เริ่มต้นปี 2020 มาไม่ทันไร ก็มีเหตุการณ์ให้ลุ้นระทึกตื่นเต้นกับแทบทุกวัน นาทีนี้คงไม่มีอะไรน่ากังวลไปกว่าวิกฤตโควิด-19 ที่กำลังระบาดอยู่ทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ธุรกิจจำนวนมากที่ต้องปิดตัวชั่วคราว บางแห่งถึงขั้นต้องปิดกิจการถาวร พนักงานจำเป็นจะต้องหยุดงาน หลายคนถูกเลิกจ้าง เมื่อไม่มีงานเท่ากับว่าไม่มีรายได้ มาดูกันว่าในส่วนของสำนักงานประกันสังคมมีมาตรการใดบ้างในการเยียวยาผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้

ประกันสังคมช่วยอะไรบ้าง 5 มาตรการประกันสังคม ช่วยผู้ว่างงานจากโควิด-19

ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้สั่งการทุกหน่วยงานในกระทรวง ให้วางมาตรการช่วยเหลือแรงงานประกันสังคมที่ถูกเลิกจ้างทั่วประเทศ ในส่วนของสำนักงานประกันสังคมมาตรการที่ออกมา มีดังนี้

  1. ลดอัตราเก็บเงินสมทบนายจ้าง และลูกจ้างมาตรา 33, 39 โดยอัตรานี้มีระยะเวลา 3 เดือน (มี.ค.-พ.ค. 63)
  • สำหรับนายจ้างลดเหลือ 4%
  • ผู้ประกันตนมาตรา 33 เหลือ 1%
  • ผู้ประกันตนมาตรา 39 เหลือ 86 บาท
  1. ขยายระยะเวลาการนำส่งเงินสมทบให้แก่นายจ้าง และผู้ประกันตนมาตรา 33, 39 งวดค่าจ้างเดือนมี.ค. เม.ย. พ.ค.63 ออกไปอีก 3 เดือน
  • งวดค่าจ้างเดือน มี.ค. เลื่อนส่งได้ ภายใน 15 ก.ค. 63
  • งวดค่าจ้างเดือน เม.ย. เลื่อนส่งได้ ภายใน 15 ส.ค. 63
  • งวดค่าจ้างเดือน พ.ค. เลื่อนส่งได้ ภายใน 15 ก.ย. 63
  1. เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานอันเนื่องมาจากเหตุสุดวิสัย รวมถึงกรณีว่างงานเนื่องจากถูกเลิกจ้างและลาออกเอง
  2. ส่งเสริมให้มีการจ้างงาน โดยขยายระยะเวลาโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงานวงเงิน 30,000 ล้านบาท
  3. ดูแลรักษาเพิ่มสิทธิการรักษาประกันสังคมแก่ผู้ประกันตนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง และผู้ประกันตนที่ป่วยด้วยโรคติดเชื้อโควิด-19 เท่าเทียมกับการรักษาทั้ง 3 กองทุน

มาตรการช่วยเหลือผู้ประกันตนมาตรา 33

พนักงานบริษัทซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ในประกันสังคมมาตรา 33 จะไม่สามารถรับเงินจากโครงการเราไม่ทิ้งกัน แต่มีสิทธิ์รับเงินชดเชยจากประกันสังคมในฐานะผู้ว่างงาน ผ่านการ “ลงทะเบียนผู้ว่างงาน” ทั้งกรณีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รวมถึงกรณีอื่นๆตามเงื่อนไขที่กำหนด

  1. กรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย
  • ผู้ประกันตนที่ไม่ได้ทำงาน หรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน กักตัว 14 วัน เนื่องจากสัมผัสหรือใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ประกันสังคมจะจ่ายเงินชดเชย 62% ของค่าจ้างรายวัน ระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน (จากเดิมจ่าย 50% ระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน)
  • หน่วยงานภาครัฐมีคำสั่งให้นายจ้างหยุดประกอบกิจการ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออันตราย ประกันสังคมจะจ่ายเงินชดเชย 62% ของค่าจ้างรายวัน โดยได้รับตลอดระยะเวลาที่นายจ้างหยุดประกอบกิจการตามคำสั่งทั้งนี้ไม่เกิน 90 วัน (จากเดิมจ่าย 50% ระยะเวลาไม่เกิน 60 วัน)
  1. กรณีว่างงานจากการลาออก หรือถูกเลิกจ้าง
  • ว่างงานจากการลาออก ประกันสังคมจะจ่ายเงินชดเชย 45% ระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน
  • ว่างงานจากกรณีเลิกจ้าง ประกันสังคมจะจ่ายเงินชดเชย 70% ระยะเวลาไม่เกิน 200 วัน

ทั้งนี้อัตราของค่าจ้างจะคิดจากฐานเงินสมทบสูงสุด 15,000 บาท ตัวอย่างเช่น

  • เงินเดือน 10,000 บาท จะได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงานจากเลิกจ้าง เดือนละ 7,000 บาท เป็นระยะเวลาไม่เกิน 200 วัน
  • เงินเดือน 20,000 บาท จะได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงานเลิกจ้าง เดือนละ 10,500 บาท (คิดจากฐานเงินสมทบสูงสุด 15,000 บาท) เป็นระยะเวลาไม่เกิน 200 วัน

หมายเหตุ

  • กรณีที่ถูกเลิกจ้างหรือลาออกเอง และไม่ได้ส่งเงินสมทบ ยังสามารถใช้สิทธิประกันสังคมได้เหมือนเดิมต่ออีก 6 เดือน
  • ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ส่งเงินสมทบยังไม่ครบ 6 เดือน จะยังไม่เกิดสิทธิกรณีว่างงาน

ประกันสังคมช่วยอะไรบ้าง มาตรการประกันสังคม ผู้ประกันตนมาตรา 39 และมาตรา 40

  1. กรณีผู้ประกันตนที่ประกอบอาชีพอิสระมาตรา 39 ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) จะได้รับการดูแลและคุ้มครองจากระบบประกันสังคมอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ เสียชีวิต และกรณีชราภาพ
  2. กรณีที่ผู้ประกันตนมาตรา 39 มีการเจ็บป่วย สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ที่โรงพยาบาลตามสิทธิ์ที่เลือก โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ หากตรวจพบว่ามีการติดเชื้อโควิด-19 จะได้รับเงินค่าทดแทนการขาดรายได้อันเนื่องมาจากการเจ็บป่วยและต้องหยุดงานตามคำสั่งของแพทย์ ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง (วันละ 80 บาท)
  3. ผู้ประกันตนมาตรา 40 จะได้รับความคุ้มครอง ขึ้นอยู่กับทางเลือกในการจ่ายเงินสมทบ กรณีที่มีการเจ็บป่วยสามารถเข้ารักษาโดยใช้สิทธิ์ สปสช. หากต้องหยุดพัก จะได้รับค่าทดแทนขาดรายได้สูงสุดวันละ 300 บาทไม่เกิน 90 วัน

โดยที่ผู้ประกันตนมาตรา 39 และ 40 นั้น ไม่มีเงื่อนไขในการขอรับประโยชน์ในกรณีว่างงานจากสำนักงานประกันสังคม ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 เห็นชอบให้ผู้ประกันตนมาตรา 39 และ 40 ได้รับการช่วยเหลือตามมาตรการดูแลและเยียวยา แรงงาน ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระ (ยกเว้นเกษตรกร) ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 โดยรัฐบาลจะจ่ายเงินชดเชยรายได้ให้ 5,000 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน (เมษายน – มิถุนายน 2563 ) สามารถลงทะเบียนรับเงินช่วยเหลือผ่านทางโครงการเราไม่ทิ้งกัน www.เราไม่ทิ้งกัน.com

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แน่นอนว่าทุกคนล้วนได้รับผลกระทบกันหมด โดยเฉพาะภาคแรงงาน-ลูกจ้าง ทั้งในระบบและนอกระบบที่ดูเหมือนว่าจะหนักหนาสาหัสที่สุด เมื่อภาครัฐมีมาตรการต่างๆออกมาช่วยเหลือ ในฐานะผู้ประกันตน อย่าลืมที่จะเช็คสิทธิประโยชน์ที่พึงได้ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคม อย่างน้อยก็ช่วยบรรเทาภาระบางส่วนเพื่อให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตนี้ไปได้

อ้างอิง :

www.sso.go.th

https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/873492

https://www.tnnthailand.com/content/33135

บริการอบรม ให้คำปรึกษา Digital Marketing & Brand Storytelling ทั้งแบบรูปแบบองค์กร กลุ่ม และ ตัวต่อตัวมาตรการประกันสังคม