แม่ค้าพ่อค้าออนไลน์ต้องทำการยื่นภาษี เพื่อเป็นการแสดงให้กรมสรรพากรรับรู้ ซึ่งการยื่นนั้นใช่ว่าจะมีการเสียภาษีทุกครั้ง  เพราะยังมีในส่วนของค่าลดหย่อนภาษี  มาถึงตรงนี้ต้องเคลียร์ให้ชัดๆว่า “การยื่นภาษี กับการเสียภาษี ไม่เหมือนกัน”

การมีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับเรื่องของภาษีเป็นสิ่งที่ทุกคนควรตระหนักและให้ความสำคัญ เชื่อว่าหลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ สำหรับคนที่ทำงานประจำอาจจะคุ้นชินกับการเสียภาษีจนกลายเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับผู้ที่มีรายได้จากโลกออนไลน์ ที่ไม่เคยเก็บหลักฐานการรับโอนเงิน เอกสารการทำบัญชีต่างๆเอาไว้ คงต้องตื่นตัวให้มากกว่านี้ เพราะรายได้จากการขายของออนไลน์เป็นรายได้ที่ไม่ได้รับการยกเว้นการเสียภาษี ดังนั้นควรทำให้ถูกต้องจะดีกว่า มีอะไรบ้างที่ต้องรู้ และอะไรที่ควรทำ

ไม่ยื่นภาษีถือว่าหลบหนีภาษี ยื่นภาษีแล้วเสียน้อยหรือมากว่ากันอีกที

ตอนนี้กลุ่มของแม่ค้าออนไลน์ เน็ตไอดอล หรือ Facebook Fanpage ดังๆ ที่รับลงโฆษณาไม่ว่าจะเป็นการ Tie-in การรีวิวสินค้า หรือบริการต่างๆ ที่รับเงินค่าจ้างต่อครั้งที่ทำการโฆษณาให้ ผ่านการว่าจ้างจากแบรนด์  ถ้าแบรนด์ที่จ่ายเงินไม่ใช่บริษัทใหญ่ แล้วมีการจ่ายให้โดยที่เรารับเป็นเงินสด ไม่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย รายได้ตรงนี้ถือเป็นรายได้นอกระบบ ต้องนำส่งภาษีเอง แต่ถ้าเป็นบริษัทขนาดใหญ่ เมื่อมีการว่าจ้างเกิดขึ้น ตามปกติจะมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายอยู่แล้ว เหมือนเป็นการเสียภาษีล่วงหน้า

แต่…ประเด็นคือ เหล่าคนที่ค้าขายออนไลน์ บรรดาเน็ตไอดอลคนดังต่างๆ และเจ้าของแฟนเพจ ไม่มีการยื่นภาษีเกิดขึ้น แล้วอย่างนี้จะทำยังไง

ลองมาดูกรณีของการค้าขายออนไลน์ ประเภทที่ซื้อมาขายไป เช่น กระเป๋า เสื้อผ้า รองเท้าเครื่องสำอาง ขนม ฯ ถือเป็นผู้ประกอบการคนหนึ่ง แม้จะไม่มีการผลิตเองก็ตาม ไม่ต่างจากการขายในรูปแบบเดิมที่ต้องมีหน้าร้าน เพียงแค่เปลี่ยนช่องทางมาขายบนโลกออนไลน์แทนเท่านั้น มีการประชาสัมพันธ์ผ่านทางโซเชียลมีเดีย  ถ้าไม่ได้จดทะเบียนบริษัท ก็ต้องจ่ายภาษีในนามบุคคลธรรมดา ซึ่งแม่ค้าออนไลน์ต้องทำการยื่นภาษี เพื่อเป็นการแสดงให้กรมสรรพากรรับรู้ ซึ่งการยื่นนั้นใช่ว่าจะมีการเสียภาษีทุกครั้ง  เพราะยังมีในส่วนของค่าลดหย่อนภาษี  มาถึงตรงนี้ต้องเคลียร์ให้ชัดๆว่า “การยื่นภาษี กับการเสียภาษี ไม่เหมือนกัน”  แนะนำให้ยื่นไปก่อน ส่วนจะเสียหรือไม่ ถึงตอนนั้นค่อยมาว่ากันอีกที

จะทำออนไลน์ยึดเป็นอาชีพ หรือทำเป็นอาชีพเสริม ยังไงก็ต้องยื่นภาษีเช่นกัน

ผู้ประกอบการบางคนที่ไม่เคยยื่นหรือเสียภาษีเลย จากเดิมที่เคยคิดว่าอยู่ได้ แต่ต่อไปอาจไม่เป็นเช่นนั้น เพราะมีการตั้งทีมตรวจเช็คธุรกิจ e-commerce  จากกรมสรรพากรที่เพิ่มความเข้มงวดมากขึ้น มีกระบวนการสืบค้นหาข้อมูล ตรวจสอบร้านค้าออนไลน์ แหล่งที่มาของรายได้ อาจจะขอซื้อสินค้า แล้วดูว่ามีใบเสร็จให้หรือไม่ ทำการโอนเงินเข้าบัญชีของใคร แล้วสรรพากรจะรู้ได้ยังไง ยกตัวอย่างเช่น เจอร้านขายเสื้อผ้าของนาย A ซึ่งขายดีมาก มีหลักฐานการขายที่แสดงให้เห็นว่ามีลูกค้าสั่งซื้อเยอะจากนั้นจะทำการตรวจสอบว่าเคยมีการเสียภาษีหรือไม่ เท่านี้ก็ทราบได้ว่าใครบ้างที่มีรายได้แต่ไม่เคยจ่ายภาษีเลย แม้แต่คนที่ทำงานประจำ และมีรายได้เสริมจากการขายของออนไลน์ก็ต้องยื่นภาษีเช่นกัน ในการยื่นต้องเอารายได้ทุกประเภทมารวมกันแล้วค่อยหักค่าใช้จ่ายก่อนนำไปคำนวณภาษี คราวนี้จะมาบอกว่าไม่รู้ คงไม่ได้อีกต่อไป

3 ขั้นตอนเตรียมความพร้อมพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ก่อนการยื่นภาษี

1.ธุรกิจออนไลน์ที่ทำอยู่ จะทำต่อไปอีกนานแค่ไหน

ให้ดูจากยอดขาย และกำไรที่ได้ในตอนนี้ รวมถึงคาดการณ์ไปยังอนาคตว่า หากดำเนินไปในลักษณะเช่นนี้ จะยังทำธุรกิจต่อหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมตัวเข้าสู่กระบวนการในขั้นต่อไปของการทำธุรกิจ ที่ไม่ใช่แค่เรื่องของการยื่นภาษี ยังมีทั้งการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย การเก็บรวบรวมเอกสารต่างๆเพื่อขอยื่นกู้สินเชื่อในอนาคต ต้องเริ่มต้นอย่างมีแบบแผน มากกว่าแค่การซื้อมาขายไปเพียงอย่างเดียว ลองคิดดูว่าระหว่างช่วงแรกที่เหนื่อยกับการวางแผนและจัดการระบบต่างๆ กับการคอยแก้ปัญหาที่พันกันยุ่งเหยิงแบบจับต้นชนปลายไม่ถูก อย่างไหนคุ้มค่าที่จะลงมือทำมากกว่ากัน

2.ควรทำในรูปแบบไหน ระหว่างบุคคลธรรมดากับนิติบุคคล

ลองเปรียบเทียบดูว่าอย่างไหนเหมาะกับธุรกิจมากกว่ากัน ทั้งนี้ทางภาครัฐได้มีมาตรการผลักดันและส่งเสริมให้เจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่เข้าสู่รูปแบบนิติบุคคล มีสิทธิพิเศษสำหรับ SMEs ที่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยเฉพาะเรื่องของการเสียภาษีในอัตราที่น้อยกว่านิติบุคคลทั่วไป


บทความ  ทำธุรกิจแบบบุคคลธรรมดากับนิติบุคคล อย่างไหนดีกว่ากัน > คลิ๊ก


3.เมื่อตัดสินใจได้แล้ว ตอนนี้เริ่มต้นทำอะไรบ้างหรือยัง

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่ารายได้จากการขายของออนไลน์เป็นรายได้ประเภทที่ 8 ตามมาตรา 40(8)  กฎหมายกำหนดเพิ่มเติมไว้ว่าคนที่มีรายได้ประเภทนี้ จะต้องเสียภาษีปีละสองครั้ง นั่นคือ

  • ภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด. 94) รายได้ที่เกิดในช่วงครึ่งปีแรก ตั้งแต่เดือน ม.ค. – มิ.ย. ของปี โดยปกติแล้วจะเปิดให้ยื่นประมาณช่วงเดือนก.ค. – ก.ย. ในบางปีมีการขยายเวลา สามารถตรวจสอบได้กับทางเว็บไซต์กรมสรรพากร
  • ภาษีทั้งปี (ภ.ง.ด. 90) เป็นการสรุปรายได้ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา ยื่นได้ตั้งแต่ ม.ค. – มี.ค. ของปีภาษีถัดไป

อย่าคิดว่าเวลาล่วงเลยมาถึงขนาดนี้แล้วรอยื่นปีหน้าทีเดียวเลยดีกว่า คิดแบบนี้ไม่ถูก ยื่นอันไหนทันให้ยื่นไปก่อน เช่น กิจการดำเนินมาถึงช่วงกลางปี ก็เตรียมยื่น ภ.ง.ด. 94 ได้ หากมีการเรียกดูจะได้มีหลักฐานยืนยัน ซึ่งการเริ่มต้นยื่นภาษีเงินได้นั้น ให้ยื่นรายได้ตามความจริง สำหรับแม่ค้าออนไลน์เช็คได้จากเงินสดในส่วนของยอดขายที่โอนเข้าบัญชี

แล้วก่อนหน้านี้ที่ไม่เคยยื่นจะโดนตรวจสอบย้อนหลังหรือไม่ อันนี้คงตอบไม่ได้ ถ้าสรรพากรสุ่มตรวจก็มีสิทธิที่จะโดนเรียกภาษีย้อนหลังได้  หลายคนอาจจะคิดว่าถ้าเป็นเช่นนี้สู้ไปจดทะเบียนบริษัทให้ถูกต้องเลยดีกว่า แต่อย่าลืมว่าต่อให้พรุ่งนี้จดทะเบียนบริษัทเรียบร้อยแล้ว แม้รายได้ที่เข้ามาจะถูกต้องในระบบ แต่ไม่ได้หมายความว่ารายได้ที่ผ่านมาจะถูกต้องไปด้วย เพราะถ้าโดนตรวจสอบย้อนหลัง จะมีการขอดู Statement ถ้าไม่มีหลักฐานว่าเงินที่โอนมามาจากไหน จะถูกตีเป็นรายได้ทั้งหมด แล้วนำมาคิดภาษี  ที่ดูเหมือนจะหนักสุดคือ ต้องจ่ายค่าเบี้ยปรับเป็นจำนวน 1 เท่า หรือ 2 เท่าของเงินภาษีที่ต้องชำระอีกด้วย อาจจะหลักแสนไปจนถึงหลักล้านก็เป็นได้

คนที่ขายออนไลน์ทั้งหลาย ควรตระหนัก ตื่นตัว เตรียมพร้อม แม้จะเริ่มช้าแต่ดีกว่าไม่เริ่มทำอะไรเลย อย่าทำการค้าขายบนความเสี่ยงแบบหลบๆซ่อนๆที่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะถูกเรียกไปตรวจสอบ ให้นึกเสมอว่าการที่เสียภาษีมากก็คือ ค้าขายได้มากนั่นเอง

บทความเกี่ยวกับการเสียภาษี