สลัด นับเป็นอาหารสำหรับผู้ที่รักสุขภาพมักจะคิดถึงเป็นอันดับต้น ๆ การได้เจอร้านสลัดที่ถูกใจในรสชาติความอร่อยและคุณภาพแล้ว ย่อมทำให้โดนใจผู้รักการกินสลัดเป็นอย่างยิ่ง หากคุณเคยไปที่  เอสพลานาด รัชดาภิเษก คงจะรู้จักร้าน Jones Salad เป็นอย่างดี โดยร้านนี้มีจุดเด่นในเรื่องของรสชาติของน้ำสลัดที่อร่อยล้ำนำหน้าไม่เหมือนใคร โดยมีให้เลือกหลายรสชาติ

 

ร้าน Jones Salad บริหารงานโดยคุณอาริยะ คำภิโล ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจนี้ โดยมีสไตล์การแต่งร้านที่สวยงามมีความเรียบง่ายดูสะอาดตา  ในช่วงตอนเย็นคนจะแน่นร้านทำให้หาที่นั่งยากสักหน่อย เพราะของเขาดีจริงถึงขนาดที่ว่าต้องเข้าคิวเพื่อซื้อสลัดมารับประทานกันเลยทีเดียว

 

แน่นอนว่าการทำธุรกิจของคุณอาริยะ คำภิโล จัดได้ว่าเป็นผู้ประสบความสำเร็จ ซึ่งกว่าจะมาถึงปัจจุบันย่อมผ่านอุปสรรคปัญหามาพอสมควร วันนี้เรามาแกะรอยความสำเร็จบนโลกออนไลน์และออนกราวด์ ของคุณอริยะ คำภิโล เจ้าพ่อ โจนส์สลัด (jones’salad) กันครับ ด้วย 15 แนวคิดธุรกิจ อริยะ คำภิโล เจ้าพ่อ โจนส์สลัด

 

1.ประสบการณ์แรกเริ่มในการทำธุรกิจ

ก่อนที่คนเราจะประสบความสำเร็จในธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งนั้น บางครั้งเราอาจเลือกธุรกิจอื่นในการทำมาก่อนแล้วผลเป็นอย่างไร เราจึงจะก้าวไปสู่ธุรกิจที่ใช่อย่างแท้จริงได้ คุณอาริยะ คำภิโล เริ่มธุรกิจแรกคือการทำร้านชานมไข่มุก นับว่าประสบความสำเร็จอย่างดีทีเดียว ชนิดขยายสาขาแบบเดือนเว้นเดือนกันเลย โดยตอนนั้นเปิดไป 10 สาขา  แต่แล้วก็เกิดปัญหารายได้ตกส่งผลให้ขาดทุนจึงต้องทยอยปิดกิจการ ปัจจุบันเหลือเพียงร้านที่ยังทำกำไรอยู่ 5 สาขา

ความสำเร็จและความล้มเหลวมันมาคู่กัน ในวันที่เราถึงจุดสูงสุดก็มีโอกาสตกต่ำถึงจุดต่ำสุดได้ วันหนึ่งธุรกิจดี ๆ ก็มีคนเข้ามาแข่งมาแย่งตลาด ยอดขายเราหายนอกจากที่จะดูธุรกิจนั้นแล้ว เราก็ต้องพยายามหาธุรกิจใหม่ เวทีใหม่ให้กับตัวเราเอง

 

2.คิดใหม่เพื่อธุรกิจ

เวทีใหม่ของธุรกิจเกิดจาก “ประสบการณ์เก่า” มารวมกับ “ทัศคติใหม่” หลายคนทำธุรกิจมีเพียงแค่ มุมมองหรือทัศคติ วิสัยทัศน์ แต่ขาดประสบการณ์ทั้งในด้านดีและด้านไม่ดี จึงทำให้หลายครั้งเรา “โลกสวย” จนเกินไป ทำธุรกิจแรกใช่ว่าจะสำเร็จเสมอไป ธุรกิจต่อ ๆ มาก็เช่นกัน แต่ขอให้เราเก็บเกี่ยวความรู้ประสบการณ์จากตรงจุดนั้นค่อย ๆ มาต่อยอดเพื่อให้ได้ธุรกิจใหม่ที่ “แข็งแกร่ง” มากยิ่งขึ้น เหมือน ๆ กับประสบการณ์ของเราที่แกร่งขึ้น เราโตขึ้น ธุรกิจก็จะโตขึ้นเช่นกัน

 

3.หาความรู้

ทำธุรกิจอย่าง “อวดเก่ง” ต้องหมั่นหาความรู้ใหม่ ๆ เข้ามาเสมอ

ยังมีอีกหลายอย่างที่เราไม่รู้ไม่ชำนาญ เราต้องหา ในการขยายสาขาของ Jones Salad นั้นจำเป็นที่จะต้องนำความรู้ในเรื่องบริหารจัดการหลายอย่างเข้ามาช่วยเพื่อเซตระบบร้านให้ได้มาตรฐาน และพัฒนาไปเรื่อย ๆ หากทำธุรกิจก็อย่าหยุดพัฒนาตัวเองด้วย เพราะเมื่อตัวเองพัฒนาก็สามารถนำความรู้นำกลับมาพัฒนาธุรกิจได้ตลอด

 

4.เรียนไปด้วยเปิดกิจการไปด้วย

ไม่ต้องรอให้พร้อม ไม่ต้องรอให้ Perfect ถึงจะทำถึงจะเริ่ม ทำไปด้วยเรียนรู้ไปด้วย ค่อยปรับค่อย ๆ จูนเข้าเข้าที่เข้าทาง หลักทฤษฏีเป็นแค่แกนแนวทางที่จะทำให้เราเดินต่อไป แต่การลงมือทำนี่สิจะทำให้เราไปถึงเป้าหมาย ทำธุรกิจต้องทำแบบ Learning by doing ลงมือทำไปพร้อม ๆ กันเรียนรู้ที่จะแก้ไขปัญหา เพราะไม่ลงมือทำจริงเราก็จะไม่รู้ปัญหาหน้างานจริง ๆ

 

5.สร้างร้านต้นแบบให้ดี

ร้านต้นแบบถือเป็น Masterpiece ของธุรกิจ หากทำไม่ดีโอกาสในการขยายสาขาก็ทำได้ยาก เราต้องพยายามเซ็ตระบบทุกอย่างให้เรียบร้อยจากสาขาที่ 1 ของเรา เรียนรู้กับปัญหาให้ได้มากที่สุด เซ็ตระบบให้เรียบร้อยมากที่สุด เพราะยิ่งมีสาขาเพิ่มขึ้นปัญหาก็จะเพิ่มขึ้น แต่หากเราวางรากฐานจากร้านแรกดี ร้านสาขาถัดปัญหาก็จะลดลงไปมากทีเดียว

อย่าเพิ่งเปิดสาขาใหม่หากร้านแรกยังมีปัญหาคาราคาซังอยู่ ไม่อย่างนั้นมันจะพังลงมาทั้งธุรกิจ

 

6.การวางระบบ

ระบบการบริหารจัดการธุรกิจอาหารมีทั้งรูปแบบที่เป็นพื้นฐาน และ เป็นระบบเฉพาะของธุรกิจ อย่างการบริหารงานลูกน้อง การบริการลูกค้าถือเป็นเรื่องพื้นฐานที่ต้องวางให้ดี ส่วนเรื่องของคุณภาพอาหาร การเก็บรักษาให้ได้คุณภาพ เป็นเรื่องที่ต้องวางระบบให้ดีมากยิ่งขึ้นไม่อย่างนั้นอาหารไม่ได้คุณภาพ อาหารเสียก็ส่งผลต่อลูกค้าที่ทานเข้าไป สิ่งเหล่านี้ เราต้องคำนึงให้มาก ทำของทานเรื่องกินแล้วสะอาด ปลอดภัย สำคัญพอ ๆ กับรสชาดที่ต้องอร่อย

 

7.คุณภาพคน คุณภาพสินค้า

กระบวนการคัดสรรพนักงาน การฝึกอบรม ต่าง ๆ เป็นเรื่องจำเป็นมากพอๆกับการคัดสรรวัตถุดิบที่มีคุณภาพ อาหารอร่อย คุณภาพดี แต่บริการไม่เข้าท่าธุรกิจก็ไปไม่ได้ ดังนั้นต้องให้ความสำคัญกับเรื่องบุคคลากรเป็นอย่างมากเช่นกัน

 

8.ใช้คู่มือและรายการตรวจสอบเพื่อควบคุมคุณภาพ

เพื่อเป็นการควบคุมคุณภาพ จำเป็นต้องจัดทำคู่มือและรายการตรวจสอบ เพื่อที่เจ้าของร้านจะสามารถตรวจสอบงานได้ทั้งระบบ ถึงแม้จะขยายสาขากี่ร้านก็สามารถควบคุมได้ สินค้ามีมาตรฐานและคุณภาพเหมือนกันหมด ด้วยระบบนี้ทำให้คุณอาริยะไม่ต้องเหนื่อยกับการพูดจนปากเปียกเหมือนเมื่อก่อน เรียกว่าสบายขึ้นเยอะเลย

 

9.หลักคิดในการเพิ่มยอดขาย

สินค้าหลักของร้านคือ ผักสลัด จะเน้นคุณภาพ โดยผักจะต้องสดอยู่เสมอ ซึ่งอายุของผักสดนั้นจะสั้นมาก ทำให้สูญเสียต้นทุนไปพอสมควร  แม้ว่าจะขายได้มากแต่กำไรกลับน้อย วิธีคิดคือการเพิ่มยอดขายต่อหัว ว่าควรจะเพิ่มอะไรขึ้นมาที่เหมาะกับร้านสลัดและกลุ่มลูกค้า

เพิ่มสินค้าให้มีความหลากหลายให้ลูกค้าได้ลองทานมากยิ่งขึ้นเท่ากับเป็นการเพิ่มยอดซื้อต่อลูกค้าแต่ละคนให้มากยิ่งขึ้น

 

10.จับคู่สินค้าเพื่อเพิ่มยอดขาย

เทคนิคในการเพิ่มยอดขายอีกอย่างที่สามารถทำได้คือ จับคู่โปรโมชั่น สินค้าที่ควรจะทานร่วมกันเราก็จับคู่ทำขายเป็นแพ็คเก็จ อย่างนี้จะทำให้ปริมาณในการขายเพิ่มขึ้น

 

11.จุดเด่นของร้าน Jones Salad

คุณต้องหาจุดเด่นของร้านให้เจอ โดยร้าน Jones Salad มีจุดเด่นตรงน้ำสลัดที่เน้นคุณภาพของวัตถุดิบอย่างเต็มที่  เช่น ปลาแอนโชวี่ที่นำมาทำน้ำสลัดซีซาร์ นอกจากนี้ยังมีให้เลือกหลายรสชาติถึง 20 แบบ ซึ่งเหมาะกับคนที่ชื่นชอบการรับประทานสลัดเป็นอย่างมาก

 

12.เจาะได้ทุกกลุ่มลูกค้า

ด้วยความที่น้ำสลัดเป็นที่ถูกปากคนไทย จึงสามารถกินได้ทุกวันโดยไม่เลี่ยน นอกจากนี้ยังใช้ผักจากฟาร์มอินทรีย์ที่ปลอดสารพิษ จึงทำให้สามารถเจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้ทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มครอบครัว กลุ่มคนทำงานออฟฟิศ หรือผู้ที่ต้องการจะลดน้ำหนัก ก็สามารถเปลี่ยนมารับประทานสลัดแทนมื้ออาหารได้

 

13.ราคาต้องไม่แพง

นับว่าเป็นจุดขายที่ใคร ๆ ก็ชอบนอกจากจะได้สุขภาพแล้วราคาสลัดต้องไม่แพงเมื่อเปรียบเทียบกับคุณภาพที่ลูกค้าจะได้รับ โดยราคาเริ่มต้นจะอยู่ที่ 69 บาท หากเป็นขนาดที่ใหญ่ขึ้นจะอยู่ที่ 79 บาท  และจะมีการบวกราคาสำหรับ  ท็อปปิ้งซึ่งขึ้นอยู่กับว่าลูกค้าจะเลือกอะไร ไม่ว่าจะเป็น อกไก่ แซลมอน ปูอัด และไข่เป็นต้น

 

14.คิดค้นสูตรใหม่ ๆ

นับเป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่หลีกหนีความซ้ำซากจำเจได้เป็นอย่างดี โดนน้ำสลัดที่ขายดีจะเป็นตัวแซบซีฟู้ด ซึ่งเป็นรสชาติที่คนไทยชอบ คิดค้นสูตรใหม่ ๆ ออกมาเสมอ อย่างเช่น น้ำสลัดกะเพรา โดยเชื่อว่าจะเป็นอีกหนึ่งรสชาติที่ถูกปากคนไทย เพราะส่วนใหญ่คนไทยจะชอบกินกะเพรากันอยู่แล้ว

 

15.บริหารจัดการวัตถุดิบ

การลดต้นทุนเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการทำธุรกิจ คุณอาริยะได้สั่งซื้อผักสดจากฟาร์มขนาดใหญ่ต่อวันประมาณ 150 กิโลกรัม ทำให้มีอำนาจในการต่อรองกับฟาร์ม โดยจะลำเลียงวัตถุดิบจากครัวกลางส่งไปให้แต่ละสาขา รวมถึงการซื้อเครื่องจักรมาทำการผลิตน้ำสลัดทำให้ลดการใช้แรงงานคนไปได้มากทีเดียว

 

นับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของเจ้าของธุรกิจที่ลงมือทำด้วยตัวเองตั้งแต่เริ่มต้น พบปัญหา แก้ไข ปรับปรุงและพัฒนาจนกระทั่งประสบความสำเร็จในธุรกิจเป็นอย่างดี ผมเชื่อว่าการกล้าลงมือทำแล้วเรียนรู้ไปด้วยย่อมดีกว่าการฟังแต่ทฤษฎีเพียงอย่างเดียว ผู้ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ล้วนผ่านอุปสรรคปัญหามากมาย ซึ่งเป็นเหมือนสะพานข้ามไปสู่ความสำเร็จนั่นเอง

 

ธุรกิจน้ำทำสลัดเป็นธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพซึ่งเป็นธุรกิจที่กำลังเติบโต เพราะผู้คนในยุคที่หันกลับมาดูแลสุขภาพจึงเป็นอีก 1 ธุรกิจที่หลาย ๆ คนให้ความสนใจ

Jones’ Salad เป็นอีก 1 ต้นแบบของธุรกิจประเภทนี้ที่เปลี่ยนรูปแบบการทำการตลาดจากร้านสลัดทั่วไปให้ร้านสลัดผักแบบอินเตอร์มีขยายสาขาไปมากมาย แนวทางการทำธุรกิจของคุณกล้อง อริยะ คำภิโล คงทำให้คนที่สนใจธุรกิจนี้เห็นแนวทางในการต่อยอดธุรกิจนะครับ

สำหรับท่านที่สนใจที่จะทำธุรกิจสลัด ร้านสลัดอย่างจริงจัง สามารถมาพบกับคุณกล้องได้ workshop “ทำน้ำสลัดและธุรกิจสลัดเพื่อการค้า” ในวันที่ 21 ม.ค 2560 ทาง Taokaemai.com ได้เชิญคุณกล้องเป็นแขกรับเชิญพิเศษ มาตอบข้อซักถามในการทำธุรกิจสลัดผักอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ แล้วมาพบกันครับ