ถ้าพูดถึงในเรื่องการค้าการขายแล้ว คงไม่มีใครปฏิเสธว่าทุกคนได้มุ่งมาที่โลกออนไลน์เกือบทั้งหมด คือนำสินค้าและบริการของตนมาประกาศให้ผู้คนรับรู้ว่าฉันมีของอะไรมาขาย หรือบริการดี ๆ อะไรมาให้บริการ และสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการขายออนไลน์ คงหนีไม่พ้นสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เว็บไซต์ เฟซบุ๊ค อินสตาแกรม ไลน์ และอื่น ๆ
แน่นอนว่าการขายคือการสื่อสารไปยังผู้ซื้อให้เข้าใจตรงกันว่าเราต้องการขายอะไร บอกอะไร นำเสนออะไรแก่ลูกค้า สิ่งที่จะเป็นสะพานทำความเข้าใจนั่นก็คือตัวหนังสือ ข้อความ รวมไปถึงบทความ ที่จะทำให้ลูกค้าหยุดมาพิจารณาร้านของคุณ และเป็นความจริงที่ว่าเมื่อมีร้านค้าออนไลน์เกิดขึ้นความต้องการนักเขียนบทความก็มากขึ้นตามไปด้วย
วันนี้ผมจะมาพูดเรื่องการเขียนบทความครับ โดยเฉพาะมือใหม่หัดเขียนหากเราเริ่มต้นดีต่อไปเราก็ดี นายจ้างก็พอใจรายได้เสริมจากการรับเขียนบทความก็จะตามมา มาดูกันแบบ Step by Step กันเลยครับ
1. เตรียมใจให้พร้อม
สำหรับมือใหม่อย่าเพิ่งใจร้อน เตรียมใจกันก่อนให้ใจสบาย ๆ ใจเย็น ๆ หายใจเข้าออกลึก ๆ เพื่อเพิ่มพลังงานในสมอง ทำสมองว่าง ๆ ก่อนเข้างานเขียน เพื่อที่ข้อมูลจะได้ไม่ตีกันยุ่ง ขั้นตอนนี้ใช้เวลาไม่นาน คล้าย ๆ กับจะบอกร่างกายบอกสมองของเราว่าจะเขียนบทความแล้วนะ เมื่อใจพร้อมเราก็มาทำขั้นตอนต่อไปได้เลย
2. เตรียมร่างกายให้ดี
พักผ่อนให้เต็มที่ เพื่อให้สมองปลอดโปร่ง การเขียนงานแบบง่วง ๆ คงไม่เป็นผลดีแน่ ยิ่งเป็นมือใหม่หัดเขียนแบบนี้แล้ว กายพร้อมใจพร้อม กำลังใจก็มาเต็มเปี่ยมให้ความรู้สึกว่าอยากเขียนมาก ๆ เกิดแรงบันดาลใจ มีพลัง ต่อเมื่อเขียนเก่งเขียนจนชินแล้วทุกอย่างตัวคุณจะรู้ดีว่าตอนนี้ควรหยุดตอนนี้ควรเขียน ขั้นตอนนี้ไม่ยากเลยใช่ไหมครับ
3. ต้องรู้ว่าจะเขียนอะไร
เข้าสู่กระบวนการเขียนแล้วครับ ก่อนอื่นเลยการที่เราจะเขียนบทความสักเรื่อง หรือนายจ้างมีโจทย์ให้เรา เราก็ต้องรู้ว่าเราจะเขียนอะไร ไม่ใช่จับแพะมาชนแกะ เขียนแบบตามใจฉัน เช่น ต้องการบอกเล่าถึงประโยชน์ของสินค้า อย่างนี้เรารู้แล้วว่าเราจะเขียนถึงประโยชน์ของสินค้าตัวนั้น ๆ เพียงแค่รู้ว่าต้องการเขียนอะไรเราก็มีทิศทางในการเขียนแล้วครับ
4 .หาข้อมูลในการเขียน
การเขียนบทความเพื่อสื่อไปถึงผู้อ่านเราต้องหาข้อมูลมานำเสนอที่เป็นประโยชน์โดยตรงต่อตัวผู้อ่าน และไม่หลุดประเด็นในเรื่องที่เราจะเขียน และต้องมีข้อมูลที่เพียงพอครบครันในเรื่องที่จะเขียน มิใช่ผู้อ่าน ๆ จบแล้วไม่ได้อะไรจะกลายเป็นหลอกผู้อ่านให้เสียเวลาไป ซึ่งข้อมูลในการเขียนก็มาจากประสบการณ์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือเป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือจากในอินเตอร์เน็ต
5. วางแผนการเขียน
เมื่อได้ข้อมูลมาแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนการวางแผนการเขียนว่าจะนำเสนอข้อมูลอันไหนก่อนหลัง ไม่กระโดดไปมา ให้ผู้อ่านสับสนหรืองง อย่างถ้าจะเขียนสูตรอาหาร ก็ต้องลำดับวิธีการทำอาหารให้ถูกต้อง เมื่อผู้อ่านทำตามก็จะได้ผลลัพธ์คือความอร่อยที่ลงตัวออกมาตรงกัน พูดง่าย ๆ คือเมื่อเขียนเสร็จแล้วผู้อ่านเข้าใจ นำไปทำตามหรือปรับใช้แล้วได้ผลลัพธ์ตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ แต่ถ้าไม่ได้ตามนั้น อาจหมายความว่ามีการเรียงลำดับความคิดหรือวิธีการที่สับสนกระโดดไปมา เรื่องนี้ก็สำคัญ
“วางแผนดีมีชัยไปกว่าครึ่ง วางแผนไม่ถึงเดินไปไม่ถึงครึ่งก็ถอย”
6. ตั้งใจเขียนเป็นอย่างดี
เมื่อได้ลำดับความคิด ลำดับข้อมูลว่าจะเขียนอะไรก่อนหลังแล้ว ต่อไปก็ลงมือเขียนได้เลยโดยอาศัยความตั้งใจค่อย ๆ พิมพ์ค่อย ๆ ปรับภาษาสำนวนไปในระหว่างการเขียน และที่สำคัญเวลาเขียนออกมาแล้วตัวเราเองต้องเข้าใจก่อนเบื้องต้น ถ้าตัวเราเองยังงง ๆ ผู้อ่านก็คงงงตาม พาลไม่อยากอ่านเลยล่ะ
7. เขียนเสร็จแล้วทิ้งไว้ก่อน
เมื่อเราเขียนบทความ 1 บท เสร็จแล้ว อย่าเพิ่งรีบส่งนายจ้าง แต่ทิ้งไว้ก่อนสักพัก จะครึ่งวัน หรือหนึ่งวันก็ได้ หลังจากนั้นก็กลับมาอ่านทวนอีกครั้ง เราจะพบว่ามีสิ่งที่ต้องแก้ไข ตัดออกหรือเพิ่มเข้าไป เพื่อให้ได้งานเขียนที่ดีที่สุดสมบูรณ์ที่สุด เทคนิคนี้มือใหม่นำไปใช้ได้เลย
8.แก้ไขคำผิด
เรื่องนี้มือใหม่ต้องใส่ใจ เพราะการเขียนคำผิดบ่งบอกถึงงานไม่มีคุณภาพ ผู้เขียนต้องอ่านทุกตัว ถ้าคำไหนไม่แน่ใจให้เปิดพจนานุกรม นิสัยแบบนี้จะติดตัวไปและเราจะเป็นนักเขียนที่มีคุณภาพที่นายจ้างอยากจะจ้างเราตลอดไป เพราะเรามีความใส่ใจนั่นเอง
9. ตรวจทานอีกรอบ
ขั้นตอนนี้เป็นการเก็บงานอีกครั้ง ตรวจทานว่ามีสิ่งใดบกพร่องอีกหรือไม่ ข้อมูลต้องการคำอธิบายเพิ่มหรือเปล่า หรือมีประโยคไหนที่เวิ่นเว้อ ก็ปรับใหม่ให้กระชับและได้ใจความ การทำเช่นนี้เป็นผลดีต่อตัวนักเขียนและเป็นการช่วยผู้อ่านให้อ่านงานเขียนของเราอย่างเข้าใจง่ายและอยากจะติดตามงานเขียนของเราอย่างต่อเนื่อง
10. ส่งมอบงานเขียน
ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนสุดท้าย เมื่องานเราถูกส่งออกไปให้นายจ้างแล้ว นั่นหมายความว่าได้สิ้นสุดกระบวนการเขียนแล้ว นายจ้างจะตรวจงานและแจ้งให้เราทราบว่า เรามีข้อต้องแก้ไขตรงไหนบ้าง หรือว่าดีแล้ว ซึ่งมือใหม่หัดเขียนก็ต้องน้อมรับคำแนะนำมาปรับแก้และพัฒนางานของตนให้ดียิ่งขึ้นไป
งานเขียนบทความเป็นงานที่สร้างรายได้ให้กับนักเขียนมือใหม่ที่มีใจรักงานเขียน แบบว่าไม่ต้องกลัวจะตกงานเลย เพราะตำแหน่งนี้ใคร ๆ ก็อยากได้นักเขียนมือดีมาไว้ในเว็บไซต์ของตน หากคุณมีใจรักในการเขียนบทความ มีการพัฒนาตนเอง พัฒนาฝีมืออยู่เสมอ งานจะมีเข้ามาอย่างต่อเนื่องนั่นหมายถึงรายได้ที่เข้ามาต่อเนื่องเช่นกัน
มือใหม่หัดเขียนบทความให้ได้ดีนั้นต้อง พยายามหาข้อมูล ความรู้ให้มากๆ และต้องสร้างภาษาให้เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ตัวอักษรมันจะช่วยในการสื่อสาร สร้างอารมณ์ให้กับผู้อ่าน จะทำให้บทความของเรามี “คุณค่า” มากยิ่งขึ้น
ควรคิดประดิษฐ์คำ หรือ วลีทองคำ สำหรับบทความแต่ละบทอย่างน้อย 1-2 วลี คนอาจจะจำอะไรได้ไม่ทั้งหมด แต่อย่างน้อยเขาจะจำ “วลีทองคำ” ของเราได้
“แม้จะเป็นมือใหม่หัดเขียนไม่ถึงขั้นเป็นเซียน ก็เขียนให้น่าอ่านได้”
บริการอบรม ให้คำปรึกษาการทำธุรกิจออนไลน์ ฝึกอบรมภายในบริษัท แบบตัวต่อตัว การทำ Content Marketing,การโฆษณา Facebook,การโฆษณา Tiktok,การตลาด Line OA และการทำสินค้าให้คนหาเจอบน Google
บริการดูแลระบบการตลาดออนไลน์ให้ทั้งระบบ
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสารความรู้การทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ Add Line id :@taokaemai
รับชมคลิป VDO ความรู้ด้านการตลาด กรณีศึกษาธุรกิจ แหล่งเงินทุนน่าสนใจ ติดตามได้ที่ช่อง Youtube : Taokaemai เพื่อนคู่คิดธุรกิจ SME