เมื่อรัฐบาลประกาศทิศทางและนโยบายจะนำพาประเทศไทยก้าวไปสู่ ไทยแลนด์ 4.0 โดยนำเทคโนโลยีระบบสารสนเทศมาเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภายใต้บริบทใหม่ของสังคมไทย จะไปในทิศทางไหน คงเป็นเรื่องทั้งภายใหญ่ที่ทางภาครัฐจะวางนโยบายกำหนดกรอบลงมา เพื่อนำสู่แผนปฏิบัติในภาคเล็กในระดับองค์กรต่าง ๆ ท้ายสุดก็จะมากระทบถึงพวกเราในระดับ Nano Economy หรือ หน่วยย่อย ๆ เถ้าแก่ใหม่รายบุคคลนี่แหละครับ

ประเทศไทย 4.0 จะเป็นอย่างไร จากมุมมองของคนระดับรากหญ้า เถ้าแก่ใหม่ที่ใกล้ชิดเพื่อน ๆ ตั้งแต่เริ่มจากแนวคิด พัฒนาความกล้า สู่การตั้งตั้งไข่ เริ่มลองทำจากจุดเล็ก ๆ ก้าวไปทีละก้าวจนกลายเป็นเถ้าแก่ใหม่ได้มากมายหลายคน แต่….ก็มีไม่น้อยครับที่ต้องล้มหายตายจากไประหว่างเส้นทางครับ

ผมเห็นอย่างไรกับก้าวต่อไปของ SME ไทย 4.0 ลองมาดูกันครับ

1.เข้าถึงแหล่งผลิตได้ง่ายขึ้น แต่การแข่งขันด้านราคาจะมากขึ้น

จะสังเกตุเห็นได้ครับว่าเดี๋ยวนี้มีแบรนด์สินค้าใหม่ให้เห็นมากมาย ผุดขึ้นกันเป็นดอกเห็ดเลยทีเดียว เรียกว่าใคร ๆ ก็เป็นเจ้าของสินค้า เจ้าของแบรนด์โน่นนี่นั้นได้ครับ เหตุผลก็เพราะว่าอินเตอร์เน็ตนำพาโรงงานผู้ผลิต มาพบกับผู้ที่ต้องการเป็นเจ้าของสินค้าอะไรสักอย่าง เรียกว่า “ง่ายแค่ปลายคลิ๊ก” หรือ มี “Feed “ ขึ้นมาให้เห็นได้ทุกวัน

การเข้าตลาดได้ง่ายขึ้นนั่นหมายความว่า “คู่แข่ง” ก็มากขึ้นเป็นเงาตามตัว และสิ่งที่แย่ที่สุดในตลาดที่มีการแข่งกันกันแบบแดงเดือดอย่างนี้ก็คือเรื่องของ “ราคา” เรียกได้ว่าหั่นกันให้ตายกันไปข้างหนึ่งเลยทีเดียว

สุดท้ายธุรกิจเหล่านั้นก็มักจะ “ตายหมู่” แล้วก็มีผู้เล่นใหม่เข้ามาย่ำรอยเท้าเดิมอยู่ กลายเป็นวัฏจักร “พากันตาย”

นี่คือเส้นทาย SME ไทย 4.0 ต้องเจอครับ เราลองมาช่วยกันคิดดูสิครับว่า เราจะช่วยกันแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร เพราะหากไม่แก้ก็จะพากัน “เจ๊ง” ครับ

2.เข้าถึงช่องทางและเครื่องมือทางการตลาดออนไลน์ได้ง่ายขึ้น แต่ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญมากยิ่งขึ้น

ทุกเครื่องมือการตลาดในยุค 4.0 อยู่ในมือถือเพียงเครื่องเดียว ไม่ว่าจะการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ มาทั้งรูปแบบของ ข้อความ รูป คลิป VDO หรือแม้กระทั่งการถ่ายทอดสด เรียกได้ว่าทุกคนสามารถสร้างสถานีโทรทัศน์ผลิตสื่อทุกสิ่งอย่างได้เอง

แต่ แต่ครับแต่ !!! เมื่อเข้าถึงง่าย ดูเหมือนว่ามันจะใช้งานง่าย คำตอบนี้ถูกเพียงครึ่งเดียวครับ เพราะคำตอบอีกครึ่งคือ “ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำได้” เพราะช่องทางการตลาดเหล่านี้ต้องใช้ “ความเชี่ยวชาญ” ไม่ใช่เป็นเครื่องมือทางการตลาดสำหรับมือสมัครเล่นอีกต่อไปแล้ว

แค่ใช้งานนั้นไม่พอเสียแล้ว แต่ต้องใช้งานให้เกิดประสิทธิภาพด้วย ต้องอาศัยความรู้ ใช่ว่าคิดจะโพสอะไรก็โพส หรือ คิดจะโฆษณาก็กดปุ่มแล้วยอดขายจะมา ถ้าทำได้แค่นี้รับรองครับ เงินทองก็จะไหลออกแทนที่จะไหลเข้า จะทำอะไรมันต้องมีเคล็ดไม่ลับที่ต้องสอดรู้สอดเห็น เพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญ

ทว่า !!! อย่าเพิ่งอิดออดถอดใจไปครับ “ความเชี่ยวชาญ” มันพัฒนากันได้ มันเรียนรู้กันได้ครับ หากเราจะเอาจริง จะขึ้นรถไฟขบวน ประเทศไทย 4.0 สิ่งที่ต้องทำคือต้อง “เรียนรู้ พัฒนา” อย่างจริงจังครับ เพราะหากไม่ทำรับรองครับว่า “รถไฟขนวน” จะไม่รอคุณอย่างแน่นอนครับ

3.การโอนจ่ายเงินได้ง่ายมากยิ่งขึ้น แต่มีความเสี่ยงเรื่องการฉ้อโกงมากยิ่งขึ้น

สมัยนี้อะไร ๆ ก็เป็นแบบไร้สาย หรือ ใช้อินเตอร์เน็ตต่าง ๆ เข้ามาควบคุม เช่นเดียวกับเรื่องการเงินในยุคของ 4.0 จะเป็นการเงินแบบไร้สาย ไม่ต้องมีเหรียญหรือ ธนบัตรในกระเป๋า มีแค่บัตรประชาชน หรือ อีเมล์ เป็นระบบสมาชิกใน payment gateway ต่างก็สามารถโอนเงินรับเงินกันได้อย่างสะดวกรวดเร็ว

SME ในยุค 4.0 ต้องเข้าให้ถึงตรงจุดนี้ครับ เพราะมันจะเป็นประโยชน์ทั้งในด้านการค้าต่างประเทศ รวมไปถึงบริการ สินค้าต่าง ๆ ของต่างประเทศอีกด้วยครับ

แต่ต้องระวังในความ “อ่อนด้อย” ในเทคโนโลยีของหลาย ๆ คน อาจจะทำให้พวกเราต้องตกเป็น “เหยื่อ” ของมิจฉาชีพ ไม่ว่ามาในรูปแบบของการโกงแบบเนียน ๆ

หรือการฝังไวรัส หรือ ระบบที่คอยดักจับข้อมูลของเราในเว็บไซต์ต่างๆ ที่เราเข้าไปใช้บริการด้านการเงิน เคยมีคนประสบปัญหาเหล่านี้ต้องเสียเงินทองมากมายครับ แม้กระทั่งธนาคารผู้เป็นเจ้าของระบบเองก็เคยโดนมาแล้ว ถ้าจำกันได้เรื่องของตู้ ATM ที่โดนเจาะข้อมูลด้วยการฝังไวรัสลงไปแล้วเจ้าหัวขโมย (ผมอยากจะบอกว่าพวกนี้เป็น กูรูด้านเทคโนโลยีโจรกรรม) ก็ไปกดเงินมาใช้เล่นเป็นล้าน ๆ

ต้องพึงระวังครับ เข้าไปใช้เว็บไซต์ต้องมั่นใจว่า เราไม่ได้ทิ้งข้อมูลสำคัญทางการเงินของเราไว้ ไม่อย่างนั้น SME ก็จอดโดนล้วงเงินออกจนหมดบัญชีเลยก็เป็นได้นะครับ

4.สินค้าต่างประเทศจะแห่ทะลักเข้ามาตีตลาดสินค้าในบ้านเรา

สินค้าไม่ว่าจะเป็นของเพื่อนบ้าน หรือ จากมหาอำนาจอย่างจีนจะแห่ทะลักเข้ามาในบ้านเรา ผ่านช่องทางออนไลน์และขบวนการมดงาน ขนของเข้าประเทศตามแนวตะเข็บชายแดน

สินค้ามีทั้งของจริง ของปลอม สินค้ามาถูกต้องผ่านด่านศุลกากร หรือ แบบลักลอบหนีภาษีเข้ามาก็จะมีมากยิ่งขึ้น

สินค้าเหล่านี้จะมาตีตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคในบ้านเรา ก่อให้เกิดความเสียหาย กระทบต่อ SME อย่างแน่นอน สินค้าเหล่านี้ต้นทุนต่ำกว่าสินค้าที่พวกเราผลิตกันส่งผลโดยตรงในมิติทางด้านราคา ที่ต่ำเตี้ยเรี่ยราด คนผลิตอยู่ไม่ได้ สู้ไม่ไหว สุดท้ายก็ต้องตายไปตาม ๆ กัน

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นแล้วครับ และจะยิ่งหนักหน่วงเข้าไปอีก ลองไปเดินดูแถวประตูน้ำ สำเพ็งดูสิครับ นอกจากจะมีสินค้าที่ราคาถูกแล้ว คนขายก็ไม่ใช่คนไทยแล้วนะครับ เป็นคนจีนจากแดนมังกรเลยละครับ

งานนี้ SME คงต้องเตรียมรับมือ หาทางแก้ไข เพื่อจะก้าวต่อไปประเทศไทย 4.0 นะครับ

5.ยุคทองปลาเล็กในบ่อของนายทุนใหญ่

คงเคยได้ยินคำว่า “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” กันมาบ้างนั่นอาจจะเป็นสำนวนที่ล้าสมัยไปในยุคของการตลาดแบบ 3.0 เพราะมักจะมีคนพูดว่า “ปลาใหญ่ช้า แพ้ปลาเล็กเร็ว” ซึ่งก็ไม่ผิดเสียทีเดียวครับ

แต่สำหรับมุมมองผม “ปลาใหญ่” ยังไงก็เป็นประใหญ่ครับ หากผมเปลี่ยนเสียใหม่จากปลาใหญ่เป็นนายทุน เรารู้ตัวกันไหมครับ ว่าเรามันก็แค่

“ปลาเล็กที่อยู่ในบ่อของนายทุนใหญ่” เขาจะเลือกจับเรามาย่างแก้มเบียร์ !! เอ้ย !!! หรือเขี่ยเราทิ้งตอนไหนก็ได้

ถ้าเราอยู่ในบ่อที่นายทุนมี “คุณธรรม” ก็ดีไปนะครับ เราก็โตไปพร้อม ๆ กับเขา เขาช่วยเกื้อหนุน เป็นที่พึ่ง เป็นที่ปรึกษา

ทว่าหากตกอยู่ในบ่อของนายทุนที่ขาด “จริยธรรม” เขามักจะจ้องมอง หลอกให้เราลอง ให้เราลงทุน พอเห็นท่าว่าธุรกิจเราไปได้ดี เขาก็มักจะจับธุรกิจนั้นมาทำเสียเอง เรียกได้ว่าไม่ต้อง เสียเวลา R&D ไม่ต้องวิจัยตลาด ทำเพียงแค่ C&P แล้วทุ่มตลาด เพียงเท่านี้เราก็จอด เขาก็กอบโกย

“ปลาเล็ก” อย่าชะลาใจว่าไวกว่า เร็วกว่า คล่องตัวกว่านะครับ เพราะแม้เราจะคล่องตัวกว่าอย่างไร ก็ย่อมแพ้ภัยของนายทุนอย่างเลี่ยงไม่ได้อย่างแน่นอน ลองสังเกตุเหตุการณ์ที่ผมว่ามารอบ ๆ ตัวเราดูสิครับ ร้านสะดวกซื้อ ร้านยา มีอะไรบ้างที่กลายเป็น แบรนด์ที่ “ผูกมัด” และทำลายตลาด ทำลาย SME ไทย

ไม้จิ้มฟันคงไม่สามารถงัดท่อนซุงได้ เฉกเช่น SME 4.0 ก็ยากที่จะเอาชนะนายทุนครับ หากภาครัฐไม่ช่วย ไม่ปกป้อง SME เหล่านี้

6.SME จะโดนเทคโนโลยีไล่ล่า จนต้องล้มหายตายจากกันไป ผู้ที่อยู่รอดคือผู้ที่ปรับตัวทันเทคโนโลยี

ยุคของคนรุ่น Babyboom เก่าคร่ำครึจะถูกเด็กอย่าง Gen Y,Gen Z แซงหน้าอย่างไม่เห็นฝุ่น เช่นเดียวกับ SME ที่หัวเก่าหัวโบราณ จะค่อย ๆ ล้มหายตายจากกันไป ใช่เพียงแค่ SME หน้าเก่าเท่านั้นที่หากไม่ปรับตัวแล้วจะอยู่ไม่ได้ บริษัทมหาชนใหญ่ ๆ ก็มีโอกาสล้มละลายเอาได้ง่าย ๆ ครับ

เทคโนโลยีใหม่มันจะไล่ล่าเทคโนโลยีเก่า ใครยังใช้เทคโนโลยีเก่า ก็เท่ากับธุรกิจก็จอดไปตามเทคโนโลยีครับ

SME จะโดนเทคโนโลยีไล่ล่าอย่างเอาเป็นเอาตาย ธุรกิจหลายประเภทจะหายไป มีธุรกิจใหม่เข้ามาแทน อนาคตเราอาจจะแทบไม่เห็นพนักงานธนาคาร ,อนาคตเราอาจจะไม่เห็นคนขับแท็กซี่ ,อนาคตเราอาจจะไม่มีที่ยืนในธุรกิจ….

ทางรอดเดียวคือต้อง “ปรับตัวให้ทัน” ผมย้ำนะครับว่า “ให้ทัน” บางคนปรับตัวครับ แต่เป็นการปรับตัวแบบ เจ้าตัว “SLOT” คนอื่นเขาไปถึงไหนต่อไหนกันแล้ว เราแค่เริ่มขยับ อย่างนี้ก็ไม่ได้นะครับ เสียหายเช่นกัน

มันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากนะครับ ที่จะขับเคลื่อนกระบวนทัศน์ทุกอย่างไปพร้อม ๆ ปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยีที่ถาโถมเข้ามา

แต่….ไม่มีทางเลือกครับ ไม่ปรับก็เจ๊ง ปรับช้าก็เจ๊ง เหลือทางเลือกเดียวครับ….

ย่าให้เทคโนโลยีไล่ล่าเรา เราต้องหมั่นเรียนรู้ที่จะไล่ล่าเทคโนโลยีบ้าง เปิดหูเปิดตากับเทคโนโลยีใหม่ ๆ อาชีพใหม่ ๆ ในต่างประเทศ นวัตกรรมใหม่ ๆ มันอาจจะไกลตัวเราในวันที่เรายังไม่เห็นค่า แต่มันจะเป็นภัยใกล้ตัวในวันที่เราไม่ระวังตัวนะครับ

7.R&D และงานวิจัย คือตัวแปรสำคัญในการยกระดับธุรกิจ

นวัตกรรมภาคการเกษตร นวัตกรรมทางด้านสมุนไพร งานที่โฟกัสลงไปในด้านของการวิจัย เพื่อให้เกิดสินค้าใหม่ ๆ หรือเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า (Value Added) คือสิ่งที่ผมมองว่านี่คือการเปลี่ยน “จุดยืน” ให้เป็นมาเป็น “จุดเปลี่ยน” สำคัญของ SME ไทย

บ้านเราเมืองเรา เป็นแผ่นดินที่อุดมไปด้วยผลิตผลทางการเกษตร แต่เป็นประเภทวัตถุดิบเสียส่วนใหญ่ไม่ได้รับการแปรรูปเป็นสินค้าที่เพิ่มคุณค่า

ข้าวสาร เราปลูกเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกแต่ชาวนายากจน เป็นหนี้เป็นสินล้นพ้นตัว แต่ร้านเบอร์เกอร์กลับขยายไปทั่วหัวระแหงรวยเอา ๆ

ยางพารา เราก็ปลูกเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกแต่ราคาก็ตกต่ำ ในขณะที่ยางรถยนต์ราคาสูงขึ้นทุกวัน

ยังมีพืชผลการเกษตรอีกมากครับที่รอ……การพัฒนาสู่ภาคของ “นวัตกรรมเกษตร”

แม้ SME ที่ไม่ได้อยู่ในภาคเกษตรก็ต้องมองในเรื่องของนวัตกรรม งานวิจัยต่อยอดธุรกิจ นะครับ ไม่อย่างนั้นก็จะเกิดเหตุการณ์ที่เราโดนเทคโนโลยีไล่ล่าดังที่ผมว่ามาก่อนหน้านี้

อย่าปล่อยให้ “งานวิจัยอยู่บนหิ้ง” อย่าทิ้งพื้นฐานความเป็นตัวตนของเรา คิดให้ไกลกว่าปลายจมูกที่เราหายใจ นำความรู้ใหม่ ๆ มาพัฒนาธุรกิจเราครับ

8.ตลาดจะถูกขับเคลื่อนด้วยผู้บริโภค ไม่ใช่ผู้ผลิต หรือ การตลาด

อย่าลำพองว่าเราคือสุดยอดนวัตกรรม อย่าโอ้อวดว่าเรานี่สุดยอดนักการตลาด เพราะสองสิ่งนี้แทบจะไม่มีค่าอะไรเลยหาก “ผู้บริโภค” ไม่เล่นด้วย

ตลาดยุค 4.0 เป็นเรื่องของ “ผู้บริโภค” เป็นเรื่องของ “ความต้องการ” ที่เรียกได้ว่าเป็นขีดสุดของอำนาจที่ผู้บริโภคจะขับเคลื่อนได้ว่าจะให้รุ่งหรือให้ร่วงในชั่วข้ามคืน

เคยเห็นดารา เซเลป ดัง ๆ ดับวูป แค่เพียงคลิปเดียวไหว

เคยเห็นเด็กกะโปโล แต่งตัวบ้า ๆ บอ กลายเป็นดีไซเนอร์เด็กชื่อดังแค่เพียงไม่กี่คลิปไหม
เคยเห็นร้านอาหารที่อยู่ในหลืบ แต่คนต้องจองคิวกันไปทานไหม
แล้วเคยเห็นร้านค้าชื่อดังต้องออกมาขอโทษลูกค้าที่มีสิ่งปนเปื้อนอยู่ในถาดอาหารไหม
ถามว่าใครคือคนขับเคลื่อนตลาด ถามว่าใครเป็นคนขับเคลื่อนอนาคตของธุรกิจ

ผมว่าเราเองก็รู้คำตอบนะครับ !!!

โลกของผู้บริโภค ที่เราต้องทำความเข้าใจ และตอบสนองความต้องการเขาให้ได้ครับ ไม่ใช่ว่าเราจะผลิตสินค้าให้สุดยอดอย่างไร แต่ต้องเปลี่ยนโจทย์เป็นสินค้าเราจะตอบสนองความต้องการลูกค้าได้อย่างไร

9.สร้างธุรกิจข้ามสายพันธ์ ไม่ยึดติดในกรอบเดิม เป็นบันไดขั้นแรกการอยู่รอด

ต้องรู้จักประยุกต์ และไม่ติดอยู่ในกรอบรูปแบบของธุรกิจในแบบเดิม สิ่งที่ต้องทำคือ สร้าง “โมเดลธุรกิจใหม่” ก้าวข้าม “โมเดลแบบเดิม” ที่เรามี เราใช้กันอยู่

ต้องฝึกคิด และ ตั้งคำถามว่า “จะเกิดอะไรขึ้นถ้า….”

ผมยกตัวอย่าง ผลงานที่ผมได้เห็นแล้วทึ่งคือ Solar Roof ผลงานของ Elon Musk นักธุรกิจที่สร้างสรรนวัตกรรมข้ามสายพันธ์ ไม่ยึดติดกับกรอบเดิม ๆ ระดับโลก

ปกติหากเราจะติดแผงโซล่าบนหลังคาก็ต้องซื้อแยกมาติดตั้งในภายหลัง แต่สำหรับ แนวคิดของ Elon Musk กลับไม่คิดอย่างนั้น “จะเกิดอะไรขึ้นถ้า…เรานำแผงโซล่ามาทำเป็นหลังคา” เปลี่ยนกรอบแนวคิดเดิม ๆ ของแผงโซล่าเซลล์ เปลี่ยนกรอบเดิม ๆ ของหลังคาบ้าน สู่หลังคาบ้านแบบใหม่ที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ แถมยังมีการดีไซต์ที่เราแทบมองไม่รู้เลยว่านี่คือ “แผงโซล่าเซลล์”

SME ต้องคิด “ข้ามสายพันธ์” คิดใหม่ ไม่ต้องมีขัอจำกัดใด ๆ แล้วค่อยมาดูความเหมาะสม และความเป็นไปได้ว่ามันจะทำได้มากน้อยขนาดไหน ด้วยทรัพยากรที่เรามี หรือหากจะทำสิ่งนั้นให้ได้ต้องใช้ทรัพยากรอะไรเพิ่ม

อย่าติดกับดัก…ว่า “เป็นไปไม่ได้”
เพราะหากเราอยู่กับสิ่งที่ทุกคนแห่กันไปทำ นั่นเท่ากับว่าเราพาตัวเองไปตายอีกคนนั่นเอง
ต้องพยายามสร้างเวทีใหม่ สร้างสนามใหม่ หลีกนีจาก “ทะเลแดง” ด้วยการผสมผสานนวัตกรรม

เราอาจจะไปได้ไม่ไกลเหมือนเขาด้วยข้อจำกัดด้านความรู้ เงินทุน…แต่ใช่ว่าเราจะทำอย่างอื่นให้ดีกว่าเขาไม่ได้ด้วยทรัพยากรที่เรามีนะครับ

10.บินเดี่ยวตายตายคนเดียว ทำงานเป็นทีม สร้างเครือข่ายจึงจะอยู่รอด

ท้ายสุดแต่ไม่สุดท้าย เพราะนี่คือจุดเริ่มต้นของ “SME ไทย 4.0” เราไม่อาจเก่งคนเดียวได้ เราไม่อาจเหยียบหัว บ่า ไหล่ ใครเพื่อขึ้นไปใหญ่ ดี เด่น ดัง คนเดียวได้

ธุรกิจต้องขับเคลื่อนด้วย “ความสามัคคี” ต้องก้าวไปเป็นชมรม คลัสเตอร์ และ สมาคม ต้องมีการพัฒนาเครือข่ายต่าง ๆ ให้เชื่อโยง เกื้อหนุน เกื้อกุลกัน ไม่ใช่แข่งขันชิงดีชิงเด่นกัน

สามัคคีคือพลัง !!! ยังใช้ได้เสมอ “รวมกันเราอยู่ แยกหมู่เราตาย”

SME ใครที่ยังคิดว่า เฮ่ย !!! จะไปรวมกันทำไป เดี๋ยวก็แข่งกัน เดี๋ยวก็หั่นราคากัน เดี๋ยวก็แทงข้างหลังกัน ท่านจะอยู่ยากในยุคของ 4.0 ครับ รับรองท่านได้ตายคนเดียวอย่างแน่นอน

ต้องสร้าง Network ซ้อน Network ให้เกิดขึ้นหลาย ๆ Network แล้วมา Cross กันเชื่อมโยง ประสานผลประโยชน์ ปิดจุดด้อย ส่งเสริมจุดเด่นให้ซึ่งกันและกัน

เปิดใจที่จะ “แบ่ง” เปิดปากที่จะ “สอน” เปิดหูที่จะ “ฟัง” แล้วธุรกิจเราจะก้าวไปข้างหน้า เดินไปสู่ประเทศไทย 4.0