วิกฤตโควิด-19 สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับธุรกิจของคุณมากแค่ไหน? สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคหลังวิกฤตจะเป็นอย่างไร? สำหรับคนทำธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME ที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก หลายธุรกิจปิดตัวถาวร บางธุรกิจเพิ่งเริ่มต้นในปีนี้ แต่เจอคลื่นยักษ์ซัดเข้าไปเต็มๆ บางธุรกิจกำลังจะหมดแรง ไม่มีใครอยากให้ธุรกิจเจ๊ง แต่จะทำอย่างไรให้ได้ไปต่อ รวยเอาไว้ทีหลังจังหวะนี้ต้องประคับประคองให้ได้ก่อน นี่คือ 10 แนวทางรอดธุรกิจ SME เพื่อให้ธุรกิจก้าวผ่านช่วงวิกฤตไปได้

10 วิธีทำธุรกิจไม่ให้เจ๊ง ช่วงวิกฤต

1.สต็อกต้องเบา

จังหวะนี้ไม่ใช่ช่วงเวลาที่ควรสต็อกของแบบจัดเต็ม ใครที่กำลังผลิตสินค้าตัวใหม่ แนะนำว่าให้ลองคุยกับทางโรงงานเพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน หรืออาจจะใช้วิธีรวบรวมออเดอร์ผ่านระบบตัวแทน ให้ผู้ที่สนใจจำหน่ายทำการสั่งจองสินค้าก่อน ในระหว่างนี้ก็ทำการตลาดควบคู่ไปด้วย ซึ่งการทำการตลาดก่อนสินค้าจะเปิดตัว ทำให้มีโอกาสขายได้มากขึ้น วิธีนี้ช่วยให้สต็อกสินค้าเบาขึ้น เพราะไม่จำเป็นจะต้องสต็อกสินค้าไว้กับตัวเองทั้งหมด ไม่ต้องสั่งผลิตล็อตใหญ่ หากทำธุรกิจโดยที่ไม่ต้องสต็อกสินค้าได้ยิ่งดี

2.ลูกค้าเก่าคือขุมทรัพย์

ลูกค้าเก่าเปรียบดั่งขุมทรัพย์สำหรับช่วงเวลานี้ หากมีข้อมูลลูกค้าเก่าอยู่ แนะนำว่าให้ติดต่อลูกค้า ใช้ทุกช่องทางที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด แต่ถ้าเป็นไปได้ควรโทรไปพูดคุยจะดีกว่า แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจมากกว่าการส่งข้อความ ทั้งนี้ไม่ใช่โทรเพื่อขอออเดอร์ แต่ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ หากมีสินค้าใหม่ก็อาจจะแนะนำคร่าวๆ เผื่อว่าสนใจ หรืออาจจะสอบถามเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่เคยสั่งซื้อไปแล้วก็ได้เช่นกัน ประเด็นสำคัญคือ ที่ผ่านมาเราได้ทำการเก็บข้อมูลลูกค้าดีแล้วหรือยัง?

3.รับไว้คนทำงานได้หลายอย่าง

ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ เราไม่สามารถแบกรับภาระทุกอย่างไว้ได้ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี เราจะเห็นธุรกิจทยอยล้มลงมากขึ้น ผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องตัดค่าใช้จ่ายบางส่วนเพื่อรักษาธุรกิจให้อยู่รอด แน่นอนว่าบุคลากรก็เป็นเป้าหมายในครั้งนี้เช่นกัน ถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างบีบหัวใจอย่างมากในการที่จะตัดสินใจให้ใครออกจากงาน และคนที่ทำงานได้หลายอย่างมักจะถูกเลือกให้อยู่ต่อ

4.สร้างทางเดินใหม่ให้ไว

หากธุรกิจที่กำลังทำอยู่ตอนนี้ไม่มีรายได้เข้ามาเลย แถมยังมีภาระหนี้อีก เล็งเห็นแล้วว่ามีโอกาสรอดน้อยมากหรือแทบจะไม่มีเลยในช่วงวิกฤตไปจนถึงหลังวิกฤต นี่เป็นเวลาที่ต้องรีบสร้างทางเดินใหม่ หาธุรกิจใหม่ให้ไวที่สุด เพื่อเป็นลู่ทางในการสร้างรายได้เข้ามา แม้มีรายได้ไม่มากเท่าธุรกิจเดิม แต่อย่างน้อยก็มีกระแสเงินสดเข้ามาบ้าง ช่วยลดภาระหนักอึ้งให้เบาลง

5.ไขว่คว้าหาลูกค้าใหม่

หากธุรกิจที่ทำอยู่ยังคงมีรายได้ นอกจากกลับไปหาลูกค้าเก่าแล้ว ขณะเดียวกันการหาลูกค้าใหม่ก็จำเป็นต้องทำเช่นกัน แน่นอนว่าช่วงเวลานี้การหาลูกค้าทำได้ยากและลำบากมากขึ้น แต่ละคนก็อยากได้ลูกค้าเพิ่ม จึงเกิดการแย่งชิงลูกค้าขึ้น ช่องทางการหาลูกค้ามีหลากหลายวิธี ต้องดูว่ากลุ่มเป้าหมายของเราอยู่ในแพลตฟอร์มไหน และต้องคำนวณให้ได้ว่าลูกค้าใหม่หนึ่งคนมีมูลค่าต้นทุนเท่าไหร่? เช่น จ่ายค่าโฆษณา 1000 บาท ได้ลูกค้าใหม่มา 2 คน แล้วจะทำกำไรจากลูกค้าได้เท่าไหร่?  ทำยังไงให้ลูกค้าใหม่กลายเป็นลูกค้าประจำ?

6.ราคากระเป๋าไม่ฉีก

ภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ คนจะใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น เลือกซื้อเฉพาะสินค้าที่จำเป็น สำหรับผู้ประกอบการที่เพิ่งผลิตสินค้าใหม่ออกมา การตั้งราคาขายไม่ควรสูงเกินไป ราคาสมเหตุสมผล ผู้บริโภคสามารถเอื้อมถึงแต่ต้องไม่ทำให้ตัวเองขาดทุน ซึ่งตรงนี้ต้องรู้ในเรื่องของต้นทุนเป็นอย่างดีจึงจะตั้งราคาขายได้

7.ติดปีกเหล็กขึ้นออนไลน์

ถ้าธุรกิจของเราไม่ถูกค้นเจอบนโลกออนไลน์ ถึงเวลาแล้วที่ต้องพาธุรกิจเข้าสู่โลกออนไลน์ แต่อย่าไปยึดติดกับแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่ง เช่น เห็นคนอื่นขายสินค้าใน Lazada  ก็อยากเข้าไปขายบ้าง ต้องดูด้วยว่ากลุ่มลูกค้าของเราอยู่ตรงไหน ให้พาตัวเองไปอยู่ตรงนั้น ลูกค้าของเราใช้แพลตฟอร์มใดมากที่สุด ก็ต้องทำความเข้าใจ ศึกษาหาความรู้และเชี่ยวชาญในการใช้แพลตฟอร์มนั้น

8.ค้าขายเงินสด

พยายามเลี่ยงการค้าขายแบบเครดิตไปก่อน ในภาวะเช่นนี้ควรถือเงินสดไว้ดีที่สุด เพราะเราไม่รู้ว่าจะได้เงินเมื่อไหร่ บางคนไม่มีเงินทุน ก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมา กลายเป็นสร้างภาระเพิ่มขึ้นไปอีก

9.ลด ปรับ เลิก เปลี่ยน

            ดูว่าค่าใช้จ่ายอะไรบ้างที่สามารถลดได้ ถ้าธุรกิจยังพอไปต่อได้ให้ปรับโมเดลธุรกิจเพื่อหาลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่ควบคู่กันไป แต่ถ้าธุรกิจไปต่อไม่ได้แนะนำให้เลิกหรือพักก่อน แล้วเปลี่ยนไปทำธุรกิจอย่างอื่นแทน ที่สามารถสร้างรายได้ ทำให้เกิดกระแสเงินสดเข้ามา

10.เพียรให้มากยิ่งขึ้น เพิ่มพูนพันธมิตร

ยิ่งเจอวิกฤต ยิ่งต้องขยันให้มากขึ้น ทำงานให้หนักขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้ธุรกิจอยู่ได้ ในขณะเดียวกันก็ให้เพิ่มพูนพันธมิตรทางธุรกิจ ที่สามารถช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน อะไรที่เรามี อะไรที่เรายังขาด ลองดูว่ามีใครสามารถช่วยได้หรือไม่ ในวิกฤตเช่นนี้อาจได้พาร์ทเนอร์ดีๆ เข้ามาช่วยเสริมเกราะให้ธุรกิจอยู่รอดและไปต่อได้

หนทางในการรอดจากวิกฤตในครั้งนี้ ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวสู่ New Normal ดึงเอาศักยภาพในตัวเองออกมาใช้ให้มากที่สุด ต้องรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ลูกค้าต้องการในตอนนี้ ตรงกับจุดแข็งหรือสิ่งที่เรามีหรือไม่ พยายามคิดให้ได้แล้วลงมือทำทันที ถ้าไม่พยายามทำอะไรเลย ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงอะไรเลย ก็ยากที่จะรอดจากสถานการณ์อันน่าวิตกนี้ไปได้

บริการอบรม ให้คำปรึกษา การทำให้สินค้าค้นหาเจอบน Google การทำ Digital Marketing & Brand Storytelling ทั้งแบบรูปแบบองค์กร กลุ่ม และ ตัวต่อตัววิธีทำธุรกิจไม่ให้เจ๊ง