หลายคนเป็น “มือใหม่หัดออนไลน์” เห็นเพื่อนขายของทางเฟสบุ๊คก็อยากขายบ้าง แต่พอเริ่มทำได้ไม่เท่าไหร่ ก็เริ่มถอดอกถอดใจ ทำไมขายของไม่ดีเหมือนคนอื่น

เฟสบุ๊คหนะ เปิดง่าย แต่จะขายของให้ได้นั้น ….ไม่ง่าย (ต่อไปอีกแล้ว) เพราะใคร ๆ ก็ขายของทางเฟส เครื่องสำอาง อาหารเสริม เสื้อผ้า อาหาร ของเล่นเด็ก ของเล่นผู้ใหญ่…เยอะครับ เรียกว่าเต็มหน้าฟีต

แล้วจะทำอย่างไรให้ขายได้หละ !!!

ก่อนจะถึงจุดนั้นลองมาดูก่อนสิครับว่าเราทำอะไรผิดพลาด อะไรไปหรือเปล่าทำให้ของที่เราขาย มันขายไม่ได้

1.จุดประสงค์ไม่ชัดเจน

                เราเปิดแฟนเพจมาเพื่ออะไร ? ขายสินค้า หรือ ขายหน้าตา หรือ แค่อยากบอกให้โลกรู้ว่าตรูก็มีแฟนเพจกะเขาด้วย อยากให้ลองกลับมาถามตัวเองก่อนนะครับ

ถ้าเปิดเพจมาเพื่อขายสินค้า !!! ก็ต้องชัดเจนว่า นี่คือหน้าร้านเรา ก็ต้องมาดูต่อว่าหน้าร้านเราควรมีอะไรที่เป็นจุดหน้าสนใจ น่าดึงดูดให้คนเข้ามาดู มาชม และ มาอุดหนุนเรา

2.สร้างไม่เสร็จรีบขาย

                เมื่อแฟนเพจคือร้านของเรา ลองนึกภาพดูนะครับ หากเรามีร้านที่เป็นแบบที่อยู่ตามห้าง หากเรายังตั้งร้านไม่เสร็จ ยังไม่ตกแต่งอะไรให้เรียบร้อย ยังไม่มีสินค้า ป้ายร้านก็ยังไม่มี สีก็ยังทาไม่เสร็จ … แล้วเราดันเชิญเพื่อน ๆ ว่ามาสิ ๆ เรามีร้านขายบลา ๆๆ อยู่ที่ห้างนี้

คิดตามนะครับเพื่อนมาจะเห็นอะไร ? ก็เห็นสิ่งที่ผมว่ามาด้านบนหละครับ ความว่างเปล่า ความยุ่งเหยิงของร้านที่ยังทำไม่เสร็จ แล้วถามว่าอย่างนี้เพื่อนจะประทับใจไหน คงมีแต่คำถามที่ว่า …แล้วมึงขายอะไรของมึง ชวนกูมาดูเพื่อ ?

แฟนเพจก็เช่นกัน ยังไม่มีอะไรเลย logo,Cover page ,บทความ,สินค้า,ข้อมูลติดต่อฯ ไม่มีอะไรเลย แล้วอย่างนี้จะเชิญเพื่อนมา Like เพื่อ ?

การใจร้อนเกินไปจะทำให้เราเสีย มากกว่าได้….

 

3.ตั้งชื่อเพจ ไม่ชวนซื้อ

คราวนี้ต้องมาดูชื่อร้านของเราว่ามันน่าซื้อ น่าสนใจไหม ผมยกตัวอย่างชื่อร้านต่อไปนี้ให้นะครับ ดูสิว่าเราคิดว่าชื่อไหนมัน น่าสนใจกว่ากัน

  1. Sexy Girl.com
  2. Sexy Girl.com ขายชุดนอนเซ็กซี่ราคาถูก
  3. ขายชุดเซ็กซี่ราคาถูก
  4. ขายชุดเซ็กซี่ราคาถูก by Sexy Girl.com

ตัวอย่างทั้ง 4 ชื่อไม่มีอะไรถูกหรือผิด แต่เป็นเรื่องของความเหมาะสมและเวลา หากเราเป็นเจ้าใหม่ในตลาดสิ่งที่ควรทำคือ “บอกให้ชัดเจนว่าเราขายสินค้าอะไร” ก่อนที่จะโฟกัสเรื่องของแบรนด์ นั่นหมายความว่า ชื่อที่ควรจะใช้ผมแนะนำให้เป็นข้อ (4) หรือ ข้อ (2) แต่ให้น้ำหนักข้อ (4) มากกว่า

แบรนด์เป็นเรื่องจำเป็นก็จริง แต่แบรนด์มันจะไม่เกิดเลยหากเราขายสินค้าไม่ได้ และสุดท้ายตัวเราก็จบไปกับแบรนด์ที่เราคิดกำลังจะสร้าง

 

4.สินค้านอกกระแสแล้ว

สินค้าที่เรานำมาขายมัน Out นอกกระแสไปแล้ว เหมือนวันนี้ถ้าใครยังมาพูดเรื่อง “เหนียวไก่” ถามว่ายังมีคนเออออสนุกอยู่มากไหม คำตอบคือมัน “Out” ไปแล้ว สินค้าถ้าเป็นกระแสก็ต้องเกาะเกี่ยวเก็บผลประโยชน์ให้ไว ให้ทันสถานการณ์ หากช้าไปก็ไม่ต้องทำ

ธุรกิจเครื่องสำอาง ที่มีเกร่อ Facebook แม้ไม่ได้เป็นธุรกิจกระแสมากมายนักแต่ด้วยการแข่งขันสูงมันก็ส่งผลกับกระแสในทางด้านลบเช่นกัน อย่างนี้ก็มีโอกาส “Out”

ต้องดูด้วยนะครับเราอยู่หัวขบวน หรือ หางขบวนของสินค้าเหล่านั้น หากอยู่หางก็พยายามที่จะหาสินค้าใหม่ให้ไวนะครับ ไม่งั้นมันก็ขายไม่ได้อย่างแน่นอน

5.สินค้าราคาสูงเกินไป

สินค้าที่ขายได้ในเฟสบุ๊คโดยส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าที่ราคาไม่สูงมากนักนะครับ เพราะหากสูงมากคนนิยมที่จะเปรียบเทียบ อ้างอิง ส่วนนี้จะได้ประโยชน์มากหากเราจะทำตลาดในฝั่งของ google

สินค้าที่ราคาสูง หรือ ราคาที่สูงกว่าสินค้าคู่แข่ง อย่างนี้อยู่ไม่ได้ครับ ก่อนขายต้องลองสำรวจคู่แข่งดูด้วยนะครับ หากราคาสูงเกินไป…อย่าขายครับ

6.ไม่มีความเคลื่อนไหวในเพจ

ระหว่างร้านที่มีความเคลื่อนไหว ข้อมูลมีการอัพเดตอยู่ตลอดเวลา อย่างน้อยวันละ 1-2 ครั้ง กับร้านที่ 1 อาทิตย์มีการโพสขายสินค้าอะไรสักตัว เป็นตัวเราเราคิดว่า เพจไหนมีความน่าสนใจ มีความน่าเชื่อถือมากกว่ากัน

นึกภาพเราเดินไปในตลาดมีอยู่ร้านหนึ่งผ่านไปกี่รอบก็ปิดไม่เปิดประตูขายของ กับอีกร้านผ่านไปก็มีสินค้าใหม่ตลอดมีคนมายืนดูตลอด มันเป็นเรื่องเดียวกันครับระหว่างออนไลน์และออฟไลน์

มีเพจแล้วก็ต้องมีเคลื่อนไว อัพเดตข้อมูล ข่าวสาร อย่างสม่ำเสมอนะครับ ไม่อัตเดตก็เท่ากับปิดร้าน มันก็ขายไม่ได้ครับ

7.ไม่มีเรื่องราวน่าสนใจ ชวนติดตาม เป็นประโยชน์

คราวนี้ต้องดูอีกว่าเรื่องราวที่เราอัพเพจเรานั้นมัน “น่าสนใจ” และชวน “ติดตาม” หรือไม่ หากไม่โอกาสในการ Like & Share มันก็น้อยลง ยิ่งไม่เป็นประโยชน์กับสินค้าหรือธุรกิจเราแล้วก็จะยิ่งแย่

อย่าโพสขายแต่สินค้า !! สำคัญครับ แม้ว่าเราจะเปิดร้านขายสินค้าก็ต้องมีรายการสร้างความบันเทิงอื่น ๆ ด้วย ทำแฟนเพจให้เหมือนกับสถานีโทรทัศน์ 1 ช่องนะครับ ไม่ใช่ว่ามีแต่รายการข่าว มันต้องมีโฆษณาบ้าง มีรายการเด็กบ้าง ตลกบ้าง ต้องประสานกันไปนะครับ อย่างนี้จะได้รับความนิยม และมีโอกาสเพิ่มยอดขาย

8.เข้าไม่ถึงกลุ่มเป้าหมาย และความต้องการลูกค้า

ประเด็นนี้สำคัญ “เราไม่รู้จักลูกค้าเรา” มันจึงขายไม่ได้ “ลูกค้าเราคือใคร” ปัจจัยพื้นฐานแน่นอนหละ ต้องเป็นเพจ อายุ อาชีพ รายได้ นี่เป็นสารตั้งต้น แต่ๆๆๆๆ….

แค่นี้ยังไม่ใช่ลูกค้าเราครับ สิ่งหนึ่งที่ต้องชัดกว่าก็คือเราต้องรู้ “ความต้องการ” เราต้องรู้ “ปัญหา” ของลูกค้าของเราครับ ไม่อย่างนั้นจะมาบอกว่า เพศหญิง อายุ 19 ปี อาชีพ นักศึกษา จะเป็นลูกค้าเราทั้งหมดอย่างนี้ไม่ได้นะครับ

ตัวอย่างที่ผมยก น้องนักศึกษา ยังต้องแบ่งอีกนะครับ โรงเรียนรัฐ เอกชล ก็รายได้ต่างกัน รสนิยมต่างกัน ความชอบต่างกันอีก เห็นไหมครับว่าไม่ง่ายเลย

ใช่ครับ !! การโฟกัสกลุ่มลูกค้าเป็น Key สำคัญที่ทำให้เรา “ขาย” สินค้าไม่ได้ไงหละครับ

คราวนี้ลองกลับมาดูสินค้าเราใหม่ครับ ว่าแท้จริงแล้วลูกค้าเราเป็นใครกันแน่ ไม่ต้องเอามากครับ เอาแค่เรารู้จักเขาจริง ๆ รู้ปัญหาเขาจริง ๆ แค่นี้พอ

9.ขาดการปฏิสัมพันธ์ ตอบคอมเมนต์ หรือ มีกิจกรรมร่วมกับแฟนคลับ

อย่าเพียงแต่โพสแล้ว ผ่านเลย ไม่มีการตอบคอมเมนต์ หรือ ไม่มีกิจกรรมร่วมสนุกกับแฟนคลับในเพจนะครับ หน้าที่ของ Admin เพจต้องทำหน้าที่เหมือนนักจัดรายการวิทยุสดๆ ครับ ถามมาตอบไป เปิดเพจ พูดคุย จัดถามตอบชิงรางวัลอะไรว่าไป ที่สำคัญต้องมีความบันเทิง ให้กับแฟนคลับ

อย่าใช้แฟนเพจเป็นการสื่อสารแบบทางเดียว คือ กรูอยากบอกอะไรก็บอก แต่อีกฝ่ายถามอะไรกลับมา หรือ ตอบอะไรกลับมาแล้วเราเป็น “จ่าเฉย” อย่างนี้ยอดขายมันก็ “เฉย” ครับ ไม่ขยับ

10.ไม่มีการจ่ายโฆษณา ประชาสัมพันธ์

สุดท้ายของปัญหาที่ว่าขายกันไม่ค่อยได้คือ ไม่มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ นอกจากการโพสทั่วไปแล้วเราต้องมีการวางงบในการโฆษณาใน  Facebook ด้วยนะครับ

หลายคนพลาดอย่างแรง เพราะคิดว่าแค่โพสแล้วจะขายได้ดีร่ำรวย ผมตอบเลยครับ แค่พอขายได้แต่หากจะให้ขายดิบขายดีมันต้อง “โฆษณา” เท่านั้นครับ ขีดเส้นใต้สีแดง ๆ ตัวหนาๆ ไว้เลยครับ ต้องจ่ายเงินจ้างพี่มาร์คในการโฆษณา แล้วสินค้าจะขายได้ดียิ่งขึ้น

อีกนิดเดียวครับ !!! การโฆษณาใน Facebook เป็นเรื่องที่ศึกษาในเชิงลึกพอสมควร การโฆษณาไม่ยากแต่ให้ได้ประสิทธิผล ประสิทธิภาพนั้นไม่ง่ายครับ ข้อนี้ผมแนะนำให้ลองหาหนังสือ หรือ ลองหาคอร์สสัมมนา เกี่ยวกับการทำการตลาดออนไลน์บนเฟสบุ๊คเป็นตัวช่วยนะครับ รับรองว่าคุณจะประหยัดงบในการโฆษณาไปได้มาก แถมยังได้ยอดขายที่ได้มากกว่าที่เรามัว “งมโข่ง” เองอย่างแน่นอน

 

10 ปัจจัยพื้นฐาน ทำไมเปิดเพจมาตั้งนานแต่ก็ยังขายไม่ได้เป็นเพียงไกด์ไลน์ในเรานำไปปรับปรุงแก้ไข “Mind Set” พร้อมทั้งลงมือทำธุรกิจออนไลน์อย่างมืออาชีพมากยิ่งขึ้นนะครับ

ความสำเร็จอยู่ที่การ “ลงมือทำ” และ “เรียนรู้” และ “พัฒนา” ไปตลอดครับ อย่าหยุดที่จะพัฒนาเรียนรู้