การลงทุนแฟรนไชส์เป็นหนึ่งในทางเลือกที่น่าสนใจ สำหรับมือใหม่ต้องทำอย่างไรนั้นมาดูกันค่ะ

ใครว่ามนุษย์เงินเดือนสบาย ไหนจะงานสารพัดรูปแบบ ต้องเจอกับเหตุการณ์คาดไม่ถึง เผลอๆอาจจะมีศึกชิงบัลลังก์ยิ่งกว่าในซีรีย์ อยากจะออกไปใช้ชีวิตแบบชิคๆคูลๆเกรงว่าเงินในกระเป๋าจะไม่เอื้ออำนวย  รายได้เสริมถือเป็นทางออกที่ดี การลงทุนแฟรนไชส์เป็นหนึ่งในทางเลือกที่น่าสนใจ สำหรับมือใหม่ต้องทำอย่างไรนั้นมาดูกันค่ะ

  1. เริ่มจากถามตัวเองก่อนว่าอยากขายสินค้าเกี่ยวกับอะไร

ลองเริ่มจากสิ่งที่ชอบ ดูในสิ่งที่ใช่ก่อน เพราะเวลาที่ลงทุนลงแรงไปแล้ว จะได้มีอารมณ์ร่วมเสมือนว่านี่คือธุรกิจที่เราก่อตั้งขึ้นมาเอง หมวดหมู่ธุรกิจหลักๆมีตั้งแต่ เครื่องดื่ม เบเกอรี่ การบริการ เครื่องสำอาง การศึกษา ความงามและสปา ค้าปลีก อาหาร สำหรับผู้ที่ไม่แน่ใจว่าชอบอะไร ลองเลือกจากสิ่งที่คิดว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวเรามากที่สุด และเป็นเรื่องที่สามารถทำความเข้าใจได้ง่ายสำหรับตัวเอง

  1. เริ่มศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลของแฟรนไชส์ที่สนใจลงทุน

เมื่อเลือกธุรกิจได้แล้ว ถัดมาคือมองหาแฟรนไชส์ที่สนใจ อาจเลือกที่ใกล้เคียงกันสัก 2-3 ธุรกิจ หาข้อมูลเพื่อนำมาเปรียบเทียบกัน รายละเอียดส่วนใหญ่คือ

  • เงินลงทุน ในส่วนนี้จะระบุว่า ลงทุนเท่าไหร่ ได้อุปกรณ์อะไรบ้าง
  • ค่าธรรมเนียมต่างๆ เช่น ค่าธรรมเนียมแรกเข้า ค่าตอบแทนผลดำเนินการ
  • ระยะเวลาในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงจำนวนสาขา
  • การฝึกอบรม
  • สัญญา ข้อตกลง และเงื่อนไขต่างๆ

แฟรนไชส์ที่ดีต้องมีระบบการจัดการที่ชัดเจนและมีความน่าเชื่อถือ ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้ลงทุน อีกทั้งการตลาดที่ดีช่วยส่งเสริมให้การทำธุรกิจนั้นง่ายขึ้น รวมถึงการช่วยเหลือในช่วงเริ่มต้น หากติดขัดหรือมีข้อสงสัยควรแจ้งให้เจ้าของแฟรนไชส์รับรู้ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาและทำให้เกิดความสะดวกในการบริหารงานเองในอนาคต

นอกจากนี้การสอบถามผู้มีประสบการณ์เป็นอีกทางเลือกที่ดี โดยเฉพาะถ้าได้ถามจากผู้ที่ซื้อแฟรนไชส์ที่เราสนใจ รวมไปถึงการเข้าชมงานแฟรนไชส์ที่จัดขึ้นเป็นประจำ ทำให้ได้สัมผัสบรรยากาศอย่างใกล้ชิด ได้พูดคุยกับเจ้าของแฟรนไชส์โดยตรง สามารถเห็นภาพรวมที่ชัดเจนมากขึ้น

  1. เริ่มมองหาทำเลและสำรวจตลาดโดยรอบ

จะรู้ได้อย่างไรว่าทำเลไหนเหมาะสม เพราะการเลือกทำเลผิด อาจทำให้ชีวิตเปลี่ยน เลือกดี ชีวิตก็เปลี่ยนเช่นกัน  เรื่องของทำเลนั้นสำคัญมากๆ แล้วแบบไหนถึงเรียกว่าดี

  • ต้องมองว่าแฟรนไชส์ที่เลือกนั้น กลุ่มเป้าหมายคือใคร เช่น เลือกธุรกิจสปา แต่ไปตั้งอยู่ในย่านโรงงาน แบบนี้คงต้องเหนื่อยแน่ๆ
  • จำนวนคนที่สัญจรไปมาย่อมมีผลต่อธุรกิจ หรือตามแหล่งชุมชนต่างๆ ยิ่งมีจำนวนคนเยอะ ยิ่งเพิ่มโอกาสที่จะขายได้มาก ที่สำคัญคือไม่ควรอยู่ในซอยลึกหรือติดถนนใหญ่ที่ไม่สะดวกต่อการจอดรถ
  • สำรวจประเภทของธุรกิจที่เหมือนกันว่าในละแวกนั้นมีกี่ร้าน ตัวเลือกที่หลากหลายนั้นเป็นประโยชน์กับลูกค้า แต่หากเยอะเกินไปจะกลายเป็นว่ามีคู่แข่งมากขึ้น ในขณะที่จำนวนคนเท่าเดิม อาจทำให้โอกาสที่ลูกค้าจะซื้อนั้นน้อยลง
  • ทำเลดี คนพลุกพล่าน ย่อมเป็นที่ปรารถนา แน่นอนว่าต้นทุนย่อมสูงเช่นกัน แต่ถ้าขายแล้วกำไรไม่ดี ตรงนั้นอาจไม่ใช่ทำเลที่เหมาะสม หากเทียบกับทำเลปานกลาง แต่เหมาะกับสินค้า มียอดขายดี เมื่อนำมาหักค่าใช้จ่ายแล้ว เงินที่เหลือนั้นก็กลายมาเป็นกำไรแทนได้เช่นกัน

 

  1. เริ่มเตรียมความพร้อมสำหรับบริหารจัดการเรื่องของ เงิน เวลา และคน

เมื่อรู้แล้วว่าจะขายอะไร ขายที่ไหน อีกปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจสามารถดำเนินได้นั้นคือ เงิน เวลา และคน สามอย่างนี้เป็นเหมือนกลไกที่จะทำให้การลงทุนของเรานั้นขับเคลื่อนไปได้

  • เงิน
  • งบประมาณสำหรับลงทุน
  • เงินทุนสำรอง
  • ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าจ้างพนักงาน ค่าน้ำค่าไฟ ค่าเช่าพื้นที่

การตัดสินใจเลือกลงทุนแฟรนไชส์ ถึงแม้จะช่วยลดความเสี่ยงในการที่ไม่ต้องมาลองผิดลองถูกเอง อย่างไรนั้นความพร้อมในเรื่องนี้ไม่ควรประมาท มีหลายธุรกิจที่กำลังไปได้สวย แต่ต้องสะดุดเพราะปัญหาเรื่องเงิน

  • เวลา

เรื่องเวลากับมนุษย์เงินเดือนนั้น เห็นทีจะพูดกันยาว แต่จะทำทั้งทีควรมีการจัดสรรเวลาให้ดี สำหรับคนที่ต้องการขายเองนั้นอาจจะเหนื่อยสักหน่อย เพราะช่วงเวลาที่สะดวกคือหลังเลิกงานหรือวันหยุด ซึ่งการจ้างพนักงานถือเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ไม่ต้องวุ่นวายลงแรงเองทั้งหมด ช่วยประหยัดเวลา หน้าที่เรามีเพียงแค่บริหารจัดการเรื่องสำคัญเท่านั้น

  • คน

อีกหนึ่งตัวแปรสำคัญที่จะขาดไปไม่ได้ ช่วยให้การดำเนินงานเป็นระบบมากขึ้น ในที่นี้จะพูดถึงกรณีที่มีการจ้างพนักงาน ซึ่งสะดวกต่อผู้ลงทุนธุรกิจ

  • ผู้ซื้อแฟรนไชส์นั้นควรที่จะทำงานแทนพนักงานได้ในกรณีฉุกเฉินที่พนักงานไม่สามารถทำงานได้ รวมถึงการสอนงานและให้คำปรึกษาหากเกิดปัญหาระหว่างการทำงาน
  • กรณีที่เลือกธุรกิจแฟรนไชส์ขนาดใหญ่ ควรคำนึงถึงจำนวนพนักงานให้สอดคล้องกับจำนวนงาน
  • หากพนักงานลาออก ควรรีบดำเนินการให้เร็วที่สุด เพื่อให้ระบบงานสามารถดำเนินต่อไปได้ ไม่เช่นนั้นอาจเกิดปัญหาตามมาแน่นอน

การลงทุนแฟรนไชส์สำหรับมนุษย์เงินเดือนถือเป็นธุรกิจที่น่าสนใจไม่น้อย ด้วยรูปแบบที่เป็นธุรกิจสำเร็จรูปไม่ต้องเสียเวลาสร้างขึ้นใหม่เองทั้งหมด โดยเฉพาะแฟรนไชส์ที่มีชื่อเสียงอยู่แล้วนั้น ถึงแม้เราจะเป็นหน้าใหม่ในการลงทุนธุรกิจก็สามารถขายได้ไม่ยาก เพียงแค่ดูแลธุรกิจให้ดำเนินไปได้ดี ไม่แน่ว่าการลงทุนแฟรนไชส์อาจสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ จากเดิมที่เป็นรายได้เสริม อาจจะแซงรายได้หลักก็เป็นได้

บทความโดย

ผู้ผ่านรับการฝึกอบรม “ใช้เวลาว่างเขียนบทความสร้างรายได้”

คุณ  มาลินี เพ็ชรอุไร

แม่บ้านครูสอนพิเศษวิชาวิทยาศาสตร์