โอ้ !!! พระเจ้าจ๊อดมันยอดมากกกกก

 เมื่อพูดถึงทีวีไดเร็ค เชื่อว่าหลาย ๆ คนจะต้องร้องอ๋อทันที เพราะเคยผ่านหูผ่านตาและผ่านการช้อปมาแล้วไม่มากก็น้อย

รายการทีวีไดเร็คเป็นการขายสินค้าทางทีวี ซึ่งมีกลยุทธ์ที่ทำให้เป็นที่ติดหูติดตาและมีลูกค้าจำนวนไม่น้อยที่ให้ความสนใจผ่านการซื้อสินค้าทางทีวีไดเร็คกันอย่างต่อเนื่อง

 

และแน่นอนว่าในการทำธุรกิจที่ยาวนานและได้ชื่อว่าประสบความสำเร็จของทีวีไดเร็คนั้นต้องผ่านเรื่องราวที่เป็นข้อคิดมามากมาย และผู้ที่จะให้แนวคิดในการทำธุรกิจนั้นคงจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากคุณทรงพล ชัญมาตรกิจ เจ้าพ่อทีวีไดเร็ค ที่คว่ำหวอดในวงการนี้มานานนับสิบปี จะเป็นอย่างไรบ้างนั้นมาติดตามกันเลยครับ

 

1.มีคู่แข่งในการทำธุรกิจ

เป็นธรรมชาติของการทำธุรกิจที่มิใช่มีเพียงเจ้าเราเจ้าเดียวที่ใช้กลยุทธ์การขายเหมือนเรา รายการทีวีไดเร็คก็ต้องเผชิญรูปแบบการขายสินค้าทางทีวีที่มีรายเจ้าเข้ามาแข่งขันกัน คุณทรงพลจึงต้องใช่พลังในการทำกลยุทธ์การขายเป็นอย่างมาก ซึ่งรายการที่เป็นที่รู้จักอย่างเช่น รายการช้อปปิ้งกริ๊ง 7 สี รายการเคาะแล้วขาย ซึ่งก็ต้องยอมรับว่ามีหลายรายการที่ถึงกาลอวสานเพราะค่าใช้จ่ายมากกว่ารายได้นั่นเอง

 

2.แพ้แต่ไม่ยอมแพ้

ถึงแม้จะเห็นคนอื่นพ่ายแพ้พากันถอนตัวออกไป แต่นั่นไม่ได้ทำให้คุณทรงพลเสียกำลังใจ กลับยืนหยัดจนกลายเป็นผู้ชนะ เพราะเขามีความมั่นใจว่าไม่มีใครแพ้ตลอดไป

 

3.ล้มลุกคลุกคลานไม่ใช่ล้มเหลว

แน่นอนว่าในการทำธุรกิจมิใช่ราบรื่นไปเสียทีเดียว คุณทรงพลต้องล้มลุกคลุกคลานในการทำธุรกิจมากกว่า 1 ครั้ง แต่นั้นไม่ได้เป็นสถิติให้เขาบอกตัวเองว่าล้มเหลวหรือหมดโอกาสประสบความสำเร็จ แต่เขาคิดในทางตรงกันข้ามมากกว่า

 

4.ลงมือทำถึงรู้ผลลัพธ์

คุณทรงพลเริ่มต้นทำธุรกิจขายตรงในนามบริษัท สยาม เทเลมาร์เก็ตติ้ง จำกัด โดยทำร่วมกับครอบครัว เป็นการจำหน่ายสินค้าแบบไดเร็คเมลโดยการส่งแค็ตตาล็อกไปให้ลูกค้า และลูกค้าสามารถสั่งซื้อสินค้าทางโทรศัพท์ได้เลย แต่การทำธุรกิจแบบนี้ถือเป็นบทเรียนต้องใช้เงินลงทุนมาก และด้วยความที่ยังไม่รู้ลึกถึงการตลาดแบบขายตรง ทำให้กิจการไม่เป็นไปตามที่มุ่งหวัง

 

5.ล้มเหลวแต่ไม่ล้มเลิก

ถึงแม้บทพิสูจน์หลังจากงานขายตรงผ่านโทรศัพท์ต้องพบกับความล้มเหลว แต่คุณทรงพลหาล้มเลิกไม่ กลับรื้อธุรกิจด้านนี้ขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยการทำบริษัท โฮมช้อปปิ้งเน็ตเวิร์ก ซึ่งเป็นบริการขายสินค้าผ่านทางไปรษณีย์ คนใกล้ชิดก็เป็นห่วงกลัวจะไปไม่รอดเหมือนครั้งแรก แต่คุณทรงพลก็ทำให้เห็นว่าธุรกิจยังคงก้าวต่อไป

 

6.ทำธุรกิจท่ามกลางคู่แข่ง

เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง คุณทรงพลได้รับคำเชิญชวนให้มาทำธุรกิจด้าน ทีวีช้อปปิ้ง หรือการขายสินค้าผ่านสื่อทีวี ในนามสยามทีวีมีเดีย จำกัด ซึ่ง ณ ตอนนั้นมีคนทำธุรกิจด้านนี้เยอะมาก โดยมีคู่แข่งอยู่ถึง 17 ราย  เช่น ช้อปปิ้งกริ๊ง 7 สี เคาะแล้วขาย เป็นต้น ซึ่งในตอนนั้นคุณทรงพลก็ทำด้วยเช่นกันและสามารถเติบโตได้ดี แต่พอถึงจุดหนึ่งก็กลับสู่ภาวะเดิมอีกครั้งคือพบกับความล้มเหลว

 

7.หาสาเหตุของความล้มเหลว

เมื่อคุณทรงพลไม่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจเป็นครั้งที่ 2 ทำให้เขาต้องกลับมาคิดทบทวนหาสาเหตุว่าเป็นเพราะอะไรกันแน่ เลยตั้งคำถามว่าประเทศไทยมีโมเดลไหม ซึ่งเขาพบว่ายังไม่มีบริษัทใดทำไดเร็คมาร์เก็ตติ้งอย่างเป็นรูปธรรมเต็มรูปแบบ เขาเลยคิดหารูปแบบที่ถูกต้อง จึงบินไปดูงานทั่วโลกและไปจบลงที่ประเทศสิงคโปร์ ที่มีความพิเศษตรงเขาเป็น DRTV ที่เป็นบริษัททีวีช้อปปิ้งแห่งเดียวที่มีร้านค้าปลีกซึ่งไม่เห็นว่าจะมีที่ไหนที่มีแบบนี้

 

8.วิเคราะห์ธุรกิจเป็น

คุณทรงพลเห็นว่าประเทศในแถบเอเชียเกือบทั้งหมดเป็นประเทศที่มีการค้าปลีก ยกเว้นญี่ปุ่นหรือเกาหลี ที่มีพื้นฐานที่แข็งแกร่งในด้านไดเร็คมาเก็ตติ้ง ในประเทศไทยต้องบอกว่ามีน้อยคนที่จะซื้อของทางทีวีหรือทางไปรษณีย์ เพราะไลฟ์สไตล์คนไทยส่วนใหญ่ยังชอบเดินซื้อของในห้างสรรพสินค้า ตกเย็นกลับบ้าน ดูทีวี นอน เช้าตื่นไปทำงาน กินข้าวเย็นนอกบ้าน ซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ต แล้วก็กลับบ้าน เมื่อเป็นดังนี้ โอกาสที่คนไทยจะเจอไดเร็คมาร์เก็ตติ้งจึงน้อยตามไปด้วย

 

9.ภาพลักษณ์ธุรกิจขายตรงไม่ค่อยดี

ต้องยอมรับว่าการตลาดแบบขายตรงมีภาพลักษณ์ไม่ค่อยขาวเท่าไรนัก ค่อนไปทางสีเทา ที่มีการสอดแทรกเข้ามาทำให้ธุรกิจขายตรงเป็นที่จับตาจากภาครัฐเป็นพิเศษ ซึ่งพอเกิดความผิดพลาดเป็นข่าวกับหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หน่วยงานอื่นก็พลอยได้รับผลกระทบตามไปด้วย

 

10.ร่วมหุ้นธุรกิจ

สำหรับประเทศที่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจขายสินค้าผ่านทีวีนั้น เป็นเพราะบริษัทใหญ่ ๆ เขาลงมาดำเนินการเองอย่างประเทศญี่ปุ่น ซัมซุงและแอลจี ก็หันมาทำการตลาดแบบขายตรง คุณทรงพลยอมรับว่าในตอนนั้นคนของเรายังไม่พร้อมรับ จึงได้มีการพูดคุยกับทางทีวีมีเดียแล้วจึงตัดสินใจร่วมหุ้นกัน ซึ่งในปีแรกก็ประสบความสำเร็จที่มาแรงมาก

 

11.ดีเกินไปจนเกิดการตรวจสอบ

พอธุรกิจที่คุณทรงพลทำกระแสมันแรงเกินคาด ทำให้เกิดศัตรูอย่างเงียบ ๆ จึงทำให้บริษัทต้องถูกตรวจสอบเสมอมา จากจุดนั้นทำให้เกิดกฎหมายควบคุมธุรกิจที่ชัดเจนขึ้น อย่างไรก็ตามธุรกิจของคุณทรงพลก็ดำเนินไปด้วยดี จนถึงปี 2540 ซึ่งเกิดภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ทางบริษัทสิงคโปร์จึงขอเทคโอเวอร์

 

12.ปัญหาหนักกลายเป็นวัคซีนชั้นยอด

ในช่วงนั้นปัญหาได้กระหน่ำเข้ามาจนอาจเรียกว่ากลายเป็นวัคซีนชั้นดีไปเลย เพราะถ้าหากบริษัทของเขาไม่ถูกซื้อกิจการ ก็เชื่อว่าคงไม่มีทีวีไดเร็คในวันนี้ จากประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้เขามานั่งขบคิดและหาวิธีสร้างธุรกิจขึ้นมาใหม่ โดยให้อยู่ภายใต้โมเดลที่ถูกต้องมากยิ่งขึ้น

 

13.การใช้ความรู้สึกทำธุรกิจ

ด้วยความที่อยากทำธุรกิจมาก ๆ คุณทรงพลเลยเปิดทีวีไดเร็คขึ้นมา ด้วยเงินทุนเริ่มต้น 400,000 บาท จากความช่วยเหลือของหลาย ๆ คน ซึ่งก็นับเป็นความโชคดีที่ธุรกิจประสบความสำเร็จ แต่อย่างไรก็ตามคุณทรงพลก็อยากฝากบอกนักธุรกิจทุกท่านไว้ว่าคุณอาจจะไม่โชคดีอย่างผม อย่าใช้ความรู้สึกมากเกินไป ผมอาจเป็นเพียงตัวอย่างของความโชคดีเท่านั้น

 

14.ธุรกิจที่เกือบเจ๊ง

คุณทรงพลย้อนให้เราฟังว่า ตัวเขาเองเกือบเจ๊งเหมือนกันเมื่อทำได้ 2 ปีผ่านมา เพราะเกิดน้ำท่วมใหญ่ทำให้สินค้าถูกตีคืนจำนวนมาก เนื่องจากส่งของไม่ได้ เรียกว่าพังยับเยินเลยทีเดียว เขาจึงคิดว่าจะทำอย่างไรดี จึงได้ข้อสรุปที่ว่าของเก่าไม่จ่าย ของใหม่จ่ายสด ซึ่งพนักงานทุกคนก็ให้ความร่วมมือกันเป็นอย่างดี ทำให้เขาพ้นสภาวะล้มละลายและสามารถยืนอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้

 

15.โฟกัสสินค้าตัวเดียวที่เป็นเอกลักษณ์

หลังจากที่เขาเปิดตัวทีวีไดเร็ค เขามีสินค้าที่นำเสนออยู่ประมาณ 17-18 ตัว แต่มีสินค้าที่ได้รับความนิยมสูงสุดได้แก่ เครื่องออกกำลังกาย และยังเป็นช่วงที่มีเงินทุนไม่มาก เขาต้องเลือกโฟกัสไปที่สินค้าตัวใดตัวหนึ่ง ทำให้ภาพของทีวีไดเร็คถูกมองว่าเป็นบริษัทขายเครื่องออกกำลังกายในความเข้าใจของลูกค้าไปในที่สุด

 

เราจะเห็นได้ว่าไม่ว่าธุรกิจใดก็ตาม ล้วนผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านความยากลำบากมาด้วยกันทั้งสิ้น

จนกว่าจะประสบความสำเร็จถึงวันนี้ ซึ่งประกอบด้วยหลายปัจจัย นอกจากปัจจัยภายนอกที่ต้องคิดวิเคราะห์ความเป็นไปของธุรกิจ ของตลาด การวางแผน ปรับกลยุทธ์ เรื่อยมาแล้ว ปัจจัยภายในที่ไม่ยอมแพ้ ยืนหยัด ไม่ล้มเลิก ก็มีส่วนนำพาทุกธุรกิจให้ประสบความสำเร็จมายืนอยู่แถวหน้าได้เช่นกันครับ