การเลือกหุ้นส่วนจึงสำคัญมาก เพราะถ้าเลือกไม่ดีไม่รู้จักกันมากพอ ปัญหาจะเกิดตามมาแน่นอน ไม่ว่าจะเรื่องผลประโยชน์ไม่ลงตัว การทุจริตหักหลังกัน ทะเลาะกันจนเสียเพื่อนก็มีมากมาย เราจึงต้องระวังอย่าให้เกิดปัญหาขึ้นเพราะความเสียหายนั้นใหญ่หลวงนัก

คนเดียวหัวหายสองคนเพื่อนตาย น่าจะเป็นสุภาษิตที่ใช้ได้กับทุกเรื่องตั้งแต่เรื่องเล็กๆ เช่น อยากไปเที่ยวที่ไหนสักแห่งหนึ่งแล้วชวนเพื่อนที่รู้ใจไปด้วยกัน อาจจะคนหรือสองหรือสามคน ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละคนก็มีความชอบที่คล้ายๆกันจึงไปด้วยกันได้ เรื่องทำธุรกิจก็เช่นเดียวกัน ถ้าเราจะร่วมลงทุน ลงหุ้นกับใครสักคน หมายถึงว่าเราจะต้องร่วมทางกับเขาไปอีกนานประมาณเลือกคู่แต่งงานเลยทีเดียว

ในตอนเริ่มแรกก่อนจะมาร่วมหุ้นลงทุนกัน ทุกคนล้วนมีเจตนาดีในการสร้างธุรกิจด้วยกัน แต่พออยู่ไปนานๆ ความแตกต่างทางความคิด ความเห็นแก่ตัวเริ่มเกิด ปัญหาจึงเกิดขึ้นถึงขั้นเสียหาย ล้มละลาย เลิกกิจการให้เห็นไม่น้อย

ปัญหาหลักๆที่เกิดจากการเลือกหุ้นส่วนของธุรกิจ SME อาจเกิดจาก!!

1.ไม่แยกหน้าที่ชัดเจน

การเลือกหุ้นส่วนมาร่วมงานกัน แน่นอนว่าเราจะต้องเลือกคนมาทำในส่วนที่เราไม่ถนัดหรือมีทักษะแตกต่างจากเรา เช่น เราทำการผลิตได้แต่ถนัดเรื่องการตลาด การหาหุ้นส่วนที่มีความรู้ความชำนาญเรื่องการทำตลาดจะมาช่วยส่งเสริมกัน แต่ในการตกลงร่วมธุรกิจกันก็จะต้องพูดคุยกันก่อนเริ่มงาน แบ่งหน้าที่ให้ชัดเจน วางแผนเรื่องการวัดผลงาน การทำงานต้องสอดคล้องกัน เพราะถ้าไม่คุยกันให้เสร็จก่อนเริ่มงานก็อาจจะมีการเกี่ยงงานกัน ทำงานกันนัวๆ นอกจากหุ้นส่วนจะสับสนกันเองแล้ว พนักงานที่ทำงานด้วยก็จะสับสนไปด้วย ไม่รู้ว่าถ้าเกิดปัญหาเรื่องนี้ต้องคุยกับใคร ยอดขายตกต้องปรึกษาใคร

2.ไม่ได้ลงเงิน

การหาหุ้นส่วนทำธุรกิจ ส่วนหนึ่งหรืออาจเป็นส่วนหลักเลยก็ว่าได้คือร่วมลงทุนเพื่อทำธุรกิจด้วยกัน แต่อาจมีบางคนที่เลือกหุ้นส่วนโดยการมองเห็นแต่ทักษะการทำงานของเพื่อน แต่เพื่อนไม่มีเงินก็เลยใช้หุ้นลม นี่เป็นปัญหาหลักของการเลือกหุ้นส่วนที่ไม่เคยยั่งยืน เพราะเมื่อกิจการเจริญเติบโตก็อาจเกิดคำถามขึ้นมากมาย แกไม่ได้ลงทุนแต่ผลประโยชน์เท่าฉันไม่ยุติธรรมหรือฉันไล่แกออกดีกว่าเพราะมีพนักงานฝึกใหม่เก่งใกล้เคียงกับแกแล้ว ให้แต่เงินเดือนไม่ต้องแบ่งผลประโยชน์ด้วย บลาๆๆ

เพราะฉะนั้น เพื่อป้องกันปัญหาที่ดีที่สุดคือ การลงทุนด้วยเงิน ถ้าเพื่อนคนนั้นไม่มีเงินก็หาคนใหม่ ถ้าเขาอยากทำงานด้วยก็จ้างเป็นเงินเดือนตามผลงาน ส่วนคนที่เลือกจะมาลงทุนด้วยก็ต้องมีฐานะทางการเงินที่มั่นคงพอสมควร มีเงินทุนสำรองมากพอ พร้อมที่จะขยายกิจการไปด้วยกัน แต่ในเรื่องการลงทุนมากน้อยก็แบ่งกันไปตามสัดส่วน ลงทุน 30 ก็มีผลตอบแทน 30 ลงทุน 70 ก็มีผลตอบแทน 70 และนอกจากเงินปันผลแล้วจะต้องมีเงินเดือนเหมาะสมตามหน้าที่การทำงานชัดเจน

แบบนี้รับรองว่าธุรกิจของคุณจะวิ่งฉลุยไม่สะดุฉุดไม่อยู่เลยจริงจิ้งงง

3.ไม่ตกลงเรื่องผลประโยชน์

เรื่องผลประโยชน์ก็เกี่ยวเนื่องกับการลงทุนนั่นแหละ ลงมากได้มาก ลงน้อยได้น้อย ทำงานมากได้มาก ทำงานน้อยได้น้อย นอกจากจะแบ่งผลประโยชน์ตามสัดส่วนการลงทุนแล้ว เงินเดือนสำหรับในแต่ละหน้าที่ความรับผิดชอบก็ควรจะสมน้ำสมเนื้อ ถ้าได้เท่ากันแต่คนนึงทำงานนิดเดียวแต่อีกคนทำงานหนักกว่าเหนื่อยแทบแย่แบบนี้ก็ไม่ยุติธรรม

การตกลงเรื่องผลประโยชน์ให้ครอบคลุมรอบด้านเพื่อป้องกันปัญหาจึงดีกว่าคลุมเครือมัวซัว ไม่คุยกันให้ชัดเจนเพียงเพื่อต้องการหุ้นส่วนเร็วๆเท่านั้น อย่าลืมว่าหุ้นส่วนที่เราเลือกมานั้นจะต้องอยู่กับเราไปอีกนาน ช่วยกันบริหารธุรกิจให้เจริญเติบโต คนทำงานก็อยากจะมีรายได้กันทั้งนั้น ถ้าเค้ามองเห็นว่ารายได้คุ้มกับทุนและแรงงาน เค้าก็จะทุ่มเทแรงกายแรงใจให้กับงานอย่างแน่นอน

4.ไม่รู้จักกันมากพอ

คนที่เราเลือกมาเป็นหุ้นส่วนนั้นจะต้องรู้จักกันมากพอ เพราะถ้าไปคว้าใครมาก็ได้ไม่ work แน่นอน ซึ่งการรู้จักนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นเพื่อนเก่าแก่สมัยเรียนมาช้านาน แต่อาจเป็นคนที่เพิ่งรู้จักและศึกษานิสัยใจคอพอเข้ากันได้ ทำความรู้จักเค้าแล้วเห็นความเป็นไปได้ที่จะไปต่อด้วยกัน มีทักษะที่เราไม่มีเพื่อมาเสริมการทำงานซึ่งกันและกัน ไม่เอาเปรียบกัน

ซึ่งแน่นอนว่าการจะหาใครสักคนที่จะเข้ากันได้กับเราทุกเรื่อง มีความคิดเห็นไปในทางเดียวกันนั้นไม่ง่าย แต่ถ้าคนนั้นพร้อมที่จะปรับตัว รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น เคารพการตัดสินใจของผู้อื่นก็ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่เข้ากันได้

นิสัยในการทำงานของหุ้นส่วนกับเราจะต้องคล้ายๆกัน ถึงแม้จะมีทักษะแตกต่างกันแต่ความขยันควรเท่าเทียม เพื่อจะได้ไม่เอาเปรียบซึ่งกันและกัน หากเราขยันอยู่คนเดียวแต่หุ้นส่วนเข้ามาเดินไปเดินมาแล้วก็กลับ อันนี้อาจทำให้เกิดการบาดหมางกันได้ แต่สิ่งที่นำมาวัดผลว่าหุ้นส่วนของเราทำงานเต็มที่หรือไม่น่าจะใช้ผลงานเป็นที่ตั้ง

5.ไว้ใจมากเกินไป

จิตมนุษย์นั้นไซร้ ยากแท้ หยั่งถึง ในการทำธุรกิจนั้นความไว้ใจซึ่งกันและกันเป็นเรื่องสำคัญ แต่ถ้าไว้ใจถึงขนาดไม่ดูอะไรเลยก็อันตรายเช่นกัน ถึงแม้หุ้นส่วนที่เราเลือกมานั้นคิดว่าดีแล้ว ที่สุดแล้ว แต่อย่าลืมว่าผลประโยชน์ไม่เข้าใครออกใคร เกิดวันนึงเค้ามีปัญหาขึ้นมาต้องใช้เงิน หรือไปเจออะไรที่ดีกว่า จากเริ่มแรกที่ทำธุรกิจอาจมาด้วยความบริสุทธิ์ใจ แต่นานๆไปเมื่อเหตุการณ์เปลี่ยน อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น

แต่ถ้าร่วมงานกันแล้วมัวแต่ระแวงสงสัยเช็คทุกเรื่อง อันนี้ก็อึดอัดเกินไป จากที่ทำงานกันสบายๆไว้ใจกันอยู่ดีๆ อยู่ๆก็ไม่เชื่อกันขึ้นมา ความคลางแคลงใจ ความไม่สบายใจก็จะเกิดขึ้นทั้งสองฝ่าย นานๆเข้าก็กลายเป็นรอยร้าวที่ไม่มีวันกลับคือ แบบนี้ทำให้ธุรกิจล่มสลายมานักต่อนัก

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติตัวกับหุ้นส่วนของเราจะต้องเดนทางสายกลาง ไม่ไว้ใจมากเกินไปแต่ก็ไม่ระแวงถึงขั้นอึดอัด ทางที่ดีวางระบบงานให้โปร่งใส ตรวจสอบได้จะดีที่สุด เพื่อให้การทำงานราบรื่นไปได้ยาวนานและมั่นคง

6.วิสัยทัศน์ในการทำงานแตกต่างกัน

การวางเป้าหมายของบริษัท วิสัยทัศน์ขององค์กรคือสิ่งที่จะนำพาบริษัทให้ก้าวไปในทิศทางเดียวกัน แต่ถ้าหุ้นส่วนของเรามีความคิดเห็นไม่ตรงกัน ถึงแม้จะเขียน Vision Mission ไว้สวยหรู แต่ถ้าผู้บริหารไม่ทำตามซะอย่าง บริษัทก็ไปไม่รอด

การคุยแนวคิดก่อนลงหุ้นร่วมทุนกัน การพูดคุยถึงวิสัยทัศน์ก็เป็น Part หนึ่งที่จะ Set up ให้เดินไปในทิศทางเดียวกัน เป้าหมายเดียวกัน ซึ่งแน่นอนว่าเป็นแนวปฏิบัติให้กับพนักงานด้วย

หากไม่คุยเรื่องนี้ตั้งแต่แรก ตั้งเป็นบริษัทก่อนแล้วค่อยเป็นค่อยไป ค่อยศึกษากันว่าจะไปทางไหนดี เกิดเห็นแย้งกันต่างเอาชนะกัน ซวยเลยแม่จ้าว!!

เหล่านี้เป็นสิ่งที่ SME ควรศึกษาให้รอบคอบรู้จักกันให้ดีก่อนคิดจะมีหุ้นส่วน ในการมีหุ้นส่วนเป็นคนนอกนั้นมีข้อพึงระวังหลายด้าน แต่ก็มีโอกาสที่ธุรกิจจะเจริญเติบโตได้เพราะเลือกคนที่มีความสามารถมีเงินทุนมาเป็นหุ้นส่วน อย่างไรก็ตามไม่ว่าคุณจะเลือกทำธุรกิจแบบไหน ทำกับใคร การวางรากฐานที่ดีตั้งแต่ต้นเป็นสิ่งที่ทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างมั่นคง…