บริษัท นารายณ์ อินเตอร์เทรด จำกัด  หรือ แบรนด์นารายา ก่อตั้งขึ้นในปี 2532 ภายใต้การบริหารงานโดย คุณวาสนา รุ่งแสงทอง ลาทูรัสอดีตแม่ค้าขายไข่ไก่และถุงพลาสติกประตูน้ำ และ “คุณวาสิลิโอส ลาทูรัส นักธุรกิจสามีชาวกรีก โดยแรกเริ่มนั้นมิได้เริ่มต้นธุรกิจในสายธุรกิจสิ่งทอแต่อย่างใด

กว่า  29 ปีที่ นารายาโลดแล่นอยู่ในธุรกิจสิ่งทอ การผลิตและขายกระเป๋าผ้าหลากสี เดินเส้นด้ายเป็นลายตาราง และมีโบว์ประดับ อันมีเอกลักษณ์เฉพาะที่พอเห็นปุ๊บ ก็บอกได้ปั๊บว่านี่แหละ นารายา สินค้าคุณภาพภายใต้คอนเซป “We never negotiate our quality –เราไม่เคยขอต่อรองเรื่องคุณภาพ”

กระเป๋าผ้าสีหวาน ลวดลายสวยงาม คัทติ้งเนี้ยบ และราคาสบายประเป๋า คือคุณสมบัติต้น ๆ ของ “นารายา” และหากจะกล่าวถึงเมืองไทยในยุคนี้ นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวสวยงาม และยิ้มสยามเลื่องชื่อแล้ว ในนาทีนี้ จะต้องเพิ่มคำว่า “นารายากระเป๋าผ้าไทย” เข้าไปเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์คของไทยไปแล้ว

กำเนิด นารายา จากแม่ค้าประตูน้ำ สู่กระเป๋าผ้าร้อยล้าน

เครดิตภาพจาก https://www.prachachat.net
เครดิตภาพจาก https://www.prachachat.net

บริษัท นารายณ์ อินเตอร์เทรด จำกัด  หรือ แบรนด์นารายา ก่อตั้งขึ้นในปี 2532 ภายใต้การบริหารงานโดย คุณวาสนา รุ่งแสงทอง ลาทูรัสอดีตแม่ค้าขายไข่ไก่และถุงพลาสติกประตูน้ำ และ “คุณวาสิลิโอส ลาทูรัส นักธุรกิจสามีชาวกรีก โดยแรกเริ่มนั้นมิได้เริ่มต้นธุรกิจในสายธุรกิจสิ่งทอแต่อย่างใด แต่กลับเริ่มต้นจากธุรกิจส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนรถยนต์และจักรยานยนต์  ที่มองว่าตรงกับความถนัดและความรู้ของสามี ทว่าธุรกิจที่ไปได้ดีในช่วงแรกกลับไปไม่ถึงฝั่งฝันในกาลต่อมา กลุ่มลูกค้ามีการสั่งซื้อสินค้ากับบริษัทเพียงครั้งเดียว ไม่มีการสั่งซื้อซ้ำ แต่เลือกที่จะซื้อขายโดยตรงกับผู้ผลิตแทนการซื้อขายผ่านเทรดดิ้ง จากธุรกิจที่เหมือนจะไปได้ดี กลับกลายเป็นหนี้สินมหาศาล ที่สองสามีภรรยาต้องแบกรับ

ต่อมา เพื่อนชาวต่างชาติของ คุณวาสิลิโอส ได้เดินทางมาประเทศไทยเพื่อเสาะหาสินค้าหัถกรรมไปจำหน่ายยังต่างประเทศ โดยคุณวาสนา เป็นผู้รับจัดหาสินค้าให้ ในแรกเริ่มจะเป็นสินค้าจากสำเพ็งนำมาจัดชุดให้สวยงาม ทว่าสินค้าที่ขายดีกลับเป็น “กระเป๋าผ้า” ซึ่งเป็นตัวจุดประกายธุรกิจใหม่ จากการซื้อมาขายไป สู่การผลิตสินค้าเพื่อขายเอง โดยเริ่มต้นจาก กำลงคน 15 คนและ จักรเย็บผ้า 15 ตัว จัดจำหน่ายสินค้าภายในห้างสรรพสินค้านารายณ์ภัณฑ์  ในเนื้อที่เพียง 2 ตารางเมตร สู่แบรนด์นารายา ในปัจจุบันที่มีมากถึง 23 สาขา ในประเทศไทย และอีก 13 สาขาในต่างประเทศ  โดยมีการจ้างแรงงานกว่า 3,000 คน รวมไปถึงแรงงานจากชนบทกว่า 4,000 คน ที่มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สินค้าแบรนด์นารายา

เปิดเคล็ดวิชาสุดแกร่งของ นารายา

เครดิตภาพจาก https://www.brandbuffet.in.th
เครดิตภาพจาก https://www.brandbuffet.in.th

1.แกร่งสุดเพราะไม่หยุดพัฒนา

แม้นารายาจะประสบความสำเร็จอย่างงดงาม แต่ก็มิได้หยุดยั้งที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ ในปัจจุบันมีสินค้ามากกว่า 10,000 แบบ ตอบสนองทุกความต้องการ และไลฟ์สไตล์ของลูกค้า นารายา คงไม่เดินมาถึงจุดนี้ หากหยุดการพัฒนาสินค้าอยู่แค่กระเป๋าผ้าแบบเดิม ๆ

2.เอกลักษณ์เฉพาะตัวในแบบฉบับนารายา

สินค้าส่วนใหญ่ภายใต้แบรนด์นารายาจะเน้นไปที่กระเป๋าผ้า โดยมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่นคือ การเย็บลวดลายลงบนผลิตภัณฑ์โดยการเดินเส้นด้ายเป็นรูปตาราง ไม่ว่าสินค้าจะออกแบบมาในแบบใด สไตล์ไหนก็ตาม แต่เมื่อใดที่เห็นลายตาราง ก็สามารถรู้ได้ทันทีว่านี่คือ นารายา

3.ไม่ละทิ้งโอกาสเกิดใหม่

ไม่กลัวที่จะก้าวไปในเส้นทางที่ไม่คุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็นคุณวาสนา หรือคุณวาสิลิโอส ต่างเติบโตมากับธุรกิจการซื้อมาขายไป และสินค้านวัตกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ใช่ผู้คร่ำหวอดในวงการสิ่งทอมาตั้งแต่แรก เมื่อธุรกิจเดิมไปไม่รอด ก็กล้าที่จะฉีกกฎเกณฑ์เดิมๆ สู่ธุรกิจใหม่ที่ไม่คุ้นเคย ศึกษา และปรับปรุง จนประสบความสำเร็จได้

4.แบบเปลี่ยน คอนเซปท์ไม่เปลี่ยน

เครดิตภาพจาก https://www.naraya.com
เครดิตภาพจาก https://www.naraya.com

สินค้านารายาคือสินค้าคุณภาพ สวยงาม คงทน และราคาไม่แพง  คุณสมบัติเหล่านี้ได้ประทับอยู่ในใจของลูกค้าของนารายา ทำให้เกิดการซื้อซ้ำ และไม่ว่าจะซื้อกี่ครั้งก็จะได้สินค้าที่คงคุณภาพเช่นเดิมเรื่อยมาไม่เปลี่ยนแปลง

5.ปากต่อปาก ของฝากจากเมืองไทย

ผลพวงจากการรักษาคุณภาพ และรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ สร้างกระแส “นารายา ของฝากจากไทย หากไม่ซื้อกลับไปเท่ากับไปไม่ถึงไทย” หากสินค้าไม่ดี ไม่มีเอกลักษณ์ ผู้รับคงไม่ติดใจ จากกระเป๋าผ้าของฝากจากไทย กลับติดอกติดใจผู้บริโภคชาวต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นชาวจีน เกาหลี ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ต่างต้องมนต์เสน่ห์ของนารายา จนต้องกลับมาซื้อซ้ำแล้วซ้ำอีก

6.ของดีวิถีหัตถกรรมไทย สร้างรายได้สู่ชนบท

สินค้าจากนารายาไม่ได้จบแค่กระบวนการผลิตสินค้าในโรงงานของตนเองเท่านั้น แต่มีการกระจายรายได้ไปสู่แรงงานชนบท มีส่วนช่วยในการพัฒนาสังคมชนบทในทางอ้อม แทนที่จะผลิตเองในโรงงานของตนทั้งหมด แต่นารายาเลือกที่จะจ้างแรงงานชนบทในการผลิตสินค้าบางกระบวนการ เช่น การถักเปียสายกระเป๋า เป็นต้น

สร้าง SME ด้วยวิถี นารายา

เครดิตภาพจาก https://www.prachachat.net
เครดิตภาพจาก https://www.prachachat.net

1.คุณภาพสำคัญ

ใช่ว่าฐานลูกค้าแน่นแล้วจะทำอย่างไรก็ได้ การสร้างแบรนด์ให้ติดตลาดว่ายากแล้ว การรักษาบทบาทสินค้าอันดับหนึ่งในดวงใจของลูกค้าเป็นเรื่องที่ยากกว่า  ดังนั้น การรักษาคุณภาพมาตรฐานให้คงเดิมเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องพยายามสร้างอย่างต่อเนื่อง ไม่ควรละเลยแม้เพียงจุดเล็ก ๆ น้อย ๆ จงคิดเสมอว่า คุณภาพที่ดีอยู่แล้วสร้างให้ดีขึ้นได้ แต่ห้ามให้ลดลงเด็ดขาด

2.มีเป้าหมายชัดเจนย่อมดีกว่าหว่านแหไปทั่ว

แรกเริ่มเดิมที นารายาเน้นสินค้าประเภทของฝากที่จะซื้อเป็นของฝาก มีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายชัดเจน หลังจากนั้นจึงมีการลงลึกในดีเทลของสินค้า การกำหนดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการกำหนดรูปแบบและราคาของผลิตภัณฑ์ หากสินค้าและราคาโดนใจการตัดสินใจซื้อก็เกิดแน่นอน

3.เอกลักษณ์เฉพาะตัว

สิ่งที่ SME ควรมีไว้ อะไรที่จะทำให้ลูกค้าจดจำนอกจากโลโก้ สินค้าที่มีความแตกต่างสร้างความประทับใจ นารายาสร้างเอกลักษณ์ของสินค้าได้อย่างง่าย ๆ เพียงแค่เดินเส้นด้ายลายตาราง มองหาจุดเด่นของสินค้าและสร้างขึ้นมาเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว อย่าลืมว่าคนเราจะมองเห็นสิ่งที่แตกต่างเป็นอันดับแรกอยู่เสมอ การที่สินค้าของเรามีความโดดเด่น ย่อมสะดุดตามากกว่าสินค้าธรรมดาที่มีดาษดื่นอย่างแน่นอน

4.คืนกำไรให้สังคม

แม้ผู้ประกอบการจะไม่ได้อะไรจากการช่วยเหลือสังคมในทางตรง แต่ในทางอ้อมแล้ว ชื่อของแบรนด์ของคุณจะถูกจดจำในฐานะของผู้ที่มีบทบาทในการสร้างสรรค์สังคม นอกจากจะได้ช่วยเหลือสังคมแล้วยังเป็นการโฆษณาธุรกิจทางอ้อมอีกด้วย

บทความโดย ผู้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตร “เขียนบทความสร้างรายได้ รุ่น 2”