ใคร ๆ ก็อยากออกจากงานประจำมาทำธุรกิจส่วนตัวกันว่าไหม?

ที่พบเห็นอยู่เป็นประจำก็อาชีพค้าขาย   มองไปมุมไหนก็เจอแต่ร้าน   ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารขนาดเล็ก   ร้านกาแฟ ร้านขนมเค้ก ร้านขนมปัง แม้แต่ร้านปิ้งย่างก็มีให้เราได้พบเจอกันแทบจะทุกมุมตึก   เพราะใคร ๆต่างก็คิดว่า  ทำง่าย  ลงทุนไม่มาก  ไม่ต้องมีความรู้อะไร  น้อยคนที่จะทำร้านอาหารขนาดเล็กให้ประสบความสำเร็จ

จะเปิดร้านทั้งที  มีอะไรที่เป็นหัวใจหลักๆ มาดูกัน

 1.Food ขายอะไร?

สิ่งแรกเลยต้องเลือกก่อนว่า     คุณถนัดอาหารแบบไหน      จะขายอาหารอะไร  กลุ่มเป้าหมายคือใคร  อย่าเลือกทำอาหารที่คุณชอบเพราะสิ่งที่คุณชอบอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ลูกค้าชอบ   ควรดูความต้องการของกลุ่มลูกค้า ณ.แหล่งชุมชนนั้น ๆ ไม่ต้องไปปรึกษาใครว่าควรเปิดขายอะไรดี เพราะคุณคือเจ้าของร้าน คุณต้องรู้ใจตัวเองมากกว่าคนอื่น

หรือจะเลือกซื้อแฟรนไชส์เพื่อประกันความเสี่ยงให้น้อยลง     ก็ต้องบอกว่าการซื้อแฟรนช์ไชส์ก็ใช่ว่าทุก ๆ แฟรนไชส์จะประสบความสำเร็จ    การที่ธุรกิจของคุณจะไปได้ถึงฝั่งฝัน      มันขึ้นอยู่กับตัวคุณว่า  จะสามารถบริหารร้านได้เหมือนต้นฉบับหรือไม่  ถ้าทุนน้อยหรือไม่อยากซื้อแฟรนไชส์   ก็ต้องขยันทำการบ้าน ศึกษาข้อมูล   เตรียมความพร้อมให้มากเป็นเท่าตัวเลยก็ว่าได้

2.Location   ขายที่ไหน?

สิ่งนี้สำคัญมาก  ผู้ประกอบการควรมองหาทำเลวางธุรกิจ    แม้คุณจะมั่นใจว่าฝีมือการทำอาหารของร้านคุณอร่อยไม่แพ้ร้านอื่น    ต้องมองถึงความเป็นจริงในการเปิดธุรกิจครั้งแรก   มองหาทำเลที่สะดุดตา   ติดถนน  มีที่จอดรถ  การจราจรสะดวก   จะให้ดีสิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น  คุณอย่าหลงเข้าข้างตัวคุณเอง   และอย่าเชื่อคำพูดของคนอื่นที่มาแนะนำสถานที่ให้กับคุณ   คุณต้องใช้เวลาสักระยะอาจจะเป็น 1 สัปดาห์  หรือ  1 เดือนก็ว่ากันไป   ที่คุณต้องนั่งสำรวจ ณ.จุดที่คุณจะทำมาหากิน   ว่าทำเลแถวนั้นเป็นไง   ลูกค้าเยอะจริงไหม   คนแถวนั้นนิยมชมชอบอะไร   สิ่งที่คุณกำลังจะขายคนแถวนั้นกระแสตอบรับเป็นไง

ร้านมีจุดเด่นอะไรที่จะเรียกลูกค้า  เพราะลูกค้าไม่รู้หรอกว่าร้านคุณอาหารอร่อยหรือไม่   พวกเขาจะมองเพียงรูปลักษณ์ภายนอกก่อน   อารมณ์ประมาณว่า   เหมือนคุณกำลังมองดูผู้หญิงสวยๆเดินผ่านมายังไงยังงั้น     ส่วนอย่างอื่นเอาไว้ ทีหลัง

ควรจัดร้านให้สะอาด  บรรยากาศน่านั่ง   บางครั้งทำเลดีติดถนนก็ใช่ว่าจะเรียกลูกค้าได้    ถ้าคุณตกแต่งร้านไม่พอที่จะดึงดูด

คงได้ยินประโยคที่พูดว่า

 “ร้านจะอยู่ในตรอก ซอก ซอย ขอให้อาหารอร่อย ยังไงๆ คนก็ไปกินกัน”

มันก็จริงนะ อย่างไรก็ตามยังมีตัวแปรปลีกย่อยอีกเยอะ     ถึงอาหารจะอร่อยจริง   แต่ถ้าเปิดกิจการครั้งแรก ไปเปิดในมุมอับที่คนไม่รู้จัก    ยังไงๆ คนก็ไม่รู้จักร้านหรอก   มันก็ต้องอาศัยเวลาให้คนเดินเข้าไปกิน  เข้าไปหา   แล้วต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไหร่กว่าร้านของคุณจะมีคนเดินเข้ามา    ฉะนั้นประโยคที่กล่าวมามันใช้ไม่ได้กับร้านที่เปิดใหม่

จะลงทุนทั้งทีเสียเวลาสักนิดในการนั่งดูกลุ่มลูกค้า    ดีกว่าเปิดร้านแล้วมานั่งเช็คทีหลัง    พลาดมาจะแก้ไขก็คงจะหมดเงินไปมากโขทีเดียวเชียวหล่ะ

3.Cost  ต้นทุน

ต้นทุนในการเปิดร้านอาหารขนาดเล็กต้องคำนวณต้นทุนอะไรบ้าง?

ยกตัวอย่าง เปิดร้านขายอาหารอีสาน มีพนักงาน4คน

ค่าเช่าที่ (กรณีต้องเช่า  ยกตัวอย่าง เดือนละ 10,000 บาท)(ไม่รวมมัดจำ)

ค่าน้ำ ค่าไฟ     ( 5,000 บาท/เดือน )

วัตถุดิบต่างๆ     (2,000 บาท/วัน)(2,000X30=60,000+)

ค่าจ้างพนักงาน(คนละ15,000 =60,000 )

ค่าฉุกเฉินต่างๆ ที่ไม่ได้กำหนดในตาราง (ประมาณ 30,000 บาท/เดือน)

สรุป คชจ.ประจำเดือน 10,000+5,000+60,000+60,000+30,000 =165,000 บาท/เดือน

คร่าวๆ อย่างต่ำคุณต้องมีเงินทุนสำรองในแต่ละเดือน 165,000 บาท และสำรองในอนาคตอีก 12-24 เดือน

4.Money Supplied แหล่งทุน

ร้านอาหารขนาดเล็กมีต้นทุนที่แตกต่างกันตามชนิดของแต่ละธุรกิจ     ควรเตรียมเงินสำรองไว้ 1-2 ปี    เพราะการเปิดร้านอาหารของคุณไม่ได้การันตีรายรับในช่วงต้นว่าจะมีลูกค้ามากน้อย     เผื่อค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน    และควรหาแหล่งเงินทุนสำรองเอาไว้ อาทิ ธนาคารสีม่วงที่เปิดสินเชื่อให้กับร้านอาหารที่จดทะเบียนถูกต้อง อย่างน้อย 1ปี   มีการจ่ายภาษีตามที่กฎหมายกำหนด   มีเงินหมุนเวียนเข้า-ออกในทุก ๆ เดือน  อย่างต่ำเดือนละหกหลัก   ขึ้นอยู่กับร้านอาหารของคุณว่า  จำหน่ายอาหารประเภทไหน           และต้องมีเงินค้างบัญชีในแต่ละเดือนๆละ  5 หลัก    อย่างน้อยควรมีการเดินบัญชี 1 ปี ยิ่งในปัจจุบัน มี บยส.ค้ำประกันเงินกู้ให้   เพียงแค่ร้านคุณเข้าหลักเกณฑ์ตามที่กล่าวมา      เท่านี้ธนาคารก็อนุมัติเงินทุนหมุนเวียนให้กับคุณ

อ้อ!!!สำคัญเลยคุณต้องไม่ติดแบล็คลิสกับธนาคารอื่นๆด้วยน๊า    สำหรับร้านอาหารขนาดเล็กที่ไม่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนมาก    สามารถยื่นเอกสารได้ที่ธนาคารของรัฐจะอนุมัติช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับว่าเอกสารที่คุณเตรียมไปยื่นนะ  ครบถ้วนหรือไม่

5.Teams     การคัดเลือกพนักงาน

ไม่จำเป็นต้องเลือกคนเก่ง ในเมื่อคุณเองที่เป็นเจ้าของร้านสามารถทำได้ทุกอย่าง   คุณก็ไม่ต้องกลัวอะไรใช่ไหม   คุณควรเลือกพนักงานที่มีความขยัน ซื่อสัตย์ พร้อมที่จะเรียนรู้งานจากคุณ  ขอแค่คนที่มีพื้นฐานและใจรักงานบริการ    เพราะพวกเขาเหล่านี้จะช่วยพายเรือของคุณไปให้ถึงฝั่ง   แม้จะมีคุณเป็นหางเสือที่แข็งแรง    แต่ในบางครั้งถ้าน้ำมันเครื่องหมดคุณก็ต้องพึ่งใบพายช่วยพายเรือคุณเข้าฝั่ง  อาจจะช้าแต่ก็ยังดีที่มีคนช่วยผ่อนแรงของคุณ  ถ้าอยากให้พวกเขาอยู่กับคุณไปนาน ๆ คุณควรให้เกียรติทีมงานของคุณประหนึ่ง เหมือนคนในครอบครัวของคุณเอง

6.Standard มาตรฐาน

 น้อยนักที่คุณจะเจอพนักงานที่ทุ่มเทให้ร้านเท่ากับที่คุณทำ และใช่ว่าพนักงานคนนั้นๆจะอยู่กับคุณไปตลอด คุณต้องมีมาตรฐานรสชาติอาหาร เผื่อพนักงานคนนั้น ๆลาออกกะทันหัน คุณจะได้เทรนงานให้คนใหม่ รวมทั้งการบริการต้องเสมอต้นเสมอปลาย ด้วยความเป็นกันเองกับลูกค้า ลูกค้ามาทานเมื่อไหร่ก็ยังประทับใจอยู่เสมอ

7.Menu  การออกแบบเมนู

ควรหาเอกลักษณ์ที่เป็นของร้านคุณเอง  และให้ตรงกับสไตล์อาหารที่ร้านคุณขาย    จะให้ดีมีเมนูแนะนำสำหรับลูกค้าที่มาคนเดียวหรือแบบมาเป็นกลุ่มเพื่อช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจได้เร็วขึ้น   ลงทุนทำเล่มเมนูสวยๆเพราะนั่นก็เป็นสิ่งเล้าใจให้ลูกค้าอยากจะลองชิมอาหารของคุณ   พร้อมทั้งภาพประกอบอาหารที่เป็นรูปของอาหารร้านคุณเอง  ไม่ควรไปCopy รูปของร้านอื่นมา   ไม่เช่นนั้นถ้าลูกค้ามาเห็นว่านั่นไม่ใช่รูปของร้านคุณ   ร้านคุณจะเสียเครดิตทันทีและจะเข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภค    คุณอย่าลืมว่าเพียงคำพูดของลูกค้าแค่คนเดียวสามารถส่งผลทั้งลบและบวกให้กับร้านคุณได้

8.Price  การกำหนดราคาอาหาร

ให้ดูราคาคู่แข่งและเอามาเปรียบเทียบว่าต้นทุนของคุณ มันใกล้เคียงกันรึเปล่า    คุณสามารถกำหนดราคาให้ต่ำกว่าคู่แข่งของคุณได้หรือไม่  ไม่ควรกำหนดราคาแพง    แต่ก็อย่าขายถูกจนตัดราคาคู่แข่งมากจนเกินไป    เพราะลูกค้าจะคิดว่าคุณเอาวัตถุดิบไม่ดีมาทำขาย

9.Smile Services  การบริการที่จะทำให้ลูกค้าประทับใจ

กลับมาใช้บริการร้านคุณอีก    ไม่มีอะไรซับซ้อนมาก    เพียงแค่คุณพร้อมทีมงานของคุณปฏิบัติกับลูกค้าทุก ๆ คนให้เหมือนเป็นคนหนึ่งในครอบครัวคุณ    เพื่อนสนิท มิตรสหาย ไปลา มาไหว้ ทักทายด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส

ให้ความเป็นกันเองกับลูกค้า    แต่ก็ใช่ว่าการให้ความเป็นกันเองจะใช้ได้กับลูกค้าทุกคนไปซะหมด   คุณเองก็ต้องดูอารมณ์ของลูกค้าคุณด้วยว่าเขามาในอารมณ์ไหน    ใส่ใจรายละเอียดของลูกค้าแต่ละคน ชอบหรือไม่ชอบอะไร   ทานอาหารรสชาติไหน   ถ้าคุณจดจำรสชาติลูกค้าของคุณแต่ละคนได้ คุณจะได้ใจพวกเขาไปเต็มๆ   และลูกค้าคุณจะรู้สึกดีทุก ๆ ครั้งที่มาร้านคุณ

10.Promote  การประชาสัมพันธ์

และสิ่งสุดท้ายที่จะขาดไปไม่ได้คือการโปรโมทร้านของคุณให้โลกได้ รู้จัก        คุณต้องยอมจ่ายเงินเพื่อส่วนนี้แต่รับรองว่าผลกลับมาที่คุณจะได้มันมากกว่าที่คุณจ่ายไปแน่นอน ไม่จำเป็นต้องไปจ่ายแพงๆให้บริษัทโน่นนี่นั่นมาโปรโมท เพียงคุณจ้างฟรีแลนด์

เขียนโพสต์ร้านของคุณไปแปะตามเวปไซต์ต่างๆ  ลงโซเชียล เฟสบุ๊ค อินสตาแกรม  หรือสั่งทำใบปลิวให้พนักงานของคุณไปแจกตามบ้าน ตามออฟฟิต แต่สิ่งที่จะเร็วยิ่งกว่าการแจกใบปลิวคือลมปากของลูกค้าที่เคยมาทานร้านคุณและเห็นว่าร้านคุณดีจริงก็จะพูดต่อๆกันไป คุณก็จะได้ลูกค้าเพิ่มขึ้นโดยคุณไม่ต้องไปวิ่งหาเอง หรือคุณจะจัดโปรโมชั่นช่วงเปิดร้านใหม่ อาทิ มา3จ่าย2  หรือ สั่งอาหารครบเท่านั้นกี่บาทลดค่าอาหารกี่เปอร์เซ็นต์ก็ว่ากันไป  ลดแลกแจกแถมเลยในช่วงเดือนแรก

เพียงคุณทำทุกอย่างด้วยความซื่อสัตย์ให้บริการด้วยความจริงใจ

ใจเขาใจเราอยากได้แบบไหนก็ทำแบบนั้น อาหารสะอาด สถานที่สะอาด รสชาติอร่อย  ราคาอาหารที่ลูกค้าทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้

ทุก ๆ อย่างอาศัยเวลาในการสร้างฐานลูกค้า  คุณเสมอต้นเสมอปลาย   ลูกค้าไม่ได้มาทานร้านคุณเพราะอาหารอร่อยเลิศเลอกว่าร้านอื่นแต่พวกเขามาเพราะ   รู้สึกดีต่อคุณกับทีมงานและบรรยากาศที่เป็นกันเอง  ไม่นานร้านคุณก็จะเป็นหนึ่งในดวงใจของลูกค้าที่จะคิดถึงและแวะเวียนมาอุดหนุนอยู่ไม่ขาดสาย


บทความโดย

ผู้ผ่านรับการฝึกอบรม “ใช้เวลาว่างเขียนบทความสร้างรายได้”

คุณ โนรี โคตรทุม

เจ้าของร้าน แพรวพราว ไก่ย่างเขาสวนกวาง