ทำธุรกิจเราต้องทำตัวเป็น “นกรู้” บ้างนะครับ อย่าปล่อยให้เรื่องราวเลวร้าย วิ่งเข้ามาหาเราจนสุดท้ายกลายเป็นว่าธุรกิจเจ๊ง ไปต่อไปได้

วันนี้นำประสบการณ์มาแบ่งปันเพื่อน ๆ เถ้าแก่ใหม่ ในประเด็นเรื่องของสัญญาณรัก !!! ไม่ใช่สัญญาณอันตราย ที่เราพึ่งระวังว่าหากเจอสัญญาณต่อไปนี้

1.ยอดขายลดลง

ยอดขายขึ้น ๆ ลง ๆ เป็นเรื่องปกติครับ แต่จะกลายเป็นเรื่องไม่ปกติหากเราไม่ รู้ว่าทำไมยอดขายมันถึงขึ้น และ ทำไมยอดขายมันลดลง ยอดขายมันอาจเป็นเรื่องของปลายเหตุก็ได้นะครับ ยอดขายขึ้นเราอย่าลำพองใจ ยอดขายตกเราอย่าหดหู่ใจ หน้าที่ของเจ้าของธุรกิจต้องหาสาเหตุของปัญหาครับ

เมื่อ “ยอดขายตก” ก็ต้องถามต่อว่า

  • ทำไมมันตก ?
  • คนอื่นเขาตกไหม ?
  • ทำอย่างไรให้ได้ยอดคืนมา ?

2.ส่วนแบ่งการตลาดเริ่มน้อยลง

ยอดขายลดลงว่าน่ากลัวแล้ว แต่ ส่วนแบ่งการตลาดลดลงยิ่งหน้ากลัวกว่าครับ แม้ยอดขายเราเติบโตแต่หากคู่แข่งเขาโตมากกว่าเรา จากที่เขาอยู่ห่างกันระยะวา กลับกลายมาอยู่ใกล้แค่ศอก หรือ แค่คืบ นี่น่ากลัวนะครับ

เราต้องพึงสำรวจด้วยส่วนแบ่งการตลาดตอนนี้เราเป็นอย่างไร หายไปหรือเพิ่มขึ้น สำหรับ SMEs หลายคนบอกว่าดูยากผมให้ข้อสังเกตุง่าย ๆ ครับ ถ้าเราอยู่ในตลาด ในห้าง แล้วมีสินค้ากลุ่มเดียวกันกับเรา ก็ลองสังเกตุเขาดูครับว่า ลูกค้าที่เดินผ่านไปผ่านมาว่าเมื่อก่อนแวะร้านเราเท่าไหร่ แวะอีกร้านเท่าไหร่ แล้ววันนี้หละ !!! แวะร้านเราบ้างไหม ?

3.จำนวนคู่แข่งเพิ่มขึ้น

เป็นไปได้ว่าส่วนแบ่งการตลาดที่ลดลงมีผู้เล่นเข้ามามากยิ่งขึ้น เรื่องนี้ต้องบอกว่าเป็นเรื่องที่น่ากลัวครับ เพราะว่าเรากำลังอยู่ในธุรกิจที่ “เข้าง่าย ตายง่าย อยู่ยาก” คือ มีคู่แข่งเข้ามาตลอด และก็มีที่ล้มหายตายจากไปด้วย

ส่วนอยู่ยากคือ คนใหม่ที่เข้ามามักจะทำให้ตลาดเสีย หรือ แม้แต่คนที่ตายจากธุรกิจเขามักจะทิ้งบอมม์ เรื่องราคาที่ขายขาดทุนไปบ้าง เรื่องคุณภาพที่ไม่ดีไว้บ้าง เรียกว่า “ปลาน้ำตัวเดียว ก็เหม็นทั้งอ่าง”

เราจะยืนอยู่ได้ไหมเมื่อคู่แข่งเพิ่มขึ้น ?

เราจะยืนอยู่ได้อย่างไรเมื่อคู่แข่งเข้ามาทุกทิศทุกทาง ?

เราจะเหนือกว่าคู่แข่งเราได้อย่างไร …… นี่เป็นคำถามที่เราควรถามตัวเองอยู่สม่ำเสมอ

4.ลูกค้าเริ่มถ่อยห่าง

ลูกค้าเก่าที่เคยมีตอนนี้หายหน้าหายตาไปไหม เคยมีการเก็บข้อมูลลูกค้าไว้บ้างหรือเปล่า หรือขายแล้วก็ขายเลย ไม่เคยสนใจใยดี สร้างความสัมพันธ์กันแบบยาวนาน ทำ CRM บ้างหรือไม่….ส่วนใหญ่ SMEs จะได้ยิน ได้ฟัง เข้าใจ แต่ไม่ได้ทำ

ลูกค้าเก่าหาย ลูกค้าใหม่เงียบ ?? แล้วจะทำอย่างไรหละครับ มัวนั่งโทษฟ้าโทษดิน โทษเศรษฐกิจอย่างนั้นหรือ บางทีเราก็ต้องกลับมามองตัวเราเองบ้างนะครับ

ระบบบริหารจัดการลูกค้า เราทำได้ดีมากน้อยเพียงไหน เรามีมาตรการรักษาลูกค้าเก่าให้อยู่กับเราได้นานแค่ไหนอย่างไร วิธีการดึงดูดลูกค้าใหม่เราทำอย่างไรมีไหม คิด ๆ นะครับ วางแผนและทำนะครับ อย่าปล่อยให้ลูกค้าเดินหายไปจากเราทีละคนสองคน ยิ่งช้ายิ่งเสียหาครับ

5.สินค้ามีปัญหาด้านคุณภาพโดนเคลม

หากมีลูกค้าร้องเรียน เคลมสินค้าถ้ามองในมุมปัญหามันก็คือปัญหาที่เราต้องแก้ ไม่ใช่เป็นปัญหาที่ลูกค้า เขาร้องเรียนแสดงว่าเขายัง “แคร์” เรานะครับ ถ้าเขา “ไม่แคร์” เขาอาจพุ่งตรงไป สคบ. ครับ

แต่ถ้าเจอปัญหาเดียวกันบ่อย ๆ นี่เป็นสัญญาณที่ไม่สู้ดีนักนะครับสำหรับการทำธุรกิจ เพราะนั่นหมายถึงคุณภาพของสินค้าที่ตั้งข้อสันนิฐานได้ว่ามันมีข้อบกพร่อง

ตัวอย่างสินค้าเจ้าใหญ่  ๆ เช่น มือถือ รถยนต์ ฯ บ่อยครั้งที่เขาเจอข้อบกพร่องด้วยตัวเองที่เขาเรียกคืนสินค้านั่นแสดงความรับผิดชอบครับ แต่ก็ต้องแลกด้วยความน่าเชื่อถือ

แต่ก็มีไม่น้อยที่ไม่ยอมรับผิดชอบอะไร จนลูกค้าร้องเรียนออกสื่อต่าง ๆ นั่นเท่ากับว่า “สินค้า” ตัวนั้นมีแต่เสียกับเสียนะครับ ดีไม่ดีเป็น SMEs เล็ก ๆ นี่ถึงขั้นต้องปิดกิจการกันเลยทีเดียว

อย่าได้ดูแคลนการ “เคลม” สินค้า หรือ ข้อร้องเรียนของลูกค้านะครับ เพราะมันอาจจะเป็นแค่ “ไม้ขีดไฟก้านเดียว” ที่จุดไฟเผาไหม้ทั้งป่าเลยนะครับ

6.วิธีการผลิต เทคโนโลยีล้าสมัยกว่าคนอื่น

เพื่อใช้ 4G เราใช้ 2G อย่างนี้ไม่ทันกินนะครับ คนอื่นเขาขายกันทาง Line เรารอลูกค้าโทษหา จะส่งสินค้าให้ดูก็ต้องถ่ายแฟกซ์ ตาย ๆๆ เลยครับอย่างนี้

นี่แค่ในมุมของการสื่อสารนะครับ ต้องดูด้วยนะครับว่าธุรกิจที่เราทำนั้น เทคโนโลยีเขาไปถึงไหนต่อไหนกันแล้ว เรายังเป็น “เต่าล้านปี” อยู่หรือเปล่า แต่ถ้าริจะเป็นเต่า ก็ขอให้เป็น “เต่านินจา” แม้จะช้าก็ปรับตัวได้ เอาชนะปัญหาได้นะครับ

อย่ากังวลที่จะลงทุนบ้างในเรื่องเทคโนโลยี หรือความรู้อะไรใหม่ ๆ เพราะหากขาดสิ่งนี้ไป จะกลายเป็น “เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย” นะครับ “เจ๊ง” ไปใครก็ช่วยไม่ได้

7.จำนวนสต๊อกที่มากขึ้น

มีสต๊อกคงค้างนี่ใช่ว่าจะดีนะครับ สินค้ามันต้องทำรอบให้เร็ว เข้ามาออกไปเก็บไว้ไม่นานมันถึงจะเหมาะ แต่การที่ตุนของเว้นจนใกล้หมดอายุแล้วมาเลหลังขายนี่มัน เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำอย่างยิ่งครับ

ต้องมีระบบการบริหารจัดการสต๊อกที่ดีนะครับ เวลาไหนควรซื้อเพิ่ม ตัวไหนมันมีมากไปหาทางระบายออก อย่าเป็นประเภทหมดไม่รู้นะครับ (ซึ่งส่วนใหญ่พวกเราเป็นแบบนี้) แต่ก็ยังดีที่ไม่เป็นแบบสต๊อกโดนแช่แข็งนิ่งอยู่อย่างนั้นไม่ไหวติงครับ

สำรวจสต๊อกด้วยครับว่า รอบดีไหม อัตราการหมุนเป็นอย่างไร ?

8.ความสัมพันธ์ภายในองค์กรเป็นไปในด้านลบ

เรื่องภายในบริษัทก็เป็นอีก 1 ประเด็นที่เจ้าของกิจการต้องตรวจสอบและสังเกตุสังกานะครับ หากเกิดบรรยากาศมาคุ ๆ นี่ไม่ดีนะครับ

ยิ่งเป็นธุรกิจครอบครัว ทำกันไม่กี่คน หากไม่ลงรอย ไม่กินเส้นกันนี่ ธุรกิจล้มเอาง่าย ๆ นะครับ แม้องค์กรขนาดใหญ่หากมีเรื่องปัญหาภายในองค์กรก็ทำให้ธุรกิจมีโอกาสสะดุด งานเดินล่าช้า ขายไม่ได้ ยอดไม่เดิน ฝ่ายผลิตไม่ถูกกับฝ่ายขายเลยไม่ผลิต ฝ่ายสินเชื่อไม่พอใจฝ่าขายเลยไม่ให้เครดิตลูกค้า ฝ่ายขายไม่พอใจหัวหน้าเลยไม่ยอมขาย เห็นไหมละครับ งานมันสะดุด ธุรกิจมันหยุดชะงัก

อย่าปล่อยให้ธุรกิจตกอยู่ในภาวะนี้นาน ๆ ครับ ทำในสิ่งที่ควรทำ ไม่ใช่มัวแต่เอาใจใคร เกรงใจกัน สุดท้ายก็ตายหมู่ทั้งครอบครัว เละทั้งธุรกิจครับ

9.เกิดการทุจริตภายในบริษัท

รอยรั่วเล็กๆ ที่ใต้ท้องเรือ สามารถทำให้เรือหนักเป็นตัน ๆ ล่มมาแล้วมากมายนะครับ !!! การทุจริตไม่ว่าเล็กหรือใหญ่มันก็คือรอยรั่วดี ๆ นี่แหละครับ วันที่ธุรกิจพอประคองไปได้ก็ไม่เป็นไร แต่วันที่เรือโดนน้ำซึบเข้าเต็มลำเรือ มันก็จม ธุรกิจก็เจ็งนะครับ

อย่าทำเป็นเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ใครโกงใครทุจริตต้องมีมาตรการป้องกัน ป้องปราบ และลงโทษ ของอย่างนี้มันต้องมีการ “เชือดไก่ให้ลิงดู” นะครับหากใจดี พี่มีแต่ให้ ให้อภัย….ระวังคำว่าให้มันจะกลับมาทำร้ายตัวเราเองนะครับ

ผิดคือผิดนะครับ !!! คนทำผิดควรได้รับการถูกลงโทษ ไม่ใช่ปกป้อง

10.ลูกน้องเริ่มตีจาก

ลูกน้องทำงานดี ขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด อดทน รู้งาน พึ่งได้ เริ่มที่จะถอดใจลาออกไปทีละคนสองคน ส่วนที่เหลือก็พวกไม่เอาไหน พึ่งอะไรไม่ค่อยได้อยู่เป็น “ภาระ” จะให้ออกก็ไม่ได้ จะใช้งานก็ทำไม่เป็น

เข้าสู่ภาวะที่ “ย่ำแย่” นะครับ !!! นี่เป็นสัญญาณอันตรายเลยทีเดียว องค์กรไหนที่คนตั้งใจทำงานแล้วไม่ได้รับการเหลียวแล เอาแต่พวกพ้องตัวเอง องค์กรนั้นมีแต่ความวิบัตินะครับ

บริษัทขับเคลื่อนด้วยคนในองค์กร หากคนในบริษัทไม่สามารถขับเคลื่อนได้ หัวนำกลางตัวไม่ตาม ไอ้ที่พอจะนำได้ก็สุดแรงดึงกลายเป็นภาวะเหมือน “วัวเชือกพันเสาหลัก” ไปไหนก็ไม่ได้ ปัญหาต่าง ๆ นานา ก็พันกันอยู่อย่างนั้น

อย่าปล่อยให้ “คนดีๆ “ ในบริษัทต้องขาดขวัญกำลังใจ จนต้อง “ถอดใจ เดินไปจากเรา” นะครับ

11.สภาพคล่องทางการเงินไม่มี

ปัญหามันถูกผูกมาที่จะปม ๆ จนใกล้สุดท้ายคือ สภาพคล่องทางการเงินเริ่มไม่มี เพราะขายไม่ได้ เก็บเงินไม่ได้ สต๊อกบาน คนก็ไม่ทำงาน ไม่ขวนขวาย คนดีก็ตีจาก เงินจะจ่ายเงินเดือนก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาเพิ่ม

สัญญาณชีพธุรกิจ มันเต้น เบาลง ๆ

สิ่งที่ควรทำ ต้องเร่งปล่อยของในสต๊อกครับ เอาทุนมาก็ดี หรือ ขาดทุนก็ต้องยอมนะครับ

ตัดใจนะครับ คนที่อยู่หากทำงานไม่ได้ก็ต้องบอกลากันนะครับ หรือถ้าจะอยู่ด้วยกันมาตรการลดเงินเดือนอาจจะต้องมีครับ

เก็บหนี้ให้ได้มากที่สุดนะครับ และพยายามยืดเวลาเจ้าหนี้ให้นานที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้

ชีวิตจริงมันโหดร้าย !!! ธุรกิจจริงมันไม่สนุกเหมือนที่หลายคนคิดนะครับ ไม่อย่างนั้นคงไม่ได้เห็นข่าวเจ้าของกิจการเป็นหนี้เป็นสินจนต้องฆ่าตัวตายหรอกครับ

ถ้าผ่านเปราะนี้ไปได้ เชื่อว่าเราจะเข็มแข็งขึ้นอีกเยอะ แต่ถ้าผ่านไม่ได้มีแค่ 2 ทางเลือกครับ “ล้มละลาย” กับ “ตาย” ผมว่าเลือกที่จะสู้ต่อไปดีกว่าครับ

12.หนี้เริ่มพอกพูน

หนี้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด !!!! ธุรกิจอยู่ในภาวะที่หมอคงต้องปั้มหัวใจแล้วหละครับ ทุกอย่างมันเหมือนหยุดทำงานไปชั่วคราว ทุกอย่างอยู่ “หัวใจ” ของเราเพียงเท่านั้น จะ “สู้ต่อ” หรือ “ยอมแพ้”

มีนักธุรกิจตัวอย่างหลายท่านที่ “ล้มเหลว” แต่พวกเขาเลือกที่จะสู้ต่อ คุณศิริวัฒน์ นักธุรกิจหมืนล้านล้มละลายปี 40 เพราะพิษเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ต้องกลายมาเป็นพ่อค้าขายแซนวิสตามข้างถนน…แต่เขาเลือกที่จะสู้

แล้วเราหละครับ หากถึงขั้นนี้แล้วเราจะ เอาอย่างไรกับชีวิต

13.ต้องปิดกิจการ

หากสู้ไม่ไหวก็ต้องปิดนะครับ ยอมรับสภาพว่าธุรกิจนี้เราไปต่อไม่ได้ อย่าไปฝังใจเจ็บกับมัน หน้าที่เราคือ “ลุกใหม่” หนี้สินที่มีก็หาวิธีจ่าย ผ่อนจ่าย ยืดระยะเวลาอะไรก็ต้องทำนะครับ

สัญญาณชีพสุดท้ายของธุรกิจ คือ การที่เราเจ๊ง ขาดทุน ต้องปิดกิจการ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมอยากแนะนำและเทียบเคียงให้เราเห็นนะครับ

คนเราตอนใกล้ตายเขาว่ากันว่าจะ คิดถึง “กรรมเก่า” เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ตัวเองเคยทำผิดพลาด หรือ คิดถึงกรรมดี คิดถึงบุญกุศลที่ได้ทำมา

ผมกำลังจะบอกว่า ก่อนที่จะปิดกิจการ ลองทบทวน “ความผิดพลาด” เราสักนิดนะครับว่าเราได้ “บทเรียน” อะไรจากความผิดพลาดครั้งนี้ เมื่อเราทำธุรกิจใหม่ จะได้ไปผิดพลาดซ้ำรอยเดิม

สัญญาณเตือนทั้ง 13 อย่างนี้ ทำให้รู้ว่า ธุรกิจของคุณกำลังจะเข้าสู่โซนอันตรายนี้เป็นสัญญาณที่อยากให้เพื่อน ๆ ได้นำไปเป็นแนวทางในการระแวดระวังธุรกิจตัวเองนะครับ

จงเรียนรู้บทเรียนความผิดพลาดราคาแพงจากคนอื่น หยิบยืมมาเป็นบทเรียนราคาถูกให้กับตัวเองนะครับ