คุณเคยตกอยู่ในสถานการณ์เหล่านี้บ้างไหม
– เงินไม่พอใช้ ชักหน้าไม่ถึงหลังทุกเดือน
– ต้นเดือนหรูหราอย่างราชา ปลายเดือนตกอับยิ่งยาจก
– สารพันหนี้มาอีกแล้ว นอนก่ายหน้าผากมองเพดาน จะหมุนเงินอย่างไรดีเนี่ย
คนที่เคยเจอปัญหาเช่นนี้หลายๆคนใช่ว่าจะไม่เคยวางแผนการเงิน บางคนประหยัดจนหัวโตตัวลีบ บางคนรัดเข็มขัดจนหายใจไม่ออก แต่ทำไมเงินมันก็ยังไม่พอใช้เสียที ปัญหาจริง ๆมันอยู่ตรงไหนกันแน่?
การประหยัดเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้องเสมอไปหรือเปล่าหนอ? วันนี้เราลองมาหาคำตอบการแก้ปัญหาเงินไม่พอใช้กัน
ทุกคนต้องเคยได้ยินคำว่า “อย่าใส่ไข่ทั้งหมดไว้ในตะกร้าใบเดียว” เพราะถ้าวันหนึ่งตะกร้าคว่ำ คุณจะไม่เหลืออะไรเลย ใช่แล้วครับ ปัญหาทางการเงินที่เราแก้ไม่ตก มันไม่ได้อยู่ที่ว่าเราจะประหยัดอย่างไร เราจะกระเบียดกระเสียรอย่างไรให้อยู่รอดในแต่ละเดือน แต่มันอยู่ที่เราจะทำอย่างไรให้รายได้เพิ่ม ถ้ารายได้ทางตรงมันไม่พอ มันพอจะมีรายได้ทางอื่นที่เราจะเอามาจุนเจือได้ไหม
ต้นทุนทางฐานะ ต้นทุนทางสังคมของแต่ละคนอาจไม่เท่ากัน แต่ทุกคนมีต้นทุนเดียวที่เท่าเทียมกันทุกคน ต้นทุนนั้นคือ “เวลา”
มันขึ้นกับว่าคุณจะบริหารเวลาเช่นไรเพื่อให้เกิดประโยชน์และสร้างรายได้ให้เพียงพอกับการใช้ชีวิตของคุณ รายได้ที่เพิ่มขึ้นย่อมหมายถึงความมั่นคงในชีวิต ย่อมหมายถึงเงินเก็บที่สามารถเอาไปต่อยอดได้อีกหลายทอด ลองมองมุมกลับปรับมุมมองใหม่ กระจายไข่ของคุณไปไว้ที่ตะกร้าใบอื่นบ้าง แล้วคุณจะรู้ว่า “โอ้โห นี่แหละชีวิตที่ฉันตามหา มานานแสนนาน”
เคยได้ยินคำว่า “Side Hustle” ไหมครับ คำ ๆนี้เป็นคำที่ค่อนข้างใหม่ และถูกนิยามความหมายขึ้นมาใหม่โดย “พาเมร่า สลิม” เจ้าของหนังสือดัง “Escape from Cubicle Nation” โดยได้นิยามไว้ว่า “กิจการเล็ก ๆเป็นอิสระที่ทำตอนนอกเวลางาน” ในขณะที่ Urban dictionary ได้นิยามคำ ๆนี้ไว้ว่า
งานที่ทำควบคู่กันไป ทำให้เกิดรายได้เพิ่มจากงานประจำเป็นธุรกิจที่ทำในช่วงสุดสัปดาห์หรือนอกเวลางาน
พอถึงตรงนี้หลายๆคนคงเริ่มทำหน้าสงสัยกันแล้วว่า “อ้าว แล้วมันต่างจากการวิ่งรับจ๊อบตรงไหน หรือต่างจากการไปทำงานพาร์ทไทมที่ร้านกาแฟหรือร้านสะดวกซื้ออย่างไร”
แน่นอนครับ มันต่างแน่ มันต่างกันตรงที่ Side Hustle คุณต้องมีการวางแผนอย่างเป็นระบบและอาศัยความต่อเนื่องมากกว่า เพื่อที่ว่าคุณจะได้มีรายได้จากมันอย่างต่อเนื่องและมั่นคงในระยะยาวการจะไปถึงขั้นนั้นคุณจำเป็นที่จะต้องพัฒนา ฝึกปรือทักษะของคุณอย่างสม่ำเสมอ และให้คิดเสมือนว่าคุณกำลังทำธุรกิจของตัวเองอยู่ แล้ววันหนึ่งคุณจะพบว่า “โอ้ว ชีวิตฉันเปลี่ยนไปขนาดนี้เลยเหรอเนี่ย”
น่าสนใจขึ้นมาแล้วใช่ไหมครับสำหรับคำว่างานที่ 2 หรือ Side Hustle คราวนี้คำถามต่อมาก็คือแล้วฉันจะหางานที่2 ได้จากไหนกันล่ะ ลองดูตรงนี้สักนิด เผื่อจะทำให้คุณค้นพบว่าคุณเหมาะกับงานที่2ในรูปแบบไหน
นิค โลเปอร์ เจ้าพ่องานที่ 2 ได้นำเสนอไอเดียไว้ในหนังสือ Side Hustle Path โดยแบ่งงานออกเป็นสายตามผู้ที่ทำงานจริงและมีรายได้จริง ๆ เรียกว่า “แม่น้ำใหญ่สี่สาย” ซึ่งก็คือ ปิง วัง ยม น่าน เอ้ย!!! ไม่ใช่ แม่น้ำใหญ่ของนิคมีดังนี้ครับ
สายที่1: ขายทักษะหรือบริการ
ลองค้นหาดูว่าคุณมีทักษะหรือความสามารถอะไรที่ทำออกมาได้ดีแล้วนำเสนอมันออกมา
บางคนถนัดการถ่ายภาพก็ลองแสดงผลงานที่คุณทำออกมาให้คนอื่นได้เห็น เผื่อผลงานเข้าตาคุณอาจจะได้รับงานถ่ายภาพเป็นงานที่ 2ก็ได้ ใครชอบทำขนมหรือทำอาหาร ใครชอบถักนิตติ้ง หรือปลูกต้นไม้ วาดรูปทำงานศิลปะได้ทั้งนั้น หรือใครชอบงานขีดเขียนก็ลองดูครับ บางครั้งสิ่งที่เพื่อนๆมักขอคำปรึกษาจากคุณนั่นแหละคือทักษะพิเศษของคุณ อย่าดูถูกทักษะพิเศษของคุณ มันอาจทำเงินให้คุณโดยไม่รู้ตัว
สายที่2: แบ่งปันทรัพยากรกันใช้
เคยไหมที่จัดบ้านทีไร ได้แต่อุทาน โอ้โหทำไมข้าวของมันเยอะอย่างนี้ ซื้อมาก็ไม่ค่อยได้ใช้ ที่ใช้ก็ไม่กี่ครั้ง วางจนฝุ่นจับหนาเตอะลองเอาของเหลือใช้เหล่านี้มาเป็นรายได้เสริมดูสิ ประกาศปล่อยเช่าให้คนเอาไปใช้งานดู ของบางอย่างหลายๆคนก็ไม่ได้อยากซื้อเก็บ บางคนต้องใช้มันแค่ครั้งเดียวแล้วก็ไม่ใช้อีก
หาข้อมูลดูว่ายังมีใครที่อยากเช่าอะไรบ้าง บางทีเราอาจเจอความต้องการแปลกๆที่เราก็มีอยู่ก็ได้
สายที่3: สอนคนให้จับปลา
เคยมีใครมาพูดกับคุณไหมว่า ถ้าอยากรู้เรื่องนี้ต้องมาถามจากคุณ คุณคือผู้เชี่ยวชาญเป็นพิเศษในเรื่องนี้เลยนะ ถ้ามีก็ขอแสดงความยินดีด้วย คุณกำลังจะได้อาชีพที่2แล้ว ลองเอาความเชี่ยวชาญพิเศษนั้นมาเปิดสอนดูสิ เชื่อเถอะในสิ่งที่คุณบ้าจนได้ดีมันก็มีคนที่สนใจอยากจะทำแต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไรอยู่นะลองเปิดคอร์สออนไลน์สอนคนดูสิ ถ้าคุณทำอาหารเก่งหรือมีฝีมือในการปั้น การทำโมเดล หรือคอร์สพัฒนาบุคลิกภาพ ยิ่งสมัยนี้อะไรๆก็ออนไลน์ อยู่ที่ไหนก็เรียนได้นี่แหละโอกาสของคุณตลาดของคุณ
สร้างหรือหาสังคมที่สนใจเหมือนๆกันแล้วลงมือสอนเขาซ่ะ อย่าชะล่าใจไปมีคนทำแบบนี้เยอะนะจะบอกให้
สายที่4: ซื้อถูกแล้วขายแพง
ใครที่ชอบช็อปปิ้งหรือซื้อของออนไลน์ยกมือขึ้น โอกาสของคุณมาถึงแล้ว ใช้ความตาถึงของคุณให้เป็นประโยชน์ ซื้อมาขายไป ลองสำรวจดูว่ามีสินค้าอะไรที่มีคนต้องการขาย และมีคนต้องการซื้อ แล้วคุณก็จับมาแมตซ์กันซะเลย หรือของอะไรที่คุณชอบใช้แล้วมันดีจริง ๆ
ลองเปลี่ยนตัวเองจากผู้ซื้อมาเป็นผู้ขายดู หารายได้จากการช็อปปิ้งดู คุณก็สนุกแถมยังมีรายได้อีกด้วย มันดีต่อใจไหมล่ะ
จะเห็นได้ว่า งานที่2มันไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับงานประจำเลยก็ได้ อาจเป็นงานที่แหวกแนวหรือฉีกออกไปอย่างสุดขั้วกับงานประจำเลย หากยังคิดไม่ออกอีก ลองดูว่างานนั้นมีคุณลักษณะแบบนี้ไหม
- เป็นสิ่งที่คุณชอบ
- เป็นสิ่งที่คุณทำมันได้ดี
- เป็นสิ่งที่คุณมองเห็นลูกค้าหรือรู้ว่าทำแล้วจะขายใคร
- เป็นสิ่งที่ลูกค้าก็ยินดีที่จะจ่ายมันเช่นกันที่งานนั้นสำเร็จ
ถ้ามีครบก็ยินดีด้วย นั้นแหละคืองานที่ 2 ของคุณ
ถึงตรงนี้หลายๆคนน่าจะมีไอเดียดี ๆขึ้นมาแล้วว่าจะทำอะไรเป็นงานที่2ดี อย่าปล่อยให้ไอเดียเหล่านี้เป็นแค่ไอเดียดี ๆ มันต้องลงมือทำมิเช่นนั้นไอเดียเหล่านี้มันก็จะเป็นแค่ไอเดียดี ๆตลอดไป พึงระลึกไว้ว่าค้นหามันจากสิ่งที่คุณรักหรือความชอบของคุณ
เมื่อหาเจอคุณจะอยู่กับมันได้นานและทำมันได้อย่างมีความสุข หาข้อมูลให้มาก ปรึกษาพูดคุยกับกลุ่มคนที่มีความสนใจคล้ายๆกัน มองหาตลาด มองหาโอกาส มองงานนี้เป็นเสมือนอีกหนึ่งธุรกิจ เพียงแต่เป็นธุรกิจในยามว่างหรือหลังเลิกงาน ที่สำคัญคืออย่าเพิ่งทิ้งงานประจำจนกว่างานที่2จะมั่นคง
สร้างรายได้มากกว่างานประจำและคุณมองเห็นช่องทางที่มันจะพัฒนาและไปต่อได้ เมื่อนั้นคุณจึงค่อยตัดสินใจว่าจะลุยมันอย่างเต็มตัวหรือไม่
“ไม่มีการเดินทางใดที่ไม่มีขวากหนาม อย่าย่อท้อต่ออุปสรรค และเดินทางอย่างมุ่งมั่น เมื่อนั้นความสำเร็จย่อมต้อนรับคุณเอง”
บทความโดย
ผู้ผ่านรับการฝึกอบรม “ใช้เวลาว่างเขียนบทความสร้างรายได้”
คุณ นรินทร์พล ตรีรัตน์สกุล นักกายภาพบำบัด |
บริการอบรม ให้คำปรึกษาการทำธุรกิจออนไลน์ ฝึกอบรมภายในบริษัท แบบตัวต่อตัว การทำ Content Marketing,การโฆษณา Facebook,การโฆษณา Tiktok,การตลาด Line OA และการทำสินค้าให้คนหาเจอบน Google
บริการดูแลระบบการตลาดออนไลน์ให้ทั้งระบบ
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสารความรู้การทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ Add Line id :@taokaemai
รับชมคลิป VDO ความรู้ด้านการตลาด กรณีศึกษาธุรกิจ แหล่งเงินทุนน่าสนใจ ติดตามได้ที่ช่อง Youtube : Taokaemai เพื่อนคู่คิดธุรกิจ SME