ศูนย์การค้า Community mall เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ทั้งผู้ประกอบการและผู้เช่าพื้นที่ต่างได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ศูนย์การค้าในย่านที่พึ่งพากำลังซื้อของต่างชาติแทบจะมีรายได้เป็นศูนย์ ผู้บริโภคซื้อสินค้าจากช่องทางอีคอมเมิร์ซเพิ่มขึ้น สั่งอาหารออนไลน์กันมากขึ้น โดยมีโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้เกิดพฤติกรรมเหล่านี้ เมื่อยอดขายของร้านค้าลดลง หลายๆ ร้านเริ่มประสบปัญหาจนถึงขั้นขอยกเลิกสัญญาเช่า ธุรกิจศูนย์การค้าจึงต้องปรับตัวตามเพื่อให้กิจการดำเนินต่อไปได้ทั้งสองฝ่าย ภายใต้ข้อปฏิบัติที่ต้องมีมาตรฐานคุมเข้มการแพร่ระบาด เป็นอีกความท้าทายของการบริหารพื้นที่ในศูนย์การค้า ทำอย่างไรในยุคโควิด

5 เคล็ดลับบริหารพื้นที่ให้เช่าในห้าง Community Mall

1.สร้างความมั่นใจในเรื่องความปลอดภัยต่อสถานที่

ต้องยอมรับว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 สร้างความหวั่นวิตกให้ผู้คนไม่น้อย ส่งผลกระทบเชิงลบต่อภาคธุรกิจ แม้แต่การใช้จ่ายในชีวิตประจำวันตามปกติก็อาจไม่ใช่เรื่องปกติอีกต่อไป ศูนย์การค้าที่สร้างความมั่นใจในเรื่องความปลอดภัยต่อสถานที่ มีมาตรการสุขอนามัยที่เข้มงวด มีการนำเทคโนโลยีระบบไร้สัมผัสมาใช้มากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นแก่ร้านค้า เรียกความมั่นใจของลูกค้าให้กลับคืนมา แม้จำนวนผู้ใช้บริการในตอนนี้ลดลงกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาด แต่มาตรฐานความปลอดภัยและสุขอนามัยที่ทางศูนย์การค้าใส่ใจให้ความร่วมมือ ช่วยให้ร้านค้ากลับมาเปิดได้อย่างสบายใจ ลูกค้ากลับมาใช้บริการอย่างไร้ความกังวล

2.คำนึงถึงการขับเคลื่อนธุรกิจไปพร้อมกัน

มาตรการล็อคดาวน์ทั่วประเทศ ทำให้ศูนย์การค้าต้องปิดกิจการชั่วคราว ในขณะที่บางร้านอาจมีความจำเป็นต้องปิดสาขาที่ไม่ทำกำไรอย่างถาวร แม้กลับมาเปิดให้บริการเกือบเต็มพื้นที่ แต่ภายใต้ข้อจำกัดเรื่องจำนวนและระยะเวลาของผู้ใช้บริการในแต่ละพื้นที่เพื่อหลีกเลี่ยงความแออัด แน่นอนว่าลูกค้ายังไม่กลับมาใช้บริการเหมือนเดิม เพราะยังคงวิตกกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน มาซื้อของเท่าที่จำเป็นหรือแค่มาทำธุระเท่านั้น การยกเว้นค่าเช่าพื้นที่ให้กับร้านค้าที่ปิดบริการ หรือลดค่าเช่าให้ร้านที่ยังเปิดอยู่ มีความยืดหยุ่นในเรื่องของเงื่อนไขการเช่า โดยขึ้นอยู่กับประเภทของกิจการ เหล่านี้คงเป็นเรื่องที่ผู้ค้าคาดหวังเอาไว้อยู่แล้ว โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยที่ต้องแบกรับภาระค่าเช่าในขณะที่รายได้ลดลงอย่างน่าใจหาย เป็นการช่วยแบ่งเบาภาระฝั่งผู้ค้าที่เช่าพื้นที่ ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายอีกทางหนึ่ง ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการสร้างกำลังใจให้ร้านค้าสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้อีกครั้ง

3.จัดสรรพื้นที่เพื่อส่งเสริมการขายผ่านช่องทางออนไลน์และเดลิเวอรี่

ในช่วงที่ภาครัฐมีมาตรการงดนั่งรับประทานอาหารภายในร้านอาหาร ปิดตามเวลาที่กำหนด และให้บริการเฉพาะซื้อกลับบ้านเท่านั้น แม้ช่วงที่มีการผ่อนปรนให้ร้านอาหารในศูนย์การค้าสามารถให้บริการลูกค้าภายในร้านได้ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดเรื่องจำนวนที่นั่งเพื่อเว้นระยะห่างทางสังคม ร้านค้าส่วนใหญ่จึงต้องปรับตัวเพื่อให้มีรายได้และอยู่รอด ส่วนหนึ่งคือการพึ่งพาบริการเดลิเวอรี่ที่ตอบโจทย์ลูกค้าและร้านอาหาร เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและคำนึงถึงความปลอดภัยในการปฏิบัติงานของผู้ที่เกี่ยวข้อง ทางศูนย์การค้าสามารถช่วยเหลือร้านค้าที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตนี้ โดยการจัดสรรพื้นที่สำหรับใช้เป็นจุดนั่งรอออเดอร์ Food Delivery และ Delivery อื่นๆ ตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing)

4.จัดกิจกรรมทางการตลาดผสานช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ เพิ่มโอกาสในการขายให้แก่ร้านค้า

โควิด-19 ทำให้ธุรกิจค้าปลีกมีจำนวนผู้เข้าใช้บริการลดน้อยลง ลูกค้ามีพฤติกรรมการช้อปปิ้งที่เปลี่ยนไป แทบทุกช่วงอายุต่างก็หันไปซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์กันมากขึ้น เพราะสามารถค้นหาสินค้า เปรียบเทียบราคา อ่านรีวิว เลือกซื้อสินค้าที่ต้องการได้อย่างง่ายดาย มีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่มาดูสินค้าที่ห้างสรรพสินค้า แต่ไปสั่งซื้อบนออนไลน์ หรือจะสั่งซื้อทางออนไลน์ แต่เป็นช่วงที่หน้าร้านมีโปรโมชั่นที่น่าสนใจกว่า เพื่อเป็นการสนับสนุนร้านค้า ศูนย์การค้าอาจจัดกิจกรรมทางการตลาดที่กระตุ้นยอดขาย มีกิจกรรมให้ลูกค้าร่วมสนุกทางออนไลน์ แล้วให้มารับของที่ร้านค้า ผสานช่องทางการสื่อสารทั้งออนไลน์และหน้าร้านให้เป็นหนึ่งเดียว ที่เรียกว่า Omni Channel  กลยุทธ์นี้เป็นการช่วยประคับประคองรายได้ของร้านค้าเช่าในช่วงที่ศูนย์การค้าปิดให้บริการชั่วคราว สร้างยอดขายได้พอสมควร และช่วยร้านค้าระบายสินค้าในสต๊อกได้ไม่น้อย

5.พิจารณาปรับเปลี่ยนการใช้พื้นที่ในอนาคต

หลายธุรกิจกำลังพิจารณาปรับเปลี่ยนการใช้พื้นที่ เนื่องจากมีความต้องการพื้นที่หน้าร้านลดลง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของขนาดพื้นที่ จำนวนสาขา ในช่วงโควิดหลายระลอกที่ผ่านมา หลายธุรกิจก็ปรับตัวได้เร็ว อย่างธุรกิจอาหารเครื่องดื่ม แฟชั่น เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ดูแลอนามัยส่วนบุคคล ต่างพุ่งเป้าหมายไปที่อีคอมเมิร์ซ ในส่วนของศูนย์การค้าอาจปรับลดบางโซนพื้นที่ให้น้อยลง มีพื้นที่กึ่งในร่มและกลางแจ้งที่ลูกค้าสามารถเพลิดเพลินกับบรรยากาศในการช้อปปิ้งที่ต่างไปจากเดิม พื้นที่ชั่วคราวที่จัดขึ้นสำหรับร้านแบบป๊อปอัพ ในอนาคตไม่แน่ว่าศูนย์การค้ารูปแบบเดิมอาจไม่ตอบสนองความต้องการและพฤติกรรมผู้ใช้บริการอีกต่อไป ไม่เฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ เมื่อไลฟ์สไตล์เปลี่ยน ธุรกิจเปลี่ยน นิยามของพื้นที่ต่างๆ อาจเปลี่ยนไป ศูนย์การค้าอาจไม่ใช่แค่สถานที่ที่คนมาเดินช้อปปิ้ง ทานอาหาร พบปะเพื่อนฝูง ร้านค้าอาจจะน้อยลง พื้นที่อาจถูกใช้ในส่วนของการดูแลตนเองมากขึ้น

บริหารพื้นที่ให้เช่าในห้าง การร่วมมือกันของพันธมิตรคู่ค้า ไม่เพียงแต่ประคับประคองธุรกิจให้รอดไปด้วยกัน แต่หลังผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19  เราคงได้เห็นการเปลี่ยนแปลง พัฒนารูปแบบธุรกิจค้าปลีกใหม่ๆ จะมีการวางกลยุทธ์ที่ช่วยฟื้นฟูในเชิงธุรกิจได้อย่างไร ศูนย์การค้า Community Mall ต้องปรับตัวด้วยความรวดเร็ว ปรับแผนรับการแข่งขันในวันข้างหน้า เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเติบโตและความอยู่รอดของธุรกิจ