เมย์เป็นคนเงียบ ๆ แต่เก็บข้อมูลมาก และสามารถแยกปัญหาออกเป็นงานชิ้นเล็ก ๆ เพื่่อนำมาแก้ไข ผลักดันพัฒนาธุรกิจได้อย่าง อัศจรรย์
ด้วยความที่เมย์ได้มีโอกาสทำธุรกิจตั้งแต่สมัยเรียน จึงทำให้เขาได้สัมผัสทั้งความล้มเหลว และผิดหวัง เขาเห็นปัญหาเป็นเพื่อนที่เดินร่วมทางกับความสำเร็จ จึงไม่กังวลกับปัญหาอะไรใหม่ ๆ ที่จะได้เจอในการลงมือทำธุรกิจอะไรใหม่ ๆ เพราะนั่นคือความ “ท้าทาย” ที่เขาต้องเอาชนะเพื่อให้ธุรกิจไปถึงเป้าหมาย
ผมอยากให้ “เถ้าแก่ใหม” ลองอ่านเรื่องราวนี้และถอดแบบแนวคิด How to ในการเริ่มต้นธุรกิจ การแก้ปัญหาแบบ“มองภาพกว้าง ย่างก้าวเล็ก” ในแบบฉบับของ เถ้าแก่ใหม่ คนนี้ครับ
แนะนำตัวได้เลยครับเมย์
สวัสดีครับ ผม เมย์ รัชกิจ อัศวชินนเทพกุล น้องชายผม กร ทรงยศ อัศวชินเทพกุล เรา 2 คนร่วมกันสร้างธุรกิจของครอบครัวครับ
ทราบว่าเคยทำธุรกิจตั้งแต่สมัยเรียน เล่าให้ฟังหน่อยสิครับ
ใช่ครับผมเริ่มค้าขายครั้งแรก สมัยเรียน ม6 ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เริ่มจากมองว่าเสื้อที่ระลึกลายเกี่ยวกับโรงเรียน ที่ทำขายๆกันนั้น ไม่สวยถูกใจ อยากมีเสื้อลายโรงเรียนที่ออกแบบเอง ใส่เชียร์บอล ไปเที่ยว ไปเรียนพิเศษได้แบบเท่ห์ๆ จึงตัดสินใจออกแบบลายเอง โดยหุ้นกับเพื่อนอีก2คน ทำใส่เอง แต่ด้วยการสั่งต้องมีปริมาณ จึงตัดสินใจทำขายด้วยซะเลย ปรากฏว่าขายหมดภายใน2-3วัน ขนาดเสื้อที่ใส่เป็นตัวอย่างตอนขาย ยังต้องถอดให้หรีดเดอร์ที่มาขอซื้อเลย กำไรก้อนแรกมา1หมื่น แบ่งกันคนละ3พัน เหลือ1พัน ไปฉลองกันต่อ สมัยนั้นเป็นช่วงได้ใจ คิดว่าทำธุรกิจง่ายนิดเดียว ออกเสื้อมากี่แบบก็ขายหมดจนแทบไมมีเก็บไว้ใส่เอง…
พอเข้ามหาลัยปี1 นิเทศศาสตร์ สาขาโฆษณา มหาวิทยาลัย รังสิต จึงตัดสินใจขอเงินทุนแม่จำนวนหนึ่ง เปิดร้านขายนาฬิกากราฟฟิก (ธุรกิจที่นำภาพลูกค้ามาใส่ลายกราฟฟิก แล้วสกรีนลงวัสดุต่างๆ) ที่เซ็นทรัล ลาดพร้าว ธุรกิจวันแรกเป็นไปได้ด้วยดี เพราะแม่มาเหมาไปหลายเรือน แต่วันต่อๆมาเริ่มรู้ว่า การทำธุรกิจนั้นไม่สวยหรูอย่างที่คิดไว้ เริ่มมีอุปสรรคต่างๆนาๆเข้ามา ทำให้ต้องแก้ปัญหาตลอดๆ ทั้งการกลั่นแกล้งจากคู่แข่ง แข่งขันด้านราคา การคุมพนักงาน ซับพลายเออร์ไม่มีคุณภาพ ฯลฯ เคยน้อยใจเพราะเสียดายชีวิตวัยรุ่นช่วงมหาลัย เราเฝ้าร้าน แต่เพื่อนๆไปเที่ยวในห้าง ไปดื่มเฮฮากัน แต่พอเห็นรายได้ก็หายท้อ หายน้อยใจ
มีวันนึงเดินในห้าง เห็นตู้บริการถ่ายภาพอัตโนมัติ พร้อมส่งเมลล์เลย( ถ่าย-เลือกลายกรอบ-พิมพ์ข้อความ-ส่งเมลล์) ทำให้รู้สึกว่าธุรกิจที่ทำอยู่ต่อไปต้องหมดเทรนด์ในไม่ช้า ประกอบกับร้านข้างๆเป็นร้านขายชุดราตรี เจ้าของกำลังเซ้งเพื่อไปอยู่ต่างประเทศ จึงตัดสินใจเซ้งร้านขายชุดราตรีขึ้นมา โดยที่ไม่มีความรู้ใดๆเลย เห็นแค่บัญชีที่กางให้ดู กำไร6หลัก ในใจคิดแค่ว่า แค่ทำตามสิ่งที่เจ้าเดิมทำอยู่ ก็น่าจะได้ยอดเท่ากันจะยากอะไร ด้วยความคิดแบบเด็กๆทำให้เจ็บตัวอยู่พักใหญ่ๆ ถือเป็นประสบการณ์ชั้นดี ว่าก่อนตัดสินใจเริ่มต้นธุรกิจอะไร ควรศึกษาให้ถ่องแท้ระดับนึงเสียก่อน เราทุกคนมีความถนัดไม่เหมือนกัน แต่เมื่อเริ่มจับจุดได้ ก็ขยายสาขาไปที่สยามอีก2สาขา ต้องบินไปเลือกชุดที่ฮ่องกง และจีนเกือบทุกเดือน ทั้งหิ้วกลับมาขายเอง และออเดอร์ส่งตามมาทางเรืออีกที ตอนนั้นถือเป็นช่วงที่เหนื่อยมาก เพราะต้องดูแลพร้อมกันถึง4ร้าน เรื่องเรียนไม่ต้องพูดถึง แค่ประคองไม่ให้ขาด มีเพื่อนคอยทำรายงานให้ ลงทะเบียนเรียนให้
ตอนใกล้จบเป็นช่วงสับสนว่าถ้าเรียนจบจะเลือกอนาคตด้านไหนดี ค้าขาย หรือครีเอทีฟ เพราะช่วงเรียน เวลามีงานประกวดผมชอบส่งงานเข้าประกวด เคยผ่านเข้ารอบสุดท้าย แต่เนื่องจากเพื่อนที่มหาลัยมีน้อยจึงไม่มีทีมถ่ายทำหนังโฆษณา และต้องสละสิทธิไปในที่สุด แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจทำธุรกิจต่อไป จนมีวันนึงมางานวันเกิดอากง อากู๋เดินเข้ามาชวนคุยเรื่องธุรกิจ ท่านฝากข้อคิดไว้ว่า ถ้าเรามี4ร้าน ทุกวันเปิดร้านมีคนผ่านหน้าร้านเรา500คน 4ร้านเท่ากับมีคนผ่าน 2,000คน แต่ถ้าเราหาธุรกิจที่กระจายสินค้าไปยังที่ต่างๆได้ ทุกวันจะมีคนเห็นสินค้าเราเป็นหมื่นเป็นแสน ตอนนั้นเลยตัดสินใจปิดกิจการทั้งหมดแล้วมาโฟกัสธุรกิจที่สามารถไปวางตามที่ต่างๆได้ทั่วประเทศ เลยมาจับธุรกิจกรอบรูป และตุ๊กตา ที่มีดีไซน์แปลกใหม่ มีฟังชั่นหลากหลายกว่าที่ขายตามท้องตลาด เสนอแบบทางโมเดิร์นเทรดผ่านเรียบร้อย แต่ด้วยเงินลงทุนมหาศาลทำให้ฝันนี้ต้องพับเก็บเอาไว้ก่อน
คูชี่ส์ ชื่อนี้มันคืออะไรครับ
หลายต่อหลายครั้งที่ผู้คนที่ผมรู้จักผมทั้งเพื่อนพี่น้องที่เคยเรียนด้วยกันมา ทั้งลูกค้าที่รู้จักแค่ผ่านมาแล้วผ่านไปหลังจากที่พวกเค้าได้ชิมขนมกล้วยคูชี่ส์ผมแล้วบอกว่า “เฮ้ย..มันอร่อยอ่ะ!” (อันนี้ผมไม่ได้คุยนะแต่กล้วยคูชี่ส์ผมอร่อยจริงๆ ผมอยากให้ทุกคนลองชิม ขนมนี้พวกผมตั้งใจทำมากครับ) แล้วก็จะตามมาด้วยคำถามที่ว่า “ทำได้ไงอ่ะ?, ทำยังไง?, ทำไมต้องกล้วย?, ทำไมถึงเป็นคูชี่ส์?,” (ผมรู้นะว่าลูกค้าหลายๆ คนที่เคยซื้อขนมกล้วยหอมคูชี่ส์ผมไปกินแต่ไม่รู้จักผมไม่เคยเจอผมตอนออกบูท พวกคุณเองก็ต้องเคยมีคำถามเหล่านี้แว้บเข้ามาในหัวบ้างใช่มั้ยครับ ผมดีใจนะที่ขนมคูชี่ส์ผมทำให้พวกคุณประทับใจจนอยากรู้ที่มา ขอบคุณครับ) และหลายครั้งด้วยกันที่ผมต้องตอบคำถามเหล่านี้ซ้ำๆ ว่า “เพราะกล้วยนั้นมีประโยชน์ยังไง, กินกล้วยแล้วดียังไง, ซึ่งขนมของผมนั้นทำมาจากกล้วยหอมแท้ 100% ไม่ผสมแป้ง ผงชูรส และสารกันบูด บลา บลา บลา…” คำตอบของผมมีแค่สิ่งเดียวที่ออกไปนั่นคือ ขนมผมอร่อยกินดีมีประโยชน์ เข้าสู่โหมดขายของอย่างเดียว ทั้งที่จริงๆ แล้วผมอยากเล่าอยากสื่อกับทุกคนที่กินขนมผมว่า “ขนมกล้วยหอมคูชี่ส์”เป็นอะไรที่มากกว่านั้นมากกว่าแค่ผมอยากขายของให้พวกคุณ มากกว่ารายได้ที่ผมอยากได้จากพวกคุณ ผมอยากให้คนที่กินขนมผมแล้วยิ้ม คนที่บ้านผมยิ้ม คนในองค์กรผมยิ้ม เกษตกรที่ผมซื้อกล้วยด้วยก็ยิ้ม อยากให้ธุรกิจผมเป็นส่วนหนึ่งของคนที่ทำดีแล้วส่งเสริมให้คนทำดีเป็นตัวอย่างที่ดีให้น้องๆ ที่ต้องเติบโตรู้ว่ายังมีวัยรุ่นไทยกลุ่มหนึ่งที่ทำธุรกิจบนพื้นฐานแห่งความดีและมันเติบโตได้ในสังคม แต่ผมยังไม่เคยมีโอกาสได้บอกมันออกไปเพราะส่วนหนึ่งผมอยากทำให้ทุกคนได้เห็นมากกว่าที่พูด และอีกส่วนก็คือผมทุ่มเวลาให้ขนมผมได้เติบโตให้มากที่สุดก่อน
เจ้ากล้วยหอมกรอบคูชี่ส์ เป็นมาอย่างไร
กำเนิดของขนมกล้วยหอมกรอบคูชี่ส์เกิดมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตผมสามเหตุการณ์ในเวลาไล่เลี่ยด้วยกัน เหตุการณ์แรกเกิดจากที่พวกผม (พี่สาว ผม น้องชายผม) เราทุกคนต่างมีงานทำเป็นของตัวเอง พี่กับน้องผมเป็นพนักงานออฟฟิศทั่วไปส่วนตัวผมก็ทำธุรกิจส่วนตัว (รายได้ขณะนั้นแม้จะไม่ได้มีเงินเก็บมากนักแต่ก็พอที่พวกเราจะอยากได้อะไรก็สามารถที่จะหยิบจับได้โดยไม่ลำบากและต้องขอที่บ้านแล้วก็เท่านั้น) ช่วงเวลานั้นพ่อผมท่านได้เกษียณออกมาอยู่บ้านได้หลายปีแล้ว แต่ทุกวันสิ่งที่พวกผมเห็นเป็นประจำก็คือแม่ผมผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่ยังคงตื่นเช้ามาทำกับข้าวให้พวกผมและพ่อกินก่อนที่จะออกไปทำงานและกลับบ้านมาทำอาหารมื้อเย็นให้พวกเรากินเหมือนเดิม ถึงแม้วันไหนที่ท่านกลับค่ำแต่ท่านก็ยังคงมีอาหารมื้อเย็นมาให้พวกเราเสมอๆ อีกเช่นกัน พวกเราสามพี่น้องต่างคนก็ต่างไปพูดกับแม่บอกให้ท่านหยุดทำงานได้แล้วให้ออกมาอยู่บ้านเฉยๆ แต่ท่านก็ไม่เคยยอมได้แต่ส่ายหน้าปฏิเสธบอกว่าท่านยังแข็งแรงแม่ยังทำไหวอยู่เสมอไม่ว่าจะเป็นลูกคนไหนมาพูดแม่ก็ส่ายหน้ากลับมาทุกครั้ง ครั้งหนึ่งพวกเราสามคนพี่น้องต่างเห็นไปในทางเดียวกันว่า “ในเมื่อพวกเราก็ดูแลตัวเองกันได้แล้ว ทำไมต้องให้หม่าม้าทำงานหาเงินอีก ต่างคนต่างพูดแล้วไม่ยอมก็ต้องรวมตัวกันไปพูดสามคนเลย หม่าม้าคงไม่กล้าปฏิเสธสามเสียงมากกว่าหนึ่งเสียงอยู่แล้ว ไปให้ท่านได้เห็นถึงความตั้งใจพวกเรากันเถอะ” โดยปกติแม่พวกผมท่านรักพวกผมมากอะไรที่พวกผมรวมตัวไปในทิศทางเดียวกันท่านไม่เคยปฏิเสธมีแต่จะคล้อยตามตลอด ฉะนั้นเปอร์เซ็นต์สำเร็จมีสูง! ไปเลยครับไปด้วยความมั่นใจสามคนพี่น้องยืนต่อหน้าแม่ “หม่าม้าพวกเราสามคนอยากให้หม่าม้าหยุดทำงาน ออกมาอยู่บ้านอยู่สบายๆ หม่าม้าไม่ต้องห่วงพวกเราแล้วพวกเราดูแลตัวเองได้” เป็นไงครับพวกคุณคิดว่าถ้าเจอฉากนี้เข้าไปคนเป็นแม่ซึ้งน้ำตาไหลเลยใช่มั้ยครับ พวกผมเองก็คิด แต่ความเป็นจริงก็คือ แม่ผมท่านชะงักครับจากที่อารมณ์ดีๆ หน้ายิ้มๆ กลายเป็นหน้านิ่งตึงเลยครับ ท่านชะงักแล้วไล่มองสบตาพวกผมทุกคนแล้วพูดว่า “พวกเธอสามคนหาเงินรวมกันยังไม่ได้เท่าชั้นเลยแล้วจะให้ชั้นหยุด ค่าใช้จ่ายในบ้านเท่าไหร่พวกเธอจ่ายไหวหรอ” แม่ผมท่านมองพวกเรานิ่งๆ แล้วก็พูดว่า “หาเงินให้ได้มากกว่าชั้นสิ แล้วชั้นจะหยุด” ส่วนพวกผมน่ะหรอ..อึ้งไปเลย พวกผมมัวแต่จะให้แม่หยุดได้แต่คิดว่ามีรายได้เท่าไหร่แต่ละคนเหลือเท่าไหร่แต่ไม่เคยคิดถึงภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ท่านแบกรับอยู่เลยว่ามีเท่าไหร่ เงิบสิครับงานนี้ พวกเรากลับออกมาด้วยคำถามที่ว่า “เราจะหาเงินยังไงให้ได้มากกว่าแม่ มากพอที่ท่านจะวางใจให้เราดูแลท่านได้ และต้องเร็วพอที่เราจะได้มีเวลาดูแลตอบแทนท่านได้นานที่สุด” คำตอบคือ “ธุรกิจ” เราต้องหาธุรกิจอะไรทำที่สามารถเติบโตได้ในเวลาอันสั้นและมั่นคงยั่งยืนให้ครอบครัวเราได้พักพิง
เหตุการณ์ที่สองบ้านผมแต่ละคนมักหาโอกาสไปท่องเที่ยวในที่ต่างๆ กันอยู่แล้วซึ่งบ้านผมก็พอมีกำลังที่จะได้เดินทางไปต่างประเทศบ้างเรื่อยๆ ไปกันเองในครอบครัวบ้าง ต่างคนต่างไปกับกลุ่มเพื่อนของตัวเองบ้างทุกครั้งพวกเรามักมีของฝากของดังของต่างประเทศที่ขึ้นชื่อว่าต้องไปกินให้ได้ ต้องซื้อมาฝากให้ได้ลองได้ชิมกันเสมอๆ ผมคิดว่าหลายคนก็คิดเหมือนผมบ้างว่า ของขึ้นชื่อหรือของฝากของต่างประเทศหลายอย่างเลยที่แพ็คเกจภายนอกดูดีน่าซื้อกินซื้อฝากราคาก็แพงตามความสวยงามของหีบห่อแต่พอกินจริงๆ แล้วรสชาดบอกตรงๆ ว่า “นี่หรือที่บอกต้องลองอร่อยโครต” โธ่..โอทอปบ้านเราอร่อยกว่าอีกแค่แพ็คเกจไม่ได้ดูดีเท่า ชิ้นงานหน้าตาไม่ได้สวย แค่นั้นเอ๊งงง! นี่ถ้าของไทยทำดีๆ นะรับรองเกษตรกร..รวย!
เหตุการณ์ที่สามเริ่มจากที่น้องผม “กร” เป็นพนักงานออฟฟิศคนหนึ่งที่พอถึงเวลาเที่ยงก็ต้องไปกินข้าวเดินหาขนมมาไว้กินเล่นบนออฟฟิศเวลาทำงานช่วงบ่าย และสิ่งที่ก๊วนน้องผมมักซื้อติดมาประจำก็คือ “กล้วยฉาบ” หรือที่เราหลายท่านรู้จักในนาม “กล้วยเบรคแตก” เพราะกินแล้วมันอร่อยเพลินจนหยุดไม่อยู่ต้องกินต่อไปเรื่อยๆ จะรู้ตัวก็เมื่อมันขนมมันยุบจนใกล้หมดแล้วเหมือนเบรคแตกจริงๆ แล้วก็อย่างที่พวกเรามักพูดกันเสมอว่าถ้าของเกษตรกรไทยทำดีๆ นะ รวย! ทีนี้น้องผมเริ่มเห็นโอกาสทางธุรกิจเขาจึงมาชักชวนผม เราคุยกันแล้วก็ตอบโจทย์ในคำถามแรกที่เราต้องหาเงินให้ได้มากกว่าแม่และเร็วที่สุดนั่นก็คือ “ต้องทำธุรกิจ” แล้วธุรกิจอะไรน้องผมเลือก “กล้วยฉาบ” ทำไมต้องกล้วยฉาบนั่นก็เพราะอย่างแรกบ้านเราเป็นเมืองเกษตรสินค้าเราขายได้แต่ทำไม่เกษตรกรเราจน จะดีกว่ามั้ยถ้าเราทำให้ผลไม้ไทยมันขายได้ราคาเกษตรกรของเราก็จะได้อยู่ได้ด้วย (เป็นไงครับน้องผม คิดดีมั้ยครับ ^_^ แต่หล่อน้อยกว่าผมนะครับ555) ผมเองก็เห็นด้วยกับน้องครับ ผมบอกน้องว่า “คิดดีแต่มันยากนะ การที่จะทำธุรกิจอาหารรสชาดอร่อยเป็นสิ่งสำคัญ สิ่งสำคัญไปกว่านั้นคือมาตรฐานความอร่อยที่เท่ากันทุกครั้งทุกห่อที่หยิบกิน แล้วผลไม้ไทยเป็นอะไรที่อ่อนไหวมากมันต้องมีอะไรที่เรายังไม่รู้อีกเยอะ ลื้อจะไหวหรอ คิดดีๆ นะ ถ้าลื้อจะทำอั๊วก็จะทำกับลื้อ” แล้วพวกเราก็ได้ข้อสรุปกันออกมาว่า “ทำ”
เจอปัญหาอะไรบ้าง
จากนั้นทุกเย็นหลังน้องผมเลิกงาน เราจะไปซื้อกล้วยหอมทองจากตลาดใกล้ๆบ้าน มานั่งปอก และลองทอดกัน ซึ่งช่วงแรกๆพวกเราก็ไม่ได้ผลีผลามใจร้อนโดดมาทำขายเลย พวกเราเริ่มจากหาวิธีทำจากอินเตอร์เนต ไปศึกษาจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนตอนวันหยุดเสาร์-อาทิตย์บ้าง ทำทุกวันถึงเที่ยงคืน ตีหนึ่ง ทำอย่างนี้เกือบทุกวัน ปอกกันเอง ทอดกันเอง ทั้งชิมกันเอง และแบ่งใส่ถุงใสไปคอยแจกญาติ และเพื่อนชิม ตลอดเวลาที่ลองผิดลองถูกมา มีทั้งความล้มเหลวที่ต้องทอดแล้วทอดอีก ไม่อร่อยอย่างที่หวังสักที ทั้งท้อแท้ หรือแม้กระทั่งการมองต่างมุมจนถึงขั้นทะเลาะกัน แต่เราก็ผ่านช่วงเวลานั้นมาได้ ด้วยความเชื่อในสิ่งที่เราคิดและทำ ว่าเราทำอะไร มีเป้าหมายในใจอยากเดินไปในทิศทางไหน เราจึงเพียรทำเรื่อยมาเป็นเวลา 1 ปี จนค่อนข้างมั่นใจว่าสินค้าที่เราทำได้คุณภาพในระดับที่ไม่อายใครแล้ว น้องผมจึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำที่ทำเพื่อมาลุยงานนี้เต็มที่ ส่วนผมก็สลัดธุรกิจเดิมที่ทำอยู่ เพื่อมาเป็นอีกแรงเสริมช่วยกันดูแล
ขนมประเภทนี้มีอยู่มาก เริ่มเปิดตลาดอย่างไร
เริ่มทำออกมาขายเป็นขนมกล้วยหอมกรอบภายใต้แบรนด์ “คูชี่ส์” (คูชี่ส์ เป็นศัพท์สแลงฝรั่ง แปลว่า กล้วยๆ)วางขายตามร้านกาแฟ ตอนนั้นพวกเราต้องทำตัวเป็นทั้งผู้ผลิตและเซลล์แมนไปในตัว ถือเป็นอีกช่วงที่ลำบาก(ใจ)มาก จากที่เคยเป็นลูกค้าร้านกาแฟ นั่งมองสาวจิบกาแฟเย็นๆ กลับต้องเปลี่ยนบทบาท พวกเราต้องถือขนมเข้าไปง้อพ่อค้าแม่ค้าแทน แรกๆก็มีโดนไล่ โดนเมิน โดนข้ออ้างสารพัดเพื่อจะไม่รับสินค้าเราเข้าไปวาง โดนดูถูกครั้งแล้วครั้งเล่า จนหลังๆพวกเราเริ่มเฉยชาต่อการโดนปฏิเสธ เปลี่ยนมุมมองให้ไม่ท้อแล้วเดินหน้าลุยต่อ เข้า 10 ร้าน ได้ 1 ร้านดีกว่าไม่ได้เลย จากที่มองร้านค้าไม่ออก ว่าร้านไหน ทำเลไหน เหมาะกับสินค้าเรา เข้าไปฝากขายมันทุกร้าน จนเริ่มมองออกว่าร้านประเภทไหน เหมาะกับสินค้าของเรา คนกลุ่มไหนที่ซื้อสินค้าเรา ไม่จำเป็นว่าสินค้าเราต้องอยู่ร้านขายขนมเพราะบางครั้งมีขนมเยอะก็มีคู่แข่งเยอะ ทำยังไงให้สินค้าเราวิ่งได้ ทั้งนี้ไม่มีอะไรตายตัว ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมที่ต่างกันไป
ทำธุรกิจแบบครอบครัวมีการแบ่งงาน ช่วยเหลือกันอย่างไร
จำได้ว่าช่วงเริ่มทำขาย เวลาทำขนมต้องนัดเวลากันทั้งบ้าน ทั้งป๊า ม้า และพี่สาว เพื่อให้ทุกคนมาช่วยกันทำ แบ่งงานกันตามหน้าที่ ปอก ทอด ปรุง คิวซี บรรจุ และแพค เวลาส่วนมากจะได้ทำตอนเย็นๆเนื่องจากต้องรอม้าและพี่สาวเลิกงานและกลับมาช่วย ไม่งั้นคนไม่พอ ถ้าดีก็ได้เสาร์ อาทิตย์จะได้เริ่มบ่ายๆ แต่ผมและน้องผมต้องตื่นมาปอกกล้วยเตรียมไว้ตั้งแต่เช้า อย่างไรก็ตามเมื่อมีร้านกาแฟให้วางมากขึ้น การผลิตเริ่มไม่พอ อีกทั้งยังเกรงใจป๊าม้าที่อายุเยอะแล้ว ท่านกลับจากงานยังต้องมาช่วยเราทำขนมกล้วยหอมกรอบถึงตีหนึ่งตีสองอีก เลยตัดสินใจจ้างพนักงานมา2คน โดยให้มาช่วยการผลิตโดยเฉพาะ ทำให้สามารถเริ่มงานได้เร็วขึ้น โดยพึ่งพาป๊าม้าน้อยลง
สินค้ากลุ่มอาหารต้องขอ อ.ย รับรองขั้นตอนนี้ยากไหม ทำอย่างไร
ปัจจุบันพวกเราแยกออกมาผลิตเองเป็นโรงงานและออฟฟิศขนาดเล็กๆ เพราะต้องการแยกพื้นที่บ้านพักอาศัยออกจากส่วนของงานเนื่องจากเกรงใจป๊าม้าในเรื่องของความเป็นส่วนตัว และต้องการทำมาตรฐานการผลิตอาหารให้ได้อ.ย. จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องแยกบ้านและโรงงานให้ชัดเจน ช่วงนั้นเรียกได้ว่าเขียนแบบสร้างไปถามเจ้าหน้าที่ไป ไปที่ อ.ย.แทบทุกอาทิตย์ ปรึกษาเจ้าหน้าที่ อ.ย.กันโซนต่อโซนเลยทีเดียว ทุกอย่างเราทำกันเองหมด ตั้งแต่วาดแพลนโรงงานลงกระดาษ กั้นอะไรยังไงตรงไหน ไม่มีผู้รับเหมา สั่งซื้อของอุปกรณ์ก่อสร้างเอง โดยจ้างเพียงทีมช่างเพื่อก่อสร้างเท่านั้น เพราะงบประมาณทั้งหมดเป็นเงินสดที่ไม่ได้กู้ธนาคารมา ทุกอย่างจึงต้องรัดกุมและประหยัดที่สุด จนกระทั่งเราก็ได้รับมาตรฐานการรับรองจาก อ.ย. และยังผ่านการรับรองมาตรฐาน GMP ในเวลาต่อมา
ตอนนี้มีคูชี่ส์มีกี่รสชาติครับ
ด้วยกระแสตอบรับที่ค่อนข้างดี จากเดิมที่เรามีแค่สองรสคือรสน้ำผึ้ง (จะหอมๆ หวานๆ ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นรสกล้วยหอม ) กับรสออริจินอล ( จะเค็มๆมันๆ ) ทำให้ต้องเพิ่มรสฮอทสไปซี่ ( จะออกเผ็ดเครื่องเทศ ) มาอีกรส เพื่อตอบรับความต้องการของลูกค้า
วางแผนการตลาดไว้อย่างไรบ้าง
ส่วนของการตลาด เราเริ่มจากความเชื่อในสิ่งที่เราทำก่อน ว่าเราจะทำสินค้าที่สามารถเปลี่ยนวงการขนมขบเคี้ยวได้ ด้วยการเป็นขนมขบเคี้ยวที่กินได้แบบมีประโยชน์ ไม่ใช่ขนมที่กินแล้วไม่มีประโยชน์อีกต่อไป ลูกซื้อกินแม่ต้องไม่ว่า แฟนซื้อกินต้องไม่บ่น แถมยังสามารถซื้อให้พ่อแม่กินเล่นได้อีก ด้วยความเชื่อที่เราจะเปลี่ยนวงการขนมขบเคี้ยวให้ได้ เราจึงพยายามส่งต่อประโยชน์ผ่านสินค้า ด้วยการคัดสรรกล้วยเกรดพรีเมี่ยม ปลูกแบบออแกนิค (แม้ในขณะนี้ จะยังหาได้ไม่100เปอร์เซ็นก็ตาม) ไม่ใช้ผงชูรสและสารกันบูดในการปรุง พยายามพัฒนาสินค้าให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับสิ่งที่ดีที่สุดเมื่อซื้อไปทาน อีกทั้งยังใช้การถ่ายทอดแนวคิดนี้ผ่านพนักงาน โดยปลูกฝังให้พนักงานรักในอาชีพที่ทำ และเชื่อในสิ่งที่ทำว่ากำลังทำประโยชน์เพื่อลูกเพื่อหลาน และเพื่อสังคมอยู่ เมื่อความเชื่อถูกส่งผ่านไปยังพนักงาน จะทำให้เค้าสามารถทำงานออกมาได้ดี ทำด้วยใจจริงๆ ด้วยความที่เป็นเพียงบริษัทเล็กๆ เงินลงทุนยังน้อยมาก เราจึงเลือกช่องทางออฟไลน์ผ่านการออกบูธ เพื่อการประชาสัมพันธ์แบรนด์ให้คนได้รู้จัก และยังได้บอกเล่าเรื่องราวถึงเหตุผลที่เราพยายาม และตั้งใจผลิตขึ้นมาเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับรู้มากที่สุด ข้อดีของช่องทางนี้ คือเราสามารถบอกความเป็นตัวเราได้อย่างชัดเจน ลูกค้าสามารถสัมผัสตัวตนเราได้จริงๆ ถือเป็นการสร้างประสบการณ์ร่วมกับแบรนด์อีกด้วย ส่วนการนำเสนอผ่านสื่อ
ออนไลน์ เราพยายามชูสิ่งที่เราเชื่อในเรื่องของการทำตัวให้มีประโยชน์ โดยมีมาสคอต กล้วยหอมกรอบคูชี่ส์ มาเล่าเรื่อง ที่มีอุปนิสัย น่ารัก ทะเล้น กวนๆ แต่ทำตัวมีประโยชน์ จะคอยบ่นคอยเล่าเรื่องราวต่างๆเชิงบวกให้ผู้บริโภคอ่านผ่านแฟนเพจเฟสบุ๊ค เราคือเพื่อนที่สามารถไปกับลูกค้าได้ทุกที่ ชักชวนกันทำความดี และมองโลกในแง่ดี เพื่อส่งผ่านความเชื่อเหล่านี้ไปยังกลุ่มลูกค้าของเรา ดึงพฤติกรรม อารมณ์ภายในใจของลูกค้า ให้รับรู้ได้ว่า เมื่อซื้อขนมเราเพียง 1 ห่อ แต่เค้ายังได้ส่งผ่านความสุขไปยังคนอีกหลายๆ คน ทั้งเกษตรกร และสังคมของเรา ผมอยากให้ทุกคนได้เห็นว่า
ฝากแนวคิดแรงบันดาลใจให้เพื่อน ๆ หน่อยครับ
คนรุ่นใหม่ ต้องกล้าแสดงออก กล้าแตกต่าง กล้าที่จะทำดี กล้าที่จะสนับสนุนคนทำดี เหมือนดั่งที่คูชี่ส์เป็น
สุดท้ายนี้พวกผมขอขอบคุณทุกท่านเป็นอย่างยิ่งที่ทั้งสนับสนุนและเป็นกำลังใจให้พวกผม ทั้งลูกค้าในปัจจุบันและท่านที่กำลังจะเป็นในอนาคต ผมหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะพัฒนาองค์กรเล็กๆ ของผมให้เติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน มาร่วมส่งต่อความสุขไปกับ “คูชี่ส์” สิครับ “เพียงคุณยิ้ม.. ^_^ เกษตรกรก็ยิ้ม ^_^ พวกเราก็ยิ้มได้.. ^_^”
ติดต่อ
www.facecook.com/ilovecushy
เมย์ รัชกิจ อัศวชินนเทพกุล
กร ทรงยศ อัศวชินเทพกุล
เถ้าแก่ใหม่วิเคราะห์ธุรกิจ
ตลาดขนมขบเคี้ยวเป็นตลาดที่มีคู่แข่งทั้งทางตรง ทางอ้อม ทางเอียง ทางโค้ง…เยอะมากครับ เยอะจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าในประเทศเราเอง หรือ สินค้าต่างประเทศที่ทะลักเข้ามาเป็นขบวน
จะฝ่าดงหนามนี้ไปได้ไม่ง่ายครับ สินค้าต้องดีจริง เจ๋งจริง ๆ
“กล้วยหอมทอดกรอบ คูชี่ส์” ได้พิสูจน์ตัวเองมาระดับหนึ่งแล้วครับ แต่สำหรับก้าวต่อ ๆ ยิ่งเดินยิ่งต้องเจอ แรง G ที่จะต้านอีกมากเลยทีเดียว
แต่เอกลักษณ์ที่โดดเด่นไม่ว่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์ สีที่สะดุดตา และที่สำคัญคือ “รสชาตที่อร่อยโครต” น่าจะช่วยให้ คูชี่ส์ ก้าวไปอีกได้ไกลอย่างแน่นอน
เส้นทางของธุรกิจ ไม่มีใครเลยที่จะ “สำเร็จ” ทุกอย่างไป เริ่มต้นอาจจะง่าย แต่ปลายทางเป็นสิ่งที่คาดการณ์ยาก
ทว่าสิ่งหนึ่งที่คุณ เมล์ มีคือ “ความกล้า” และ เรียนรู้ที่ “เปลี่ยนแปลง” ที่สำคัญคือ ไม่ได้ “ยึดติด” กับความสำเร็จเดิม ๆ
โอกาสใหม่ ๆ กับช่องทางใหม่ ๆ มาพร้อมกันเสมอ ดังเช่นที่คุณเมล์ ได้แสดงให้เราได้เห็น
ผมหวังเป็นอย่างยิ่งครับว่า “กล้วยหอมไทย จะไม่แพ้มันฝรั่งของต่างชาติ” ดังที่คุณเมล์ปรารถนา
บริการอบรม ให้คำปรึกษาการทำธุรกิจออนไลน์ ฝึกอบรมภายในบริษัท แบบตัวต่อตัว การทำ Content Marketing,การโฆษณา Facebook,การโฆษณา Tiktok,การตลาด Line OA และการทำสินค้าให้คนหาเจอบน Google
บริการดูแลระบบการตลาดออนไลน์ให้ทั้งระบบ
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสารความรู้การทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ Add Line id :@taokaemai
รับชมคลิป VDO ความรู้ด้านการตลาด กรณีศึกษาธุรกิจ แหล่งเงินทุนน่าสนใจ ติดตามได้ที่ช่อง Youtube : Taokaemai เพื่อนคู่คิดธุรกิจ SME