เสน่ห์อย่างหนึ่งของการเขียนอยู่ที่ “เราจะร้อยเรียงสิ่งที่ต้องการสื่ออย่างไรให้คนอ่านสนใจและเข้าใจ” นับเป็นเสน่ห์ที่มีความยากพอตัว

การเขียนคือทักษะสำคัญทักษะหนึ่งของมนุษย์ในการติดต่อสื่อสารบอกเล่าร้อยเรียงเรื่องราวให้ผู้รับสารเข้าใจถึงสิ่งที่เราต้องการจะสื่อ เสน่ห์อย่างหนึ่งของการเขียนอยู่ที่ “เราจะร้อยเรียงสิ่งที่ต้องการสื่ออย่างไรให้คนอ่านสนใจและเข้าใจ” นับเป็นเสน่ห์ที่มีความยากพอตัว สิ่งนี้คือศิลปะของการถ่ายทอดการใช้สำนวนและความแม่นยำของการใช้ภาษา มีคนจำนวนไม่น้อยที่รักในการเขียนแต่มีเพียงหยิบมือเดียวที่พัฒนาความรักนี้มาเป็นอาชีพได้ ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนเรื่องสั้น นักเขียนนิยาย นักเขียนบทความ หรือแม้กระทั่งนักสร้างคอนเทนต์ก็ตาม ในวันนี้เราจะเปิดเผยให้เห็นว่า “กว่าจะเป็นมืออาชีพได้” พวกเขาเหล่านี้มีเคล็ดลับเช่นไร ตามมาดูกันครับ

เคล็ดลับที่ 1: อ่านให้มาก อ่านให้หลากหลาย

การจะเป็นนักเขียนที่ดี คุณต้องผันตัวเองมาจากการเป็นนักอ่านที่ดีเสียก่อน และต้องอ่านได้หลากหลายแนวด้วย สิ่งเหล่านี้คือต้นทุนความรู้ที่คุณจะใช้ในงานเขียนของคุณซึ่งจะทำให้คุณสามารถเขียนออกมาได้หลากหลายประเภท เริ่มต้นจาก “อ่านในสิ่งที่ตนชอบและสนใจก่อน” เชื่อไหมเมื่อถึงจุดหนึ่งเรื่องที่คุณสนใจจะค่อยๆเพิ่มขึ้น คุณจะอยากอ่านมากขึ้นเอง อีกสิ่งหนึ่งที่คุณจะได้จากการอ่านคือ

“คลังคำศัพท์ของคุณจะเพิ่มขึ้น” นี่คืออาวุธที่คุณจะหยิบมาใช้ได้ทุกเมื่อ จำไว้นะครับ ก้าวแรกสู่การเป็น “นักเขียน” คุณต้องเป็น “นักอ่าน” มาก่อน

เคล็ดลับที่ 2: เรียนรู้จากงานเขียนของผู้อื่น

เรียนรู้จากงานผู้อื่นแต่ไม่ใช่การลอกเลียนแบบ เพราะถ้าคุณทำเช่นนี้ถนนสายนี้ก็ไม่ต้อนรับคุณ!! อ่านงานเขียนของนักเขียนชื่อดังให้มาก สิ่งที่คุณควรทำคือเมื่ออ่านแล้วคุณวิเคราะห์ได้ไหมว่าเขาต้องการจะสื่ออะไร ฝึกวิเคราะห์แก่นของเรื่อง ดูรูปแบบการวางโครงเรื่อง หัดมองว่าทำไมเขาถึงสื่อออกมาเช่นนี้ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้คุณตีโจทย์ของตัวเองได้ง่ายเมื่อถึงเวลาที่คุณต้องเขียนเอง นอกจากนี้นักเขียนแต่ละคนจะมีภาษาและสำนวนเป็นของตัวเอง ยิ่งเรียนรู้ได้มากคุณจะซึมซับวิธีการวางแก่น วางโครงเรื่อง สำนวนและภาษาสวยๆไว้มากเช่นกันครับ

เคล็ดลับที่ 3: มีใจรักและสนุกกับสิ่งที่ทำ

นี่คือสิ่งสำคัญเพราะไม่ว่าคุณจะทำอะไร หากคุณมีใจรักที่จะทำและทำมันอย่างสนุก สิ่งที่ทำจะออกมาดีเสมอ การเขียนก็เช่นกัน ขอเพียงมีใจรักและสนุก คุณก็ทำได้ไม่ว่าจะต้องเขียนเรื่องยากเช่นไร ตอบคำถามให้ได้ว่าคุณชอบ คุณรักการเขียนจริงหรือไม่ ถ้าคำตอบคือ “ใช่” จะรอช้าอยู่ใย ลุยกันเลย

เคล็ดลับที่ 4: เข้าใจว่าผู้อ่านคือใคร

คงไม่มีประโยชน์หากงานที่คุณเขียนกลับไม่มีคนอ่าน สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งอาจมาจากคุณไม่รู้จักผู้อ่านของคุณดีพอ เมื่อคุณไม่รู้จัก ไม่เข้าใจคนอ่านคุณก็เขียนให้ตรงใจพวกเขาไม่ได้ จงอย่าลืมว่าคนแต่ละกลุ่มมีความสนใจไม่เหมือนกัน และคนแต่ละวัยก็มีสไตล์การอ่านที่ไม่เหมือนกันอีก ทำการบ้านให้ดีครับว่ากลุ่มคนที่คุณต้องการจะสื่อไปถึงเป็นคนกลุ่มไหน ชอบอะไรและมีสไตล์การอ่านอย่างไร ถ้าคุณเข้าใจพวกเขาดีพอ

คุณส่งสารที่ดีและตรงใจไปถึงพวกเขา  “งานเขียนของคุณจะตราตรึงและมัดใจ”พวกเขาครับ

 

เคล็ดลับที่ 5: หาข้อมูลที่จะเขียนให้พร้อม

  “อย่านั่งเทียนเขียนงาน” นี่คงเป็นหนึ่งในประโยคคลาสสิคสำหรับนักเขียน เพราะคนเราไม่ได้รอบรู้ไปเสียทุกเรื่อง เรื่องใดที่คุณไม่รู้ก็จงหาข้อมูลมาประกอบ ค้นคว้าให้เยอะ ทำความเข้าใจให้มากแล้วเอามากลั่นกรอง ถ่ายทอดเรื่องราวในรูปแบบของคุณ ผลงานนั้นจึงจะมีคุณค่า มีประโยชน์สำหรับคนอื่น การนั่งเทียนเขียนออกมาโดยขาดข้อมูลมารองรับ นอกจากคุณจะจุดระเบิดเวลาทำลายความน่าเชื่อถือของตัวเอง คุณยังทำลายคนอื่นโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์อีกด้วย

เคล็ดลับที่ 6: วางแก่นของเรื่องว่าเรื่องที่เขียน “แก่น” คืออะไร

บ้านต้องมีเสาเข็ม เรือต้องมีกระดูกงูฉันใด บทความก็ต้องมีแก่นของเรื่องฉันนั้น เพราะแก่นของเรื่องคือเข็มทิศว่างานชิ้นนั้นจะบอกเล่าเรื่องราวไปในทิศทางใด นอกจากนี้ยังสะท้อนว่า “คุณเข้าใจสิ่งที่จะเขียนนั้นมากน้อยแค่ไหน” ก่อนจะเริ่มการเขียนอย่าลืมวางว่าแก่นของเรื่องนั้นคืออะไร และคุณจะสื่อมันออกมาแบบไหน งานเขียนของคุณก็จะไม่หลงประเด็นที่ตั้งใจไว้ครับ

เคล็ดลับที่ 7: วางโครงเรื่องก่อนการเขียน

ถ้าแก่นของเรื่องคือเข็มทิศ โครงเรื่องก็คือแผนที่ การวางโครงเรื่องก่อนการเขียนทุกครั้งว่างานชิ้นนี้คุณจะเขียนอย่างไร มีลำดับการจัดวางเนื้อหาแบบไหน สิ่งนี้จะช่วยให้การเขียนของคุณไหลลื่นไม่สะดุด การไม่ยอมวางโครงเรื่องนั้นเท่ากับว่าคุณได้ “ฆ่า”บทความของคุณไปเสียแล้ว เพราะในขณะเขียนข้อมูลที่อยู่ในหัวของคุณมันจะตีกันจนมั่ว แล้วคุณจะลำดับความสำคัญของข้อมูล ลำดับความสำคัญของการสื่อผิดพลาดไปหมด บทความที่คิดว่าดีก็มีอันตกม้าตายไปเสียก่อนจะเผยแพร่

เคล็ดลับที่ 8: เขียนให้ได้ทุก ๆวัน

เพราะการเขียนคือทักษะและเป็นทักษะที่ต้องการการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง ลองกำหนดหัวข้อสักวันละ 1 หัวข้อแล้วลงมือเขียนให้ได้ทุกวัน จะสั้นบ้าง ยาวบ้างไม่เป็นไรแล้วทักษะในการเขียน กระบวนการลำดับเรื่องราวของคุณจะพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ถ้ามีใจรักในการเขียนก็จงอย่าหยุดเขียน หากทำได้อย่างต่อเนื่องคุณจะเห็นพัฒนาการของตัวคุณเอง

เคล็ดลับที่ 9: เขียนเสร็จให้ทิ้งไว้ก่อนแล้วค่อยมาตรวจทานทีหลัง

เมื่อคุณจรดปากกาตัวสุดท้ายหรือเคาะแป้นพิมพ์สุดท้ายเสร็จ อย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจว่างานชื้นนั้นเสร็จแล้ว พักมันเอาไว้ก่อนแล้วไปทำอย่างอื่น เมื่อย้อนกลับมาตรวจทานดูอีกครั้ง คุณอาจจะมองเห็นจุดที่ควรปรับปรุง หรือแก้ไขสำนวนให้งานของคุณน่าอ่านยิ่งขึ้น เพราะการที่คุณตรวจทานทันทีเมื่องานเสร็จ ความล้าของสมองจะทำให้คุณพลาดในการมองเห็นจุดที่ควรปรับปรุง เมื่อใดที่สมองของคุณปลอดโปร่งจากการได้พัก การตรวจทานงานจึงจะมีประสิทธิภาพ งานของคุณจะสมบูรณ์แบบมากขึ้น

เคล็ดลับที่ 10:  จงท้าทายความสามารถของตัวเองอยู่เสมอ

ในระยะแรกของการเขียน แทบทุกคนจะเขียนในเรื่องราวที่ตนถนัด หรือตามความชอบส่วนตัว มันไม่ผิดอะไรหากจะเริ่มต้นเช่นนี้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปแล้วคุณยังคงเขียนในเรื่องเดิม ๆ แนวทางเดิม ๆ นั้นหมายความว่าคุณได้หยุดการพัฒนาตัวเองไปเสียแล้ว และในไม่ช้าคุณก็จะถึงทางตัน ลองฉีกแนวทางเขียนในเรื่องอื่น ๆดูบ้าง หากคุณทำได้มันจะช่วยเปิดโลกทัศน์อื่นให้แก่คุณอีกมาก และจะเป็นการเสริมเขี้ยวเล็บ ความสามารถให้แก่คุณ แรก ๆที่ต้องทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน

มันอาจดูยากแต่เมื่อใดที่คุณทำมันได้สำเร็จ คุณจะพบว่า มันก็ไม่ได้ยากอย่างที่เราคิด ที่เราคิดว่ายากเป็นเพราะเราตั้งแง่ “กลัว” มันไปเอง

เคล็ดลับที่ 11: จงอย่าท้อถอย

เคล็ดลับสุดท้ายที่ยากที่สุดในการเป็นนักเขียนที่ดี หรือการจะพัฒนาไปเป็นนักเขียนมืออาชีพก็คือ “ความอดทน” นักเขียนเก่ง ๆ ล้วนต้องผ่านจุดที่ท้อถอยมาแล้วทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเขียนไม่ออก ไอเดียหมด เขียนไปไม่มีคนอ่าน เป็นต้น แต่สิ่งที่เป็นแรงผลักดันให้พวกเขาก้าวต่อไปคือ “ความมุ่งมั่นไม่ยอมแพ้ ไม่ท้อถอย” จงอดทนพัฒนาตัวเอง ฝึกปรือทักษะการเขียน ศึกษาหาข้อมูลใส่คลังให้มาก แล้ววันหนึ่งผลงานของคุณก็จะเป็นที่ยอมรับของคนอ่านครับ

ไม่มีทางเดินใดไม่มีขวากหนาม ไม่มีทางเดินใดจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ ความตั้งใจ อดทน มุ่งมั่น ไม่ยอมแพ้จะช่วยส่งคุณไปจนถึงปลายทางแห่งความสำเร็จ พึงระลึกไว้ว่า “ไม่มีสิ่งใดที่มนุษย์ทำไม่ได้” ขอเพียงมีสิ่งเหล่านี้ คุณก็จะได้สัมผัสกลิ่นของความสำเร็จ อันเป็นกลิ่นที่หอมหวน อบอวลเป็นรางวัลในความพยายามของคุณ

บทความโดย

ผู้ผ่านรับการฝึกอบรม “ใช้เวลาว่างเขียนบทความสร้างรายได้”

คุณ  นรินทร์พล ตรีรัตน์สกุล

นักกายภาพบำบัด