เป็นที่ทราบกันดีว่า ตลอดระยะเวลาที่ ในหลวง รัชกาลที่ ๙  พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงปกครองประเทศ พระองค์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการ

ทั้งนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรของพระองค์ โดยทรงเสด็จไปเยี่ยมเยียน รับทราบปัญหาและศึกษาข้อมูล จากทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทย จากนั้นพระองค์จะพระราชทานแนวพระราชดำริ พร้อมจัดตั้งโครงการต่าง ๆ มากมาย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อพสกนิกรโดยถ้วนหน้ากัน

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่มีมากกว่า 4,000 โครงการ ซึ่งปรากฏอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศ ส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นในการพัฒนาคุณภาพชีวิต การบริหารทรัพยากรและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมถึงการเสริมสร้างความมั่นคงของชาติ ทุกโครงการล้วนก่อเกิดประโยชน์อย่างต่อเนื่องทั้งสิ้น

หนึ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรในประเทศที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชนำมาใช้ได้แก่ วิธีการสหกรณ์โดยเริ่มต้นจากการจัดตั้งหมู่บ้านหุบกะพง ภายหลังจากคัดเลือกพื้นที่ จำนวน 10,000 ไร่ บริเวณตำบลเขาใหญ่ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

ซึ่งแต่เดิมมีสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรมและแห้งแล้ง โดยเป็นการกันพื้นที่ออกมาจากเขตของกรมป่าไม้ แล้วนำมาจัดสรรให้แก่เกษตรกร โดยที่ดินไม่มีใครเป็นเจ้าของ แต่มีสิทธิในการทำกินและเข้ามาใช้ประโยชน์ มีการนำเทคโนโลยีการเกษตรแผนใหม่มาใช้เพื่อปรับปรุงสภาพดินให้มีความเหมาะสมต่อการทำเกษตร ในลักษณะเป็น หมู่บ้านสหกรณ์ โดยใช้หลักการของสหกรณ์มาดำเนินการเพื่อพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม

15 แนวคิด ธุรกิจที่ได้จากสหกรณ์ในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

1.คิดแล้วลงมือทำ

my-love-king-1

ความตอนหนึ่งในพระราชดำรัสเกี่ยวกับสหกรณ์ทรงตรัสว่า “ทำไปทำมาเขาไปรวมกลุ่มทำ รวมพวกได้มากขึ้น จนเกิดเป็นกลุ่มเกษตรกรร่วมกับกลุ่มสวนผัก เราไปบอกว่า สหกรณ์นี้ดี ก็ช่วยกันทำไปส่งเสริมเขา”

เมื่อพระองค์ทรงดำริว่า การนำการสหกรณ์มาใช้กับเกษตรจะช่วยพัฒนาและเป็นประโยชน์ต่อเกษตรอย่างยั่งยืน พระองค์ก็ไม่ได้หยุดตรงพระดำริ ทรงไปส่งเสริมสนับสนุนให้เป็นรูปร่างให้เป็นจุดเริ่มต้น ซึ่งจะช่วยขยายไปสู่พื้นที่อื่นในวงกว้างต่อไป

2.สร้างต้นแบบก่อนขยายสาขา

หมู่บ้านหุบกะพง ถือเป็นหมู่บ้านตัวอย่างในการบริหารงานโดยรูปของสหกรณ์ที่สมบูรณ์แบบในโครงการพระราชดำริ ซึ่งเป็นแห่งแรกในประเทศไทย

เมื่อทรงเห็นว่าดี ก็มีการขยายผลโดยการนำรูปแบบและวิธีสหกรณ์ไปเผยแพร่ในพื้นที่อื่น ในการทำธุรกิจใด ๆ หากเรามีพื้นที่ในการสร้างต้นแบบเพื่อลองผิดลองถูกหรือทำให้ดีก่อน จะช่วยให้เรามั่นใจและขยายกิจการต่อไปได้

3.ทำกิจการต้องมีความรู้

พระองค์ทรงทราบดีกว่าความรู้เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ประชาชนเข้าใจได้ เมื่อวิธีการสหกรณ์ได้เผยแพร่ออกไป จึงต้องปลูกฝังและให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ด้วย ความรู้เป็นสิ่งสำคัญของการทำธุรกิจทุกชนิด หากทำไปโดยไม่มีความรู้โอกาสเสี่ยงและล้มเหลวก็มีสูงขึ้น

4.การรวมกลุ่มเป็นพลังที่เข้มแข็ง

แน่นอนว่าโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่อื่น ๆ ก็มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการรวมกลุ่มกันของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งการช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในธุรกิจต่าง ๆ ก็มีการรวมตัวกันของผู้ประกอบทางธุรกิจด้วยเช่นกัน

การรวมกลุ่มนับเป็นอีกวิธี ที่จะช่วยให้ธุรกิจเข้มแข็งนำมาซึ่งความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

5.ไม่รอการช่วยเหลือเพียงอย่างเดียว

เป็นความจริงที่ว่าภาครัฐไม่สามารถให้ความช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทั่วถึงทั้งหมด การมีส่วนร่วมกันโดยประชาชนรู้จักการช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันรวมกับการช่วยเหลือของรัฐส่วนหนึ่ง ประชาชนก็จะได้รับประโยชน์สูงสุด

ในภาคธุรกิจก็เช่นกัน ทุกธุรกิจจำเป็นต้องช่วยนำพากิจการของตนเองก่อน ส่วนมาตรการภาครัฐนั้นก็สามารถนำมาวางแผนเพื่อบริหารกิจการของตนให้ดีที่สุดได้

6.ทำงานทั้งกายและใจ

การทำงานร่วมกันจะต้องร่วมมือกันในทุกด้านทั้งด้านที่ทำด้วยร่างกายและงานที่ทำด้วยใจ ซึ่งความตอนหนึ่งทรงพระราชดำรัส คำว่า “สหกรณ์” แปลว่า การทำงานร่วมกัน ซึ่งการทำงานร่วมกันนี้ลึกซึ้งมาก เพราะจะต้องร่วมมือกันในทุกด้าน ทั้งในด้านการงานที่ทำด้วยร่างกาย สมองและงานที่ทำด้วยใจ จะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้

7.สร้างงานสร้างรายได้ด้วยแรงกายที่ทุ่มเท

my-love-king-2

เมื่อมีงานก็มีรายได้ การทุ่มเทแรงกายลงไปในงานย่อมเกิดผลผลิตขึ้นมา เช่น ถ้าเป็นการเพาะปลูกก็เกิดผลขึ้นมา สามารถนำไปรับประทาน เก็บไว้ใช้ หรือนำออกจำหน่าย สร้างรายได้เลี้ยงชีพตน ไม่มีธุรกิจใดที่นั่งเฉย ๆ แล้วเงินจะงอกมาได้จำเป็นต้องทุ่มเทแรงกายลงไปและบริหารจัดการผลผลิตนั้นให้มีประสิทธิภาพที่สุด

8.ทุกหน่วยในองค์กรต้องร่วมมือกัน

พระองค์ทรงพระราชทานแนวคิดว่า หากแต่ละคนทำงานกันไปโดยลำพัง  ผลที่ได้อาจจะไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่พอที่จะเลี้ยงตนเอง ทำให้เดือดร้อน จึงต้องร่วมกัน ในระดับครอบครัวก็เช่นกันคนในครอบครัวต้องช่วยกันทำงาน ครอบครัวก็มีชีวิตอยู่ได้ ในเชิงธุรกิจทั้งผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานก็ต้องร่วมมือซึ่งกันและกัน ธุรกิจก็ไปได้ไม่ล่มไปเสียก่อน

9.คุณสมบัติที่ควรมีในองค์กรเพื่อความเข้มแข็ง

พระราชดำรัสเกี่ยวกับสหกรณ์ที่พระองค์ทรงเน้น คือความสามัคคี ความปรองดอง ความซื่อสัตย์ ความโปร่งใส ความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน

ซึ่งนอกจากจะดีต่อความเป็นสหกรณ์แล้ว ในภาคธุรกิจเองหากมีคุณสมบัติดังกล่าว ก็ทำให้สามารถบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน

10.สิ่งใดที่ทำแล้วได้ผลดีก็นำมาปรับใช้

ปัจจุบัน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้น้อมนำหลักการสหกรณ์มาใช้ในการพัฒนาพื้นที่การเกษตรแปลงรวม โครงการพัฒนาที่ดินแห่งชาติ โดยมีการจัดสรรที่ดินทำกิน มีการจัดตั้งกลุ่มสมาชิกในรูปแบบของสหกรณ์เข้ามาทำกิน มาบริหารจัดการ โดยใช้ต้นแบบจากหุบกะพงเพื่อสร้างความเข้มแข็ง

บางครั้งเราอาจต่อยอดจากความคิดที่มีอยู่แล้วในการทำธุรกิจได้ หรือเดินตามรอยผู้ที่ประสบความสำเร็จมาแล้วก็จะเป็นทางลัดไปสู่การประสบความสำเร็จได้เช่นกัน

11.ทุกธุรกิจสามารถปรับและนำระบบสหกรณ์ไปใช้ได้

อาชีพอื่น ๆ ก็สามารถสร้างความเข้มแข็งด้วยกระบวนการสหกรณ์ด้วยเช่นกัน  อาทิ โคนมหนองโพราชบุรี ก็สร้างความเข้มแข็งโดยนำหลักการของสหกรณ์มาใช้และส่งผลดีจนถึงปัจจุบัน คุณสามารถนำระบบสหกรณ์มาปรับใช้กับธุรกิจของคุณได้ ไม่ว่าจะอยู่ในอาชีพใดก็ตาม

12.รวมกลุ่มบริหารจัดการเพื่อความเข้มแข็งในอาชีพ

นับเป็นสายพระเนตรของพระองค์ท่านที่อยากให้คนไทยมีความเข้มแข็งสามารถรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง มีส่วนร่วมกันในการบริหารจัดการเรื่องของเงินทุน เครื่องจักรกลต่าง ๆ ทำจะช่วยลดต้นทุนการผลิต เมื่อมีการรวมกลุ่มกันและบริหารจัดการทรัพยากรของตนเองอย่างคุ้มค่า ธุรกิจก็เข้มแข็งมีอำนาจต่อรองที่ดีกว่า

13.ความรู้สึกรักใคร่กันและความสามัคคีสำคัญต่อทุกองค์กร

my-love-king-3

ปัจจัยภายในก็มีส่วนสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน การนำระบบสหกรณ์มาใช้จะทำให้ทุกคนมีความรู้สึกรักใคร่ สามัคคี สามารถพึ่งตนเองได้ และยังช่วยเหลือซึ่งกันและกันอีกด้วย

ซึ่งในองค์กรธุรกิจหากพนักงานขาดความสามัคคี องค์กรนั้นก็จะประสบปัญหา ซึ่งยากต่อการบริหารให้ประสบความสำเร็จได้

14.ควรน้อมนำระบบสหกรณ์มาปรับใช้ในธุรกิจของตน

ทุกคนที่ได้เรียนรู้ ศาสตร์ของพระราชา ได้น้อมนำแนวคิดของพระองค์ท่านไปปฏิบัติ และเชื่อว่าสิ่งที่พระองค์ท่านพระราชทานทิ้งไว้ให้เป็นมรดกของคนไทยทั้งประเทศ เป็นศาสตร์ที่มีประโยชน์กับคนไทยในทุกเรื่อง

เราควรน้อมนำศาสตร์ของพระองค์มาปรับใช้ในธุรกิจของเรา เพื่อเป็นหน่วยหนึ่งในการสร้างความเข้มแข็งและมั่นคงตลอดไป

15.ทุกธุรกิจควรให้มีความรักใคร่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงต้องการให้ความรักของคนในสังคมมีมากขึ้น เพิ่มพูนขึ้น ทรงมุ่งหวังให้ทุกคนอยู่ได้ด้วยตนเอง พึ่งพาช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีความรักใคร่สมานฉันท์ปรองดอง

ระบบสหกรณ์ ก็เป็นอีกระบบหนึ่งที่ก่อเกิดความรักใคร่สมานฉันท์ปรองดองของคนในสังคมให้สามารถช่วยตนเอง ช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ตามพระราชประสงค์

การที่พระองค์นำระบบสหกรณ์มาใช้ในโครงการพระราชดำริ เนื่องจากทรงเล็งเห็นว่าระบบนี้ จะก่อให้เกิดความรักใคร่ สามัคคี มีความสมานฉันท์ปรองดอง การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน การมีอำนาจในการต่อรอง การบริหารจัดการทรัพยากรของตนเองได้

ซึ่งพระองค์ทรงพิสูจน์ให้พวกเราเห็นจริงแล้วและทรงสนับสนุนระบบนี้ ในภาคธุรกิจก็เช่นกัน ทุกองค์กรย่อมต้องการความรัก สามัคคี กันในหมู่ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงาน เป็นการทำงานและขับเคลื่อนธุรกิจไปด้วยกัน ผมเชื่อว่าการน้อมนำแนวพระราชดำริไปปรับใช้จะส่งผลดีต่อธุรกิจของคุณอย่างดียิ่ง

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ

ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมส่งเสด็จพระองค์เสด็จสู่สวรรคาลัย

ข้าพระพุทธเจ้า ทีมงาน Taokaemai.com