสาร และรายงานตัวครบถ้วน สำนักงานประกันสังคมจะทำการโอนเงินผ่านทางบัญชีธนาคารที่เราส่งให้เดือนละ 1 ครั้ง

ข้อควรรู้ : เมื่อพ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 หากต้องการใช้สิทธิประกันสังคมต่อไป สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจ (มาตรา 39) ได้ โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้ประกันตนต้องมีประวัติการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมไม่น้อยกว่า 12 เดือน และต้องสมัครภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ออกจากงานหรือสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง โดยที่ผู้ประกันตนต้องนำส่งเงินสมทบเองในอัตราเดือนละ 432  บาท

นี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไมผู้ประกันตนควรศึกษาและทำความเข้าใจสิทธิประโยชน์จากประกันสังคม เพราะไม่ใช่แค่กรณีที่ผู้ประกันตนลาออกจากงานแล้วมีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสิทธิประโยชน์อื่นๆที่อาจได้รับในอนาคตอีกด้วย

ขอบคุณข้อมูลจาก: เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th

บริการอบรม ให้คำปรึกษา Digital Marketing & Brand Storytelling ทั้งแบบรูปแบบองค์กร กลุ่ม และ ตัวต่อตัวสิทธิประกันสังคม กรณีว่างงาน